20thApril

20thApril

20thApril

 

April 27,2017

เสนอ‘ม.๔๔’วังน้ำเขียว ชาวบ้านอ้างไม่ได้รุกอุทยาน เหตุเพราะกฎหมายขัดแย้งกันเอง

 

                กองทัพภาคที่ ๒ ตั้งคณะทำงานลุยพื้นที่ “วังน้ำเขียว” รับฟังปัญหาที่ดินทับซ้อน ประชาชนอ้างไม่ได้เป็นผู้บุกรุกใหม่ อยู่มาก่อนปฏิรูปพื้นที่เป็นเขตอุทยาน กฎหมายสองฉบับขัดกันเอง เสนอใช้ม.๔๔ จัดการ เสนอให้ยุติทุกคดีที่เกิดขึ้น แล้วเริ่มต้นใหม่ หรือทำสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง กองทัพให้ความมั่นใจ จะแก้ไขเร็วที่สุด แต่นายกรัฐมนตรีไม่ใช้ ม.๔๔ หากไม่จำเป็น

                เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๐ พลตรีสุทิน เบ็ญจวิไลกุล เสนาธิการกองทัพภาคที่ ๒ และเลขาธิการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๒ นำคณะลงตรวจพื้นที่ พูดคุยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาที่ดินของภาครัฐ ในการประกาศเขตพื้นที่อุทยาน บริเวณหมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว เพื่อรับทราบปัญหาและตรวจข้อมูลเชิงประจักษ์ ประกอบการพิจารณาในการแก้ไขปัญหา อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสม ณ ศาลาประชาคมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านสุขสมบูรณ์ ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ภายหลังที่ราษฎรเข้ายื่นหนังสือต่อพลโทวิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๐ นั้น โดยมีนายสมบูรณ์ สิงกิ่ง นายกอบต.ไทยสามัคคี นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เขตอำเภอวังน้ำเขียวนายมนูญ สระเจริญ กำนันตำบลไทยสามัคคี พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกว่าร้อยคนรวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมประชุมนำเสนอปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย


พลตรีสุทิน เบ็ญจวิไลกุล เลขาธิการ กองทัพภาคที่ ๒

 

ทภ.๒ ลงพื้นที่รับฟังปัญหา

                สืบเนื่องจากที่อบต.ไทยสามัคคีได้ทำหนังสือไปยื่นต่อแม่ทัพภาคที่ ๒ เกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งในเบื้องต้นที่มีการประชุมเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายนที่ผ่านมา แม่ทัพภาคที่ ๒ ได้เชิญหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดทั้งตัวแทนของประชาชนไปพูดคุยกันที่กองทัพภาคที่ ๒ ซึ่งได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงแต่งตั้งตนพร้อมคณะทำงานขึ้นมา เพื่อติดตามปัญหาของแต่ละพื้นที่ว่า ปัญหาที่แท้จริงเป็นอย่างไร ในฐานะที่แม่ทัพภาคที่ ๒ เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๒ จึงไม่นิ่งดูดายในปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยในวันนี้ต้องการที่จะทราบว่า ในส่วนของปัญหาบ้านสุขสมบูรณ์ที่แท้จริงคืออะไร จากการที่กองทัพได้พิจารณาและศึกษาประวัติความเป็นมา ตั้งแต่มีการอพยพลงมา ๕๐๐ ครอบครัว และอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาถึงปัจจุบัน นี่คือภาพกว้างๆ จากที่กองทัพทราบแล้ว ซึ่งหากไม่ทราบปัญหาที่แท้จริงก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยเฉพาะที่ผ่านมา ในพื้นที่ตำบลไทยสามัคคีแบ่งออกเป็นหลายพื้นที่ มีปัญหาหลากหลาย บางส่วนมีที่ดินส.ป.ก.แต่อยู่ในเขตอุทยาน บางส่วนไม่ใช่ที่ส.ป.ก.แต่อยู่ในเขตอุทยาน บางคนครอบครองที่ส.ป.ก.แต่อาจมีการเปลี่ยนมือกันไปบ้าง บางคนเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดิน นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นและแต่ละหมู่บ้านก็มีปัญหาไม่เหมือนกัน แม่ทัพภาคที่ ๒ จึงส่งคณะทำงานลงพื้นที่มาพูดคุยกับประชาชน ซึ่งเบื้องต้นตั้งใจจะเข้าไปทีละหมู่บ้าน หมู่บ้านนี้ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร หมู่บ้านต่อๆ ไปเป็นอย่างไร ต่อจากนั้นคณะทำงานจะเข้าพบส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงต่างๆ เพื่อมาหารือกันว่า ควรมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร ที่จะนำเสนอไปยังรัฐบาล เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา ความสงบสุข สามารถอยู่ร่วมกันได้ ตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน” พลตรีสุทิน กล่าว

