18thApril

18thApril

18thApril

 

June 22,2017

‘ชาวนครราชสีมา’มีเฮ ๔ สายการบินหารือ สนามบินให้ขึ้นลงฟรี ๕ ปี

                สี่สายการบินหารือเปิดเส้นทางบินโคราช เผย ๒ สายการบินสนใจ กรมท่าอากาศยานจัดโปรโมชั่นให้เต็มที่ฟรีค่าใช้สนามบิน ๕ ปี เครื่องบินที่เหมาะสมต้อง ATR 200 หรือ Q 400 ขนาด ๖๐-๘๐ ที่นั่ง ย้ำต้องเปิด ๔ เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ภาครัฐ-เอกชนโคราชรับประกันที่นั่ง ๖ เดือนแรกช่วยซื้อ ๕,๐๐๐ ที่นั่ง อ่านข่าวที่เกี่ยว http://www.koratdaily.com/blog.php?id=5542

 

กรอ.ติดตามความคืบหน้า

                ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมา (กรอ.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ สำนักงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีนายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ ประธานหอการค้ากลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ นายประวัติ ดวงกันยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และนายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมด้วย โดยในระเบียบวาระการประชุมที่ ๓ เป็นการหารือเรื่องแนวทางในการเปิดเส้นทางการบินในเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานนครราชสีมา 

                นายประวัติ ดวงกันยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมากล่าวถึงความคืบหน้าหลังจากมีการประชุมกับอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐) ว่า หลังจากที่นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รับปากกับทางจังหวัดนครราชสีมาว่า จะหาวิธีผลักดันเพื่อเปิดเส้นทางการบินให้ได้ โดยเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายนที่ผ่านมา อธิบดีกรมท่าอากาศยานได้มอบหมายให้นางอัมพวัน วรรณโก รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน เป็นประธานในการเชิญสายการบินต่างๆ ได้แก่ สายการบินไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ บางกอกแอร์เวย์ และไทยเวียตเจ็ท เพื่อหารือร่วมกับกรมท่าอากาศยานในฐานะผู้ให้บริการท่าอากาศยาน และสายการบินในฐานะผู้ให้บริการการบิน และเป็นผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้ง ความเป็นไปได้ในการเปิดเที่ยวบินมายังท่าอากาศยานนครราชสีมา

หวั่นผู้โดยสารน้อยไม่เต็มลำใหญ่

                สายการบินต่างๆ ท้วงติงในเรื่องปริมาณผู้โดยสาร และความไม่แน่ใจในการเดินทางจากตัวเมืองนครราชสีมาไปยังท่าอากาศยานนครราชสีมา เกรงว่าผู้โดยสารจะไม่ได้รับความสะดวก ซึ่งเป็นพื้นฐานของตลาดการบินในการเปิดเส้นทางใหม่ นอกจากนั้น ยังมีเรื่อง ปริมาณการจราจร ซึ่งทางสายการบินเกรงว่า ในช่วงแรกหากนำเครื่อง Boeing 737 หรือ Airbus A320 มาบริการ ปริมาณผู้โดยสารอาจจะไม่เพียงพอ(ไม่เต็มลำ) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ รวมทั้งยังมีการพิจารณาว่า ในเบื้องต้นจะทำการบิน ๒ เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (ต่อสายการบิน) แต่บางสายการบินพูดถึงเรื่องความคุ้มค่าทั้งในเรื่องของเที่ยวบินที่จะมาเปิดบริการที่โคราช และจำนวนพนักงานที่จะอำนวยความสะดวก ทั้งบนเครื่องบิน และงานภาคพื้น โดยรายละเอียดในส่วนอื่นจะนัดหารือกันอีกครั้ง ระหว่างจังหวัดนครราชสีมา สายการบิน และกรมท่าอากาศยาน ซึ่งทางสายการบินขอให้กรมท่าอากาศยานเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และเชิญทุกฝ่ายมาร่วมหาข้อตกลง ซึ่งต้องให้ทางจังหวัดเตรียมข้อมูลทางเศรษฐกิจ และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง รวมถึงข้อมูลของสถาบันการศึกษาต่างๆ ส่วนการกำหนดวันนัดหารือ ทางท่าอากาศยานนครราขสีมาจะประสานงานกับทุกหน่วยงานเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เร็วที่สุด” นายประวัติ กล่าว

