25thApril

25thApril

25thApril

 

August 02,2017

“๔๓ ปีโคราชคนอีสาน” สัญจร..อุบลราชธานี’ ในคืนฟ้าฉ่ำฝน

            หลังจากประสบความสำเร็จอย่างดีกับการจัดงาน “ฉลองชัย ๔๒ ปีโคราชคนอีสาน สัญจร..ขอนแก่น” เมื่อปีที่แล้วทำให้ในปีนี้ “โคราชคนอีสาน” มุ่งเป้าไปที่ “อุบลราชธานี” เมืองใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างซึ่งเป็น ๑ ใน ๘ จังหวัดที่ “โคราชคนอีสาน” วางจำหน่าย 

และก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่า ในวันที่ “โคราชคนอีสาน” ไปเยือนอุบลราชธานีในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐ นั้น  “เซินกา” พายุมหาภัยก็มาเยือนเมืองไทยเช่นกัน จึงทำให้ภาคอีสานชุ่มฉ่ำไปด้วยฝนตั้งแต่รุ่งเช้าจนดึกดื่นค่ำคืน แถมยังพ่นพิษทำให้พี่น้องชาวอีสานในหลายพื้นที่กลายเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมรวมทั้งบางอำเภอของอุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ที่มีน้ำท่วมขังสูง แต่ก็ไม่หนักหนามากเท่า “สกลนคร” ...ขอให้ผ่านพ้นไปด้วยดี 

            “ฉลองชัย ๔๓ ปีโคราชคนอีสาน” ในค่ำคืนวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ณ โรงแรมลายทอง อุบลราชธานี ได้รับความการประสานด้วยดีจาก “สุชัย เจริญมุขยนันท” เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข และทีมงาน รวมทั้ง “ชลธิษ จันทร์สิงห์” นายกสมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี ที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนงานในค่ำคืนนี้ให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งยังได้รับการต้อนรับจากชาวอุบลราชธานีอย่างอบอุ่น เพราะมาร่วมเป็นเกียรติในงานนี้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง โดยไม่ยั่นกับสายฝนที่ตกพรำลงมาเลยแม้แต่น้อย นับเป็นการต้อนรับที่ดีอย่างยิ่ง หลังจากที่ “โคราชคนอีสาน” รุกเข้ามาวางจำหน่ายในเมืองนักปราชญ์นี้แบบเงียบๆ มา ๑๐ ปีแล้ว 

            ไม่ใช่จะมีเพียงชาวอุบลฯ เท่านั้นที่มาร่วมงานนี้ หากแต่ยังมีผู้มีเกียรติอีกคน ที่เดินทางมาจาก “ขอนแก่น” ด้วย คือ “วิฑูรย์ กมลนฤเมธ” ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ที่มาพร้อมกับภริยา เพื่อร่วมยินดีในความสำเร็จปีที่ ๔๓ ของ “โคราชคนอีสาน” ในวันนี้ ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว การสัญจรไปที่ขอนแก่น เขาคือกำลังสำคัญที่ทำให้งานครั้งนั้นสำเร็จเกินเป้าหมาย