 

ราษฎรชี้ไม่ได้บุกรุก

                นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง นายกอบต.ไทยสามัคคี กล่าวว่า ในอดีตกองทัพภาคที่ ๒ เข้ามาจัดระเบียบให้พวกตนอยู่ที่นี่ วันนี้ตัวแทนกองทัพภาคที่ ๒ เดินทางมารับทราบปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องข้อกฎหมาย สิ่งที่พวกตนประสบขณะนี้คือ ราษฎรในพื้นที่ถูกดำเนินคดี ๔๐๐ กว่าคดี ทั้งนี้ ตำบลไทยสามัคคีหากเอาแผนที่มากาง และยึดตามกฎหมายอุทยาน พวกตนก็อยู่ในเขตอุทยานแทบทั้งหมด บางส่วนเป็นที่ ส.ป.ก. ซึ่งประกาศทับซ้อนกับเขตอุทยาน ราษฎรที่อยู่มาตั้งแต่แรกจะถูกตัดสินว่า บุกรุกเขตอุทยานทันที

                “ยอมรับว่าพื้นที่บริเวณนี้มีการเปลี่ยน แปลงการถือครองที่ดินและใช้ประโยชน์ที่ดินจริง แต่สืบเนื่องมาจากนโยบายรัฐบาลที่มาส่งเสริมการท่องเที่ยว งบที่สร้างศาลาหลังนี้ก็เป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ข้างในก็เป็นแหล่งท่องเที่ยว ประชาชนไม่รู้ว่าที่นี่เป็นพื้นที่ มีกฎหมาย ถ้าทางอุทยานจับกุมก็จะมีปัญหา พวกเรามีข้อเสนอที่เสนอทางจังหวัดอยู่แล้ว คือไม่ได้บอกว่าที่นี่ถูกต้องทั้งหมด เพราะที่นี่มีการซื้อขายที่ดิน มีการเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดิน เป็นไปตามสภาพพื้นที่” นายสมบูรณ์ กล่าว

 

