27thApril

27thApril

27thApril

 

June 16,2017

สดร. เผยบรรยากาศส่องดาวเสาร์ใกล้โลกสุดคึกคัก ฟ้าเป็นใจเห็นทั่วไทย

          นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์  หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า บรรยากาศการเฝ้าชมดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในคืนวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ ที่ ๓ จุดสังเกตการณ์หลัก ซึ่ง สดร. ตั้งกล้องโทรทรรศน์หลากหลายชนิดบริการประชาชนส่องวงแหวนดาวเสาร์แบบเต็มตา มีประชาชนให้ความสนใจเดินทางมาร่วมกิจกรรมกันเป็นจำนวนมาก หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ท้องฟ้าโปร่ง ไร้เมฆฝนตั้งแต่ช่วงเย็น สามารถมองเห็นดาวเสาร์ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๙:๓๐ น. ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ จัดบริเวณลานน้ำพุ ศูนย์การค้าเมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ สภาพอากาศตลอดทั้งวันจนถึงหัวค่ำท้องฟ้ามีเมฆมาก จนกระทั่งเวลาประมาณ ๒๐:๐๐ น. ฟ้าเปิดจนสามารถมองเห็นดาวเสาร์ได้อย่างชัดเจน ชาวเชียงใหม่กว่าพันคน ต่างตื่นเต้นต่อคิวรอชมวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์กันอย่างเนืองแน่น พร้อมเก็บภาพความประทับใจผ่านสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ ในคืนดังกล่าวยังสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวารสี่ดวงอีกด้วย

          นายศุภฤกษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหน่วยงานเครือข่ายร่วมจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ๗๗ จังหวัด ที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. ก็คึกคักไม่แพ้กัน ครู นักเรียน รวมถึงประชาชนในชุมชนใกล้เคียงที่มาร่วมกิจกรรม ต่างตื่นเต้นที่ได้เห็นวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งหลายจังหวัดสภาพท้องฟ้าเปิด สามารถมองเห็นดาวเสาร์ได้ชัดเจน ได้แก่ ลำพูน พิจิตร กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี นครนายก นครสวรรค์ กาญจนบุรี ชัยภูมิ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ บึงกาฬ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง กระบี่ ภูเก็ต สงขลา สตูล เป็นต้น

          ตามปกติแล้วดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง) หรือใกล้โลกที่สุดเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ ระยะทางประมาณ ๑,๓๕๓ ล้านกิโลเมตร เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ตามเวลาประเทศไทย เป็นผลให้สามารถสังเกตดาวเสาร์ได้ยาวนานตลอดคืนตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินจนถึงรุ่งเช้าวันถัดไป และหลังจากวันที่ ๑๕ มิถุนายน เรายังสามารถชมความสวยงามของดาวเสาร์ได้จนถึงประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐

          ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์หรือใกล้โลกมากที่สุด ครั้งต่อไปในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ 

 

 

 

 

 


703 1345