27thApril

27thApril

27thApril

 

September 21,2017

เสี่ยต้อยติ่ง’ระงับโครงการใหญ่ “นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี” เหตุรฟท.ไม่ชัดเจนสร้างทางเชื่อม

         นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ส่อล่ม! หลังเจ้าของโครงการอึดอัดท่าที “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ไม่ชัดเจน แค่เริ่มต้นเรื่องสร้างทางรถไฟ ๑.๘ กิโลเมตร เชื่อมเข้ามายังศูนย์กระจายสินค้าทางราง ย้ำเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าพื้นที่ ขณะที่หลายหน่วยงานรัฐมีท่าทีชัดเจนทั้ง กฟภ., กปภ., ทางหลวงชนบท และภาคเอกชนในพื้นที่ นักธุรกิจอุดรธานีร่วมให้กำลังใจ

         ตามที่เมื่อวันที่ ๕ กันยายนที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีประเด็นหารือถึงโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ที่ดำเนินงานระหว่างภาคเอกชนกับ กนอ. และทวงถามถึงการสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างสถานีหนองตะไก้ กับพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้าทางราง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยนายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงในที่ประชุมว่า ยังไม่มีข้อมูลรายละเกี่ยวกับการก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าทางราง อีกทั้งที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จะต้องเวนคืนอีกด้วย
         นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๐ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้เผยแพร่ข่าวชี้แจงประเด็นปัญหาการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีว่า “ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าว นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานบริหาร บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ผู้รับสิทธิดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี (ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ ๑ หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ปรับพื้นที่เฟสแรกไปแล้วกว่า ๑,๐๘๔ ไร่) ประกาศหยุดการดำเนินโครงการฯ เนื่องจากรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่มีความชัดเจนในเรื่องการตั้งศูนย์กระจายสินค้าทางรางในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยศูนย์กระจายสินค้าทางรางเป็นจุดขายของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ซึ่งทำให้ค่าขนส่งทางรางต่ำกว่าปกติ ๔ เท่า อีกทั้งยังเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาดูแลให้ได้รับสิทธิพิเศษเที่ยบเท่าเศรษฐกิจพิเศษนั้น

         “การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอเรียนชี้แจงดังนี้ การรถไฟฯ มีแผนที่จะดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ ๒ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ซึ่งรวมงานก่อสร้างคอนเทนเนอร์ยาร์ดที่สถานีรถไฟหนองตะไก้ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พื้นที่ ๑๘ ไร่ บริเวณ กม.๕๕๐ ไว้ด้วย โดยคอนเทนเนอร์ยาร์ดดังกล่าวอยู่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเพียง ๒ กม. การวางรางรถไฟเข้าไปพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เพื่อตั้งศูนย์กระจายสินค้าทางราง จึงทับซ้อนกับคอนเทนเนอร์ยาร์ดที่สถานีรถไฟหนองตะไก้โดยตรง หากรัฐบาลจะดำเนินโครงการทั้งสองแห่ง ก็จะเป็นการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบและชัดเจน จึงต้องมีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) ก่อน ทั้งในด้านปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าความเชื่อมโยงกับโครงข่ายถนนสายหลัก ดานวิศวกรรม ด้านการบริหารการเดินรถ และความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้ที่ผ่านมาหากเอกชนจะขอวางรางเข้าไปในพื้นที่ของเอกชน เอกชนจะเป็นผู้จ่ายค่าก่อนสร้างเอง แต่สำหรับกรณีนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีนั้น หากผลการศึกษาออกมาว่า การวางรางเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีมีความเหมาะสมกว่าการสร้างคอนเทนเนอร์ยาร์ดที่สถานีรถไฟหนองตะไก้ และขอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลมาดำเนินการวางรางรถไฟเข้าไปในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีแทน ในส่วนของการขออนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้างถนนในเขตทางรถไฟนั้น การรถไฟฯ ต้องพิจารณาผลกระทบจากการใช้พื้นที่ก่อนสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง หากมีพื้นที่เพียงพอ การรถไฟฯ ก็ยินดีอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างถนนขนานรางรถไฟ ทั้งนี้การอนุญาตดังกล่าวต้องปฏิบัติตามระบียบของการรถไฟฯ”
         ทางด้านนายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล (เสี่ยต้อยติ่ง) ประธานบริหาร บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด บริษัทเอกชนที่เข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าตนจะสั่งผู้รับเหมางานให้หยุดดำเนินการภายในโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีท่าทีไม่ชัดเจน กรณีการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมศูนย์กระจายสินค้าทางราง จากสถานีรถไฟหนองตะไก้ ถึงทางเข้านิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ระยะทาง ๑.๘ กิโลเมตร วงเงิน ๔๓ ล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ได้คุยกับการรถไฟหลายครั้ง

