28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 04,2017

คืนชีพทางลอด ยื่นงบปี 61 พร้อมลุยแยกประโดก หากผ่าน EIA แล้ว

 

          ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 สิงหาคม นายธนพล  จันทรนิมิ รอง ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการก่อสร้างทางลอดบริเวณทางแยกนครราชสีมาและโครงการก่อสร้างทางลอดบริเวณทางแยกประโดก บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ โดยมีนายสุรวุฒิ  เชิดชัย นายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา ฐานะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ ฯ นายชัชวาล  วงศ์จร ประธานหอการค้านครราชสีมา ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบค้าและประชาชนจำนวนกว่า 200 คน ร่วมรับการชี้แจงความเป็นมาและหลักการของเหตุผลในการดำเนินทั้งสองโครงการ ฯ รวมมูลค่า 2,300 ล้านบาท


 นายพรชัย  ศิลารมย์

          นายพรชัย  ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 สำนักงานทางหลวงที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยว่า จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่มีปัญหาการจราจรติดขัดมาก โดยเฉพาะบริเวณทางแยกนครราชสีมาและทางแยกประโดก สภาพการจราจรค่อนข้างวิกฤต เนื่องจากแต่ละวันมียานพาหนะแล่นสัญจรผ่านนับแสนคันและตลอดสองฝั่งริมถนน เป็นที่ตั้งของศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา โรงแรม โรงพยาบาลและสถานประกอบการจำนวนมาก ปัจจุบันได้จัดการจราจรด้วยสัญญาณไฟ ทำให้ไม่สามารถรองรับการจราจรได้เพียงพอ กรมทางหลวง จึงได้พยายามศึกษาหาแนวทางแก้ไข แต่ด้วยข้อจำกัดด้านกายภาพบริเวณทางแยกทั้งสองแห่ง มีเขตทางรวมเพียง 40 เมตร และได้ก่อสร้างช่องจราจรเต็มเขตทางในทุกทิศทาง จึงไม่สามารถขยายเพิ่มช่องจราจรได้อีก

          เมื่อปี 2548 ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณทางแยกนครราชสีมา โดยเป็นรูปแบบก่อสร้างทางลอดด้านขาเข้าเมืองที่หลักกิโลเมตรที่ 147+318-148+499  ตั้งแต่บริเวณก่อนถึงหน้าห้างบิ๊กซี ฯ ถึงสะพานลอยคนข้ามหน้าวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา รวมระยะทาง 1,181 เมตร แต่ประชาชนไม่เห็นด้วย ส่วนหนึ่งไม่ต้องการเสียประโยชน์พื้นที่หน้าร้านค้าตนเอง โครงการดังกล่าว ฯ จึงไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และในปี 2556 ได้จัดประชุมการมีส่วนโครงการก่อสร้างทางลอดบริเวณทางแยกประโดก ที่หลักกิโลเมตรที่ 149+450-151+200 รูปแบบเป็นทางลอดใต้ถนนมิตรภาพ ทั้งขาเข้าและออก ได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ประชาชนเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ ฯ

          นายพรชัยฯ ผอ.แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 กล่าวต่ออีกว่า ความเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจ ทำให้ส่งผลกระทบกับผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง รวมทั้งมีอุบัติเหตุจราจรเกิดขึ้นเป็นประจำ กรมทางหลวง จึงจำเป็นต้องดำเนินทั้งสองโครงการควบคู่กัน เพื่อแก้ไขปัญหาให้เบ็ดเสร็จ จึงนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอของทุกภาคส่วนไปปรับปรุงแก้ไขพัฒนาโครงการให้เหมาะสมและมีมาตรการป้องกัน แก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนที่มีบ้านพักและสถานประกอบการในพื้นที่ละแวกโครงการ กระบวนการครั้งนี้ ถ้าประชาชนเห็นด้วย จะดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทันที เมื่อเสร็จสิ้นก็นำเสนอให้กรมทางหลวง อนุมัติงบประมาณดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามหากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่เห็น โดยเฉพาะโครงการทางทางลอดบริเวณทางแยกนครราชสีมา กรมทางหลวง ต้องฟังเสียงประชาชน ก็ไม่ดำเนินโครงการต่อ แต่ยังคงอยู่ในแผนระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาให้เหมาะสม ซึ่งต้องจัดการจราจรด้วยสัญญาณไฟจราจรเหมือนเดิม ส่วนข้อสงสัยโครงการทางลอดบริเวณทางแยกนครราชสีมา มีการสร้างทางลอดเชื่อมเข้าศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ขอยืนยันไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด   


นายสุวัฒน์  จึงวิวัฒนาภรณ์ 

          ช่วงเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการทางลอดบริเวณทางแยกนครราชสีมา โดยนายสุวัฒน์  จึงวิวัฒนาภรณ์ กรรมการบริหารกลุ่มคิงส์ยนต์ ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์อีซูซุ ประจำจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเจ้าสัวใหญ่เมืองโคราช กล่าวไม่เห็นด้วยกับโครงการทางลอดบริเวณทางแยกนครราชสีมา เนื่องจากไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้ตรงจุด เมื่อกว่า 10 ปีก่อน ตนได้คัดค้านโครงการดังกล่าว ซึ่งไม่คุ้มค่าและไม่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน ปัจจุบันในพื้นที่การจราจรยังไม่ประสบปัญหาถึงขั้นวิกฤต จึงไม่มีความจำเป็นที่จะดำเนินการก่อสร้าง กรมทางหลวง ควรนำงบไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้ เช่น การขยายโครงข่ายถนนในเขตเมือง รวมทั้งเชื่อมต่อเส้นทางเลี่ยงเมืองให้สมบูรณ์และให้เพียงพอต่อปริมาณยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งโครงการทางลอดทางแยกประโดก มีข้อสงสัยหลายประการ เกี่ยวกับวิถีชีวิตการใช้เส้นทางเดิมในการเชื่อมต่อสถานพยาบาล สถานที่ราชการ หรือไปมาหาสู่กัน ส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่นไม่ได้รับประโยชน์ กรมทางหลวงควรรับฟังและนำไปปรับปรุงรูปแบบให้ตรงความต้องการสามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง

          นายเสด็จ เขียวแดง ประชาชนเขตเทศบาลนครนครราชสีมา แสดงความคิดเห็นว่า ตอนนี้ กทม. เป็นเมืองหลวง-ของประเทศไทย และจังหวัดนครราชสีมาถือเป็นเมืองหลวงอาเซียน และในกรุงเทพฯ เองตอนนี้มีทางลอด รถไฟฟ้า รวมถึงรถไฟใต้ดิน จึงอยากให้การประชุมในครั้งนี้  ทำให้เมืองโคราชเป็นเมืองที่พัฒนาไปข้างหน้า เพื่อนาคตของลูกหลานจะได้สบาย อยากให้มีทางลอดเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นจังหวัดนครราชสีมาจะไล่ตามแต่กรุงเทพฯ และจะล่าช้ากว่าจังหวัดขอนแก่น

          ทั้งนี้โครงการก่อสร้างทางลอด บริเวณทางแยกประโดก อยู่ในระหว่างศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และจะทำการเสนองบประมาณภายในปี 2561 หากผ่านกระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาสร้างประมาณ 990 วัน และทางลอดบริเวณ สามแยกนครราชสีมา (สามแยกบิ๊กซี) ซึ่งอยู่ในระหว่างศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน จะยื่นนงบประมาณภายในปี 2562 ส่วนระยะเวลาการก่อสร้างยังไม่แน่ชัด

 

 

 

 


696 1354