25thApril

25thApril

25thApril

 

September 22,2017

‘รพ.มหาราช’ครบ ๑๐๘ ปี ย้ำที่พึ่งสุดท้ายชาวอีสานใต้

                โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ครบ ๙ รอบ ๑๐๘ ปี และ ๒๐ ปีศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด จัดประชุมวิชาการภายใต้หัวข้อ “มหาราชนครราชสีมา ที่พึ่งสุดท้ายของชาวอีสานใต้” เชิญ “นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล” ร่วมปาฐกถา ทางด้านศูนย์โรคหัวใจย้ำรักษาช้าแม้แต่วินาทีเดียวไม่ได้

                เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องประชุมสวนหม่อน อาคารผู้ป่วยนอกและอำนวยการ ชั้น ๗ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้จัดประชุมวิชาการเนื่องในโอกาสครบ ๙ รอบ ๑๐๘ ปี แห่งการสถาปนาโรงพยาบาล ภายใต้หัวข้อเรื่อง “มหาราชนครราชสีมา ที่พึ่งสุดท้ายของชาวอีสานใต้” และในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีนายแพทย์สมชัย อัศวสุดสาครผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร

                โดยมีการเผยแพร่ความรู้ ผลงาน ชื่อเสียง ความสามารถในการให้บริการ ด้านวิชาการ งานวิจัยและการเรียนการสอน รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กระตุ้นให้คนในองค์กรมีความตื่นตัว และเกิดความภาคภูมิใจในการทำงาน ส่งผลต่อความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน มีกิจกรรมที่มีเป้าหมายเดียวกันเพื่อเป็นที่พึ่งสุดท้ายของชาวอีสานใต้ ตอบสนองความรับผิดชอบต่อสังคมของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในการประชุมมีเนื้อหาความรู้ในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมทั้งการนำเสนอโปสเตอร์ผลงานความก้าวหน้าด้านการตรวจวินิจฉัย ความก้าวหน้าด้านการรักษา และนวัตกรรม/สิ่งประดิษฐ์ สถานีสุขภาพฟินฟิน จำนวน ๓๖ เรื่อง มีผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการประกอบด้วยผู้บริหารสาธารณสุข แพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขในเขต ๙ จำนวน ๘๐๐ คน

 

รพ.ศูนย์ระดับตติยภูมิ แม่ข่ายเขต ๙

                นายแพทย์สมชัย อัศวสุดสาคร กล่าวว่า “โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นหน่วยงานที่มีชื่อเสียงเกียรติประวัติที่งดงามมายาวนาน ถือเป็นโรงพยาบาลต้นแบบ การรักษาพยาบาล ที่มีการพัฒนาความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่สำคัญ ที่เป็นกิจกรรม สัปดาห์คุณธรรม ครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ ๑๐๘ ของโรงพยาบาล และครบรอบ ๒๐ ปี ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ยังเป็นการแสดงถึงศักยภาพของ  โรงพยาบาล ในฐานะโรงพยาบาลศูนย์ ระดับตติยภูมิ และเป็นแม่ข่ายของเขต ๙ และที่พึ่งสุดท้ายของชาวอีสานใต้ เพื่อบริการประชาชน โดยมีความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านการรักษา ไม่ต้องส่งไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ หรือโรงเรียนแพทย์อื่นๆ อีกทั้งเป็นโอกาสที่ชาวสาธารณสุขที่จะได้มารวมกัน รับความรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การรักษาพยาบาล การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเครือข่าย ตลอดจนการมีโอกาสเผยแพร่ผลงานที่เป็นความคิดใหม่ๆ นับว่าเป็นประโยชน์ยิ่ง ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานและตนเอง”


 

