29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 08,2017

ฟื้นลอด‘บิ๊กซี - ประโดก’ ไม่ต้องห่วงน้ำท่วม นักธุรกิจ‘ไม่คุ้มค่าเงิน’

                กรมทางหลวงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ก่อสร้าง ๒ ทางลอดสำคัญกลางเมือง “สามแยกนครราชสีมา” และ “แยกประโดก” มูลค่าก่อสร้างประมาณ ๒,๓๐๐ ล้านบาท หลังจากที่เคยศึกษาเมื่อปีที่ ๒๕๔๙ แต่ประชาชนค้านหนักต้องพับไป ล่าสุดค้านอีก อ้างไม่เกิดประโยชน์ การจราจรไม่ถึงขั้นวิกฤติ ไม่คุ้มค่าการก่อสร้าง ให้นำงบไปทำถนนเพิ่ม แต่หนุนให้สร้างตรงประโดก ด้านอีกคนหนุนเต็มที่ กลัวแพ้ขอนแก่น “กรมทางหลวง” ยืนยันน้ำไม่ท่วมแน่ เพราะติดตั้งปั๊มไว้ ๕ ตัว

                เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๐ เวลาประมาณ ๐๙.๓๐ น. ที่ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช มีการจัดประชุมการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการก่อสร้างทางลอดบริเวณสามแยกนครราชสีมา (แยกบิ๊กซี) ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ และบริเวณทางแยกประโดก ในความรับผิดชอบของแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๑ โดยมีนายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยนายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ ท่ามกลางภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเจ้าของที่ดินที่อยู่ในช่วงดำเนินโครงการตั้งแต่โรงแรมเคเอสพาวิลเลี่ยนไปถึงชุมชนสวนมะพร้าว (ก่อนถึงมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล) เข้าร่วมจำนวนกว่า ๓๐๐ คน เช่น นายสุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์ กรรมการบริหารกลุ่มคิงส์ยนต์ นายธีระพล ไตรบัญญัติกุล เจ้าของปั๊มน้ำมันปตท. ธนพลเอ็นเนอจี นายศุภกิจศิริรัตนพล บริษัท ศิริรัตนพล จำกัด นายรังสรรค์ อินทรชาธร ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีฯ และเจ้าของห้างทองธนาธร เป็นต้น

                ฝ่ายตัวแทนจากกรมทางหลวง ได้แก่ นายภัทรเทพ ศิลปาจารย์ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักแผน นายสมพร รัตนบุรี วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญพิเศษ และนายธาตรี ไพจิตรประภากรณ์ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญพิเศษ สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทาวงหลวงร่วมชี้แจง พร้อมด้วยตัวแทนบริษัทที่ปรึกษา คือนายประเทือง อินคุ้ม ผู้อำนวยการโครงการ และนายณัฐพงศ์ ฐานะรุ่งไพศาล ผู้จัดการโครงการ ร่วมอธิบายรายละเอียดโครงการ

                นายสมพร รัตนบุรี วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญพิเศษ กล่าวว่า ทั้งสองโครงการได้ผ่านการสำรวจออกแบบและรับฟังความคิดเห็นประชาชนไปแล้ว อย่างไรก็ตามโคราชเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ด้านการขนส่ง มีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาสู่เมืองนครราชสีมาและมีรถแล่นสัญจรไปมาตลอดจากการศึกษาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ปริมาณการจราจรเข้าสู่ทางสามแยกนครราชสีมาต่อวันก็ประมาณ ๑๑๐,๐๐๐ คัน รวมทั้งแยกประโดก ส่งผลให้จราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งรีบและเทศกาลต่างๆ

