25thApril

25thApril

25thApril

 

July 21,2017

ยกระดับไม่ง่าย ช้าขึ้น ๑-๒ ปี นัดหารือใหม่ ๒๕ ก.ค. นี้

            ผู้ว่าฯ โคราชยกพลถึงกระทรวงคมนาคม ต่อรองขอยกระดับรถไฟทางคู่ผ่านตัวเมืองโคราช ผู้ว่าฯ รถไฟเผยจะได้ตัวผู้รับเหมากันยานี้ หากปรับแผนอาจช้า ๑-๒ ปี สุรวุฒิย้ำเคยท้วงตั้งแต่หนแรก เรื่องรถไฟไม่ยกระดับแต่ไม่ได้คำตอบ รมช. เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น สั่ง การรถไฟ สนข.และ ทางจังหวัด เตรียมข้อมูลหารือเพิ่ม ๒๕ ก.ค.นี้

            เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ กระทรวงคมนาคม นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครราชสีมา, นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา,นายปรีชา จันทรรวงทอง นายกเทศมนตรีเมือง (ทม.) อ.สีคิ้ว พร้อมภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าหารือต่อปัญหาหากไม่ยกระดับรถไฟทางคู่ ผ่านตัวเมืองนครราชสีมาต่อ ดร.พิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมี นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

                นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ โคราช กล่าวในที่ประชุมว่า ทางจังหวัดนครราชสีมาเล็งเห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่จะนำความเจริญมาสู่จังหวัด แต่ที่มาในวันนี้ ไม่ได้ต้องการคัดค้านแต่อย่างใด เพียงแต่อยากจะมาบอกถึงผลกระทบที่ประชาชนในเขตพื้นที่จะได้รับ จุดที่เป็นปัญหาเยอะที่สุดก็คือในเขตเทศบาลเมืองนครนครราชสีมา และเทศบาลเมืองสีคิ้ว จึงอยากมาชี้แจงให้กระทรวงคมนาคมได้รับทราบ

แจงปัญหา

            นายสุรวุฒิ เชิดชัย ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า จุดตัดระหว่างถนนที่เชื่อมรถไฟในเมืองนครราชสีมาปัจจุบันมีจุดตัด ๑๕ จุด แต่การสร้างรถไฟทางคู่จะทำให้เหลือจุดตัดเพียง ๙ จุด จุดที่ได้รับผลกระทบมากคือ บริเวณห้าแยกหัวรถไฟ ซึ่งมีการจราจรหนาแน่นอยู่แล้ว และบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จะไม่สามารถข้ามไปยังหน้าทางเข้ากองทัพภาคที่ ๒ ซึ่งบริเวณนี้มีประชากรอยู่ประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน

            ซึ่งทางเทศบาลได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เก็บสถิติรถที่ผ่านบริเวณจุดตัดทางรถไฟ มีประมาณ ๕๐,๐๐๐ คันต่อวัน และจากการวิเคราะห์ หากไม่ยกระดับรถไฟ แต่แก้ปัญหาด้วยการทำสะพาน หรือเกือกม้าต่างๆ ประชาชนในพื้นที่ต้องเดินทางเพิ่มไม่น้อยกว่าวันละ ๔๘,๐๐๐ กม. เพราะเดิมสามารถเดินทางข้ามทางรถไฟได้เลย ตัวอย่างจากพื้นที่บริเวณเขตตลิ่งชัน กทม. ที่ได้มีการกั้นทางรถไฟ ซึ่งมีการทำกำแพงกั้นสูง ๒ เมตร โดยภาพรวมภายในพื้นที่เศรษฐกิจถูกแบ่งออกเป็น ๒ ฝั่ง ไม่สามารถเดินทางข้ามไปได้สะดวก เพราะถูกกำแพงกั้น เหมือนเมืองถูกแบ่งออกเป็น ๒ ฝั่ง

            นายสุรวุฒิ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันโคราชเกิดปัญหาน้ำท่วม ถ้ามีการยกระดับรถไฟ การวางท่อระบายน้ำเพิ่มเติมก็จะสะดวกขึ้น หากการรถไฟสามารถยกระดับได้ การวางท่อระบายน้ำ และการวางระบบระบายน้ำ จะแก้ปัญหาระบบระบายน้ำในตัวเมืองนครราชสีมาได้ หากยกระดับได้อาจจะทำทางเดิน และทางจักรยานเพิ่มเติมอีกในอนาคต และการมาของรถไฟความเร็วสูงที่ทางรัฐบาลกำลังเดินการ พื้นที่ของสถานีทั้งรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่จะทับซ้อนพื้นที่ในตัวเมืองโคราช

