26thApril

26thApril

26thApril

 

August 11,2017

ยกแรก‘ราษฎรชนะ’ ศาลเพิกถอนโรงไฟฟ้า เผยแพร่ข้อมูลไม่รอบด้าน

                ประชาชนไชโย!!! ศาลปกครองอ่านคำพิพากษา เพิกถอนใบอนุญาต และใบประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล ฐานจัดประชาคม และเผยแพร่ข้อมูลไม่ทั่วถึง ซึ่งราษฎร ๒๒๒ คนรวมตัวยื่นฟ้อง กกพ. ราชการ และ “บริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด” รอลุ้นนายทุนยื่นอุทธรณ์ภายใน ๓๐ วัน

                จากกรณีที่บริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด ได้ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด ๙.๙ เมกะวัตต์ ที่บ้านถนนคต กิโลเมตรที่ ๒ อยู่ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลสีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตลาดสดและแหล่งชุมชนประมาณ ๒ กิโลเมตร โดยกลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้า ได้คัดค้านการก่อสร้างมาตลอดนั้น ในขณะที่นายธนวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ผู้บริหาร บริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด เคยเปิดเผยข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการโรงไฟฟ้าชีวมวล มูลค่า ๘๐๐ ล้านบาท พร้อมแสดงหลักฐานสำคัญเช่น หนังสือสัญญาซื้อขายไฟกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PPA) ใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม (รง.๔) ใบอนุญาตก่อสร้าง (อ.๑) และผลสรุปการประชุมรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ซึ่งทำ ๒ ครั้ง ก็ผ่านทั้ง ๒ ครั้ง EIA ส่วนการปล่อยไอเสีย โรงงานได้ออกแบบและใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า การจัดการฝุ่นละอองให้มีมาตรฐานตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด บริษัทฯ มีใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ๘ เมกะวัตต์ แต่กำลังผลิตที่ได้ในระบบไม่เกิน ๙.๙ เมกะวัตต์ โดยขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ๘ เมกะวัตต์ เหลือประมาณ ๑ เมกะวัตต์ นำมาใช้ภายในโรงงาน พร้อมทั้งยืนยันว่า บริษัทฯ ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลและคัดเลือกเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้ไม้สับ เปลือกไม้ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาเป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งเน้นให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงขอความเป็นธรรมด้วย แต่กลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้า ได้ยื่นเรื่องต่อนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และมีการตั้งกรรมการตรวจสอบ

                จากนั้นในวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๙ กลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้า นำโดยนางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล ประธานกลุ่มฯ ได้เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา ให้สั่งคุ้มครองชั่วคราว และเพิกถอนคำสั่งการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยผู้ฟ้องคดีประกอบด้วย นางปิยนุช ด่านกุล กับพวกรวม ๒๒๒ คน โดยมีนางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล เป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้ง ๒๒๒ คน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีประกอบด้วย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ ๑ กับพวกรวม ๖ คน ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา, นางสาวกรกนก ชโลมพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสีคิ้ว, องค์การบริหารส่วนตำบลสีคิ้ว และบริษัท ยูนิ พาวเวอร์ เทค จำกัด เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒-๖ ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และอนุญาตให้บริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด ทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งหรือมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร (แบบ อ.๑) เลขที่ กกพ (อ๑)-๑-๐-๐๕๐/๒๕๕๘ และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ (สรข.๕) ๐๒-๑๑๑/๒๕๕๘(ร.ง.๔) ทะเบียนโรงงานเลขที่ ๓-๘๘(๒)-๒๖/๕๘ นม ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกให้กับบริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด รวมคำฟ้องยาวกว่า ๓๔ หน้ากระดาษ ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวอย่างต่อเนื่องนั้น

                ล่าสุดเมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๐ ที่ศาลปกครองนครราชสีมา มีการอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ส.๑๑/๒๕๕๙ คดีหมายเลขแดงที่ ส๑๒/๒๕๖๐ โดยมีนางปิยนุช ด่านกุล พร้อมพวกรวม ๒๒๒ คน เป็นผู้ฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสีคิ้ว และบริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

                คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดเป็นราษฎรที่ประกอบอาชีพและมีที่อยู่อาศัยในเขต ต.สีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา และเป็นสมาชิก “กลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวล” มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นและติดตามตรวจสอบการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่บ้านหนองรี หมู่ ๓ ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งนำเศษไม้ เปลือกไม้และเหง้ารากมันสำปะหลังและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าขนาดกำลัง ๙.๙ เมกะวัตต์ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อาจมีผลกระทบต่อชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม ลำรางน้ำสาธารณะและระบบนิเวศ อีกทั้งการออกใบอนุญาตมีกระบวนการและขั้นตอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่การพิจารณาคำขอ การให้ความเห็นชอบเบื้องต้นและการพิจารณาออกใบอนุญาต ตุลาการพิเคราะห์เห็นว่าการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร การจัดประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการ เป็นกระบวนการรวบรัดขั้นตอนและการเผยแพร่ข้อมูลไม่ทั่วถึงและครบถ้วน ทำให้ราษฎรขาดโอกาสที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอ จึงพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารฯ (อ.๑) และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานฯ (รง. ๔ ) ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกให้กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ คือบริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด โดยมีผลนับตั้งแต่ออกใบอนุญาตคือวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ และให้คำสั่งศาลที่ให้ทุเลาการบังคับตามใบอนุญาตทั้ง ๒ ฉบับไว้ชั่วคราว ยังมีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