                “โครงการสามแยกนครราชสีมาตำแหน่งของโครงการที่จุดตัดหมายเลข ๒ กับหมายเลข ๒๒๔ โดยสภาพปัจจุบันของทางแยกการแบ่งช่องจราจรทิศทางจากสระบุรีเข้าตัวเมืองเลี้ยวซ้ายไปขอนแก่นมีขนาด ๔ ช่องจราจร เข้าเมืองโดยตรง ๓ช่องจราจร ด้านซ้าย ๒ ช่องจราจร จากขอนแก่นไปสระบุรีเลี้ยวซ้ายไป ๔ ช่องจราจร เลี้ยวขวาได้ ๓ช่องจราจร แล้วก็เลี้ยวซ้ายเข้าเมือง ในขณะเดียวกันจากในเมืองที่จะตรงเข้าสระบุรีสามารถตรงไปได้อีก ๔ ช่องจราจร บริเวณทางแยกเลี้ยวขวาได้ ๒ ช่องจราจร จากผลการศึกษาที่จะแก้ไขรูปแบบในการดำเนินการได้ศึกษาปริมาณการจราจรและเลือกรูปแบบแก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัด เพื่อลดการคับคั่งการจราจรบริเวณดังกล่าวทำเป็นทางลอด จากทิศทางขอนแก่นเลี้ยวขวาไปทางจังหวัดสระบุรีทางลอดขนาด  ๒ ช่องจราจร โดยข้างบนของทางลอดก็จะมีช่องจราจรชิดทางลอดด้านสระบุรีที่จะตรงเข้าเมืองเลี้ยวซ้ายไปขอนแก่น มีจำนวนช่องจราจรเท่าเดิม โดยตรงเข้าเมือง ๓ ช่องจราจร เลี้ยวซ้าย ๒ ช่องจราจร ในขณะเดียวกันทิศทางจากจังหวัดขอนแก่นยังมีทิศทางที่สามารถเลี้ยวขวา เนื่องจากรถบางส่วนอยู่ชิดข้างทางบริเวณดังกล่าวที่ไม่ได้ลงทางลอด และยังสามารถเลี้ยวขวาไปขอนแก่นได้ ส่วนในเมืองก็ตรงไป ๓ ช่องจราจร เลี้ยวขวา ๒ ช่องจราจร นี่เป็นรูปแบบการจราจรที่ได้ศึกษาไว้ลักษณะรูปแบบทางลอดที่แล้วเสร็จในส่วนรูปแบบของทางลอดแยกนครราชสีมาความยาวของทางลอดทั้งหมดประมาณ ๙๓๐ เมตร บริเวณที่มีหลังคาติดประมาณ ๑๒๖ เมตร ตัวส่วนโครงสร้างจะมีการเจาะเป็นกำแพงลงไปในดินก่อน แล้วจะมีการขุดดินภายหลัง งบประมาณก่อสร้างจากการประเมินแล้วน่าจะเกิน ๕๐๐ ล้านบาท”

                นายสมพร รัตนบุรี วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญพิเศษ อธิบายต่อไปว่า ในส่วนของแยกประโดกตำแหน่งที่ตั้งจุดของถนนช้างเผือก เลยจาก ๓ แยกนครราชสีมา ไปประมาณ ๒ กิโลเมตรเศษ รูปแบบเป็นทางลอดที่อยู่ในทางหลวงหมายเลข ๒ เป็นทางลอดที่เป็นจุดตัดกับถนนเทศบาลขนาดไปกลับข้างละ ๓ ช่องจราจร รวมเป็น ๖ ช่องจราจร ทางด้านขวามาจากตัวเมือง ทางด้านซ้ายตรงนี้เรียกถนนแยกช้างเผือก คาดว่าสามารถที่จะช่วยแก้ไขจราจรได้มากในช่วงเช้าและช่วงเย็น เบื้องต้นทางลอดตรงนี้ประเมินแล้วมูลค่าประมาณ ๘๐๐ ล้านบาท