            พิธีการเริ่มขึ้นเมื่อ “สุนทร จันทร์รังสี” ผู้ที่บุกเบิกจาก “โคราชรายวัน” กระทั่งแผ่ขยายเป็น “โคราชคนอีสาน” ในวันนี้ ก้าวขึ้นบนเวทีพร้อมทั้งบอกเล่าแก่ชาวอุบลฯ ถึงเหตุผลการมาบุกจัดงานที่เมืองดอกบัวในวันนี้ว่า “เป็นงานที่จัดขึ้นในช่วงที่มีข่าวว่า หนังสือพิมพ์อยู่ในช่วงขาลง เพราะถูกสื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามาบดขยี้ ส่งผลให้หนังสือพิมพ์และนิตยสารที่มีชื่อเสียงระดับชาติต้องเลิกกิจการไปหลายราย แต่ในส่วนของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือหนังสือพิมพ์ภูมิภาคอย่าง “โคราชคนอีสาน” ก็เล็ดลอดออกมา ผมเป็นคนที่ชอบทำอะไรทวนกระแส จึงพยายามรณรงค์เพื่อให้หนังสือพิมพ์ก้าวสู่การอุปการะของผู้อ่านในหลายๆ จังหวัด ซึ่งในจังหวัดอุบลฯ “โคราชคนอีสาน” เข้ามานานแล้ว แต่มาแบบเงียบๆ โชคดีที่ได้รู้จักกับ ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และบอกท่านว่าจะจัดงานนี้ ซึ่งท่านก็สนับสนุนและยินดีมาร่วมงาน รวมทั้งอาจารย์สุชัยก็เป็นผู้สนับสนุนให้งานนี้เกิดขึ้นด้วย และต้องขอบคุณทุกท่านที่สละเวลามาร่วมงานแม้ฝนจะตกฟ้าจะร้อง ซึ่งในคืนนี้ผมไม่รบกวนเป็นเงินทอง มีแต่ให้ แต่หวังว่า ในอีก ๑ ปีข้างหน้า ท่านจะกรุณาสมัครเป็นสมาชิกโคราชคนอีสาน หลังจากที่เรากำนัลแก่ผู้ร่วมงานในวันนี้เป็นเวลา ๑ ปีแล้ว เพื่อที่จะได้รับรู้ข่าวสารได้ว่องไวและลึกซึ้งกว่าสื่อส่วนกลาง รวมทั้งการจัดเสวนาวันนี้ก็ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ในนามกองบรรณาธิการต้องขอขอบคุณวิทยากรทุกท่าน และขอบคุณชาวอุบลฯ ที่มาร่วมงานในวันนี้” 

            จากนั้นพ่อเมืองอุบลฯ “ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล”ในฐานะประธานในพิธี กล่าวเปิดงานว่า “ต้องขอบคุณหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสานที่ให้เกียรติชาวอุบลฯ และนำการเสวนาดีดีเช่นนี้มาสู่อุบลฯ โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมเสวนา ‘อุบลราชธานี..ที่มุ่งหวัง’ ซึ่งผมคิดว่า ชาวอุบลฯ ก็ต้องอยากรู้ อุบลฯ เป็นเมืองใหญ่มีศักยภาพซ่อนเร้นอยู่ทำอย่างไรเราจะสร้างความฝันและผลักดันไปสู่ความฝันนั้นขึ้นมาได้ ซึ่งคนอุบลฯ เองก็เป็นผู้ที่จะขับเคลื่อนให้อุบลฯ มุ่งไปตามที่ฝันนั้น คงจะเป็นลูกหลานของพวกเรา อย่างไรก็ตาม คุณสุนทร จันทร์รังสี สื่อมวลชนอาวุโสในภาคอีสาน นำหนังสือพิมพ์มาร่วมเติมเต็มและจัดเสวนานี้ เป็นค่ำคืนแห่งเกียรติยศ แม้ว่าช่วงวันที่ ๒๔-๒๘ กรกฎาคมนี้จะมีฝนตกหนัก แต่ก็มาร่วมงานเต็มตามที่คณะผู้จัดงานเตรียมไว้ การอยู่ร่วมฟังเสวนาในวันนี้ก็อาจจะได้แนวทางหรือแนวความคิด รวมถึงอาจจะมีข้อคิดเห็น ที่ต้องนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาวอุบลฯ และเพื่อลูกหลานในอนาคตด้วย ในนามชาวอุบลฯ ขอต้อนรับทุกท่านและหวังว่าไมตรีจิตที่ท่านมอบให้และความรู้ที่เราจะแลกเปลี่ยนกันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่การทำงานร่วมกัน” 

            เมื่อสิ้นเสียงของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รายการต่อไปคือการนำเสนอความเป็นมาของ “โคราชคนอีสาน” ที่เกิดจากการคิดและลงมือทำของลูกผู้ชายชื่อ “สุนทร จันทร์รังสี” ผู้ฝ่าฟันนานาอุปสรรคและอาวุธสงครามมาได้กระทั่งครบปีที่ ๔๓ ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ 

