29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

February 17,2017

อีสานมีดีจัดมหกรรมตามรอยพ่อ โชว์ ๑๗ หมู่บ้านต้นแบบน่าอยู่

 

                ชุมชนอีสานจัดมหกรรมตามรอยพ่อ พร้อมโชว์ ๑๗ หมู่บ้านน่าอยู่ ผ่านการทำงานในรูปแบบ “สภาผู้นำชุมชน” ต้นแบบลดเหล้า เกษตรปลอดสาร แก้ปัญหาเด็กเยาวชน และการจัดการขยะ เตรียมดันสู่ศูนย์เรียนรู้

                เมื่อระหว่างวันที่ ๑๑-๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก ๖) ร่วมกับทีมสนับสนุนวิชาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครือข่ายชาวบ้านที่รับทุนจากสสส. ร่วมกันจัดงานมหกรรม “ฮักแพงแบ่งปัน อีสานสร้างสุข” ปี ๓ เพื่อนำเสนอผลสำเร็จของการทำงานร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่  ทั้งเรื่องการจัดการขยะ ลดเหล้า ลดสารเคมีทางการเกษตร  ปัญหาเด็กเยาวชน  นำเสนอผ่านนิทรรศการและงานเสวนา ซึ่งมีดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น

                ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดงานว่า โครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ จนถึงปัจจุบันของภาคอีสานได้เกิดการขยายเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ จำนวน ๔๖๔ หมู่บ้าน ๖๓๐ โครงการ ทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงประเด็นที่ประสบผลสำเร็จอย่าง ชุมชนน่าอยู่ด้วยการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน การจัดทำแผนที่ชุมชนเพื่อแสดงตำแหน่งครัวเรือนที่ปลูกผัก ลดการใช้สารเคมีในการทำนา ลดต้นทุนทางการเกษตร ชุมชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น หมู่บ้านลดละเลิกเหล้าในงานบุญประเพณี ร้านค้าบุหรี่ประกาศเป็นร้านค้าสีขาว รถเร่เลิกเหล้า กลยุทธ์ในการเข้าถึงพื้นที่ปลอดแอลกอฮอล์ของชุมชน ทำให้ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชนมีแนวโน้มลดลง

                นอกจากนั้น นางอวยพร พิศเพ็ง หัวหน้าชุดสนับสนุนวิชาการภาคอีสาน เปิดเผยว่า โครงการชุดนี้เริ่มต้นในปี ๒๕๕๔ โดยการรวมตัวกันของนักวิชาการสาธารณสุข นักพัฒนาชุมชน และคนทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนชุมชนให้ทำงานแก้ไขปัญหาของตัวเอง โดยใช้โมเดล “สภาผู้นำชุมชน” ที่เป็นตัวแทนคนในชุมชน ทั้งเด็กเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้นำตามธรรมชาติ ผู้นำทางการ อสม. กลุ่มสตรี ให้เข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา หาแนวทางที่จะนำสู่การอยู่ดีมีสุขของคนในชุมชน ผ่านลงมติสร้าง “กติกาครัวเรือนน่าอยู่” แล้วถือปฏิบัติร่วมกัน

                ภายในงาน มีการเปิดเผยผลสำเร็จจากการทำงานที่ผ่านมาตามประเด็นต่างๆที่สามารถแก้ปัญหารวมถึงหาทางออกให้กับชุมชนที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการ อันได้แก่ โครงการเกษตรอินทรีย์ลดใช้สารเคมี มี ๑๕๗ ชุมชน ที่ทำโครงการนี้และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช ได้จำนวน ๑๘,๒๑๙,๘๒๗ บาท โครงการลดเหล้าและงานศพปลอดเหล้าโดยตั้งกติกาในชุมชนและกติการ้านค้าในชุมชน จาก ๙๐ ชุมชน พบว่าเกิดบุคคลต้นแบบเลิกเหล้า จำนวน ๖๗๗ สามารถลดค่าใช้จ่ายจากค่าเหล้าลงได้จำนวน ๔,๔๗๙,๑๐๐ บาท โครงการกำจัดการขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม มีชุมชนดำเนินงาน ๑๘๒ ชุมชน เกิดสภาผู้นำชุมชนมีการประชุมกันทุกเดือน เกิดกติกาข้อบังคับการทิ้งขยะในชุมชนและร่วมกันพัฒนาภูมิทัศน์รอบหมู่บ้านและพื้นที่สาธารณะทุกเดือนอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมถึงวันพ่อและวันแม่แห่งชาติ เกิดครัวเรือนคัดแยกขยะจำนวน ๑๘,๓๒๓ ครัวเรือน และมีปริมาณขยะลดลงเฉลี่ย ๓๕๐,๘๒๗ กิโลกรัมต่อเดือน และโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาในเด็กและเยาวชน มีจำนวน ๒๘ ชุมชน เกิดกลุ่มสภาเยาวชนจำนวน ๕๐๗ คน จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ อาทิ กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มเลี้ยงไก่ เยาวชนทำกระเป๋า เล่นดนตรีเปิดหมวก ทำกิจกรรมอาสา กวาดลานวัด จัดกิจกรรมกีฬาสีฯ เด็กเยาวชนลดการเล่นเกมได้จำนวน ๖๕ คน และสามารถลดปัญหาการทะเลาะวิวาทของเยาวชนลงได้ทั้ง ๒๘ หมู่บ้าน เยาวชนเลิกเหล้า ๑๗๖ คน เลิกบุหรี่ ๒๘ คน และที่สำคัญไม่พบปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ๑ ชุมชน จากการสรุปโครงการพบว่า หัวใจความสำเร็จของโครงการชุมชนน่าอยู่คือ กลไกสภาผู้นำชุมชน การมีสภาผู้นำที่มาจากการคัดเลือกจากประชาคม ร่วมกับผู้นำเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิมและเพิ่มแกนนำจิตอาสา ที่มีการรวมตัวกันเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ อย่างมีส่วนร่วมของคนในชุมชน กลไกการจัดการชุมชนในสภาผู้นำชุมชน จึงนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชนเพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

 

               

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจากนสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๑๖ วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ - วันจันทร์ที่ ๒๐ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐


699 1344