ชุมชนต้องขยายต้องพัฒนา

                ด้านนายมโน คูรัตน์ อายุ ๖๒ ปี ประชาชนบ้านสุขสมบูรณ์ผู้ได้รับผลระทบ กล่าวถึงปัญหาว่า การตั้งหมู่บ้านขึ้นโดยรัฐบาล หากมีคนอยู่ ๓๐๐ คน จะให้มีจำนวน ๓๐๐ คนนี้อยู่ไปเรื่อยๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ห้ามย้ายเข้าออก ห้ามซื้อขาย จะเรียกว่าหมู่บ้านได้อย่างไร หมู่บ้านทั้งหมดในตำบลไทยสามัคคีมีการพัฒนามาตลอด มีการตั้งหมู่บ้าน โดยแยกจากหมู่บ้านเดิมเป็นระยะๆ ซึ่งอุทยานประกาศเขตเมื่อปี ๒๕๒๔ แต่จะบอกว่าให้คนดั้งเดิมเท่านั้นที่อยู่ได้ หลังจากประกาศอุทยานแล้ว ให้คนเข้ามาอยู่ใหม่ออกจากพื้นที่ไปให้หมด ปี ๒๕๒๘ เกิดหมู่บ้านใหม่ ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านไผ่งาม และบ้านห้วยใหญ่ใต้ ทั้ง ๒ หมู่บ้านแยกออกมาจากบุไผ่ แสดงว่า ๔ ปีที่ผ่านมาชุมชนขยายตัวมากขึ้น บ้านสุขสมบูรณ์แยกออกมาจากบ้านไทยสามัคคีเมื่อปี ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ชุมชนขยาย คือ ตั้งแต่ประกาศเขตอุทยานออกมาก็ยังมีชุมชนขยายอยู่เรื่อยๆ จะมาบอกว่า อุทยานประกาศปี ๒๕๒๔ ใครอยู่ดั้งเดิมอยู่ได้ แต่ใครอยู่ทีหลังให้ออกไปให้หมด ที่ผ่านมาพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานเพียงอย่างเดียว แต่อุทยานประกาศพื้นที่ทับเขตปกครอง ซึ่งการจัดตั้งหมู่บ้านนั้นประชาชนไม่ได้จัดตั้งขึ้นเอง ต้องมีหนังสือและประกาศจากจังหวัด เมื่อเป็นหมู่บ้านแล้วก็อยู่ในความดูแลของฝ่ายปกครอง ปัญหาคือ ประกาศเขตอุทยานเมื่อปี ๒๕๒๔ ทับเขตกว่า ๘๐ หมู่บ้านในปัจจุบัน แล้วจะใช้กฎหมายข้อไหน ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองก็มีกฎหมายที่จะต้องใช้กับประชาชนในเขตปกครอง การสร้างบ้าน ขอเลขที่บ้าน ย้ายเข้าย้ายออก อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ   เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งอุทยานก็มีกฎหมายอุทยาน ในมาตรา ๑๖ ห้ามครอบครองพื้นที่ ห้ามครอบครองที่ดิน ห้ามแผ้วถาง ห้ามเก็บใบไม้ห้ามเก็บผลไม้ ห้ามนำสัตว์เลี้ยงมาในเขตอุทยาน ห้ามนำยานพาหนะเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต


นายมโน คูรัตน์ อายุ ๖๒ ปี 

กฎหมายทับซ้อนกันเอง

                “ราษฎรอยู่กันมาตามประกาศกว่า ๓๕ ปีแล้ว เจ้าหน้าที่อุทยานละเว้นอะไรบ้าง เพิ่งจะมาขยันในช่วงนี้ ๖ ปีหลังอย่างนั้นหรือ? จะกล่าวหาว่าชาวบ้านดั้งเดิมเป็นนายทุน ดูจากตรงไหน การมีรถมอเตอร์ไซค์ การมีรถกระบะ หรือมีร้านอาหาร มีบ้านอีกหลังในซอยให้คนเช่า คนเราก็ต้องมีพัฒนาบ้าง จะให้ยากจนไปตลอดทั้งชีวิตเลยหรือ? ซึ่งคาดว่าทางกองทัพน่าจะมีการบันทึกไว้แล้วว่า ปัญหาอยู่ที่ไหน การแก้ปัญหา ต้องดูว่าประชาชนเดือดร้อนไหม? เขาอยู่ในพื้นที่ที่กฎหมายสองอย่างตีกันอยู่ และเจ้าหน้าที่บอกกฎหมายอนุญาตให้เข้ามาได้ แต่เจ้าหน้าที่อีกคนบอกว่าให้ออกไป แล้วประชาชนต้องทำอย่างไร ต้องไปขึ้นศาล เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ต้องห่วง ให้ไปสู้คดี ไปพิสูจน์ว่าถูก เมื่อถึงเวลาศาลตัดสินว่า อะไรก็ตามที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ไม่รับพิจารณา เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหา จะไปหวังว่าศาลจะยกฟ้องให้ หรืออุทยานจะกรุณานั้นไม่มีทาง ฉะนั้นแนวทางการแก้ปัญหามีแนวทางเดียวคือ ทำสิ่งที่ผิดให้มันถูก แก้ไขในสิ่งผิด” นายมโน กล่าว

