29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 09,2017

ศาลหลักเมือง ขยายไม่ได้ ติดสัญญา ส่อแววรอเก้ออีก ๔ ปี

 

          ปรับภูมิทัศน์ศาลหลักเมืองโคราชส่อแววล่าช้า เวนคืนพื้นที่ยาก ขยายไม่ได้เพราะติดสัญญาเช่า สัญญาสิ้นสุดปี๖๔ เจ้าคณะชี้ต้องหารือ ๓ ฝ่าย วัด ผู้เช่าและจังหวัดจึงจะเดินหน้าปรับปรุงได้ หวังพัฒนาเมืองในรั้วกำแพงให้กลับมาคึกคักดังเดิม

          จากที่นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการประชุมหารือเสนอแนะในการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ศาลหลักเมืองจังหวัดนครราชสีมา ให้มีความสง่างามสมฐานะหัวเมืองใหญ่อันดับ ๑ ของภูมิภาค เมื่อปี ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา โดยในที่ประชุมมีการหารือเรื่องจะปรับปรุงภูมิทัศน์ศาลหลักเมืองจังหวัดนครราชสีมา เบื้องต้นจะมีการปรับปรุงพื้นที่ภายในศาลก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากยังไม่สามารถขยายพื้นที่ได้ เพราะพื้นที่ทั้งสองฝั่งมีประชาชนเช่าอยู่กับทางวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร ทั้งนี้การที่จะไปขอเวนคืนเอาพื้นที่มาทำเป็นพื้นที่ของศาลหลักเมือง จะทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา ฉะนั้น เบื้องต้นจะทำการปรับสภาพภูมิทัศน์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้ดีขึ้นก่อน คือจัดการให้เป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น

          ความคืบหน้าล่าสุด พระมหาเอกรินทร์ ธมฺมรํสี เจ้าคณะ๖ วัดพระนารายณ์มหาราช มหาวรวิหาร เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า ช่วงแรกจะเป็นการปรับปรุงพื้นที่บริเวณภายในศาลหลักเมืองก่อน ไม่ว่าจะเป็นบันไดทางขึ้นด้านหน้า รวมถึงประตูทางเข้าที่มีขนาดเล็ก เวลาจัดงานหรือทำพิธีกรรมต่างๆ ไม่มีความสะดวก นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ท่านมีความเห็นดีเห็นงามด้วย ในการที่จะขยายบันไดและขยายประตูทางเข้าให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับผู้เข้าร่วมประกอบพิธีกรรมในงานสำคัญต่างๆ

          ส่วนการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่รอบศาลหลักเมือง โดยมีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างนั้น คณะกรรมการศาลหลักเมือง และวัดพระนารายณ์ฯ ยังไม่มีการอนุมัติโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งโครงการดังกล่าว เคยมีแนวคิดที่จะปรังปรุงอยู่ก่อนแล้ว เจ้าคณะชี้แจงว่า เมื่อก่อนเคยมีประชาชนเสนอให้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ศาลหลักเมือง เพราะพื้นที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมนั้น มีลักษณะเล็กและแคบไม่สามารถรองรับประชาชนจำนวนได้มาก หากมีการขยายพื้นที่ออให้กว้าง เหมือนศาลหลักเมืองของจังหวัดอื่นๆ จะเป็นการดีในด้านการรองรับพี่น้องประชาชน ที่เข้ามาสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวโคราช แม้พื้นที่ก่อสร้างศาลหลักเมืองและอาคารร้านค้าที่อยู่บริเวณนั้นบางส่วนจะอยู่ในเขตพื้นที่วัดก็ตาม แต่การที่จะทำการรื้อถอนเพื่อทำการปรับปรุงนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เนื่องจากผู้เช่าที่วัดได้อาศัยเช่าที่และอยู่อาศัยมานานหลายปีแล้ว จะให้ทางวัดเข้าไปยึดคืนหรือขอพื้นที่คืนคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะญาติโยมต้องอาศัยพระ พระก็อาศัยโยม หากจะมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่วัดที่ประชาชนเช่าอยู่ จำเป็นต้องมีการพูดคุยกันก่อน โดยตามสัญญาเช่าที่ ซึ่งประชาชนได้ทำไว้กับวัดพระนารายณ์นั้น จะสิ้นสุดในปี ๒๕๖๔ หลังจากนั้น วัดจะมีมาตรการหรือจะดำเนินการอย่างไร คงต้องรอให้ถึงวันนั้นก่อน เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่เป็นรูปธรรม ดังนั้นวัดจึงไม่สามารถที่จะให้ข้อมูลในส่วนนี้ได้

          พระมหาเอกรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้ว การที่จะขยายศาลหลักเมืองนั้น ประชาชนจังหวัดนครราชสีมา ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของวัด ข้าราชการ หรือทหารอย่างเดียว เรื่องการขยายศาลหลักเมืองต้องเป็นความคิดเห็นของคนทั้งจังหวัด โดยการทำประชาพิจารณ์ถามความคิดเห็นของประชาชนทุกอำเภอว่า มีความคิดเห็นอย่างไรในการที่จะขยายศาลหลักเมืองจังหวัดนครราชสีมา จากนั้น ให้ขอมติจากประชาชนว่าเห็นสมควรที่จะขยายหรือไม่ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นสมควรให้มีการขยายได้ ให้นำมตินั้นมาแจ้งกับทางวัดผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา เห็นด้วยที่จะมีให้มีการขยายพื้นที่ศาลหลักเมือง ซึ่งการดำเนินโครงการอาจจะสามารถดำเนินการได้โดยราบรื่น เพราะเป็นความเห็นชอบของคนส่วนใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา

          นายสุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์ ผู้บริหารคิงส์ยนต์ ประธานกรรมการศาลหลักเมืองจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ได้เรียนกับนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่องโครงการส่วนขยายศาลหลักเมือง การขยายที่จะทำนั้น คงต้องมีแนวทางร่วมกันของ ๓ ฝ่าย คือ วัดพระนารายณ์ฯ ผู้เช่าที่วัด และจังหวัด ถ้าจะขยายส่วนต่อของศาลหลักเมืองจะมีการขยายไปด้านใดบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร แต่จะสามารถดำเนินการได้เมื่อไหร่นั้น ตนยังไม่ทราบได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และมีผลกระทบกับชาวบ้าน พ่อค้า ซึ่งเช่าที่อยู่บริเวณนั้น แต่หากมีการประชุมของจังหวัดโดยมีท่านผู้ว่าเป็นประธานและมีการหยิบยกเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ตนคิดว่าน่าจะมีการเชิญผู้สื่อข่าวหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมรับฟังด้วย ซึ่งตอนนั้นน่าจะมีความชัดเจนในห้วงเวลาของการทำงาน

          สำหรับคณะกรรมการชุดเดิมจะทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมของศาลหลักเมือง หากมีอะไรติดสามารถแจ้งมา เราจะทำการจัดการให้ เช่น ม้านั่งหรืออะไรที่อยู่ในศาลที่จะมีการปรับเปลี่ยนใหม่ หรือเกี่ยวกับการทำความสะอาดศาลหลักเมือง ก็จะเข้าไปจัดการให้ในส่วนของค่าใช้จ่าย ซึ่งเรามีงบประมาณในการดูแลส่วนตรงนี้อยู่แล้ว นายสุวัฒน์ กล่าวทิ้งทาย

          ด้านนายไมตรี สุชำนิวรณ์การ กรรมการศาลหลักเมืองนครราชสีมา เปิดเผยว่า การที่จะพัฒนาปรับภูมิทัศน์รอบข้างศาลหลักเมืองนั้น มีความเกี่ยวพันกันหลายด้าน ทั้งจังหวัด วัดพระนารายณ์ ผู้อาศัยเดิมด้วย และต้องหาข้อสรุปร่วมกัน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้เคยมีการพูดคุยกันกับผู้เช่าที่อยู่รอบบริเวณการปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ว่าฯ เคยเชิญร้านค้าที่อยู่บริเวณรอบศาลหลักเมืองเข้าร่วมประชุมแล้ว รวมทั้งคณะกรรมการศาลหลักเมืองด้วยเพื่อหาแนวทางร่วมกัน แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป เป็นเพียงแค่การบอกกล่าวกันไว้เฉยๆ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนแต่ประการใด

          นายไมตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันเรามีการพัฒนาเมืองอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเมืองในรั้วกำแพง โดยมีโครงการที่จะชักชวนคนเข้ามาในตัวเมือง ไหว้คุณย่าโมเสร็จ เข้ามาไว้ศาลหลักเมือง ไหว้พระนารายณ์ และวัดต่างๆ ซึ่งเป็นของเก่า คู่บ้านคู่เมืองเรา ขณะนี้จะเห็นได้ว่าความเจริญเวลานี้ได้ขยายออกไปสู่รอบนอก ทั้งความเจริญต่างๆ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทำให้เขตในเมืองขาดความสำคัญไป ตนและคณะกรรมการศาลหลักเมือง รวมทั้งวัดพระนารายณ์จึงมีโครงการที่อยากจะพัฒนาส่วนนี้อยู่แล้ว เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ทั้งในจังหวัดนครราชสีมา ประชาชนต่างจังหวัดและทั่วประเทศ ได้เข้ามาเที่ยวในจังหวัดนครราชสีมา แล้วให้เขาได้อะไรกลับไปบ้าง ผมอยากให้เราร่วมกันทำ ช่วยกันทำ เพื่อให้เมืองนครราชสีมาของเราเป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าเที่ยว แล้วเมืองเราก็จะเจริญ

          ศาลหลักเมืองนครราชสีมา สร้างขึ้นเมื่อครั้งสร้างเมืองนครราชสีมาระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาเจ้าอนุวงศ์ได้ยกกองทัพมายึดเมืองนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ และได้ทำลายเสาหลักเมือง โดยโค่นล้มเสาหลักเมือง จากการเล่าสู่กันมาจาก นายแก้ว เพชรโสภณคนดูแลศาลเล่าว่า ศาลเดิมเป็นศาลไม้เล็ก ๆ มีเสา ๖ ต้น ปลูกเป็นโรงเรือน พื้นเป็นดิน หลังคามุงสังกะสี ฝากระดานเกร็ด มีประตู ๑ ประตู เสาหลักเมืองถูกแขวนโยงไว้ด้วยเชือกหนัง ทั้งหัวเสาและโคนเสา โดยหันหัวเสาไปทางประตูไชยณรงค์ หรือ ประตูผี(ทิศใต้) ส่วนโคนเสาอยู่ทางทิศปะตีน(ทิศเหนือ) สภาพภายในค่อนข้างมืดสลัว มีกลิ่นหอมธูปเทียนอบอวน บริเวณหน้าศาลเป็นโคลน มีต้นจันทร์ปลูกเรียงรายตามถนน มีเสาหลักร้อย(เสาหลักแรกของเมืองนครราชสีมา ปักไว้ฝั่งตรงข้ามถนน) เสานี้จะปักไว้ข้างถนนเป็นระยะจนถึงบ้านหลักร้อย ทางทิศตะวันตกของศาลเป็นป่า มีโรงหนัง โรงลิเก คนเมืองนครราชสีมานับถือศาลหลักเมืองนี้มาก คนผ่านไปมาจะต้องกราบไหว้ โดยเฉพาะเกวียนเทียมวัว ถ้าไม่กราบไหว้เกวียนจะติดล่ม วัวจะล้มลุกเดินไปไม่ได้จนกว่าจะเซ่นไหว้เสียก่อน ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๙ ทรงได้เสด็จทอดพระเนตรศาลหลักเมือง ทรงจุดเทียนบูชาเทพารักษ์ แล้วเสด็จทรงม้าพระที่นั่งกลับทางประตูชุมพล

          ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๖ (ร.ศ.๑๒๒) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทรงสังเวย ขณะนั้นพระองค์ทรงดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ประชาชนพ่อค้า ข้าราชการ ได้ร่วมกันสร้างศาลขึ้นใหม่แทนศาลเดิมซึ่งสร้างด้วยไม้ได้ชำรุดทรุดโทรมลง เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ทำพิธีอัญเชิญขึ้นศาลใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาทำพิธีสังเวย เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ศาลหลักเมืองจังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่ถนน จอมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา นครราชสีมา

 

 


710 1361