โยธาฯ โคราชเสริม

                นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาฯ นครราชสีมา เสริมว่า ลักษณะการแก้ปัญหาจุดตัดของการรถไฟที่ใช้กับเมืองโคราช คือรูปแบบ ทางข้าม (Over past) และรูปแบบเกือกม้า ส่วนรูปแบบที่เป็นยกระดับไม่มี อีกทั้งในตัวเมืองนครราชสีมามีสถานีรถไฟอยู่ ๒ สถานี คือสถานีจังหวัดนครราชสีมา หรือหัวรถไฟ และสถานีรถไฟชุมทางจิระ ซึ่งระยะทางห่างกันไม่ไกล ซึ่งเดิมทีการรถไฟจะใช้บริเวณสถานีรถไฟจิระเป็นศูนย์ซ่อมรถไฟ ซึ่งไม่ควรที่จะมีศูนย์อยู่ในตัวเมือง ควรทำการเปลี่ยนมาตั้งศูนย์ซ่อมรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงอยู่ที่ ตำบลโคกกรวดที่อยู่นอกตัวเมือง และจุดที่เป็นปัญหาค่อนข้างมากคือบริเวณสถานีรถไฟความเร็ซสูง ซึ่งเป็นบริเวณห้าแยกถนนมุขมนตรี ส่วนอีกจุดคือถนนราชดำเนิน ทางจะเข้ากองทัพภาคที่ ๒ จากในแบบของรถไฟความเร็วสูงจะมีการล้อมรั้วเพื่อความปลอดภัย จึงทำให้ไม่สามารถใช้ถนนในการข้ามได้

                ลักษณะการออกแบบของรถไฟความเร็วสูงกับรถไฟทางคู่ คล้ายกับจะทับซ้อนกันเอง จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการทับซ้อนมายังถนนเส้นหลักทำให้การจราจรติดขัดกว่าเดิมยิ่งขึ้น ซึ่งหากเกิดการสร้างขึ้นจริง บริเวณกองทัพภาคที่ ๒ ที่มีประชากรอาศัยอยู่ราว ๕๐,๐๐๐ คนจะต้องอ้อมรถอีกไกลกว่าจะเข้ากองทัพภาคที่ ๒ ได้ ซึ่งจุดบริเวณนี้ถือเป็นจุดวิกฤติ

                ทั้งนี้ นายสมเกียรติ ได้ยกตัวอย่างการยกระดับรถไฟของจังหวัดขอนแก่นขึ้นมา และได้นำเสนอคลิปวีดีโอการยกระดับทางรถไฟ ของเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย จากคลิปวิดีโอเห็นได้ว่าการยกระดับรถไฟของออสเตรเลีย จะเป็นในลักษณะของการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD)  โดยมีที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ สำนักงาน และการใช้ประโยชน์ประเภทอื่น ๆ พร้อมกับออกแบบเพื่อรองรับผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นหลัก รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินเท้าและใช้จักรยาน เพื่อให้มีทางเลือกในการเดินทางหลากหลาย ลดการพึ่งพาการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งหากมีการยกระดับการรถไฟจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่ตรงนั้น และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในส่วนต่างๆ ได้

 

หากยกจะช้าอีก ๒ ปี

            ในส่วนการยกระดับรถไฟทางคู่ ซึ่งหากได้ยกระดับจะกระทบกับเรื่องใดบ้างนั้น นายอานนท์ รักษาการผู้ว่ารฟท. ชี้แจงว่า การรถไฟเองก็เป็นห่วงวิถีชีวิตของพี่น้องในชุมชน ซึ่งทางการรถไฟก็ได้จัดทำประชาพิจารณ์ที่นครราชสีมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ แต่สถานการณ์ในวันนี้อาจจะไม่เหมือนเดิม เราจึงควรหาจุดร่วมเพื่อหาทางออกให้กับปัญหานี้