                โดยบรรยากาศในการนัดอ่านคำพิพากษานางสาวปิยนุช ด่านกุล ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ พร้อมพวกประมาณ ๑๕ คน ได้สวมเสื้อยืดสีเขียว “เราไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวล” และกลุ่มผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้แทนภาครัฐ ที่ปรึกษากฎหมาย รวมทั้งผู้ประกอบการโรงงาน ได้เข้าไปนั่งฟังการอ่านคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดีที่ ๒ โดยตุลาการอ่านสำนวน รวม ๖๖ หน้า ใช้เวลา ๒๐ นาที เมื่อกลุ่มผู้ฟ้องคดีทราบว่าเป็นผู้ชนะคดี หลังเดินออกมาจากห้องฯ ได้แสดงความยินดีโดยโอบกอด จับมือแสดงความดีใจ และขออนุญาตเจ้าหน้าที่ประจำศาลฯ เพื่อขอถ่ายรูปด้านหน้าอาคารศาลปกครองนครราชสีมา โดยร่วมกันถือป้ายไวนิลพิมพ์ข้อความว่า “ชัยชนะที่ชาวสีคิ้วรอคอย”

                นางสาวปิยนุช ด่านกุล เปิดเผยว่า ศาลปกครองนครราชสีมาได้เมตตาชาวสีคิ้ว ให้ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ตามครรลองของกฎหมาย โดยมีคำพิพากษาว่า ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและตั้งโรงงาน เนื่องจากเป็นการดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอนกระบวนการของกฎหมายโดยหน่วยงานรัฐ กรณีนี้จึงเป็นบรรทัดฐานในสังคมเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ หากจะดำเนินการโครงการต่างๆ ต้องให้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนและสาธารณะ อย่างไรก็ตามขั้นตอนต่อไป ชาวสีคิ้วจะติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

                ทางด้านกลุ่มผู้ถูกฟ้องคดี (ขอสงวนรายชื่อ) เปิดเผยเพียงว่า เคารพคำตัดสินของศาล ขั้นตอนต่อไปจะใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน ๓๐ วัน อย่างแน่นอน

                ในขณะที่นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล ประธานกลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้า เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ในวันนี้ ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารและการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า ซี่งมีการยื่นฟ้องไปเมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๙ จากนั้นในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว คือให้หยุดก่อสร้างอาคารและโรงงานไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลง จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณา และเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ ศาลมีคำสั่งให้หยุดการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ กระทั่งในวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๐ จึงมีคำพิพากษา เพิกถอนใบอนุญาตทั้งสองใบของบริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด

                นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวอีกว่า “รู้สึกดีใจกับเรื่องนี้ เพราะสุดท้ายแล้วที่พึ่งเดียวของประชาชนก็คือกระบวนการยุติธรรม การจะไปพึ่งอย่างอื่นนั้นยากมาก การพึ่งกระบวนการยุติธรรมจึงถูกต้องที่สุด เพราะอย่างไรก็ตาม ต้องเคารพในกระบวนการยุติธรรม ที่ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด เข้ามาดำเนินการอย่างเงียบๆ กระทั่งมีการลงมือสร้างแล้ว ประชาชนจึงทราบความเคลื่อนไหว เมื่อประชาชนทราบจึงรวมตัวกันคัดค้าน และยื่นฟ้องคดี เพราะการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของ บริษัทฯ จัดทำแบบไม่ทั่วถึง ไม่มีการบอกกล่าวให้ประชาชนรับรู้ตั้งแต่ต้น รวมทั้งการให้ความยินยอมก่อสร้างของอบต.สีคิ้วก็ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการให้ความเห็นชอบของนายกอบต.สีคิ้ว กระทำไปโดยไม่ผ่านสภาอบต.สีคิ้ว ซึ่งเป็นการให้ความยินยอมก่อสร้างที่ไม่ใช่มติของอบต.สีคิ้ว ทั้งๆ ที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องผ่านความเห็นชอบของอบต. รวมทั้งในส่วนของการให้ความรู้เรื่องโรงไฟฟ้ากับประชาชนก็ไม่ทั่วถึง”

                “เรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน ๓๐ วัน แต่วันนี้ก็ถือว่า เป็นชัยชนะก้าวแรกของประชาชน แต่ก็ยังไม่วางใจ เนื่องจากคดียังดำเนินการไปตามกระบวนการอยู่ จึงดีใจได้บ้างแต่ก็ต้องทำใจไว้เผื่อมีการอุทธรณ์ด้วย” นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวในท้ายสุด

                หากมีความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป

 

 โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๕๐ วันศุกร์ที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


700 1344