28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

April 11,2017

ลุยวิจัยป้องกันคอร์รัปชั่น สร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น

          “มูลนิธิชุมชนโคราช” จัดประชุมโครงการประชาสังคมกับการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เพื่อพัฒนาระบบและกลไก ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เน้นพัฒนาระบบและกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษา วอนให้เจ้าหน้าที่มีจิตสำนึก นึกถึงส่วนรวม หวังเป็นจุดเล็กๆ เพื่อเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสังคม

          เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๐ ดร.ปรีชา อุยตระกูล ประธานมูลนิธิชุมชนโคราช จัดประชุม “โครงการประชาสังคมกับการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เพื่อพัฒนาระบบและกลไก ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น กรณีศึกษาจังหวัดนครราชสีมา” โดยผู้ร่วมงานประกอบด้วย นายมงคล สาริสุต ผู้อำนวยการ สำนักงานป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมา นายอาทิตย์ พุทธิศักดิ์แสง วิศวกรชำนาญการ ตัวแทนผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จังหวัดนครราชสีมา และร.ต.อ.อาทิตย์ เนียนหอม นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ ตัวแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขตพื้นที่ ๓ (ป.ป.ท.) ณ ศูนย์การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดนครราชสีมา (กศน.)

          สำหรับโครงการนี้จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑.เพื่อศึกษาสถานการณ์ธรรมาภิบาลและการทุจริตคอร์รัปชั่น ในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หน่วยงานทางการศึกษา และการรับรู้ข้อมูลของประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา ๒.เพื่อแสวงหาความร่วมมือ ในการพัฒนาระบบกลไก เสริมสร้างธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นในหน่วยงานต่างๆ ให้สามารถบรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ๓.เพื่อพัฒนาบุคคลและองค์กรต้นแบบ ระบบกลไกในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในปัญหาการคอร์รัปชั่น รวมทั้งประชาชนในพื้นที่มีโอกาสกำหนดนิยามและปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยตนเองในหน่วยงานต่างๆ ให้สามารถบรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรม และ ๔.เพื่อออกแบบและดำเนินการตามแนวทางเบื้องต้นของการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งประมวลผล ความสำเร็จและอุปสรรคในการดำเนินการของแนวทางดังกล่าว รวมถึงทำการเรียนรู้และจัดกิจกรรมในพื้นที่ร่วมกับทีม SIAM Lab (Social Integrity Architecture and Mechanism Design Lab) โดยอาศัยการมีส่วนร่วมขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์กรทางการศึกษา สถานศึกษา และภาคประชาสังคม

          ดร.ปรีชา อุยตระกุล ประธานมูลนิธิชุมชนโคราช กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อทำการชี้แจงทำความเข้าใจถึงลักษณะการทำงานร่วมกัน แสวงหาความร่วมมือ พัฒนาบุคคล-องค์กรต้นแบบ และเพื่อออกแบบและดำเนินการตามแนวทางเบื้องต้นของการแก้ไขปัญหา โดยในการวิจัยครั้งนี้มีหลักการด้วยกัน ๓ หลักการ หลักการแรกคือ ภาคประชาสังคม เนื่องจากเป็นประชากรที่เป็นผู้บริการ ประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษีคือการเป็นพลเมือง เป็นประชาสังคมมีเครือข่ายทั่วทั้งจังหวัด ต้องเริ่มจากองค์กรที่ตนสังกัดก่อน หลักการที่ ๒ คือ ธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการบริหารบ้านเมืองที่ดี จะมีการพิจารณาคู่กับทีมวิจัย ในการจัดการที่ดี เพื่อให้คำนึงถึงธรรมาภิบาล จะต้องทำอะไรบ้าง มีตัวชี้วัดอย่างไร ในการปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องดูเพื่อเสนอแนะ พิจารณาแก้ไขปรับปรุง ให้เป็นรูปธรรมให้สามารถกลับไปปรับปรุงได้ คำหลักที่ ๓ คือคำว่า คอร์รัปชั่น การทุจริตที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ทำให้ประเทศเดินถอยหลัง จริงๆ การแก้ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นมีมาตลอดหลาย ๑๐ ปี แต่ประเด็นอยู่ที่ ในขณะที่รู้ว่าเป็นปัญหา รัฐก็พยายามแก้ไข แต่ทำไมไม่ดีขึ้น แต่กลับถอยหลังลง