            จากนั้นจึงเริ่มเวทีเสวนา “อุบลราชธานี..ที่มุ่งหวัง” โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเชิญมาจากหลากหลายวงการ และทำให้ผู้เข้าร่วมในวันนี้ได้รับทราบแนวคิดและโครงการต่างๆ และงานในค่ำคืนนี้ยังได้รับเกียรติจาก “ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี” ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่มาร่วมงานและกล่าวแสดงความยินดีในวาระ ๔๓ ปีโคราชคนอีสาน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ร่วมก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยเขากล่าวว่า 

            “โคราชคนอีสานเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ยืนหยัดและมีอายุยาวนานในจำนวนหนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับในประเทศไทย ปัจจุบันมีหนังสือพิมพ์รายวันที่ยังพิมพ์อยู่ทั้งภาคเหนือ และภาคใต้ ส่วน ‘โคราชคนอีสาน’ เป็นราย ๕ วัน นอกนั้นก็มีรายสัปดาห์บ้าง นับแล้วก็ไม่ถึง ๑๐ ฉบับ ที่เหลือก็จะเป็นรายปักษ์และรายเดือน ฉะนั้น ‘โคราชคนอีสาน’ เป็นหนังสือพิมพ์ตัวอย่างที่เข้มแข็ง ซึ่งทางสถาบันอิศราได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น พบว่า ‘โคราชคนอีสาน’ จัดอยู่ในกลุ่มยืนหยัด แต่หลายท่านก็มีคำถามว่าในสถานการณ์ที่สื่อออนไลน์กำลังคืบคลานเข้ามา แล้วมีใครมาบอกว่าหนังสือพิมพ์ในส่วนกลาง หรือหนังสือพิมพ์ระดับชาติมียอดการขายได้เท่าเดิม มีรายได้เท่าเดิม นั่นเป็นการโกหกแน่นอน ความจริงนั้นยอดการจำหน่ายตกเป็นจำนวนกว่า ๑๐-๕๐% เป็นอย่างน้อย และก็เป็นอย่างนี้ทั่วโลกครับ ล่าสุดสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจัดงานครบรอบ ๒๐ ปี เราเชิญประธานสภาหนังสือพิมพ์ออสเตรเลีย และผู้ตรวจการสื่อมวลชนของสวีเดนมาร่วมงาน จากนั้นมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ผมได้ถามเขาว่าประเทศเขาภาวการณ์ด้านหนังสือพิมพ์เป็นอย่างไร ซึ่งต้องเข้าใจว่าในออสเตรเลียก็ดี สวีเดนก็ดี พัฒนาการของสื่อออนไลน์ไปไกลกว่าบ้านเรามาก การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่างๆ เข้าถึงได้ง่ายกว่าบ้านเรา แต่ว่าสิ่งที่น่าสนใจ คือ เขาบอกว่าสื่อที่ตายนั้น จะเป็นสื่อส่วนกลางและสื่อระดับชาติ ส่วนสื่อท้องถิ่นนั้น ยังอยู่ได้ และยังขยายตัวได้อีกด้วย แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า สื่อท้องถิ่นต้องให้ความสนใจกับท้องถิ่นของตัวเองให้มากให้ความสนใจกับพัฒนาการของบ้านเมืองของตัวเองให้มาก ซึ่งผมคิดว่าแนวโน้มก็จะต้องเป็นอย่างนั้น เขายังบอกอีกว่า ใครจะรู้ดีเท่าหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นว่า คนในท้องถิ่นนั้นจะไปซื้อของที่ไหนแล้วได้ราคาดี ควรจะลงทุนอะไร ควรจะทำมาหากินอะไร คือถ้าสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นตอบโจทย์ พวกนี้ได้ สื่อท้องถิ่นอยู่ได้สบายมาก และผมดู ‘หนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน’ มาหลายฉบับ และมองว่าแนวโน้ม ‘หนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน’ ได้ตอบโจทย์ตรงนี้ และผมก็คิดว่าสื่อในเมืองอุบลฯ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ที่สื่อมีความหลากหลายมีสื่อที่เข้มแข็งเอาจริงเอาจัง เพียงแต่อาจยังไม่ไปในทิศทางของตัวเอง และไม่สามารถที่จะเติบโตกว่าที่ตนเองกำลังเป็นอยู่ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าจะต้องดูว่าจะพัฒนาไปในทิศทางใดในวันข้างหน้า ผมก็อยากเห็นสื่อในเมือง อุบลฯ พัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ เพราะว่าสื่อในอนาคตต้องปรับตัวให้เข้ากับภาวะที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากในปัจจุบัน และ ‘หนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน’ ในปัจจุบันนี้ ก็ไม่ได้มีเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์เท่านั้น ยังมีสื่อออนไลน์ด้วย และสภาการหนังสือพิมพ์ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และกำลังได้คุยกันเรื่องนี้อยู่ว่าทำอย่างไรที่จะช่วยสมาชิกของสภาฯ โดยเฉพาะที่อยู่ในภูมิภาคที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาในเรื่องของสื่อดิจิทัลมากขึ้น และเราก็คุยกันเรื่องที่จะสร้างมาตรฐานในการนำเสนอข่าว ที่สำคัญสื่อหลักจะต้องบอกสังคมให้ชัดเจนว่า อันนี้คือสื่ออาชีพ อันนี้คือไม่ใช่สื่อ เพราะว่าทุกวันนี้ใครๆ ก็สามารถเป็นสื่อได้ ดังนั้นสื่อที่เป็นอาชีพและเป็นที่พึ่งพาของประชาชน ต้องสร้างความแตกต่าง และผมก็เชื่อว่า ‘โคราชคนอีสาน’ ก็พยายามที่จะสร้างตัวอย่าง เพื่อที่จะให้สื่อในภาคอีสานทั้งหลาย ได้มามองมาคิดนะครับ ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบ แต่ให้ดูว่าสิ่งที่‘โคราชคนอีสาน’ ทำนั้น ตอบสนองกับผู้อ่าน ตอบสนองกับท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน แล้วท่านก็เอาไปปรับใช้และก็พัฒนาต่อไป”
 