นพ.วรรณรัตน์’ปาฐกถาพิเศษ

                จากนั้นมีการปาฐกถาพิเศษ ๒๐ ปี ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดย นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และมีบทบาทในวงการแพทย์ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งแสดงทัศนะเกี่ยวกับไทยแลนด์ ๔.๐ ว่า “วันนี้ผมรู้สึกดีใจที่ได้มาที่นี่อีกครั้ง ถือว่ามาเยี่ยมบ้าน ในฐานะศิษย์เก่า และเป็นศิษย์เก่าศูนย์โรคหัวใจด้วย ปัจจุบันไปที่ไหนก็พูดกันถึงเรื่องไทยแลนด์ ๔.๐ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ ยุค โดยยุคแรกนั้นเป็นยุคการทำไร่ทำนาของเกษตรกร เป็นไทยแลนด์ ๑.๐ ต่อมาเป็นการทอผ้า การค้า อัญมณีต่างๆ ในยุค ๒.๐ ต่อมาเรามีการผลิตรถยนต์ส่งออก การคมนาคม การปฏิรูปอุตสาหกรรมเกิดการขับเคลื่อนมาเรื่อยๆ มีการปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าด้วยเครื่องจักรกล ด้วยเครื่องไอน้ำ มาเป็นเครื่องจักรไฟฟ้า การใช้ถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตสินค้า จากนั้นก็มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเรื่อยมา ยุคที่สองยังใช้แรงงานคนผลิตสินค้าอยู่ แต่พอมายุคที่สามนี้เริ่มมีการผลิตหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนคน และพัฒนาเรื่อยมาถึงปัจจุบัน”

                “เกิดการสร้างโทรศัพท์ที่ใช้งานได้เหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อสตีฟ จอบส์ ขึ้นเวทีเปิดตัวไอโฟน ที่สร้างมาด้วยความยากลำบาก เพราะฉะนั้นฟังชั่นที่อยู่ในสมาร์ทโฟนเครื่องนี้ จึงเป็นอุปกรณ์สามอย่างรวมกัน คือเป็นคอมพิวเตอร์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ดีที่สุด ทันทีที่ได้ทำการเปิดตัวมันมีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น มีการผลิตอุปกรณ์ที่บรรจุความจำสูงขึ้นมาเพื่อรองรับการทำงานของสมาร์ทโฟน เฟซบุ๊กคือโซเชียลเน็ตเวิร์คที่แต่ก่อนทำแค่ในรั้วมหาวิทยาลัย ต่อมาก็ได้เปิดตัวออกสู่ชาวโลกมีผู้ใช้งานตอนนี้มากกว่าประชากรของประเทศจีน มาร์ค เป็นคนสร้างแอปพลิเคชั่นนี้ขึ้นมาและกลายเป็นเศรษฐีอันดับ ๓ ของโลก นอกจากเฟซบุ๊กก็ยังมีทวิตเตอร์ที่มีสมาชิกใช้งานมากเหมือนกัน กูเกิลก็พัฒนาตนเองเพื่อรองรับการใช้งานของสมาร์ทโฟน ลงทุนสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อรองรับสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ทั้งหลายมีการพัฒนาเพื่อรองรับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ขึ้น เหล่านี้มันมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วมาก และลึกซึ้ง ฉลาด สามารถตัดสินใจได้เหมือนมนุษย์ นี่คือความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์ และต่อไปก็จะมีการใช้งานเกี่ยวกับสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ” นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าว

 