          จากนั้นนายมงคล สาริสุต ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงโปรดเกล้า ให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน และป.ป.ช. ก็มีแผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบหลายส่วน หากกฎหมายนี้ผ่านรัฐสภา ป.ป.ช. จะสามารถยื่นเรื่องผ่านรัฐสภาถึงศาลปกครองได้เลย และเนื่องจากมีกฏหมายมาตรา ๔๒ คั่นอยู่ รัฐสภาจะไม่สามารถแทรกแซงได้  โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ต้องทำงานด้วยกัน ๓ ด้าน คือ ๑.ด้านป้องกัน ๒.ด้านปราบปราม และ ๓. ด้านตรวจสอบสิทธิ์ จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีคดีเรื่องการทุจริตมากที่สุดในประเทศไทย มีการแบ่งปัญหาทั้งหมดออกเป็น ๔๑๓ เรื่อง จากทุกหน่วยงาน ปัจจุบันมี ๔๒ สำนวนที่ตนแจ้งคำสั่งไปแล้ว มีผู้ถูกกล่าวหา ๓๐๐ ราย มีข้าราชการที่เกี่ยวข้องประมาณ ๘๐๐ กว่าราย เป็นข้าราชการครูทั้งสิ้น และอีกหลายคดีตั้งแต่รองผู้อำนายการไปถึงนักการเมือง ตั้งแต่หน่วยงานขนาดใหญ่ไปถึงหน่วยงานขนาดเล็ก ในท้องถิ่นมีมากกว่า ๘๐% เพราะท้องถิ่นบริหารงบประมาณเอง ทำแผนเอง โอกาสที่จะโดนร้องเรียนจึงมีสูง อยากให้สังคมตระหนักในการแก้ไขปัญหา เหมือนองค์กรคิดโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๙ หรือ ITA ขึ้นมาวัดทุกหน่วยงาน ตนเชื่อว่าทุจริตแก้ได้ที่จิตสำนึก ต้องมีจิตสำนึกในการทำงาน ต้องกลับมายอมรับความจริง ปัญหาทุจริตหยุดยั้งได้ไม่ยากหากมีการสำนึกในหน้าที่ ผลวิจัยจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ หากไม่มีการนำไปปฏิบัติก็ไม่มีประโยชน์ 

          นายอาทิตย์ พุทธิศักดิ์แสง วิศวกรชำนาญการ ตัวแทนผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ส่วนหนึ่งในตอนนี้งานต่างๆ ที่มีปัญหาส่วนใหญ่ เป็นงานลักษณะจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งในปีนี้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งจะมีผลอีก ๑๘๐ วัน ประมาณเดือนสิงหาคม ๒๕๖๐ ส่วนนี้จะเป็นกระบวนการขั้นตอนที่ชัดเจนในการจัดซื้อจัดจ้างและจะมีบทลงโทษ ๑-๑๐ปี สำหรับเวลาที่ไปตรวจสอบปัญหาจุดหนึ่งคือคนที่ทำงานพัสดุยังไม่เข้าใจระเบียบ อีกจุดคือการบริหารสัญญาก่อสร้าง นำเรื่องของฝนตกมาเป็นข้ออ้างในการขอขยายอายุสัญญาในกรณีที่ไม่แล้วเสร็จตามสัญญา อย่างนี้ต้องมีข้อเท็จจริงประกอบ เพราะฉะนั้นโครงการต่างๆ สำคัญที่สุดคือเป็นเรื่องของการอบรมบุคลากร จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา

          ด้านร.ต.อ.อาทิตย์ เนียนหอม นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ ตัวแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขตพื้นที่ ๓ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า ตนมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหมด ๘ จังหวัด คือ ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และยโสธร ปัจจุบันดำเนินการสร้างเครือข่ายไปแล้ว ๘ จังหวัด ในช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ ตอนนี้กำลังจะสร้าง                เครือข่ายอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ทาง ป.ป.ท.มองว่า ไม่สามารถจะดำเนินการปราบปรามให้บรรลุผลได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นการสร้างการป้องกันด้วย เพราะว่าการดำเนินการด้านการปราบปรามจะต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ปัจจุบันหน้าที่รับผิดชอบอยู่ที่ระดับซี ๑-ซี ๘ มีวิธีดำเนินการโดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วจึงมาไต่สวน คดีที่เข้ามามากที่สุดคือ การทุจริตเกี่ยวกับกองทุนประชานิยม ซึ่งตรวจสอบง่ายแต่ต้องใช้เวลาเพราะประชาชนกับผู้ใหญ่บ้านอยู่ใกล้ชิดกัน ผู้ใหญ่บ้านก็จะจัดซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาท้องตลาด เมื่อป.ป.ท.เข้าไปตรวจสอบก็พบว่าราคาสูงเกินความจริง สำหรับการสร้างเครือข่ายประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มีความกระตือรือร้นต้องการตรวจสอบทุกโครงการ และทางผู้บริหารมองว่าการปราบปรามทำอย่างไรก็ไม่ทันจึงต้องเน้นที่การป้องกันจึงอยากเชิญชวนประชาชนมาเป็นเครือข่ายด้วยกันเพื่อจะได้ตรวจสอบอย่างทั่วถึง

          ดร.ปรีชา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เพิ่งเซ็นสัญญาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ และกำลังเริ่มกระบวนการ แต่ว่าพื้นฐานสำคัญที่เน้นเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับสถาบันการศึกษาเพราะว่า ดูจากข้อมูลของป.ป.ช.จังหวัดนครราชสีมา พบว่า หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรองลงมาคือสถาบันการศึกษา เพราะฉะนั้นจึงจับจุดไปที่สององค์กรนี้ก่อน

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๒๗ วันอังคารที่ ๑๑ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


686 1344