ขอให้ ๓ ห้างใหญ่ช่วยดัน

                นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ตนมีโอกาสหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และให้เราเป็นฝ่ายรุกไม่ใช่รอรับอยู่กับที่ ดังนั้น มีการวางแผนถึง ๓ เส้นทางที่จะมุ่งผลักดันให้เกิดสายการบินมาเปิดเส้นทางการบินโดยเร็วที่สุด โดยแนวทางแรกที่ได้รับนโยบายมา คือให้ประสานกับผู้บริหารห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ในจังหวัด ได้แก่ เดอะมอลล์นครราชสีมา, เทอร์มินอล ๒๑  โคราช และเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา เพื่อให้ร่วมสนับสนุน เพราะทั้ง ๓ ห้างมีศักยภาพ และเสถียรภาพในการพูดคุยกับสายการบินได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสานกับเดอะมอลล์และเทอร์มินอล ๒๑ แล้ว ในส่วนของเซ็นทรัลพลาซาฯ อยู่ระหว่างติดต่อกับผู้บริหารซึ่งจะเดินทางมาที่โคราชในวันที่ ๖ กรกฎาคมนี้

เอกชน-ราชการต้องใช้บริการ

                “ทางหอการค้าฯ และท่าอากาศยานนครราชสีมา มุ่งเน้นไปที่อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และสายการบิน ซึ่งจะกำหนดให้มีการประชุมเกิดขึ้นให้ได้ในเร็ววัน หากเป็นไปได้ต้องการให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลไปหารือกับเซ็นทรัลพลาซา โดยแผนงานที่วางไว้ในขณะนี้คือ การยื่นเอกสารของภาคเอกชนกับทางราชการที่จะนำเสนอเรื่องเปิดสายการบิน เมื่อเปิดแล้วจะต้องจุดติดให้ได้ ไม่ให้เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งภาคเอกชนและภาคราชการไม่เคยรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การบินของสายการบินที่ทำการบินในจังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น ในครั้งนี้ จะมุ่งเน้นและต้องทำให้ได้ โดยมีแผนสำรองคือ ทางราชการจะให้การสนับสนุนในช่วงแรก ให้ข้าราชการสามารถโดยสารเครื่องบินเพื่อติดต่อราชการกับทางจังหวัดอื่นๆ ส่วนในภาคเอกชนจะมีผู้ประกอบการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า โรงแรม ผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างๆ จะช่วยกันซื้อตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าในระยะเวลา ๖ เดือนแรก ไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ ที่นั่ง ซึ่งน่าจะสามารถดำเนินการได้ไม่เกินสิ้นปี ๒๕๖๐ เป็นอย่างช้า” นายชัชวาล กล่าว

ต้องมีครบทั้งอากาศ-บก

                ด้านนายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการสายการบินที่จะมาเปิดเส้นทางบินที่โคราช หากทำได้แล้วก็ต้องช่วยกันประคับประคองให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป ส่วนตัวไม่อยากให้ไปกังวลเรื่องคมนาคมทางบกอื่นๆ เช่น มอเตอร์เวย์ หรือรถไฟความเร็วสูง เพราะเป็นเพียงส่วนประกอบภาคพื้นดิน ในอนาคตประเทศจะเข้าสู่ยุค ๔.๐ หรือเป็นเรื่องของพื้นที่หลักทางเศรษฐกิจ (Corridor) หรือในเรื่องของ East meets West และการเชื่อมกันของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ทุกอย่างต้องมีการไหลผ่านจังหวัดนครราชสีมาตลอด ด้วยสิ่งเหล่านี้จึงต้องมีคมนาคมทางอากาศ ไม่ใช่เพียงแค่กล่าวว่า เมืองของเราพร้อม แต่เมื่อถึงเวลาคู่ค้าต้องการที่จะโดยสารเครื่องบิน กลับไม่มีให้บริการ เพราะฉะนั้นต้องมีให้ได้

ต้องลงที่ “หนองเต็ง” เท่านั้น

                นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ชี้แจงเพิ่มเติมถึงเส้นทางการบินว่า  “จากการสำรวจของหอการค้าฯ ที่ทำการสำรวจเกี่ยวกับเรื่องสายการบินจากประชาชนกว่า ๕,๐๐๐ ราย มีการตอบรับเป็นอย่างดีว่า สนับสนุนและยินดีถึงกว่า ๙๐% ในเส้นทางที่จะเปิด ได้แก่ โคราช-กรุงเทพฯ และโคราช-เชียงใหม่ ประเดิมเป็นอันดับแรกๆ และในอนาคตจึงค่อยเป็นโคราช-ภูเก็ต และหากเป็นไปได้ ณ เวลานี้ทางจังหวัดได้ลงนามเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว ซึ่งก่อตั้งคณะทำงานขึ้นมาเป็นชมรมมิตรภาพโคราช-เฉิงตูแล้ว จะมีการเดินทางไปยังเฉิงตูในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อประสานงานเกี่ยวกับชมรมนี้ และตั้งเป้าไว้ว่า ภายในสิ้นปีนี้จะทำการค้ากับเฉิงตูให้ได้ เพราะฉะนั้นอนาคตที่เราจะมีสายการบินที่บินระหว่างประเทศก็เป็นไปได้สูง จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันผลักดันและพัฒนาให้เกิดขึ้นให้ได้ จะเป็นประโยชน์ต่อจังหวัดนครราชสีมาเป็นอย่างมาก”