 

ขอให้ใช้มาตรา ๔๔ จัดการ

                นายสมพร พรอันแสง ผู้ใหญ่บ้านสุขสมบูรณ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สืบเนื่องจากปี ๒๕๕๕ เป็นต้นมา ประชาชนหลายราย โดยเฉพาะในหมู่บ้านสุขสมบูรณ์ถูกจับกุมในข้อหาบุกรุกผืนป่าของอุทยาน รวมกว่าร้อยคดี ทางชุมชนก็ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงจริง แต่ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างวังน้ำเขียวกับภูเก็ต ให้พิจารณาว่ามีประชาชนกี่ราย เหตุใดภูเก็ตจึงพัฒนาได้ แล้วเหตุใด ทั้งๆ ที่วังน้ำเขียวมีนโยบายการท่องเที่ยวแต่กลับพัฒนาไม่ได้ ส่วนนี้ต้องยอมรับว่าเกิดปัญหา รวมไปถึงปัญหาปากท้อง ถึงแม้ว่าจะมีการสร้างที่พัก หรือโฮมสเตย์ขึ้น แต่ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรืออาชีพรับจ้าง และทุกอาชีพก็อยู่รวมกัน เอื้ออาทรกัน เกื้อกูลกัน นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวว่า ประเทศไทยต้องเข้าสู่ยุค ๔.๐ หากให้ประชาชนกลับไปทำเกษตรเพียงอย่างเดียว ก็ไม่รู้ว่าจะพัฒนาไปได้อย่างไร ปัจจุบันในพื้นที่มีการพัฒนาไปไกลแล้ว ปัญหานี้ต่อเนื่องมาหลายปี หากไม่ได้ข้อยุติในรัฐบาลนี้ ก็มองไม่ออกว่าจะไปจบตอนไหน เพราะหลายรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงอยากให้ใช้มาตรา ๔๔ ในการจัดการเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้คลี่คลาย

 

