27thApril

27thApril

27thApril

 

July 17,2017

เปิดประมูล LRT สายแรกปลายปี ลงทุน ๑๕,๐๐๐ ล.เดินรถได้ปี ๖๓

                เปิดทางนักลงทุนไทย-เทศ ประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายแรกของอีสานปลายปีนี้ หลังมีความคืบหน้าในการขออนุญาต เส้นทางเดินรถ และรูปแบบก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด พร้อมเสนอ ครม.เพื่อรับการอนุมัติทั้งโครงการ ประธานหอฯ มั่นใจตอกเสาเข็มได้ปลายปีนี้ และพร้อมเดินรถปี ๖๓ ด้วยงบลงทุนกว่า ๑๕,๐๐๐ ล้าน

                เมื่อเวลา ๑๓.๓๐ น. วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ที่โรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเต็ล นายเข็มชาติ  สมใจวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่นเปิดเผยถึงการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนระบบรางเบา (LRT) ขอนแก่นว่า “นับเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดขอนแก่นเห็นชอบ และขับเคลื่อนแนวทางการทำงานร่วมกันในทุกฝ่าย โดยขณะนี้มีความคืบหน้าในโครงการดังกล่าวอย่างมาก ทั้งในเรื่องของรูปแบบของการก่อสร้าง เส้นทางการเดินรถ ที่ใช้เกาะกลาง ถนนมิตรภาพ ตั้งแต่ตำบลท่าพระ ถึงตำบลสำราญ เขตอำเภอเมือง ระยะทางรวม ๒๒.๖ กม. การกำหนดจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร ทั้งหมด ๑๖ สถานี โดยงบประมาณในการก่อสร้างนั้น เบื้องต้นภาคเอกชนชาวขอนแก่นมีความสนใจในการลงทุนโครงการ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดขอนแก่น เป็นงบประมาณในการลงทุนของภาคเอกชนทั้งหมด ประมาณ ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท ดังนั้นในขณะนี้คณะทำงานได้มีการศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เมื่อแล้วเสร็จทั้งหมดจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบและพิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการต่อไป”

                นายเข็มชาติ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าระบบรางเบาสายแรกในระดับภูมิภาค ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการเปิดประมูลการก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยในประเด็นนี้ทุกฝ่ายได้ทำการเปิดให้บริษัทฯ ที่จะมาก่อสร้าง เป็นการเปิดกว้าง เพื่อให้นักลงทุนหรือผู้ที่สนใจจะเข้ามาทำการก่อสร้าง ซึ่งสามารถทำการยื่นประมูลได้ทั้งบริษัทในประเทศและต่างประเทศ ห้วงเวลาการประมูลนจะอยู่ในช่วงปลายปีนี้ จากนั้นจะสามารถประกาศผลการประมูล และเริ่มสู่กระบวนการก่อสร้างรถไฟฟ้าขอนแก่นได้ทั้งระบบ

                “สำหรับรถไฟฟ้าขอนแก่น ดำเนินการโดยบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งเป็นการรวมตัวกันครั้งสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการระดมทุนจากบุคคลและนิติบุคคล และการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหลังจากโครงการเริ่มดำเนินการใน ๒ ปีแรก จะมีการนำโครงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและการพัฒนาพื้นที่ตามเส้นทางของโครงการดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ได้ข้อสรุปที่เป็นโครงการขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าระบบรางเบา สายเหนือ-ใต้ (สำราญ-ท่าพระ)ระยะทางรวม  ๒๒.๖ กม. จำนวน ๑๖ สถานี ใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตและประกอบในประเทศไทยจำนวน ๑๕ ขบวน โดยมีขบวนละ ๓ ตู้ ซึ่งใน ๑ ขบวน สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ ๑๘๐ คน ขณะที่เบื้องต้นสถานีจอดและศูนย์ซ่อมบำรุง ได้ข้อสรุปในการใช้พื้นที่บริเวณภายในกรมการศูนย์วิจัยข้าว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกประตูเมืองตรงข้ามโรงพยาบาลขอนแก่นราม และขณะนี้ได้มีการสรรหาพื้นที่จำนวน ๕๐๐ ไร่ ในการทดแทนพื้นที่ของศูนย์วิจัยข้าวดังกล่าวแล้ว” นายเข็มชาติ กล่าวในท้ายสุด

 

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๔๕ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


701 1342