20thApril

20thApril

20thApril

 

May 18,2017

ผู้ว่าฯ ชี้แจง “กังหันลม”ลำตะคอง ไม่กระทบต่อแหล่งน้ำ

 

          ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ จัดประชุมแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่าง กฟผ.กับราษฎรคลองไผ่ ด้านอาจารย์ ม.เกษตรฯ แถลงผลสำรวจศึกษาล่าสุด ชี้ติดตั้งกังหันลม ไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำทั้งใต้ดินแน่นอน จังหวัดจี้กฟผ. อปท. และประชาชนในพื้นที่ หาทางออกร่วมกัน และพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืน'


          เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐ นายวิเชียร  จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายยงยุทธ ป้อมเอี่ยม นายอำเภอสีคิ้ว นายประสิทธิ์ อุปชิตร หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา และผศ.ดร.พงศ์เชฎฐ์ พิชิตกุล หัวหน้าภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมประชุมแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กับประชาชนในพื้นที่ตำบลคลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เพื่อหาแนวทางเยียวยาความเดือดร้อน พร้อมรับฟังการชี้แจงรายละเอียดผลการศึกษา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการติดตั้งกังหันลม และพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค โดยมีนายมุดตอฟาร์ ศรีธานี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองไผ่ นางสาวจิระนันท์ ฟุ้งสุข แกนนำกลุ่มคลองไผ่รักษ์สิ่งแวดล้อม และผู้นำชุมชน เช้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

          นางสาวจิระนันท์ ฟุ้งสุข แกนนำกลุ่มคลองไผ่รักษ์สิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ราษฎรในหมู่ ๑, ๖ และ ๑๐ ต.คลองไผ่ ซึ่งเป็นพื้นที่บนเขายายเที่ยง ใช้น้ำประปาภูเขา ที่ได้ขุดบ่อ นำมาใช้อุปโภคบริโภค หลัง กฟผ.ดำเนินโครงการกังหันลมระยะที่ ๑ ซึ่งมีกังหันลมขนาดใหญ่ ๒ ต้น ได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดิน ทำให้ปริมาณน้ำใต้ดินลดลงอย่างผิดปกติ เมื่อดำเนินโครงการระยะ ๒ ซึ่งมีกังหันลมจำนวน ๑๒ ต้น เกรงจะไม่มีน้ำกินน้ำใช้ จึงรวมตัวยื่นหนังสือขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อให้ กฟผ.กับชุมชน ไม่มีความขัดแย้งและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

          ผศ.ดร.พงศ์เชฏฐ์ พิชิตกุล หัวหน้าภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวชี้แจงว่า จากผลสำรวจศึกษาล่าสุด เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ตำแหน่งตั้งเสากังหันลม ที่ใกล้ที่สุด ตั้งอยู่บนสันเขาห่างจากแหล่งน้ำประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร มีเนินเขาและถนนตัดผ่าน ๒-๓ เส้น ซึ่งห่างไกลพอสมควร รวมทั้งในพื้นที่สำรวจไม่พบแหล่งน้ำบาดาล สำหรับบ่อน้ำดังกล่าวมีลักษณะเป็นแหล่งน้ำผิวดิน ต้องพึ่งพาน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ ไม่ได้เกิดจากแหล่งน้ำใต้ดินตามที่ประชาชนเข้าใจบทสรุปการดำเนินโครงการติดตั้งกังหันลมไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำทั้งใต้ดินและบนดินอย่างแน่นอน  

          ด้านความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค นายวิเชียร  จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ กล่าวว่า “ส่วนน้ำซับที่มีปริมาณน้อย เกิดจากภัยแล้ง ซึ่งเป็นภาวะฝนตกในพื้นที่ลดลง จึงได้ร้องขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ บรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค โดยการจัดส่งรถบรรทุกน้ำดิบจ่ายแจกให้ชาวบ้านคลองไผ่ หมู่ ๑ และบ้านเขายายเที่ยงเหนือ หมู่ ๖ ต.คลองไผ่ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ได้สั่งการให้ นายอำเภอสีคิ้ว ประสานกับเทศบาลตำบลคลองไผ่ ขยายระบบน้ำประปาหมู่บ้านให้ชาวบ้าน หมู่ ๑ ได้ใช้อย่างเพียงพอ”   

          ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่ หมู่ ๖ บ้านเขายายเที่ยงเหนือ โดย กฟผ. พบว่า มีแหล่งน้ำจำนวน ๒ แห่ง คือ สระพลาสติกและสระข้างถนน ที่ขุดโดย กฟผ. และพื้นที่ไม่มีศักยภาพในการสร้างแหล่งน้ำใหม่ เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ริมผา มีความลาดชันสูง แนวทางการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ คือ ซ่อมแซมสระพลาสติกที่ปัจจุบันชำรุดให้สามารถกักเก็บน้ำได้ และฟื้นฟูสระข้างถนนให้เก็บกักน้ำได้

          ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐ “โคราชคนอีสาน” สอบถามเพิ่มเติมไปยังนางสาวจิระนันท์ ฟุ้งสุข แกนนำกลุ่มคลองไผ่รักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อสอบถามเพิ่มเติมถึงกรณีข้างต้น นางสาวจิระนันท์ ให้ข้อมูลว่า ในเรื่องของ EIA นั้น ทางจังหวัดได้เชิญมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ปรากฏว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ได้สำรวจในเรื่องแหล่งน้ำบนดิน แต่ทำในส่วนของน้ำใต้ดิน 

          “ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอบว่า ไม่มีผลกระทบจากการก่อสร้างกังหันลม เพราะว่าเป็นคนละพื้นที่กับแหล่งน้ำ และปริมาณน้ำที่ประชาชนในพื้นที่ใช้อยู่นั้นขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน ตามฤดูน้ำหลาก ฤดูฝนต่างๆ จึงไม่มีผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ แต่ด้านประชาชนก็ยังมีความกังวลอยู่ เนื่องจากโดยปกติทุกปี ก่อนที่จะมีการก่อสร้างกังหันลมนั้น น้ำในพื้นที่ที่ใช้อุปโภคบริโภคจะมีมากกว่านี้ น้ำจากบ่อขุดของเราจะมีมาก แต่ปีนี้เมื่อมีการสร้างฐานรากของกังหันลม ปริมาณน้ำก็น้อยลงไป ซึ่งทางกลุ่มได้ชี้แจงในปัญหาความกังวลใจนี้กับผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว มีความเห็นให้ กฟผ. ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจ และร่วมพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ร่วมกับประชาชน ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเดิม นอกจากนั้นยังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาลตำบลคลองไผ่ เข้าช่วยเหลือราษฎรอีกแรงหนึ่งในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ร่วมกับไฟฟ้า” นางสาวจิระนันท์ กล่าว

          นางสาวจิระนันท์ แกนนำกลุ่มคลองไผ่รักษ์สิ่งแวดล้อม ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในขณะนี้ราษฎรในพื้นที่ยังไม่ได้พอใจกับผลของการประชุมนัก เนื่องจากน้ำนั้นน้อยลงไป อีกทั้งยังต้องมีการพูดคุยกับ กฟผ.อีกครั้ง ซึ่งจะมีการประชุมกันโดยเร็ว อย่างช้าไม่เกินวันที่ ๒๐ พฤษภาคมนี้ เพื่อหาแนวทางการแก้ไข และหาทางออกร่วมกันเรื่องของการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่อย่างยังยืน 

          อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คือเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ นางสาวจิระนันท์ ฟุ้งสุข กลุ่มคลองไผ่รักษ์สิ่งแวดล้อม และนายมุดตอฟาร์ ศรีธานี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองไผ่ ได้ยื่นหนังสือต่อนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้ระงับการก่อสร้างกังหันลม หวั่นกระทบแหล่งน้ำใต้ดิน ทั้งนี้ได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อนายประสิทธิ์ อุปชิตร หัวหน้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าลำตะคองด้วย โดยทางตัวแทนกลุ่มได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และผู้บริหาร กฟผ. ในเบื้องต้น หลังจากที่ยื่นเรื่องให้ทบทวน EIA ไป กลุ่มคลองไผ่รักษ์สิ่งแวดล้อมมีความต้องการให้ กฟผ. โรงไฟฟ้าลำตะคอง ต้องมีคำสั่งให้หยุดการก่อสร้างกังหันลมชั่วคราวก่อน ถ้าผิดเงื่อนไขที่ทางกลุ่มเรียกไป กลุ่มก็จะดำเนินการเคลื่อนไหวกันต่อไป ขณะนี้ถือว่า EIA ที่มีอยู่นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตกในเรื่องของแหล่งน้ำใต้ดินแห่งนี้ไป ทางกลุ่มไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโครงการกังหันลมและพร้อมสนับสนุนโครงการกังหันลม แต่ต้องการที่จะพัฒนาร่วมกับ กฟผ. โรงไฟฟ้าลำตะคอง และหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน รวมถึงราษฎรต้องมีน้ำใช้เหมือนเดิม อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง http://www.koratdaily.com/blog.php?id=4898

          หากมีความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะนำมาเสนอต่อไป


โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๓๓ วันอังคารที่ ๑๖ - วันเสาร์ที่ ๒๐ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


706 1345