๒ สายการบินสนใจ

                ทั้งนี้ จากการติดตามของ “โคราชคนอีสาน” ทราบว่า จากการที่นางอัมพวัน วรรณโก รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ด้านเศรษฐกิจ) เชิญผู้แทน ๔ สายการบิน ประกอบด้วย ไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ บางกอกแอร์เวย์ส และไทยเวียตเจ็ท ร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ในการเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายนที่ผ่านมานั้น มีสาระสำคัญว่า เนื่องจากทางจังหวัดนครราชสีมา ภาคเอกชน และประชาชนในจังหวัด มีความประสงค์อยากให้สายการบินต่างๆ มาเปิดบินแบบเที่ยวบินประจำ ซึ่งจะเป็นเส้นทางใดก็ได้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งจะได้เป็นอีกทางเลือกในการเดินทางที่นอกเหนือจากทางบก โดยในเบื้องต้นมี ๒ สายการบินให้ความสนใจ แต่ขอให้กรมฯ และจังหวัดนครราชสีมาเร่งจัดระบบขนส่งสาธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารจากสนามบินเข้าตัวเมือง ให้ดี ซึ่งมีระยะทางประมาณ ๒๘ กิโลเมตร และเป็นระบบก่อน มิฉะนั้นเมื่อผู้โดยสารมาถึงก็ไม่รู้จะเดินทางเข้าตัวเมืองอย่างไร นอกจากนี้ยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า การเปิดทำการบินช่วงแรกอาจยังมีปริมาณผู้โดยสารไม่มากนัก ดังนั้น แบบเครื่องบินที่เหมาะสมคงต้องเป็นขนาดเล็กก่อน เช่น ATR 200 หรือ Q 400 ขนาด ๖๐-๘๐ ที่นั่ง จะใช้เครื่องบินแบบแอร์บัส A 320 หรือโบอิ้ง ๗๒๗ ซึ่งมี ๑๐๐ ที่นั่งขึ้นไปคงยังไม่ได้

งดเก็บค่าบริการขึ้น-ลงสนามบิน

          ส่วนในเรื่องความถี่ของการบินนั้น ทางสายการบินระบุว่า อาจต้องอยู่ที่ ๔ เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จะเป็น ๒ เที่ยวต่อสัปดาห์ไม่ได้ เพราะถ้าความถี่ของเที่ยวบินน้อย สายการบินจะไม่คุ้มทุนในการเปิดบิน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้ทางกรมฯ ได้รับฟัง และแจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ได้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการในการขึ้น-ลงของอากาศยาน และค่าบริการที่เก็บอากาศยานแก่อากาศยานของผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ ซึ่งให้บริการในเชิงพาณิชย์ ทั้งการให้บริการเที่ยวบินแบบประจำ เที่ยวบินแบบไม่ประจำ และเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ ที่ได้ขึ้น-ลงและเก็บอากาศยานที่สนามบินนครราชสีมา ๕ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ นอกจากนี้ กรมฯ ยังแจ้งให้สายการบินต่างๆ ทราบว่า ทางจังหวัดนครราชสีมา และภาคเอกชน ยินดีสนับสนุนสายการบินที่จะมาเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ที่สนามบินนครราชสีมา ด้วยการประกันที่นั่ง โดยช่วยซื้อบัตรโดยสาร ๕,๐๐๐ ที่นั่ง ในช่วง ๖ เดือนแรก เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่สายการบิน และการันตีว่า มีผู้โดยสารใช้บริการแน่นอน อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ ทางจังหวัดนครราชสีมา จะนัดหารือกับทางสายการบินอีกครั้งว่า จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนเรื่องใดเพิ่มเติม เพื่อจูงใจให้สายการบินมาเปิดทำการบินที่สนามบินนครราชสีมาโดยเร็วที่สุด

          หากมีความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๔๐ วันพุธที่ ๒๑ - วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


688 1342