                นายณัฐพงศ์ ฐานะรุ่งไพศาล ผู้จัดการโครงการ อธิบายว่า สำหรับระบบระบายน้ำจากการศึกษา ระบบระบายน้ำด้านบนทางโครงการจะมีการขยายพื้นผิวทางด้านบน ลดความกว้างของทางเท้าลง เพื่อให้จำนวนช่องจราจรได้เท่าเดิม เพิ่มทางลอดอีก ๑ ช่อง ให้ทางลอดเป็น ๒ ช่อง ปกติด้านบนมีขนาด ๘ ช่องจราจร ข้างละ ๔ ช่องจราจร ทางนี้เราออกแบบฝั่งทางด้านจากขอนแก่นที่จะไปสระบุรีก็จะเพิ่มเป็น ๕ ช่องจราจรด้านบนทางลอดจะมี ๓ ช่องจราจร โดยทั่วไประบบระบายน้ำด้านข้างจากระบายน้ำเดิมจากทางด้านฝั่งสระบุรีระบายออกไปที่ลำตะคองบริเวณเดียวกับโรงเรียนเทศบาล ๔ ที่คลองนั้น แล้วก็ระบบระบายน้ำทั่วๆ ไปจะอยู่ขนาดเดิมที่ ๒๐ เมตร สำหรับระบบระบายน้ำในทางลอดโดยรวมน้ำภายในทางลอดไปลงที่บ่อสูบ แล้วก็จะปั๊มน้ำไปลงที่บ่อพักพิเศษที่ทางเราได้ออกแบบเอาไว้ จากนั้นน้ำก็จะไหลลงบ่อพักบนข้างทางเท้า สำหรับปั๊มของโครงการเราได้ติดปั๊มจำนวน ๕ ชุด ในเรื่องระบบอำนวยความปลอดภัยในทางลอดจะมีในเรื่องของงานระบบไฟฟ้าแสงสว่าง, ระบบเตือนเพลิงไหม้, ระบบดับเพลิง, ระบบระบายอากาศ, ระบบการตรวจวัดก๊าซคาร์บอน, ระบบวงจรปิดและระบบโทรศัพท์ที่จะไปเชื่อมโยงกับป้อมตำรวจที่อยู่ด้านบนของทางลอด

ทางลอดแยกประโดก

                สำหรับรูปแบบทางลอดสามแยกประโดก นายประเทือง อินคุ้ม ผู้อำนวยการโครงการ กล่าวว่า ด้วยการที่จราจรคับคั่งในแยกดังกล่าว ได้มีการอนุมัติโครงการที่ได้ออกแบบตัวรูปแบบของโครงสร้างของรูปแบบนี้ จึงเลือกเป็นรูปแบบอุโมงค์ทางลอดและมีการศึกษาจราจรเพื่อกำหนดทิศทางของทางลอดต่างๆ ข้อมูลของจราจรที่เอามาใช้ในการออกแบบ ทางลอดมีทางขึ้นลงทั้งสองฝั่ง มีช่องที่แยกจราจรระหว่างใช้เข้าไปที่ข้างทางเข้ากลุ่มแยกที่จะผ่านลอดอุโมงค์ไปทางขอนแก่นได้เลย จะมี ๓ ช่องจราจร ได้มีการผสมผสานศิลปกรรมท้องถิ่นเข้ามาตกแต่งอุโมงค์ให้มีความสวยงาม เพื่อให้ผู้ใช้ทางรู้สึกสบายตา มีการจัดเกาะกลางทางด้านภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม บริเวณหลังคาอุโมงค์มีรถวิ่งผ่านสามารถเลี้ยวกลับรถ ( U-TURN) ได้ทั้งสองฝั่ง มีข้างละ ๓ ช่องทำให้การจราจรคล่องตัว การที่เรามี ๓ ช่องในถนนคู่ขนานทำให้ลดปริมาณรถติด เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้มาก

เสนอตั้งงบปี’๖๑-๖๒

                จากนั้น นายภัทรเทพ ศิลปาจารย์ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการ กรมทางหลวง เสนอขอตั้งงบประมาณปี ๒๕๖๑ เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งถ้ารายงานผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็จะเสนองบก่อสร้างต่อไป สำหรับทางแยกนครราชสีมา เนื่องจากมีโบราณสถานในพื้นที่อยู่ในรัศมี ๒ กม. กรมทางหลวงก็ต้องศึกษา EIA เช่นกัน โดยเสนองบปี ๒๕๖๒ ถ้ารายงานผ่านก็จะเสนองบก่อสร้างต่อไป

เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น

                จากนั้นเป็นการเปิดเวทีให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีผู้ห่วงเรื่องน้ำท่วมภายในอุโมงค์ ซึ่งนายสมพร รัตนบุรี ชี้แจงว่า โดยหลักการของทางลอดจะแบ่งการระบายน้ำออกเป็น ๒ ระบบ ซึ่งระบบระบายน้ำภายในทางลอด จะมีการคำนวณตามหลักวิชาการ ซึ่งรอบผลในการคำนวณก็ ๕๐ ปี ในการติดตั้งปั๊มเพื่อสูบน้ำก็จะเห็นว่าแยกโคราชติดตั้งไว้ ๕ ตัว ซึ่งทั้ง ๕ ตัวจะไม่ได้ทำงานพร้อมกัน ในกรณีที่เกิดเหตุก็จะทำงานตามลำดับ เมื่อมีน้ำเข้ามาเกินระดับที่จะต้องสูบออก ปั๊มตัวแรกก็จะทำงานทันที ถ้าระดับน้ำสูงขึ้นไปอีก ปั๊มตัวที่สองก็จะทำงาน แต่อย่างมากที่สุดก็จะทำงานเพียง ๓ ตัว อีก ๒ ตัวที่เหลือก็จะติดตั้งสำรองไว้ ส่วนระบบระบายน้ำข้างทางก็เช่นกัน ระบบที่จะระบายน้ำออกจากผิวจราจรก็จะเป็นเฉพาะการจราจรเป็นจุดๆ จึงไม่มีระบบระบายน้ำตัดขวาง เช่นที่สามแยกโคราช จะเป็นการระบายน้ำจากผิวจราจรเป็นหลัก ส่วนหนึ่งมาจากบ้านพักอาศัยที่ระบายเข้ามา ซึ่งมีการศึกษาและคำนวณไว้อย่างรอบคอบแล้ว

ยืนยันระบบระบายน้ำดี

                ทางด้านนายธาตรี ไพจิตรประภากรณ์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า มีการศึกษาทุกอย่างไปหมดแล้ว รวมทั้งระบบชลประทานที่มีอยู่ทั้งหมด ระบบระบายน้ำที่มีการสำรวจออกแบบจะมี ๒ ชนิด คือ ๑.การระบายน้ำที่ตัวอุโมงค์ ๒.การระบายน้ำในบริเวณพื้นที่ข้างเคียง เป็นการออกแบบเพื่อช่วยเหลือบริเวณข้างเคียงเพราะอุโมงค์หรือทางลอดไม่ใช่ตัวปัญหา หรือก่อให้เกิดปัญหา เพราะโครงการนี้จะช่วยเรื่องระบายน้ำให้ดีขึ้น และไม่ได้ขวางทางระบายน้ำด้วย พื้นที่ข้างเคียงต่างหากที่ไปปิดทางระบายน้ำเดิมทั้งหมด จึงกลายเป็นปัญหาซ้ำซ้อน

เกรงธุรกิจข้างเคียงเจ๊ง

                นายรังสรรค์ อินทรชาธร ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา แสดงความคิดเห็นและซักถามว่า มองในภาพรวมแล้ว โครงการนี้ดี ที่จะช่วยระบายการจราจรที่ติดขัด แต่ในฐานะนักธุรกิจก็กังวลใจว่า ระหว่างที่มีการก่อสร้างจะก่อสร้างพร้อมกันทั้งสองอุโมงค์หรือไม่ และได้วางแผนในการระบายรถอย่างไรในช่วงที่มีการก่อสร้าง รวมทั้งธุรกิจที่อยู่สองข้างทางจะอยู่อย่างไรในช่วงที่มีการก่อสร้าง รถจะจอดได้หรือไม่ และหลังจากสร้างเสร็จแล้ว จะมีช่องจราจรข้างอุโมงค์ข้างละ ๓ ช่อง จะสามารถให้รถจอดซื้อของได้

