20thApril

20thApril

20thApril

 

April 27,2017

ค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล ชาวบ้านยันดีแค่ไหนก็ไม่ให้ใกล้

                คัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกแล้ว เหตุสร้างห่างจากหมู่บ้านไม่ถึง ๑ กม. ลั่นไม่ได้ห้ามก่อสร้าง แต่ไม่อยากให้สร้างติดหมู่บ้าน หวั่นมลพิษระยะยาว วอนผู้ประกอบการถอยห่างออกไป

                สืบเนื่องจาก “โคราชคนอีสาน” นำเสนอข่าว กรณีที่มีกลุ่มราษฎรบ้านหนองไม้ตาย นำโดย นายสุพิศ เฝือกสูงเนิน หมู่ ๙ ตำบลหนองบัวน้อย อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือถึงนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คัดค้านการทำประชาคมหมู่บ้าน และการทำประชาพิจารณ์การก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่บริเวณบ้านหนองไม้ตาย ตำบลหนองบัวน้อย อำเภอสีคิ้ว จังหวัด

คัดค้านเพิ่มอีกหนึ่ง ใส่เว็บข่าวเก่า

                ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๐ ราษฎรบ้านหนองมน หมู่ ๑๑ ตำบลหนองบัวน้อย อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ได้รวมตัวกันเพื่อทำความเข้าใจและคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ เพิ่มเติม ณ ร้านค้าแห่งหนึ่งภายในหมู่บ้าน มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๒๐-๓๐ ราย  นอกจากนี้ยังมีการโพสต์เฟซบุ๊กในเพจ “ชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้า” โดยมีข้อความระบุว่า “ชาวบ้านหนองมน ตำบลหนองบัวน้อย อำเภอสีคิ้ว กำลังพบปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมาก่อสร้างห่างจากหมู่บ้านไม่ถึง ๑ กิโล ชาวบ้านขอให้ทนายอ๋อย ประธานกลุ่มฯ เข้าไปช่วยแนะนำให้ความรู้ และเป็นปากเป็นเสียงแทนชาวบ้าน เพราะชาวบ้านไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้จะพูดกับโรงงานอย่างไร ไม่รู้จะพูดกับผู้นำเช่นไร ไม่ให้เอาโรงงานมาสร้างมลพิษให้กับคนภายในชุมชน โปรดติดตามชมว่าโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจะได้เกิดในตำบลหนองบัวน้อยหรือไม่...?? #พลังมวลชนพลังชาวบ้านคือพลังที่ยิ่งใหญ่”  กระทั่งเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๐ มีการจัดเวทีประชาคมขึ้นมา ณ ลานอเนกประสงค์หมู่บ้าน มีผู้ร่วมเข้าประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน รวมทั้งผู้นำชุมชนเข้ามาพูดคุยด้วย โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความตึงเครียด เนื่องจากการประชุมยังไม่แล้วเสร็จ แต่ประชาชนกลับลุกออกจากที่ประชุมกลางคัน 

                “โคราชคนอีสาน” สอบถามเรื่องนี้ไปยังนายไกรจักร แก้วสุข แกนนำชาวบ้านบ้านหนองมนถึงการคัดค้านโรงไฟฟ้ากรณีดังกล่าว ซึ่ง เปิดเผยว่า ราษฎรบ้านหนองมนคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท นครราชสีมาเพาเวอร์กรีน จำกัด ตามที่หนองไม้ตายเคยคัดค้านเช่นกัน หากถามว่าราษฎรทราบผลเสียของโรงไฟฟ้าชีวมวลว่าเป็นอย่างไร จึงได้ออกมาคัดค้าน ยอมรับว่า ผู้สูงอายุอาจจะไม่ทราบ แต่ก็มีลูกหลานที่หาข้อมูลมาบอกว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลนี้มีข้อเสียอย่างไรบ้าง เพราะทุกวันนี้สามารถค้นหาข้อมูลได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน ไม่ใช่ว่าประชาชนไม่ทราบอะไรเลย และเมื่อทราบถึงผลเสียก็ต้องออกมาคัดค้าน เช่นเมื่อคืนวันที่ ๒๑ เมษายนที่ผ่านมา มีการจัดเวที เพื่อพูดคุยกับตัวแทนโรงงาน มีประชาชนในตำบลหนองไม้ตายเข้าร่วมประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน รวมถึงบ้านหนองมนด้วย แต่กลับไม่ได้ข้อสรุป เพราะเอกชนไม่ให้ชาวบ้านพูด ดีแค่ไหนก็ไม่ให้อยู่ใกล้

