29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 07,2017

มหาวิทยาลัยขอนแก่นนำร่องก๊าซ CBG เทียบชั้น NGV เล็งต่อยอดธุรกิจ

                ม.ขอนแก่น โชว์ต้นแบบก๊าซ CBG แห่งแรก ประสิทธิภาพเทียบเท่า NGV ที่ใช้ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมปัจจุบัน นำร่องรถเมล์สมาร์ทซิตี้ วิ่งรับ-ส่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการให้ความสนใจ เล็งต่อยอดเชิงพาณิชย์ในกลุ่มพลังงานทดแทน

                เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ตรวจผลการดำเนินงานและติดตามความก้าวหน้าโครงการจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

                รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การดำเนินงานภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยโรงก๊าซไบโอมีเทนอัด หรือ CBG มีการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาทำเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ในกลุ่มพลังงานทดแทน โดยก๊าซ CBG ทำจากมูลสุกร,มูลไก่และหญ้าเนเปีย มาผ่านกระบวนการและกลายเป็นพลังงานทดแทน โดยการผลิตนั้นจะขุนหมู ๕๕๐ ตัว และไก่พันธุ์ไข่ ทั้งหมด ๒,๐๐๐ ตัว และนำมูลสุกรและมูลไก่ เข้าในระบบของก๊าซ CBG ทุกวัน และกล่าวอีกว่ามีศักยภาพเทียบเท่ากับก๊าซธรรมชาติหรือ NGV ที่ใช้ในปัจจุบัน  ซึ่งก๊าซธรรมชาติ CGB มีการทดลองใช้เป็นพลังเชื้อเพลิงให้กับรถสาธารณะของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือว่า คุณสมบัติไม่ด้อยไปกว่าก๊าซ NGV

                “ขณะนี้โครงการผลิตก๊าซธรรมชาติ CGB ยังคงอยู่ในช่วงทดลองมาในระยะเวลา ๖ เดือน ผลิตก๊าซ CBG ได้วันละ ๗๐ ลิตร ซึ่งรถโดยสารของมหาวิทยาลัยที่ได้ดำเนินการในรูปแบบสมาร์ทซิตี้ สามารถวิ่งรับ-ส่ง นักศึกษาได้วันละ ๒๐๐ กม. โดยไม่เกิดผลกระทบใดๆ ต่อรถหรือการทำงานของระบบเครื่องยนต์ ทำให้ขณะนี้มีผู้ประกอบการสนใจและต้องการปรับเปลี่ยนพลังงานจากเอ็นจีวี มาใช้ก๊าซ CBG มากขึ้น แต่ยังอยู่ในช่วงของการทดลองทำให้ยังต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตที่วันนี้ มข.ผลิตก๊าซดังกล่าวได้เพียงวันละ ๑๕๐ กก. หรือ ๓๐๐ คิวเท่านั้น” อธิการบดี มข. กล่าว

 

                รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังมีการนำเทคนิควิธีการประยุกต์ใช้ในรูปแบบพลังงานทดแทนด้วยการจัดทำอาคารประหยัดพลังงาน ที่มีการนำระบบพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าภายในตัวอาคาร และปรับเปลี่ยนอุปกรณ์สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถประหยัดพลังงานได้อย่างสูงสุด นอกจากนี้ยังมีการวางระบบโลจิสติกส์เพื่อการจัดการการขนส่งภาคการเกษตร และการจัดทำนวัตรกรรมในการช่วยเหลือภาคการเกษตรทั้งระบบ ทั้งหมดเป็นผลงานวิจัยที่น่าสนใจของ นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จะมีการต่อยอดแผนการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการในด้านต่างๆ ต่อไป

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก​  นสพ. โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๔๙ วันอาทิตย์ที่ ๖ - วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


695 1356