ค้าขาย-ใช้ชีวิตตามปกติ

                นายสมพร รัตนบุรี ชี้แจงว่า อุโมงค์ทั้งสองแห่งไม่ได้ก่อสร้างพร้อมกัน ซึ่งลำดับการเกิดขึ้นของโครงการนั้นต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ตรงแยกประโดกจบแล้ว ถ้าไม่ติดขัดเรื่องงบประมาณก็จะสร้างได้ก่อน ส่วนแยกนครราชสีมาจะตามมาภายหลัง เป็นไปตามลำดับในการเสนองบ EIA การก่อสร้าง ผู้ออกแบบได้พิจารณาไว้แล้ว เพราะทั้งสองโครงการอยู่ในย่านชุมชน จึงไม่ได้เปิดหน้างานพร้อมกัน และก่อนที่จะมีการก่อสร้างจำเป็นต้องมีการปรับขยายช่องจราจรด้านข้างเพิ่มขึ้น หลังจากนั้นจะกั้นพื้นที่ในช่วงกลาง ในการกั้นพื้นที่ก่อสร้างจะดำเนินการเป็นต้องมีผลกระทบบ้าง แต่กรมทางหลวงกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องมีมาตรการต่างๆ ในการที่จะลด ผลกระทบอยู่แล้ว เช่นที่สามแยกโคราช ตัวทางลอดก็จะผ่านทางแยก ในการก่อสร้างก็จะปรับขยายช่องจราจรด้านข้างออกไปก่อน อาจจะปรับลดทางเท้าลงนิดหน่อย เพื่อให้ได้ความกว้างของช่องจราจรเพิ่มมากขึ้น สามารถเดินรถได้ปกติ และเสียพื้นที่การจราจรน้อยมาก

                นายธาตรี ไพจิตรประภากรณ์ กล่าวเสริมว่า อุโมงค์ทั้งสองแห่ง ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือการจราจร หรือ Passing to คือไม่ให้การจราจรติดขัด เพราะฉะนั้นการออกแบบแทบจะไม่มีผลกระทบ เพราะก่อสร้างตรงกลางถนน และก่อสร้างเสร็จแล้วกลับจะได้ประโยชน์ด้วยซ้ำไป เพียงแต่อาจจะทำให้ช่องจราจรลดน้อยลง แต่สามารถใช้ช่องจราจรได้ตามปกติ ดังนั้น ช่วงที่มีการก่อสร้างทั้งสองอุโมงค์จะมีผลกระทบกับรอบข้างน้อยมาก

