23rdApril

23rdApril

23rdApril

 

September 22,2017

ซินโครตรอน’ร่วมเอกชนต่อยอดวิจัย สร้างนวัตกรรมแข่งขันสู่สากล

                สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จับมือ ๔ บริษัท ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับภาคอุตสาหกรรม ยกระดับงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง พัฒนาผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงกระบวนการผลิต สร้างนวัตกรรม รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมในประเทศ และพร้อมก้าวสู่การแข่งขันระดับสากล

                เมื่อเวลา ๑๔.๐๐ น. วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๐ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Thai Tech EXPO 2017” ภายใต้แนวคิด : “เทคโนโลยีไทย...ก้าวไกลสู่ไทยแลนด์ ๔.๐” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระดมผลงานฝีมือคนไทยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กว่า ๗๐๐ ผลงาน โดยมีนายปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้บริหารชั้นสูง หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ Hall ๑๐๕ ไบเทค บางนา

                ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน นับว่าเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะในการวิเคราะห์ วิจัย การปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ภาคอุตสาหกรรม รองรับยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ New Engines of Growth เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้านวัตกรรม และเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยอุตสาหกรรมการผลิต ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม โดยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ ที่ถือได้ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการประยุกต์ใช้ในหลากหลาย ทั้งทางเกษตร สิ่งแวดล้อม การแพทย์ วัสดุศาสตร์ และอุตสาหกรรม

                “ในครั้งนี้ มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง สถาบันฯ กับภาคเอกชนถึง ๔ บริษัท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการนำแสงซินโครตรอนมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ส่งเสริมยกระดับอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้สามารถรองรับการแข่งขันได้ในระดับสากล สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศ สู่ยุคไทยแลนด์ ๔.๐”

                ทางด้าน ศ.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า “สถาบันฯ ดำเนินงานภายใต้พันธกิจการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน รวมถึงการให้บริการแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยหลากหลายด้าน การลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับภาคอุตสาหกรรมในวันนี้เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่มีความท้าทาย เพราะเป็นการลงนามร่วมกันถึง ๔ บริษัท อันได้แก่ บริษัท เนเชอรัลเบฟ จำกัด, บริษัท อินเตอร์ อโกร เทค, บริษัท วัซซาดุ ทรานส์มีเดีย จำกัด และหจก.อุดร เนเจอรอล แอนด์ ฟลอสส์ โปรดักส์ ในเบื้องต้นบริษัทได้นำโจทย์วิจัยมาปรึกษากับทางสถาบันฯ เช่น บริษัท อินเตอร์ อโกร เทค ที่ประกอบธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีรายใหญ่ บริษัทให้ความสนใจใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนศึกษาองค์ประกอบทางเคมีที่มีอยู่ในมูลค้างคาว เช่น ไคโตซาน และฮอร์โมนที่จะเร่งการเจริญเติบโตของพืช นอกจากนั้น ยังได้ศึกษาอัตราการซึมผ่านรวมถึงความสามารถในการควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารของปุ๋ยอินทรีย์เคมีจากมูลค้างคาวเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมี ด้วยการถ่ายภาพสามมิติของการซึมผ่านของน้ำเข้าไปในเม็ดปุ๋ยเทคนิค X-ray Imaging and X-ray Tomographic Microscopy เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการผลิตปุ๋ยจากมูลค้างคาวให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นต่อไป 

ศ.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร
ศ.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร

                “และอีกหนึ่งบริษัท คือ บริษัท เนเชอรัลเบฟ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย น้ำผัก ผลไม้ พร้อมดื่ม รวมถึงน้ำผักและผลไม้สกัดเข้มข้น ผลไม้อบแห้ง ต้องการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้จากลำไย โดยงานวิจัยเบื้องต้นของสถาบันฯ พบว่า สารสกัดจากลำไยของบริษัทมีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูง สามารถนำมาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเพิ่มมูลค่าลำไยและยังจะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไยเพิ่มขึ้นอีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดร เนเจอรอล แอนด์ ฟลอสส์ โปรดักส์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจ SME ท้องถิ่น ได้นำตัวอย่างไหมขัดฟันเข้ามาศึกษาองค์ประกอบทางเคมีระหว่างไหมขัด ที่ผลิตจากไหมธรรมชาติและไนลอน เพื่อที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันจากเส้นไหมธรรมชาติ ซึ่งจากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า ไหมขัดฟันจากไหมธรรมชาติมีความแข็งแรงต่อแรงดึงมากกว่าไหมจากไนลอน นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดการควบคุมคุณภาพขี้ผึ้งในการเคลือบไหมขัดฟันให้มีความหนาที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ รวมไปถึงกระบวนการเพิ่มกลิ่น–รส ของไหมขัดฟันต่อไป”

                “นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือที่เกิดขึ้นอีกหนึ่งบริษัทคือ วัซซาดุ ทรานส์มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีเครือข่ายกลุ่มวิจัยจากภาคเอกชนหลากหลายภาคส่วน โดยในอนาคตวัซซาดุ ทรานส์มีเดียและสถาบันฯ จะร่วมกันสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดหวังขยายฐานกลุ่มลูกค้าเอกชนที่เข้ามาใช้บริการแสงซินโครตรอน อีกทั้งจะมีการนำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมาช่วยในวิจัยเชิงลึกทางวัสดุศาสตร์เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสามารถนำไปใช้กับภาคเอกชนได้จริง จะเห็นได้ว่า บริษัทเหล่านี้ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในงานด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม ผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ยกระดับความสามารถในการวิจัยโดยการใช้ประโยชน์จากแสง  ซินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศ ให้สามารถเข้าสู่ภาคเอกชนชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่ความเติบโตที่ยั่งยืน มั่นคง และเข้มแข็งในระยะยาวต่อไป” ศ.ดร.สราวุฒิ กล่าว

                ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวย้ำในท้ายสุดว่า “สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากสถาบันวิจัยฯ จะเข้าไปมีบทบาทในเรื่องของการปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยังรวมถึงการให้คำปรึกษาโจทย์วิจัยต่างๆ จากนักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นการบูรณาการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพงานวิจัยของทั้งสี่บริษัทฯ ให้ก้าวไปสู่การสร้างนวัตกรรมด้านอาหาร เกษตร และวัสดุศาสตร์ที่พร้อมแข่งขันในระดับสากลอย่างยั่งยืน”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๕๘ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ - วันจันทร์ที่ ๒๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


692 1343