ทนายเสนอเป็นที่ส.ป.ก.ทั้งหมด

                นายชิดพันธ์ บรรพสุขะ ทนายความ และเป็นผู้ต้องหาจากกรณีพิพาท เนื่องจากมีที่ดินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย กล่าวเสนอแนะว่า ในส่วนของหมู่บ้านไทยสามัคคี มีพื้นที่ส.ป.ก. หมายความว่า ส.ป.ก.ไปออกโฉนดในเขตพื้นที่อุทยาน เป็นการขัดแย้งกันของหน่วยงานรัฐ โดยอุทยานแห่งชาติทับลานยกกฎหมายอุทยานมาอ้าง และส.ป.ก.ก็ยกกฎหมายส.ป.ก.มาอ้าง เมื่อพิจารณาตามแนวเขตปี ๒๕๔๓ ซึ่งกรมป่าไม้ดำเนินการตามคำสั่งที่ ๑๑๔๕/๒๕๓๗ เป็นดำริของกองทัพที่เสนอให้กรมอุทยานดำเนินการแก้ไขแนวเขตอุทยานดังกล่าวให้เป็นไปตามความเป็นจริง จึงปักเสาหลักเขตทั้งหมด ๑๙๒ หลัก อยู่บริเวณตีนเขา ไม่ได้ปักเข้ามาในพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ ข้อเสนอที่อยากจะให้ทั้งประชาชนในพื้นที่กับอุทยานอยู่ร่วมกันได้ ขอเสนอแนะว่า ในเมื่อมีกฎหมาย ส.ป.ก. ปี ๒๕๑๘ และประกาศเขตพื้นที่อุทยานในปี ๒๕๒๑ แล้ว เสนอให้แนวเขตปี ๒๕๔๓ ซึ่งมีหมู่ ๑-๓ หมู่ ๕-๖ บางส่วน รวมประมาณ ๘๐๐ หลังคาเรือนที่ยังไม่ได้เอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. และอาจถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ดำเนินการจับกุมเมื่อไหร่ก็ได้ อยากให้ทำให้ถูกต้อง มิเช่นนั้นจะมีประชาชนต้องถูกจับกุมรวมแล้วกว่า ๘๐๐ หลังคาเรือน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ตำบลไทยสามัคคีทั้งหมดเป็นที่ส.ป.ก. ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย คือรัฐก็ยังได้ที่ดินเป็นของรัฐอยู่ ให้ส.ป.ก.เข้ามาดูแล ตามแต่ส.ป.ก.เห็นสมควรว่าควรใช้มาตรา ๓๐ วรรค ๕ ใช้เพื่อประโยชน์ในทางเกษตรกรรม หรืออย่างไรก็ปรับไปตามกฎหมายของส.ป.ก. หากทำแบบนี้รัฐจะไม่เสียพื้นที่ ประชาชนก็ไม่ถูกขับไล่ รื้อถอนบ้าน และจะเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ของกองทัพภาคที่ ๒ ในการช่วยเหลือชาวไทยสามัคคี เพราะพวกเราก็มีความภาคภูมิใจในพื้นที่เดิมซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกองทัพภาคที่ ๒ และในขณะนี้กองทัพมาช่วยอนุเคราะห์ดูแลกันต่อไปได้ โดยทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 


      นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ส.อบจ.นครราชสีมา

ส.จ.อ้างไม่ต้องเสียเงินล้าน                                                     

                นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ส.อบจ.นครราชสีมา เขตอำเภอวังน้ำเขียว กล่าวว่า ต้องการให้กองทัพเรียนนายกรัฐมนตรีว่า พี่น้องประชาชนไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เป็นผู้รักชาติรักแผ่นดิน ONE MAP ทั้งประเทศไม่ต้องใช้งบประมาณเลยถ้าให้ผมทำ ไม่ต้องใช้งบประมาณ ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดไปสำรวจพื้นที่ที่มีปัญหาแก้ปัญหา แล้วส่งไปให้รัฐบาล แต่นี่ตั้งงบเกือบ ๑๐๐ ล้านบาท มาแก้ปัญหา ONE MAP มีแค่ส่วนราชการไปแก้ปัญหา ก็จะไม่จบ แต่ถ้านำปัญหาตัวอย่างของโคราชอย่างสมัยนายธงชัย ลืออดุลย์ (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา) สำรวจพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการทุกหน่วยงานเห็นชอบ ไม่เห็นชอบอยู่ ๒ หน่วยงาน หน่วยป่าไม้กับอุทยาน ถ้านำคณะกรรมการจังหวัดเห็นชอบไปแก้ปัญหาเป็นสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลก็แก้ปัญหาได้  เพราะว่านำส่วนที่มีความดีความชอบมาปฏิบัติหน้าที่ด้วยผู้ที่คณะกรรมการเห็นชอบเป็นส่วนมาก เพราะฉะนั้นวันนี้ตนอยากให้กองทัพส่งเรื่องถึงนายกรัฐมนตรีมาแก้ปัญหาว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร และแนวเขตปี ๒๕๔๓ ที่มีความเห็นชอบของคณะกรรมการจังหวัดใช้เงินทั้งหมด ๒,๗๒๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินภาษีราษฎร เสาหลัก เสาเขต เสาปูนพร้อม และก็ยกเลิก สาเหตุที่ยกเลิกก็เพื่อตั้งใหม่ ๒,๒๕๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตั้งมาแล้วเลิก ไม่รู้ว่านำเงินมาทำอะไร ช่วยชี้แจงให้ประชาชนทราบด้วย ถ้านำมาแก้ไขปัญหาจริงๆ ปัจจุบันชาวบ้านคงไม่ต้องเดือดร้อน”