ช้าไป ๑ นาที เขาเดินกลับบ้านไม่ได้

                นอกจากนี้ยังมีการบรรยาย ครบรอบ ๒๐ ปี ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา Story Cardiac Center 20 years and Highlight โดยนายแพทย์ดำริ เศรษฐจินดา หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมทรวงอกและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า “ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด เริ่มก่อตั้งเป็นทางการเมื่อปี ๒๕๔๐ และเริ่มทำการ Open Heart เป็นรายแรกด้วย ในช่วงปีแรกเราได้ขอความร่วมมือกับโรงพยาบาลแพทย์ในหลายๆ ที่มาสนับสนุน ขณะนั้นมีแพทย์แค่สองคน ส่วนใหญ่จะเป็น case ง่ายๆ ต่อมาเริ่มมีการพัฒนาการให้บริการ การทำ TDC รายแรก ในปี ๒๕๔๓ และปี ๒๕๔๕ ก็เริ่มมี case เข้ามา กระทั่งปี ๒๕๔๖ รัฐบาลเริ่มมีโครงการเน้นพัฒนาในเรื่องของโรคหัวใจ เป็นโครงการที่รัฐบาลเริ่มเข้ามาสนับสนุน มีศัลยแพทย์เข้ามาเรื่อยๆ และออกไปเรื่อยๆ เช่นกัน กระทั่งในปัจจุบันเหลือศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาล ๓ คน สำหรับข้อมูลการให้บริการคนไข้ย้อนหลังประมาณ ๕ ปี รวมๆ แล้วในแต่ละปีก็มีคนไข้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผ่าตัดหัวใจไปปีละประมาณ ๗๐๐ กว่าราย แต่ขณะนี้เริ่มน้อยลงอยู่ที่ปีละประมาณ ๔๐๐ กว่าราย จากนั้นเราได้มีการพัฒนาการผ่าตัดหัวใจเพิ่มมาเรื่อยๆ เราเริ่มทำ Open Heart ในเด็กเล็กเมื่อปี ๒๕๔๙ ตรงส่วนนี้ทำให้คนไข้เข้าไปรักษาในกรุงเทพฯ ลดลง ล่าสุดพัฒนาการ Open Heart ในเด็กเล็กๆ ได้ เด็กที่น้ำหนัก ๓–๔ กิโลกรัม เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ของเรา ถือได้ว่าเราดูแล ๙๙.๙๙% แล้ว เรียกได้ว่าเป็นที่พึ่งสุดท้ายของชาวอีสานใต้จริงๆ”

                ทางด้านนายแพทย์บัญชา สุขอนันต์ชัย หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า “ในเรื่องของการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและมาทำการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในปีนี้มีผู้ป่วยเข้าทำการรักษาโรคหัวใจ ๑,๓๒๖ ราย การทำบอลลูนเว้า ๕๖ ราย ในการช่วยรักษาให้คนไข้สามารถกลับใช้ชีวิตปกติและสามารถเดินกลับบ้านได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการรักษา และเราสามารถใช้กล้องส่องเข้าไปดูเส้นเลือดของหัวใจเพื่อดูว่าการรักษาของเราได้ผลไหม เพื่อให้การรักษาได้ผลดีที่สุด ต่างๆ เหล่านี้คือ ๒๐ ปีของศูนย์โรคหัวใจที่เราได้พัฒนาไป และเราจะช้าไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว เพราะ ๑ นาที ของใครบางคน อาจจะเป็นชั่วชีวิตของคนคนนั้น ๑ นาทีถ้าเราช้าเกินไปอาจจะทำให้เขาทุพพลภาพ หรือไม่สามารถเดินกลับบ้านได้ อยากจะบอกว่าเรื่องอื่นเราอาจจะไม่เก่ง แต่เรื่องหัวใจขอให้เราดูแลคุณเถอะ”

 

จะรองรับผู้ป่วยให้ได้ทั้งหมด

                นายแพทย์สมชัย อัศวสุดสาคร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า โรงพยาบาลฯ พยายามจะรองรับผู้ป่วยให้ได้ทั้งหมด เมื่อคนไข้มาที่นี่แล้วไม่จำเป็นต้องไปดูแลรักษาที่อื่น เหตุผลที่เราทำแบบนี้เพราะต้องการดูแลประชากรในเขตการดูแลของเรา ถ้าผู้ป่วยต้องไปรับการรักษาที่อื่นก็จะเกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพิ่มภาระให้กับญาติผู้ป่วยที่ต้องตามไปดูแล ที่สำคัญที่สุดคือ เรามีบุคลากรไม่ว่าจะเป็นแพทย์ที่มีครบทุกสาขา แต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญในการดูแลเทียบเท่าโรงเรียนแพทย์ได้เลย ผมคิดว่าตรงนี้เป็นจุดมุ่งหมายในโรงพยาบาลมหาราชของเราที่จะดูแลผู้ป่วยที่มาใช้บริการกับทางโรงพยาบาล ผู้ป่วยนอกที่มาใช้บริการกับทางโรงพยาบาลปีหนึ่งเกือบหนึ่งล้านราย ถ้าเป็นผู้ป่วยในก็ประมาณ ๑๐๕,๐๐๐ ราย ในแต่ละปี ถ้ามองย้อนกลับไป ๒-๓ ปี ก็จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ถ้าคิดเฉลี่ยต่อวันผู้ป่วยนอกก็ประมาณ ๓,๕๐๐-๔,๐๐๐ คน ถ้าเป็นผู้ป่วยใน วันหนึ่งจะมีผู้ป่วยที่นอนประมาณ ๑,๖๐๐-๑,๗๐๐ คน สูงสุดเคยนอนรักษาตัวถึง ๑,๘๐๐ คน ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลฯ มีเตียงที่ลงทะเบียนไว้ ๑,๓๐๐ กว่าเตียง ถ้าคิดเป็นร้อยละ มี ๑๐๐ เตียง แต่นอนไป ๑๒๐ เตียง เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นส่วนที่มีความแออัดมาก