เสี่ยสู’ค้านทางลอดบิ๊กซีอีก

                นายสุวัฒน์(เสี่ยสู) จึงวิวัฒนาภรณ์ กรรมการบริหารกลุ่มคิงส์ยนต์ ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์อีซูซุในจังหวัดนครราชสีมา กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า“เห็นด้วยที่จะมีการก่อสร้างตรงแยกประโดก แต่ตรงแยกบิ๊กซีผมขอค้าน เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วผมก็ค้าน เพราะไม่ได้ประโยชน์ ไม่คุ้มค่ากับการก่อสร้าง งบประมาณตอนนั้น ๔๐๐ ล้านบาทให้ขอนแก่นไปทำ ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะก็ทำให้ประเทศไทย แต่ว่าตรงแยกบิ๊กซี ๑๐ ปีผ่านไป วิกฤติการจราจรก็ไม่ได้หนักหนาสาหัส ไม่ได้มีผลกระทบ รวมทั้งรูปแบบการก่อสร้างอุโมงค์ก็เปลี่ยนไป เมื่อก่อนวิ่งสวนไปมา แต่ตอนนี้มีแบบใหม่มาอีก มีการระบายรถมาจากทางจอหอออกไปทางสระบุรี แล้วก็บอกว่า ถ้าโครงข่ายของบายพาสรอบนอกเสร็จ รถที่ไม่จำเป็นต้องผ่านเมืองก็จะหายไปส่วนหนึ่ง แล้วตัวเลขที่ยกมาว่าสองแสนกว่า ก็ไม่ได้แยกว่า รถที่ถูกบังคับให้ผ่านเมือง ในปีที่แล้วที่ยังไม่มีวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา มีจำนวนเท่าไหร่ แต่กลับเอาตัวเลขนี้มาสรุปว่า มีความจำเป็นต้องสร้างทางลอดตรงแยกบิ๊กซี ผมว่าเป็นการสรุปที่ไม่ถูก เพราะแยกไม่ได้ว่า รถที่ถูกบังคับเข้ามาเพื่อผ่านเมืองเข้ามา ที่จริงแล้วก่อนจะออกแบบเมื่อปี’๔๙-๕๐ ก็ต้องศึกษาก่อนหน้านี้อีก และในขณะนั้นก็ยังไม่มีเรื่องรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ยังไม่มีเรื่องรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ที่เพิ่งศึกษาจบไป แล้วกลับมาเป็นทางวิ่งจากจอหอผ่านเมืองเข้าไป พอออกจากอุโมงค์ก็ต้องไปติดขัดที่หน้าเดอะมอลล์อีก ซึ่งตรงนั้นก็มีไฟแดงอีก ผมจึงคิดว่าตรงแยกบิ๊กซีไม่ได้ประโยชน์ ควรนำเงินในส่วนนี้ไปขยายโครงข่ายที่จะเชื่อมจากถนนแถวโรงเรียนสุรนารีวิทยา ๒ (สุระ ๒) มาต่อเข้ากับทางเลี่ยงเมืองตรงนั้นดีกว่า และถนนที่มีอยู่ในโคราชยังน้อยไป กรมทางหลวงน่าจะขยายโครงข่ายถนนให้มากกว่านี้ จากวงแหวนฯ แล้วเชื่อมมาในเมืองให้มากกว่านี้ ส่วนอุโมงค์แยกบิ๊กซีนั้นประโยชน์ไม่คุ้ม แม้การที่ทางหลวงได้งบประมาณมานั้นเป็นเรื่องดีสำหรับคนโคราช วิธีการก่อสร้างผมก็ไม่ติดใจ เพราะทางหลวงต้องรับมือได้ทุกอย่าง แต่ที่แยกประโดก-โคกไผ่ ถ้ารถจากจอหอจะเลี้ยวเข้าสุระ ๒ และเข้าไปบ้านประโดกจะเข้าไปอย่างไร แล้วรถจากในเมืองถ้าจะไปโรงพยาบาลมหาราช เลี้ยวขวาไม่ได้ ต้องวิ่งไปกลับตรงเกือกม้าใช่หรือไม่ แล้ววิ่งกลับเข้าไป ต้องวิ่งอย่างนี้ใช่มั้ยเพราะมีอุโมงค์ขวาง

เพราะค้านค่าก่อสร้างจึงเพิ่มขึ้น

                นายธาตรี ไพจิตรประภากรณ์ ชี้แจงว่า เรื่องการจราจรได้วางแผนไว้หมดแล้ว ไม่ต้องห่วง และไม่ต้องเลี้ยวกลับไกลขนาดนั้น และการจะเลี้ยวเข้าไปสุระ ๒ นั้น ทช.(ทางหลวงชนบท) ได้ทำไว้แล้ว รับรองว่าไม่มีปัญหาและไม่ต้องเป็นห่วงฟังก์ชั่นทุกอย่างศึกษาไว้หมดแล้ว และคำนึงถึงสิ่งก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งหมด แต่อยากจะย้ำถึงความจำเป็นในการก่อสร้าง เพราะในอนาคตเมืองโคราชรถจะต้องติด เพราะพื้นผิวจราจรน้อย อุโมงค์จึงจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจราจรในโคราช ซึ่งมีการศึกษาความเป็นไปได้มาก่อนแล้ว โดยเมื่อก่อนปี ๒๕๕๐ การจะทำโครงการใดก็ง่ายเพราะแค่เพียงเสนอโครงการความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุนก็จบสามารถออกแบบได้ แต่ต่อมาปี ๒๕๕๐ มีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม จะต้องมีการทำรายละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมที่พันคอไปหมด ต้องทำ ราคาค่าก่อสร้างก็เพิ่มมากขึ้น จะง่ายแบบเดิมไม่ได้ ระหว่างที่ทำก็จะต้องจัดเวทีการมีส่วนร่วมเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ

ต้องรีบสร้างกลัวแพ้ขอนแก่น

                นายเสด็จ เขียวแดง จากชุมชนโคราชคฤหาสน์ทอง แสดงความคิดเห็นว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งบนดินมีถนนเป็นร้อยสาย ใต้ดินมีทุกสาย แต่โคราชยังไม่มีแม้แต่อย่างเดียว เราจะตามทันไหม ฝากเป็นข้อคิด ต้องเร็วอย่างเดียว ประเด็นสำคัญคือ การจะต้องทำนั้นไม่ได้ทำเพื่อผมหรือเพื่อใคร แต่ทำเพื่อลูกหลานและความเจริญของโคราช สมมติว่าผมจะสร้างบ้านใหม่ในที่เก่า ผมเดือดร้อนไหม เดือดร้อนอย่างน้อย ๒-๓ เดือน คุ้มมั้ย ก็คุ้มเพราะเมื่อสร้างบ้านใหม่เสร็จ ผมก็สบายตลอดชาติ เหมือนกับโครงการนี้ ในใจผมบอกว่า สร้างเลย สร้างทันที ต้องสร้างให้ได้ในครั้งนี้ เพราะถ้าสร้างไม่ได้ในครั้งนี้ โคราชแพ้ขอนแก่น แพ้ทุกจังหวัด

                ในขณะที่นายศุภกิจ ศิริรัตนพลเป็นอีกผู้หนึ่งที่ไม่สนับสนุนโครงการนี้ พร้อมกล่าวเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาการจราจร และการจัดการจราจร และวิธีการแก้ไขปัญหาจราจร ควรจะมานั่งคุยกันทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนรับทราบว่าแต่ละหน่วยงานมีวิธีการจัดการอย่างไร

สรุปจำเป็นต้องสร้าง

                ท้ายสุด นายสมพร รัตนบุรี กล่าวโคราชจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและศูนย์กลางการขนส่ง และศูนย์กลางต่างๆ ดังนั้น แม้จะมีโครงข่ายถนนโดยรอบแล้ว แต่ก็จำเป็นจะต้องมีผู้เดินทางเข้ามาในเมืองเพื่อทำธุรกิจธุรกรรมด้านต่างๆ ซึ่งการศึกษาเมื่อปี’๔๙-๕๐ ก็ได้ศึกษาแล้ว ผลการศึกษาก็สอดคล้องกับแผนแม่บทของจังหวัดนครราชสีมาที่ดำเนินการโดยสนข. ส่วนกรมทางหลวงสามารถแก้ปัญหาได้ตามที่ประชาชนเสนอหรือไม่ ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะว่าถนนโครงข่ายต่างๆ อยู่นอกเหนืออำนาจของกรมทางหลวง เพราะความจริงในเขตเมืองเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ด้วยถนนสายหลักที่จะผ่าเข้ามาในเมืองเช่นถนนมิตรภาพ ก็ถือว่าอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง กรมฯ จึงพยายามจะแก้ไขปัญหาทางแยกและจุดตัดดังกล่าวถามว่า จุดตัดเหล่านี้จราจรวิกฤติหรือไม่ ผมคงไม่ตอบ แต่เราได้ศึกษาโครงข่ายทั้งหมด แต่ไม่สามารถนำเสนอได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ หากต้องการทราบเพิ่มเติมก็สอบถามได้ที่แขวงฯ ส่วนเรื่องผลกระทบจากการก่อสร้างนั้น จะก่อสร้างอย่างเร็ว ๒ ปีก็แล้วเสร็จ เมื่อจะเริ่มมีการก่อสร้าง ก็จะมีการมาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง ต้องมีการจัดทำแผนการจราจรร่วมกับตำรวจ ท้องถิ่น เพื่อพิจารณาว่าจะจัดการจราจรอย่างไร ในขณะที่มีการก่อสร้าง