                ณ ปัจจุบันการออกแบบรถไฟทางคู่ยังอยู่ในระดับดิน และรถไฟความเร็วสูงจะยกระดับ ซึ่งที่ต้องทำให้รถไฟทางคู่อยู่ในระดับดินเนื่องจากในตัวเมืองเป็นย่านสถานี ด้วยจำนวนรางที่มีอยู่ค่อนข้างเยอะ และต้องยกระดับสถานีชุมทางจิระที่จะเป็นเส้นทางแยกไปสู่อีสานเหนือ และอีสานใต้ด้วย การที่จะยกระดับทั้งย่านนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ก็ยากมาก

                หากยังคงเป็นระดับพื้นดินทางการรถไฟ ได้ออกแบบทางแยกต่างระดับ (Interchange) บริเวณห้าแยกหัวรถไฟ เพื่อที่จะให้รถที่สัญจรสามารถขึ้นทางต่างระดับได้เลยโดยไม่ต้องติดไฟแดง ซึ่งทางแยกต่างระดับนี้จะสามารถสัญจรได้ยังถนนเส้นหลัก แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์หากเป็นในชั่วโมงเร่งด่วนที่ปริมาณรถมาก และสำหรับผู้คนที่อาศัยการเดินหรือใช้รถเข็นที่ต้องการข้ามฝั่ง หากจะทำการย้ายหรือศึกษาใหม่ จะทำให้เกิดความล่าช้าไปอีก ๑- ๒ ปี อีกทั้งทางการรถไฟเองก็กำลังจะได้ตัวผู้รับเหมาในเดือนกันยายนนี้แล้ว

                ในส่วนความจุของถนนที่รองรับจำนวนรถนั้น ได้มีการเสนอให้ทางจังหวัดนครราชสีมา แก้ไขเรื่องขนส่งมวลชนควบคู่ไปเหมือนที่จังหวัดขอนแก่นทำด้วย เพราะการสร้างเกือกม้า หรือทางยูเทิร์นนั้นไม่สามารถรองรับจำนวนรถที่เพิ่มขึ้นได้ในอนาคตแน่นอน

สุรวุฒิท้วงตั้งแต่เริ่ม

                ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการกล่าวถึงการดำเนินงานมาถึงขั้นตอนการจะก่อสร้างแล้ว หากได้มีการพูดคุยกันก่อนที่จะถึงขั้นตอนดังกล่าว จะเป็นประโยชน์และแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่านี้ ซึ่งทางนายสุรวุฒิ เชิดชัย ได้แย้งว่าตนได้มีการท้วงติงไปตั้งแต่จะเริ่มโครงการสมัยนายธงชัย ลืออดุลย์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ว่าหากไม่ยกระดับจะเป็นเหมือนกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีที่มีแม่น้ำเจ้าพระยากั้นกลางไหม ซึ่งหลังจากนั้นวันก็ยังไม่ได้หารือกันต่อ

นัดหารือใหม่

                ดร.พิชิต อัคราทิตย์ รมช.กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟนี้ สร้างขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการเดินทาง โดยเฉพาะคนยากจนที่ต้องเดินทางไกล สัญจรลำบากสามารถติดต่อค้าขายได้ง่ายขึ้น ที่ทุกท่านมาประชุมในวันนี้ เราต้องทำโจทย์ตรงกันก่อนว่า สิ่งที่ประชาชนเดือดร้อนคืออะไร

                ซึ่งทางการรถไฟเองก็ได้เสนอข้อมูลทางเทคนิคขึ้นมา เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน ซึ่งเรารู้แล้วว่าปัญหานั้นคืออะไร  แต่ในเมื่อมันมีปัญหาก็ต้องมาหาทางออกว่าจะแก้ตรงจุดไหนได้บ้าง ซึ่งการยกระดับนั้นเราก็ไม่ได้ตัดออกจากวิธีแก้ไขปัญหา ต้องการศึกษาและนำข้อมูลมาเสนอกันอีกที สามารถแก้ปัญหาได้หลายรูปแบบและได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาให้ชาวโคราชว่า ควรแก้กันอย่างไร แต่วิธีการแก้ต้องให้แน่ใจว่า ถ้าแก้แล้วต้องไม่มีปัญหาสืบเนื่องต่อไป

                ทั้งนี้การประชุมเพื่อหาทางออกรถไฟทางคู่ผ่านตัวเมืองโคราชจะมีขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ณ กระทรวงคมนาคม โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งได้คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการรถไฟ และสนข. รวมทั้งจังหวัดนครรราชสีมา ช่วยรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม ที่เป็นประโยชน์ และแนวทางแก้ปัญหา เพื่อประชุมในครั้งถัดไป

 

 

 


699 1345