26thApril

26thApril

26thApril

 

June 22,2017

สนช.ลุยสร้างความพร้อม “ผู้นำนักประชาธิปไตย” ‘สุรชัย’หวังรธน.มั่นคง

                สนช.จัดโครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตร “กระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” หวังสร้างความรู้และทัศนคติที่ดีแก่ผู้นำท้องถิ่นและประชาชน เป็นเครือข่ายช่วยเผยแพร่ รธน.๖๐ เพื่อประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและมั่นคง รองประธานสนช.เผยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใกล้เสร็จ รอ กรธ.ร่างเร่งประกาศใช้

                เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ สำนักเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดโครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตร “กระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ ๑ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งนายสุนทร จันทร์รังสี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐, นายพิเชษฐ พัฒนโชติ อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ ๑, นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวต้อนรับในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายพงศ์กิตติ์ อรุณภักดีสกุล รองเลขาธิการวุฒิสภา พร้อมผู้เข้าร่วมอบรมจากจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสระบุรี รวมทั้งหน่วยงานหลายภาคส่วน เข้าร่วม ณ โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส โคราช

 

สนช.ลุยครั้งที่ ๘ ที่โคราช

                นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวต้อนรับว่า การจัดโครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตร “กระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ในครั้งนี้ จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่กลุ่มเป้าหมายจากจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสระบุรี เป็นอย่างดี

                ด้านนายพงศ์กิตติ์ อรุณภักดีสกุล รองเลขาธิการวุฒิสภากล่าวรายงานว่า โครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่นฯ มีวัตถุ ประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงบทบาทอำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับความคิดเห็นและวิถีชีวิตในครรลองของระบอบประชาธิปไตย ตลอดทั้งเป็นการสร้างเสริมบทบาทของเครือข่ายในการเผยแพร่ประชาธิปไตยให้บังเกิดพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง อันจะยังผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของชาติในภาพรวม

                “ในการอบรมครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๘/๒๕๖๐ โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้นำจากภาคราชการ นายกและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปกครองท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารสถานศึกษาและครูสอนวิชาสังคม ทนายความ ศิลปินพื้นบ้าน และสื่อมวลชน รวมทั้งสิ้น ๑๓๐ คน ซึ่งมีการจัดโครงการฯ ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๐”  นายพงศ์กิตติ์ กล่าว

               

ประชาธิปไตยเข้มแข็ง ปชช.ต้องรู้

                นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง ประธานในพิธี กล่าวเปิดงานว่า โครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นวุฒิสภา ภายใต้แนวคิดที่ว่า ประชาธิปไตยจะเข้มแข็ง ประชาชนต้องมีความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย โดยดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด กระทั่งบัดนี้ และสิ่งที่ผู้ขับเคลื่อนโครงการมีความดีใจ คือ แนวคิดดังกล่าวนั้นถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ในหมวดการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีแบ่งย่อยหลายด้าน หนึ่งในหลายด้านนั้น พูดถึงการปฏิรูปการเมือง และหนึ่งในกระบวนการที่จะทำการปฏิรูปการเมืองก็คือ การเสริมสร้างความรู้ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

                “หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดการอบรมในหลักสูตรนี้ ซึ่งทุกท่านที่เข้าอบรมในวันนี้เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากหลักสูตรจากแต่ละจังหวัดให้เข้ารับการอบรม จะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำนักประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นเครือข่ายสำคัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไปในอนาคต ในการช่วยกันถักทอประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง แท้จริง และสมบูรณ์ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อนั้นเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะก่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนในประเทศของเรา” นายสุรชัย กล่าว

 

รัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปประเทศ

                จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “รัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปประเทศ” ความว่า ประชาธิปไตยจริงๆ ที่ควรจะเกิดขึ้นก่อนมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้น ต้องมีองค์ประกอบดังนี้ ประการที่ ๑ อำนาจประชาธิปไตย ต้องเป็นของประชาชน ซึ่งที่แล้วมารัฐธรรมนูญทุกฉบับก็บัญญัติไว้เช่นกัน แต่สำหรับในปัจจุบันจะส่งเสริมให้ประชาชนร่วมมือกัน ไม่ให้ใครนำอำนาจของประชาชนไปใช้ในทางที่ผิด การใช้อำนาจของประชาชนต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ประการที่ ๒ ประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งนั้นต้องเป็นการเลือกตั้งที่สุจริต บริสุทธิ์ เสรี และเป็นธรรม กล่าวคือไม่มีการครอบงำความคิดของประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิ์เสมอภาคกันในการอาสามาทำงานเพื่อประชาชนด้วยกัน และประชาชนสามารถตัดสินใจได้เองในการเลือกตัวแทนที่เขาพอใจ ไม่ใช่ระบบหัวคะแนน ประการที่ ๓ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งในฐานะนักการเมือง และในฐานะประชาชนเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย ประการที่ ๔ สิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญห้ามไว้ แปลว่าทุกเรื่องทำได้ ประชาชนจะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพเท่าที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ เป็นการย้ำในเรื่องของการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน

                ประการที่ ๕ เมื่อได้อำนาจจากประชาชนแล้ว ไม่ประสงค์ให้ฝ่ายใดได้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นอกจากนี้ยังให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่สุด ประการที่ ๖ จะเป็นประชาธิปไตย จะต้องเคารพหลักการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งมาพร้อมกับการถ่วงดุลและการตรวจสอบการใช้อำนาจแทนประชาชน ซึ่งในเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นที่รับรู้และเข้าใจกันดีว่า การแบ่งแยกอำนาจแบ่งเป็นสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ซึ่งจะมีอำนาจตรวจสอบและคานอำนาจซึ่งกันและกัน ประการที่ ๗ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง ประชาชนไม่ได้มีสิทธิในทางการเมืองแค่ในฤดูกาลเลือกตั้งเท่านั้น แต่ประชาชนสามารถทำกิจกรรมทางการเมือง อาทิ มีสิทธิ์เข้าชื่อกันเสนอเพื่อขอออกกฎหมายได้เอง สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ การเข้าชื่อกันถอดถอนนักการเมือง เป็นต้น ประการสุดท้าย จะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ หลังการเลือกตั้งและเข้าไปบริหารประเทศแทนประชาชนแล้ว ได้ใช้หลักธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรมหรือไม่ อันเป็นหลักพื้นฐานของกฎหมายทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ดังนั้น รัฐบาลก็ต้องดำเนินการตามหลักนี้ แต่นอกเหนือจากการปฏิรูปด้านการเมืองแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องมีการปฏิรูปในประเทศ

 

ปชช.มั่นใจได้ใน รธน.๖๐

                “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ วางหลักประกันในเรื่องปฏิรูปประเทศว่า ประชาชนมั่นใจได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีความมั่นคงกว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ หรือปี ๒๕๕๐ ที่เราเสียเวลากันไป ๑๗ ปี รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นความหวังให้พี่น้องประชาชนได้มั่นใจว่าประเทศนี้จะสามารถเดินหน้าปฏิรูปประเทศได้อย่างจริงจัง และประชาชนมีส่วนร่วมในการเข้าไปติดตามความคืบหน้า ในการปฏิรูปประเทศได้อย่างไรบ้าง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ แบ่งออกเป็น ๑๖ หมวด โดยหมวดที่ ๑๖ คือหมวดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศโดยตรง ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูป ซึ่งเป็นหมวดใหม่ ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญก่อนๆ ซึ่งมีเพียง ๕ มาตรา แต่เป็น ๕ มาตราที่มีความสำคัญต่อการเดินหน้าประเทศไทยอย่างมาก เพื่อทำให้ประเทศมีความสงบเรียบร้อย มีความปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และต้องมีการพัฒนาอย่างสมดุลทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ” นายสุรชัย กล่าว

 

คืบหน้ากฎหมายประกอบ รธน.

                นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่า เรื่องที่ สนช. เน้นคือกลไกที่ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ เนื่องจากว่า การอบรมในโครงการนี้ตั้งแต่รุ่น ๖ รุ่น ๗ มาถึงรุ่น ๘ หรือจะต่อไปถึงรุ่น ๙ รุ่น ๑๐ ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของปีงบประมาณ ๒๕๖๐ เป็นรุ่นที่รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับแล้ว สนช.จะนำกติกาใหม่ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ มาถ่ายทอดให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับทราบ และเน้นให้เห็นถึงสองเรื่องสำคัญ ที่จะเป็นการวางอนาคตของประเทศ ได้แก่ ๑.การปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็คือการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้บ้านเมืองซึ่งสะสมมาในอดีต และ ๒.ก้าวใหม่ต่อไปของประเทศก็คือการสร้างอนาคตของชาติผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นสองเรื่องสำคัญที่พยายามจะเน้นกับผู้เข้ารับการอบรม

                นายสุรชัยชี้แจงต่อว่า แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่จะเป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองด้วย ที่ฝ่ายการเมืองพยายามเรียกร้อง ต้องการให้มีกฎหมายที่จะมาเอื้อและสนับสุนนพรรคการเมืองให้มีความเข้มแข็ง กฎหมายนี้ สนช.หวังว่าจะส่งเสริมพรรคการเมืองให้มีความเข้มแข็ง แต่เป็นความเข้มแข็งภายใต้การเป็นสถาบันการเมืองของประชาชน ไม่ใช่พรรคการเมืองของกลุ่มทุนเหมือนในอดีต ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อีก ๖ ฉบับ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เท่าที่ตนได้ประสานงาน อีกประมาณ ๒ สัปดาห์ กรธ.จะส่งฉบับที่ ๕ มา คือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นฉบับที่มีความสำคัญต่อพี่น้องประชาชนค่อนข้างมาก เพราะเป็นองค์กรอิสระที่จะเข้ามาดูแลด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพให้กับพี่น้องประชาชน

 

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๔๐ วันพุธที่ ๒๑ - วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


689 1342