         “ที่ผ่านมาการรถไฟจะเป็นผู้ดำเนินการให้ และขอใช้พื้นที่สร้างถนนคู่ขนานราง ๑ กิโลเมตร เบื้องต้นเหมือนจะไปด้วยดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับไม่ชัดเจน ทั้งที่รัฐมนตรีหลายคนที่มาติดตาม ก็เห็นดีเห็นชอบโครงการนี้ เมื่อติดตามเรื่องระยะหลังก็ไม่ได้ ขณะที่หลายหน่วยงานตอบรับกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กำลังสร้างสถานีย่อยในนิคมฯ ๑๐๐ เมกะวัตต์, การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เตรียมวางท่อเมนประปามาเชื่อมกับพื้นที่นิคมฯ, กรมทางหลวงชนบทจะสร้างถนนเชื่อมถนนมิตรภาพกับถนนนิตโย และสร้างถนนคู่ขนานทางรถไฟ ซึ่งกรมทางหลวงออกแบบทางแยกถนนมิตรภาพ เข้ามายังนิคมฯ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย ยังไม่มีคำตอบ ทั้งรองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่มีข้อมูลรายละเอียด ทั้งย้ำว่า ที่ดินของการรถไฟฯ ต้องเวนคืนด้วย” นายสุวิทย์ กล่าว
นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล กล่าวอีกว่า ศูนย์กระจายสินค้าทางราง เป็นจุดขายของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ซึ่งหากมีศูนย์กระจายสินค้า จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าขนส่งให้กับผู้ลงทุนมีต้นทุนขนส่งต่ำลง หากเกิดขึ้นได้จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกที่มีศูนย์กระจายสินค้าทางราง และเป็นจุดขายที่จะนำไปใช้เชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี

         “ต้องขอโทษชาวอุดรธานี ที่ไม่เดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรม และขอบคุณหน่วยงานราชการหลายหน่วย และภาคเอกชน จ.อุดรธานี ที่สนับสนุนมาโดยตลอด เมื่อจำเป็นตัดสินใจต้องหยุดโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี หลังจากรับฟังการชี้แจงของ กมธ.คมนาคม สุดจะทน เพราะเราได้ทำกันสุดความสามารถแล้ว” นายสุวิทย์ กล่าวในที่สุด

         ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๓๐ น. มีรายงานข่าวว่า นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งคณะผู้บริหารหอการค้าจังหวัดอุดรธานี นำโดย นายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เข้าพบนายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานกรรมการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด เพื่อให้กำลังใจในการทำงานโครงการจัดสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รับทราบความก้าวหน้าแผนพัฒนาโครงการฯ และการหาแนวทางช่วยเหลือ ผลักดันโครงการฯ ให้เกิดผลสำเร็จต่อไป

         อนึ่ง บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ในเขตตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บนพื้นที่ประมาณ ๒,๑๗๑ ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการขยายตัวของเศรษฐกิจภายหลังการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะเดียวกันจังหวัดอุดรธานีเป็นเมืองท่าที่สำคัญของภาคอีสานตอนบนที่ใช้กระจายสินค้าสู่หลายจังหวัดในประเทศไทย รวมถึงฝั่งสปป. ลาว สู่จีน และเวียดนาม ทำเลที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งใน BOI โซน ๓ อยู่ใกล้เส้นทางการขนส่งทั้งระบบราง ซึ่งมีทางรถไฟสายภาคตะวันออกฉียงเหนือผ่านติดกับพื้นที่ ทางถนนห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ เพียง ๒ กม. และห่างจากสนามบินนานาชาติอุดรธานี ๑๔ กม.

         สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะมาลงทุน เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตหรือประกอบรถยนต์และผลิตอุปกรณ์หรือส่วนประกอบภายในรถยนต์ ตลอดจนอุตสาหกรรมต่อเนื่องการประกอบยานยนต์ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุกขนาดเล็ก การผลิตตัวถังและโครงตัวถัง ผลิตส่วนประกอบภายในและเครื่องตกแต่ง การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและแสงสว่าง การผลิตเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง การผลิตอุปกรณ์และระบบของยานยนต์ เช่น ระบบขับเคลื่อนและล้อ ระบบพวงมาลัย ระบบห้ามล้อ เป็นต้น การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์อื่นๆ ตลอดจนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สำหรับตัวอย่างของอุตสาหกรรมประเภทนี้ เช่น อุตสาหกรรม   ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ

 


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๕๘ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ - วันจันทร์ที่ ๒๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


718 1353