            “ฉะนั้น ผมต้องขออนุญาตฝาก ‘โคราชคนอีสาน’ ไว้กับคนอุบลฯ  แม้ว่าจะเป็นโคราชก็เป็นคนอีสานด้วยกัน ขอให้คนอุบลฯ สนับสนุน ‘โคราชคนอีสาน’ เพื่อที่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องกระตุ้นที่จะให้สื่อในภาคอีสานหันมาทำข่าว หรือรายงานข่าวในลักษณะที่รับใช้ท้องถิ่น และก็ตอบสนองท้องถิ่นมากขึ้น และผมขอให้ ‘โคราชคนอีสาน’ เติบโตเป็นที่พึ่งของคนอีสานต่อไปนานเท่านาน” ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าว 

และในช่วงสุดท้ายก็มาถึง เมื่อ “สุนทร จันทร์รังสี” ซึ่งนอกจากจะนั่งเก้าอี้ผู้บุกเบิกหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสานแล้ว เขายังมีตำแหน่งเป็น “ประธานมูลนิธิอักษรารังสี” ด้วย เป็นมูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งคือต้องการสนับสนุนองค์กรสื่อหรือสื่อมวลชนที่มีคุณภาพ และในงานคืนนี้ “มูลนิธิอักษรารังสี” ก็ได้มอบทุนสนับสนุน “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” และ “มูลนิธิสื่อสร้างสุข” องค์กรละ ๑๐,๐๐๐ บาท เพื่อนำไปพัฒนาและเพิ่มศักยภาพแก่องค์กร

            งานในค่ำคืนนี้จึงจบลงด้วยความอบอุ่น และอิ่มหนำ โดยผู้มาร่วมงานเพียงแค่สละเวลามาร่วมงานและรับฟังความรู้ ขอบคุณชาวอุบลราชธานีที่สนับสนุน “โคราชคนอีสาน” ตลอดมา และหวังว่าจะสนับสนุนตลอดไป


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๔๘ วันอังคารที่ ๑ - วันเสาร์ที่ ๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


685 1343