 


  นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง นายกอบต.ไทยสามัคคี

ขอให้ยุติทุกคดี

                นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง นายกอบต.ไทยสามัคคี กล่าวสรุปว่า ถ้าจะอยู่แบบบูรณาการสามัคคีปรองดอง อย่างแรกต้องหยุดเรื่องคดี  ต้องไม่มีการจับกุมเป็นคดีใหม่ หากมีคดีเกิดขึ้นอีกจะให้ประชาชนอยู่ร่วมกับอุทยานคงไม่ได้ ถ้าคดีหยุดแล้วมาหาทางออกร่วมกันว่า ทุกคนมาอยู่ภายใต้กฎหมายอุทยาน ถ้าอุทยานจะใช้มาตรา ๑๖ (๑๓) ก็ต้องแก้ระเบียบว่า ให้ประชาชนอยู่ได้ด้วยอะไร ต้องมีระเบียบรองรับเพราะกฎหมายอุทยานปัจจุบันราษฎรในพื้นที่อยู่ไม่ได้ นอกจากแก้กฎหมายอุทยานเสร็จ กฎหมายอุทยานที่จะออกไม่รู้จะออกเมื่อไร แต่กฎหมายอุทยานปัจจุบันจะใช้ได้เฉพาะมาตรา ๑๖ (๑๓) ต้องไปแก้ระเบียบ คือแก้ระเบียบให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยาน ให้เข้าใจกฎหมายแต่ละส่วนมีความสัมพันธ์กัน ตนอยากขอความเป็นธรรมจากกองทัพ เพราะไม่มีที่พึ่ง การที่จะเดินไปข้างหน้า ราษฎรทุกคนกลัวเรื่องคดีเป็นอย่างมาก เพราะมีบรรทัดฐานอยู่แล้วคือคดีนางแก้วกับนางเรณู ตนลำบากใจมากที่ต้องมาเห็นราษฎรในพื้นที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม เห็นความบอบช้ำความเสียหายของพี่น้องมา ๖ ปี และหวังว่าจะได้รับความกรุณาจากกองทัพภาคที่ ๒

 

                บรรยากาศในการหารือเป็นไปอย่างราบรื่นตลอดเวลากว่า ๕-๖ ชั่วโมง ซึ่งคณะทำงานของกองทัพภาคที่ ๒ ได้รับฟังปัญหาจากประชาชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สามารถชี้แจงและระบายความคับข้องใจได้โดยตลอด และท้ายสุด พลตรีสุทิน เบ็ญจวิไลกุล เสนาธิการ กองทัพภาคที่ ๒ กล่าวให้ความมั่นใจแก่ราษฎรตำบลไทยสามัคคีว่า “ปัญหาทั้งหมดที่หารือกันในวันนี้ทางกองทัพภาคที่ ๒ ได้บันทึกไว้แล้วเพื่อที่จะไปเป็นข้อเสนอ ข้อพิจารณาในการแก้ไขปัญหา เรื่องบางเรื่องไม่สามารถทำเป็นลายลักษณ์อักษรได้ จะใช้การพูดคุยกัน ในฐานะข้าราชการเข้าใจทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ แม้กระทั่งหัวหน้าอุทยานคนใหม่ก็เข้าใจ จึงจะใช้วิธีการพูดคุย แต่หากทำเป็นลายลักษณ์อักษรจะติดพัน ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้กฎหมาย แก้ระเบียบ และแก้พ.ร.บ. ไม่ได้ จะต้องใช้การพูดคุยกัน การที่จะแก้ปัญหาให้จบกันภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้คงเป็นเรื่องยาก แต่จะพยายามแก้ไขให้เร็ว

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจากนสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๒๙ วันพุธที่ ๒๖ - วันอาทิตย์ที่ ๓๐ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐

 

 


701 1345