20thApril

20thApril

20thApril

 

June 21,2017

เสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี จัดงบให้กว่า ๒ หมื่นล้าน

                “เอสเอ็มอีแบงก์” นำแคมเปญ “กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐและสินเชื่อ SMEs Transformation Loan เติมเต็มเงินทุน ติดอาวุธความรู้ ติดปีก SMEs ไทย” เสิร์ฟให้ผู้ประกอบการสุรินทร์ หวังเสริมสภาพคล่องรวมกว่า ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท

                เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ห้องประชุมพนมดงรัก ๑ โรงแรมทองธารินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในงานเปิดตัวแคมเปญ “กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐและสินเชื่อ SMEs Transformation Loan เติมเต็มเงินทุน ติดอาวุธความรู้ ติดปีก SMEs ไทย” เพื่อผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ก้าวสู่ Thailand ๔.๐ สร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น (Local Economy) โดยมีนายดำรง ตั้งธนาการ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา ๑ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร ผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียง ให้ความสนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก

                สำหรับโครงการดังกล่าวจัดขึ้นโดย ธพว.ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยมุ่งเน้นสานต่อนโยบายรัฐ ด้านส่งเสริมองค์ความรู้ พัฒนาทักษะการบริหารจัดการ และการสร้างโอกาสในการสร้างศักยภาพกิจการ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร ก้าวสู่มาตรฐานสากล SMEs ไทยแลนด์ ๔.๐ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของชาติ ๖ ข้อ ได้แก่ ข้อ ๒.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และข้อ ๔.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม

                โดยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ มีวงเงินกองทุน ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จัดทะเบียนในรูปของนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ ๑ ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลาชำระ คืน ๗ ปี ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้ใน ๓ ปีแรก ไม่ต้องมีหลักประกัน ให้กู้สูงสุด ๑๐ ล้านบาทต่อราย และ ๗๕% ขึ้นไป จะเป็นเงินกู้ไม่เกิน ๓ ล้านบาทต่อราย โดยธุรกิจจะต้องอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด เช่น ภาคการเกษตร แปรรูปอาหาร แหล่งท่องเที่ยว กลุ่ม START UP และกลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรมเป็นต้น โดยแต่ละจังหวัดจะกำหนดธุรกิจกลุ่มยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน

                ทั้งนี้ SMEs Transformation Loan วงเงิน ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท กู้ได้รายละไม่เกิน ๑๕ ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน ๗ ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน ๑๒ เดือน อัตราดอกเบี้ยต่ำ ๓% คงที่ ๓ ปีแรก ปีที่ ๔-๗ อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี นอกจากนี้กรณีกู้ไม่เกิน ๕ ล้านบาท สามารถใช้ บสย.ค้ำประกันโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จดทะเบียนในรูปแบบของนิติบุคคล ที่ได้รับผบกระทบด้านเศรษฐกิจที่ทำให้กิจการมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อความเข้มแข็ง เป็นผู้ประกอบการใหม่ (NEW/START UP) หรือที่มีนวัตกรรม มีศักยภาพ หรือมีแนวโน้มเติบโตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ๔.๐ และ SMEs ๔.๐ เช่น SMEs กลุ่มธุรกิจ S-Curve หรือ SMEs ที่ส่งออกหรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น

                ส่วนโครงการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงินกองทุน ๒,๐๐๐ ล้านบาท จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ในรูปแบบการให้เงินทุนหมุนเวียนหรือปรับปรุงกิจการ รายละเอียดไม่เกิน ๑ ล้านบาท ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้คืนสุงสุดไม่เกิน ๓ ปี ไม่มีดอกเบี้ย ไม่ต้องใช้หลักประกัน โดยผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการฟื้นฟู ได้แก่ ธุรกิจเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ยังคงดำเนินการกิจการหรือพร้อมจะฟื้นฟูกิจการได้ ธุรกิจที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว หรือยังไม่เป็นหนี้ที่ยังไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ชำระหนี้ไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจขาดสภาพคล่อง เป็นต้น

                ในขณะที่อีกหนึ่งโครงการดีๆ คือ โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงินกองทุน ๑,๐๐๐ ล้านบาท เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของบุคคลธรรมดา คณะบุคคลและนิติบุคคล ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ หรือขาดทุนเงินหมุนเวียน สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ได้รายละไม่เกิน ๑ ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระหนี้คืน ๕-๗ ปี ไม่มีดอกเบี้ย ไม่ต้องใช้หลักประกัน โดยผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ บุคคลธรรมดา ที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า ๒ ล้านบาท คณะบุคคลที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า ๓ ล้านบาท  และนิติบุคคลที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า ๓ ล้านบาท แต่ไม่ถึง ๑๐ ล้านบาท ซึ่งกิจการจะต้องมีแผนฟื้นฟูเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้เจ้าหนี้ ลดปัญหาการล้มละลาย การเลิกจ้างงาน และช่วยพยุงภาพรวมเศรษฐกิจ SNEs ไว้

                นอกจากนี้ผู้ที่เข้าร่วมงานจะได้รับฟังเสวนา การบรรยายสร้างความรู้ความเข้าใจและการเข้าถึงสินเชื่อ แหล่งเงินทุน ความรู้เรื่องบัญชีและภาษี  กลยุทธ์ทางการตลาดออนไลน์ บริการให้คำปรึกษาแนะนำ พร้อมยื่นกู้ได้ภายในงาน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจใช้บริการเงินกู้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และสินเชื่อ SMEs SMEs Transformation Loan ยังสามารถติดต่อยื่นคำขอกู้ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call center ๑๓๕๗ หรือสามารถติดต่อตามข่าวสารกิจกรรมของธนาคารผ่านช่องทาง Facebook.com/SMEDevelopmentBank

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๔๐ วันพุธที่ ๒๑ - วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


699 1344