26thApril

26thApril

26thApril

 

February 16,2017

กระทรวงอุตสาหกรรมชูผลงาน S-curve หนุนกองทุนพัฒนา SMEs-ยางล้อ

          กระทรวงอุตสาหกรรมชูผลงาน S-curve ลงทุนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รีบู้ทอุตสาหกรรมไทย นำเสนอนายกรัฐมนตรีสนับสนุนกองทุนพัฒนา SMEs ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ กลุ่มเอสเอ็มอีรายเดิม และกลุ่มเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา พร้อมทั้งหนุนศูนย์ทดสอบยางล้อฯ หวังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ


          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ ซึ่ง กระทรวงฯ ได้เตรียมประเด็นการนำเสนอ ๔ เรื่องสำคัญ ได้แก่ ๑.กระทรวงอุตสาหกรรมและการขับเคลื่อน Thailand 4.0 ๒.การดำเนินงานตามข้อสั่งการ ๓.การขอรับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี และ ๔.การบูรณาการกับส่วนราชการอื่น กระทรวงฯ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ๔.๐ ระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๗๙) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการเติบโตต่อปีของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย การขยายตัวของ GDP การลงทุน การส่งออก การเพิ่มผลิตภาพ และการสร้างนักอุตสาหกรรมใหม่ ที่เป็นการวางรากฐานการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอนาคต โดยที่ผ่านมามีการดำเนินงานสำคัญ ได้แก่ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve โดยต่อยอด ๕ อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพและผลักดันให้เกิดการลงทุนใน ๕ อุตสาหกรรมใหม่ เป็น ๑๐ อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทย ตัวอย่างเป้าหมาย เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ จะพัฒนาเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สู่การเป็นศูนย์กลางการออกแบบฯ การแปรรูปอาหาร สู่ท็อปเท็นการส่งออกและเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ แฟชั่น สร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองแฟชั่นของเอเชียหุ่นยนต์ เป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์ในอาเซียน การแพทย์ครบวงจร เป็นศูนย์ R&D ผลิตภัณฑ์ยาและสมุนไพร อาหารทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ของภูมิภาค การบินมีการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ สู่การเป็นฮับพลาสติกชีวภาพของโลก เป็นต้น

          ทั้งนี้ ในปี ๒๕๕๙ กระทรวงฯ ได้เร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมที่เป็น S-curve จำนวน ๑,๒๑๙ ราย มูลค่าลงทุน ๑๓๕,๐๐๐ ล้านบาท และในปี ๒๕๖๐ คาดว่าจะมีการลงทุน ประมาณ ๑๔๒,๐๐๐ ล้านบาท รวมทั้งได้เตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนใหม่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา รวมกว่า ๑๘๐,๐๐๐ ไร่ ตลอดทั้งได้ทยอยพัฒนาระบบการอนุญาตที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (E-License) มากขึ้น สำหรับการพัฒนา SMEs ได้มีโครงการที่เหมาะสมกับช่วงวงจรชีวิตของธุรกิจ แบ่งเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ คือ ๑) กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ มุ่งสร้างเอสเอ็มอีที่มีไอเดียสู่ผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ที่มีนวัตกรรม ๒) กลุ่มเอสเอ็มอีรายเดิม จะส่งเสริมดิจิทัลเพื่อปรับธุรกิจสู่ SMEs ยุค ๔.๐ และ ๓) กลุ่มเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา ได้เปิดศูนย์ SME Rescue Center เพื่อเข้ากระบวนการพลิกฟื้น ช่วยเหลือแล้วกว่า ๒,๖๐๐ ราย ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับกระทรวงฯ ใน ๓ เรื่อง คือ ๑.การตรวจสอบโรงงานที่มีการร้องเรียนซ้ำซาก ๒.การตรวจสอบโรงงานที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำสายหลัก และ ๓.การพัฒนา EEC ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดตั้งสำนักงานประจำอยู่ที่อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ EEC แล้วเสร็จ และจัดตั้ง One Stop Service ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ส่วนความคืบหน้า ของร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก คาดว่าจะประกาศใช้อย่างช้าภายในครึ่งปีแรกของปี ๒๕๖๐” นายสมชาย กล่าว

          สำหรับประเด็นที่กระทรวงฯ จะขอรับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี มีด้วยกัน ๒ เรื่อง คือ ๑.การจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จำนวน ๒ หมื่นล้าน ที่มุ่งหวังให้เป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุน SMEs ปรับธุรกิจสู่ยุค ๔.๐ และเปลี่ยนสู่การผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นตามนโยบาย Thailand 4.0 ตั้งเป้าหมายจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีศักยภาพโดยเฉพาะที่อยู่ในภูมิภาคได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่น้อยกว่า ๙,๐๗๐ ราย เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก ๗๕,๒๐๐ ล้านบาท และ ๒. โครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โดยการขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี ๒๕๖๑ ในระยะที่ ๑ เป็นการสร้างสนามทดสอบยางล้อ UN R117 จัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับการทดสอบ รวมถึงการติดตั้งเครื่องมือทดสอบ ส่วนงบประมาณระยะที่ ๒ จะเป็นศูนย์การทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ทั้งนี้ กระทรวงฯ เสนอประเด็นที่ต้องดำเนินงาน บูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นอีก ๓ เรื่อง คือ ๑.โครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย และโรคจากการทำงาน สร้างเสริมความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของคนงาน โดยจะเดินหน้ารณรงค์ทั่วประเทศในปี ๒๕๖๐ ๒.เหมืองแร่ทองคำ ได้รายงานความคืบหน้าที่ผ่านมา จากการที่กระทรวงฯ ได้ร่วมกับอีก ๓ กระทรวงหลัก โดย กระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกันกำกับดูแลการฟื้นฟูพื้นที่ฯ ในเบื้องต้นได้พิจารณาแผนฟื้นฟูฯ และให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง ไปปรับปรุงแผน ซึ่งจะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามเป็นระยะๆ กระทรวงสาธารณสุข ที่ดูแลด้านสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ได้จัดตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง มีทีมแพทย์ เยี่ยมบ้านประชาชน ฯลฯ และกระทรวงแรงงาน ซึ่งรับดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการระงับการประกอบกิจการเหมืองทองคำ ในเบื้องต้นได้รับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานแล้ว จำนวน ๔๗๗ คน และให้ประกันสังคมจ่ายผลประโยชน์ทดแทนแก่ลูกจ้างทุกคน และได้จัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย และ ๓.หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาสินค้าและบริการจากทุนวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายพัฒนา ๑ จังหวัด ๑ หมู่บ้านให้ครบทั่วประเทศ ในปีนี้จะนำร่อง ๙ หมู่บ้าน

          ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้ายว่า “เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไปสู่ประเทศไทย ๔.๐ ให้เห็นภาพอย่างชัดเจน กระทรวงฯ เองได้ปรับตัวเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และพัฒนา SMEs เข้าสู่ยุค ๔.๐ โดยจะดูแลส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกระดับให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งการปรับบทบาทและโครงสร้างกระทรวงฯ จะแบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ ระยะที่ ๑ จะเรียบร้อยภายใน ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๖๐ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนระยะที่ ๒ จะเสร็จสิ้นภายในปี ๒๕๖๒ ที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายเดิมและออกกฎหมายใหม่ เชื่อว่าจะสามารถดูแลส่งเสริมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๑๖ วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ - วันจันทร์ที่ ๒๐ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐


699 1343