นายพรชัย ศิลารมย์ ผอ.แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒

 ไม่กระทบธุรกิจ 

                “ปัญหาที่ผ่านมา คือการใช้ประโยชน์ที่หน้าบ้านตัวเองของชุมชน ๒ ข้างทาง เช่น ร้านค้าย่อมมีความกังวลกับการก่อสร้างที่จะเกิดขึ้น กลัวว่าลูกค้าจะหายไป หรือเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถทำการติดต่อซื้อขายกันได้ไหม สิ่งนี้ ตนยืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามวิถีชีวิตปกติของชุมชนเมืองเช่นเดิม โครงการนี้แค่เปลี่ยนบริเวณเกาะกลางให้เป็นอุโมงค์เพื่อให้คนที่ต้องการเดินทางข้ามเมืองช่วงเทศกาลที่เขาต้องการจะเดินทางไปเลยโดยไม่ต้องการที่จะทำการค้าขาย เราต้องการให้คนเหล่านี้ลงอุโมงค์ไปเลยไม่ต้องมาเป็นส่วนที่จะทำให้การจราจรของเมืองโคราชต้องติดขัด ดังนั้นตนมองว่าถ้าเรามีการแยกรถที่ผ่านเมืองให้ออกไปได้โดยที่ลงลอดผ่านทางลอดต่างๆ นี้ ตนเชื่อว่าจะทำให้พื้นผิวจราจรเพิ่มมากขึ้นแน่นอน ตนมองในหลักการที่ว่า เราดึงรถที่ไม่เกี่ยวออกไป เหมือนเป็นการเพิ่มพื้นผิวการจราจรและลดปริมาณรถในตัวเมือง” ผอ.แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ กล่าว

                นายพรชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการทำอุโมงค์ทางลอดแยกประโดกยังอยู่ในขั้นตอนการทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อแล้วเสร็จจะดำเนินการส่งเรื่องเข้าส่วนกลางเพื่อทำแผนการดำเนินงานเสนอพิจารณางบประมาณต่อไป ในส่วนของแยกนครราชสีมาสามารถรับฟังผลในวันนี้ได้เลย ในความเห็นส่วนตัวตามที่เราได้พยายามทำการบ้านให้ทางจังหวัดอยู่ และได้ทำการตรวจสอบแล้วปรากฏว่าแยกนครราชสีมายังไม่ได้อยู่ในแผนการพัฒนา เพราะประชาชนเคยแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย วันนี้เหมือนเป็นการมาถามอีกครั้งเพื่อให้ชัดเจนไปเลยว่า วันนี้โคราชเราได้เปลี่ยนไปแล้ว เลยอยากถามว่าวันนี้ในเมืองอยากได้หรืออยากทำอะไรไหม คือถ้ามาตนก็อยากให้มาในห้วงเวลาเดียวกันกับแยกประโดกที่กำลังเดินหน้าซึ่งกำหนดการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณแยกประโดกนั้น จากการเสนอครั้งที่แล้วจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ๙๙๐ วัน ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการในช่วงที่ออกแบบ หลังจากที่ทำการออกแบบแล้วเสร็จจะเป็นขั้นตอนของการประเมินราคา การวางแผนการก่อสร้าง โดยจบขั้นตอนนั้นแล้วถึงเป็นตัวที่แน่นอน แต่วันนี้เราห่วงเรื่องของเวลาซึ่งถ้าเราพัฒนาร่วมกันแบบนี้ ตนเชื่อว่าการก่อสร้างก็น่าจะขยับได้ ส่วนแยกนครราชสีมา หลังจากที่มีการสำรวจความคิดเห็นจากชุมชนสองข้างทาง ซึ่งเข้าใจปัญหาและข้อจำกัดแล้ว ดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามวันนี้ก็ต้องรับฟังเพราะอยากให้ครบถ้วนจริงๆ ว่าประชาชนมีผลกระทบอย่างไรบ้าง

                โดยกรมทางหลวงคาดการณ์ถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการทางลอดบริเวณ สามแยกนครราชสีมาและบริเวณทางแยกประโดกว่า จะช่วยลดปัญหาการติดขัดของการจราจรบริเวณทางแยก และจะทำให้ประชาชนที่สัญจรผ่านบริเวณทางแยกมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมทั้งช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางแยกอีกด้วย

 

 โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ. โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๔๙ วันอาทิตย์ที่ ๖ - วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


713 1352