                “ด้วยปัญหาตรงนี้ โรงพยาบาลจึงได้ของบประมาณไปในปีหน้า ซึ่งจะได้งบผู้ป่วยใน ๑ หลัง ในนี้จะมีหอผู้ป่วยสามัญ หอผู้ป่วยไอซียู และหอผู้ป่วยพิเศษรวมกันประมาณ ๕๙๖ เตียง ซึ่งจะดำเนินการงบประมาณในปี ๒๕๖๑ ใช้เวลาประมาณ ๓ ปีกว่า ถ้าเราได้ตรงนี้มาคิดว่าจะช่วยลดความแออัด และเราก็จะได้เพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ใช้งบประมาณ ๕๐๐ กว่าล้านบาท มีทั้งหมด ๘ ชั้น จะสร้างหลังตึกผู้ป่วยนอก ส่วนเรื่องการผ่าตัดวันเดียวก็เป็นโครงการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในเบื้องต้นจริงๆ การผ่าตัดวันเดียวนี้ ทางโรงพยาบาลมหาราชมีการดำเนินการมาแล้วส่วนหนึ่ง ปัญหาคือ เมื่อก่อนเรื่องของระบบที่ยังไม่ลงตัว ทำให้มีการผ่าตัดวันเดียวโดยเฉพาะโรคง่ายๆ เช่น โรคไส้เลื่อน โรคเลือดออกในช่องคลอด เรื่องของการส่องกล้องในกระเพาะอาหารพวกนี้ ซึ่งในเบื้องต้นจะมีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ การผ่าตัดวันเดียวสิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องเตรียมความพร้อมผู้ป่วยเพื่อจะให้ปลอดภัย จากที่ต้องนอนรอดูอาการในโรงพยาบาลตอนนี้ก็ไม่จำเป็นต้องนอน จุดสำคัญคือเราต้องมีการเตรียมผู้ป่วยให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรวจร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้โดยไม่มีโรคแทรกซ้อนตามมา เพื่อช่วยลดระยะการนอนโรงพยาบาลและทำให้เตียงว่างมากขึ้น และการนอนวันเดียวยังจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดภาระญาติที่ต้องมาเฝ้า ถ้าเราทำตรงนี้ได้ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งผู้ป่วยกับญาติ และโรงพยาบาลที่สามารถบริหารจัดการเรื่องของเตียงและอื่นๆ ได้ดีขึ้น สำหรับคนไข้ที่จะเข้าโครงการนี้ได้ เราต้องมีการเลือกคนที่ไม่มี ความเสี่ยง คนที่มีโรคประจำตัวก็ยังต้องนอนโรงพยาบาล คนไข้ต้องมีการนัดหมายและตรวจดูอาการก่อนรับการรักษา และนัดเข้ารับการรักษาอีกทีอาจจะเป็นช่วงเช้ารักษา บ่ายกลับบ้านได้เลย” ผู้อำนวยการฯ กล่าวในท้ายสุด

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๕๘ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ - วันจันทร์ที่ ๒๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


692 1346