23rdApril

23rdApril

23rdApril

 

July 17,2017

ลุยต่อต้านค้ามนุษย์แนวชายแดน บูรณาการร่วมมือระดับอาเซียน

                รัฐมนตรี พม. ติดตามสถานการณ์การค้ามนุษย์ในพื้นที่ชายแดนด่านช่องจอม พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ประชารัฐร่วมใจต่อต้านการค้ามนุษย์” เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์กับทุกภาคส่วนในภูมิภาคอาเซียน

                เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์การค้ามนุษย์ในพื้นที่ชายแดนด่านช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ และเป็นประธานพิธีประกาศเจตนารมณ์ “ประชารัฐร่วมใจต่อต้านการค้ามนุษย์” เพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีนายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พลเอกซอ ทาวี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสุรินทร์ นายด่านศุลกากรช่องจอม หัวหน้าหน่วยประสานงานชายแดนประจำพื้นที่ ๒ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทย บริเวณชายแดนจังหวัดสุรินทร์ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียน ประจำประเทศไทย รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายประชารัฐจังหวัดสุรินทร์ จำนวนทั้งสิ้น ๓๕๐ คน

               พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากการค้ามนุษย์เป็นการกระทำที่ลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ รวมทั้งปัญหาการขอทานข้ามชาติ ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ของรัฐบาล รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป สำหรับปัญหาการขอทานข้ามชาติ ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.๒๕๕๙ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ดำเนินการจัดระเบียบขอทานตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๗ ถึงปัจจุบัน พบว่า มีขอทานจำนวน ๕,๕๗๓ ราย แบ่งเป็นขอทานไทย ๓,๕๔๘ ราย และขอทานต่างด้าว ๒,๐๒๕ ราย โดยได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่างครบวงจร

                “กระทรวง พม. โดย พส. จึงดำเนินโครงการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ตามกรอบความร่วมมืออาเซียน “ประชารัฐร่วมใจต่อต้านการค้ามนุษย์” ระหว่างวันที่ ๑๒–๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ โดยสนับสนุนอาสาสมัครให้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานด้านการค้ามนุษย์ อีกทั้งกำหนดเจตนารมณ์ในการที่จะขจัดปัญหาขอทานให้หมดสิ้นไปจากภูมิภาคอาเซียน” รมว.พัฒนาสังคมฯ กล่าว

                พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมในวันนี้ เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งสำหรับความร่วมมือตามแนวทาง “ประชารัฐ” ของรัฐบาล ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งเครือข่ายอาสาสมัครชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะอาสาสมัครของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อร่วมกันป้องกันปัญหาการแสวงหาประโยชน์ และการค้ามนุษย์จากกลุ่มผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากในภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ ซึ่งอาสาสมัครและผู้แทนองค์กรเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียน ต่างมีเจตนารมณ์ร่วมกัน ดังนี้ ๑) เราจะร่วมกันเฝ้าระวังและเป็นเครือข่ายป้องกันการค้ามนุษย์ ๒) เราจะประสานการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาอย่างทันท่วงที และ ๓) เราจะสนับสนุนและเป็นหุ้นส่วนของรัฐ ในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ภายใต้แนวคิดร่วมกันว่า “อาสาประชารัฐ ร่วมมือคือพลัง” (More Hands More Power)

                “กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมบูรณาการร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคมตามแนวทาง “ประชารัฐ” ของรัฐบาล เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ เพราะเชื่อว่าการประสานความร่วมมือคือพลังสำคัญในการแก้ไขปัญหา (More Hands Make Bigger) ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนสามารถร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์ หากพบเห็นคนขอทานคนไร้ที่พึ่ง โทรแจ้ง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน โทร.๑๓๐๐ บริการ ๒๔ ชั่วโมง” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

                ขณะที่นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มีการจัดตั้งหมู่บ้านตามแนวชายแดน จากอำเภอต่างๆ ที่ติดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ได้แก่ อ.สังขะ อ.บัวเชด อ.กาบเชิง และอ.พนมดงรัก ประสานงานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทหาร กองกำลังสุรนารี ดูแลพื้นที่แนวชายแดน เพื่อป้องกันการลักลอบค้ามนุษย์ การลักลอบข้ามแดน อย่างผิดกฎหมาย

                จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตเส้นไหม โรงสาวเส้นไหม ไหมทองสุรินทร์ ภายในนิคมสร้างตนเองเลี้ยงไหม ในพระบรมราชานุเคราะห์ อำเภอกาบเชิงด้วย

 

 

 

 โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๔๕ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


700 1342