29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 12,2017

ครม.อนุมัติเดินหน้ารถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-โคราช วงเงิน 179,413 ล้าน

   เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560  เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยในวาระที่ 13 เรื่อง  ขออนุมัติดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา
 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
   1. อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ในวงเงิน 179,413 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบประมาณ 2560 – 2563) โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction)  หรือการจัดจ้างลักษณะอื่น ๆ ตามระเบียบ รฟท. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ระเบียบกรมบัญชีกลางมติคณะรัฐมนตรี และระเบียบราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
   2. ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น  โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายปีและ /หรือกระทรวงการคลัง (กค.) จัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม  เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการฯ โดยใช้เงินกู้  เห็นควรอนุญาตให้ รฟท. กู้เงินได้ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4)

3. เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 และมาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งกำหนดให้การกระทำสัญญาที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพันต่อไป

คค. รายงานว่า รฟท. ได้เสนออนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟขนาดทางมาตรฐาน ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา- หนองคาย ตามกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ  ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 โดยคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีมติ (21 มิถุนายน 2559  27 กันยายน 2559 และ 29 พฤษภาคม 2560) อนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว  

ความสำคัญของโครงการฯ มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ นำไปสู่โอกาสทางการค้า  การลงทุนและการท่องเที่ยว  อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ดังนี้

1.จะเป็นการเชื่อมโยงโอกาสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปสู่จังหวัดในโครงข่ายในการพัฒนา  ได้แก่  พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ในระยะแรก  และนำไปสู่เขตจังหวัดขอนแก่น  อุดรธานี  และหนองคาย ในระยะต่อไป  อันเป็นการเปิดโอกาสด้านการพัฒนาเมือง การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว  นำไปสู่การกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน  รวมทั้งสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  อีกทั้งลดการย้ายถิ่นฐาน สร้างงานในพื้นที่และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทำงานยังคงอยู่อาศัยกับครอบครัวในสังคมผู้สูงอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า
        
2.จะนำไปสู่การเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน  ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งจะสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศไทยในกลุ่มประเทศอาเซียนที่แท้จริง  ตลอดจนจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายคมนาคม One Belt One Road เชื่อมไปสู่กลุ่มประเทศที่สำคัญผ่านโครงข่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนในอนาคต เป็นลู่ทางการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวให้แก่นักธุรกิจของไทย ผู้ประกอบการขนส่ง เกษตรกร  เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (Supply  Chain)  ไปสู่การเปิดตลาดใหม่ๆ ได้อย่างยั่งยืน

ลักษณะโครงการ มีระยะทางรวม 253  กิโลเมตร  ประกอบด้วย 6 สถานี  โดยเริ่มต้นที่สถานีกลางบางซื่อ  สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา  สถานีสระบุรี  สถานีปากช่อง  และสิ้นสุดที่สถานีนครราชสีมา  ใช้ระยะเวลาการเดินทางจากสถานีกลางบางซื่อถึงสถานีนครราชสีมา  ประมาณ  1 ชั่วโมง 30 นาที และมีศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมการเดินรถตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟเชียงรากน้อย  ทั้งนี้ ใช้รถโดยสารที่มีความจุของขบวนรถ 600 ที่นั่ง / ขบวนความเร็วสูงสุด  250 กม./ชม. โดยมีอัตราค่าโดยสาร 80 บาท +1.8 บาท/คน/กิโลเมตร

ผลประโยชน์ทางตรง ได้แก่  มูลค่าของการประหยัดเวลาในการเดินทาง มูลค่าของการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ  มูลค่าการประหยัดจากการกำจัดมลพิษ  มูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุที่ลดลงของโครงการ

ผลประโยชน์ทางอ้อม จากการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้เกิดการกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากส่วนกลางไปยังพื้นที่ส่วนภูมิภาค  ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเมืองอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะต่อระบบเศรษฐกิจของเมืองในพื้นที่โครงการ 4 จังหวัด และพื้นที่โดยรอบสถานี และเมื่อโครงข่าย มีความสมบูรณ์ทั้งระบบจะเกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค  ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าชายแดนอีกทางหนึ่งด้วย โดยสามารถสร้างผลตอบแทนเชิงกว้างที่มีต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่โครงการ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ผลประโยชน์ของโครงการ ทั้งทางตรงและทางอ้อม (Project Benefit) ถือว่าโครงการความร่วมมือฯ มีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ คุ้มค่ากับการลงทุนเพื่อสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ส่วนรวม

 


691 1335