                นายไกรจักร กล่าวด้วยน้ำเสียงอ่อนใจอีกว่า “ไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ ชาวบ้านต้องเรียกร้องกันเอง ได้แต่หวังว่า สื่อมวลชนจะเป็น กระบอกเสียงให้ เพราะที่นี้มีแต่ชาวบ้าน ส่วนท่าทีผู้ประกอบการนั้น ก็บอกว่าจะดำเนินการต่อ ถึงแม้ประชาชนจะคัดค้านก็จะดำเนินการต่อ ดูต่อไปว่าจะเปลี่ยนอะไรได้บ้าง แต่ขณะนี้ก็เงียบหายไป ไม่ได้มีการลงพื้นที่มาพูดคุยกับประชาชนอีกเลย แต่ที่ตนได้ยินเขาพูดกันมา คือผู้ประกอบการจะถอยออกไป จะสร้างออกไปให้ไกลกว่าเดิมอีก แต่ไม่ได้รับการยืนยันอะไร ซึ่งก่อนจะสร้างก็ไม่มีใครมาถามความเห็นประชาชน แค่มีการบอกต่อกันว่าจะมีโรงไฟฟ้า ประชาชนจึงหวั่นวิตกว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าโดยไม่สนใจคำคัดค้านของคนในพื้นที่” 

ผู้ประกอบการเงียบหาย

                “โคราชคนอีสาน” ติดต่อไปยังนางพรหมพร (ฟ้า) เอี่ยมจิตเมตตา เจ้าของบริษัท นครราชสีมา เพาเวอร์กรีน จำกัด เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม นางพรหมพรปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์โดยให้เหตุผลว่าไม่สะดวก

กำหนดท้องที่ที่อนุญาต

                ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงไฟฟ้า มีใจความที่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ระบุถึงการตั้งสถานที่โรงงานในหมวดที่ ๑ ข้อ ๒ ว่าด้วยเรื่องที่ตั้งสภาพแวดล้อม ลักษณะอาคาร และลักษณะภายในของโรงงานว่า ห้ามตั้งโรงงานจําพวกที่ ๓ ในบริเวณดังต่อไปนี้กําหนด (๑) บ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัยอาคารชุดพักอาศัย และบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย (๒) ภายในระยะ ๑๐๐ เมตร จากเขตติดต่อสาธารณสถานได้แก่ โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา วัด หรือศาสนาสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน และสถานที่ทําการงานของหน่วยงาน ของรัฐและให้หมายความรวมถึงแหล่งอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนด

                โดยประเภทโรงงานตามที่พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ ระบุไว้ กล่าวคือ โรงงานจำพวกที่ ๓ คือ โรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักรมากกว่า ๕๐ แรงม้า และ/หรือ มีจำนวนคนงานมากกว่า ๕๐ ราย หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ เป็นโรงงานที่ต้องรับใบอนุญาตก่อนจึงจะตั้งโรงงานได้ โดยผู้ประกอบการต้องทำใบขออนุญาต ได้แก่ แบบ รง.๓ คือ แบบคำขอรับใบอนุญาต และแบบ รง.๔ คือ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน นอกจากนี้ ยังมีแบบ รง.๓/๑ คือแบบขอต่ออายุใบอนุญาต และ แบบ รง.๓/๒ คือแบบคำขอรับโอนใบอนุญาตประกอบกิจการซึ่งจะใช้ในกรณีที่มีการซื้อ เช่า หรือเช่าซื้อโรงงาน รวมถึงการรับเป็นมรดก เป็นต้น

ศาลสั่งระงับแล้วหนึ่ง

                อนึ่ง ในปัจจุบันพื้นที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งหมด ๓ โรง ประกอบด้วย บริษัท ยูนิ เพาเวอร์ เทค จำกัด, บริษัท เคบีเอส เพาเวอร์ จำกัด (ในเครือน้ำตาลครบุรี) และบริษัท นครราชสีมา เพาเวอร์กรีน จำกัด ซึ่งนางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล (ทนายอ๋อย) ทนายความผู้ให้คำปรึกษากับราษฎรบ้านหนองไม้ตาย และแกนนำ “ชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้า” ได้ยื่นฟ้องต่อบริษัท ยูนิ เพาเวอร์เทค จำกัด ไปนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้สั่งให้ระงับการดำเนินกิจการชั่วคราวแล้ว ด้าน ๒ บริษัทที่เหลือยังอยู่ในขั้นตอนของการยื่นเรื่องต่อหน่วยงานต่างๆ และยังไม่มีการก่อสร้างประการใด  

 

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจากนสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๒๙ วันพุธที่ ๒๖ - วันอาทิตย์ที่ ๓๐ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


691 1346