26thApril

26thApril

26thApril

 

September 22,2017

เครือข่ายเกษตรอินดี้อีสาน จี้ถอนทะเบียนสารอันตราย

                เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงรวมพลังยื่นแถลงการณ์ ถึงกระทรวงเกษตรฯ และรัฐบาล เรียกร้องให้เพิกถอนทะเบียนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยประชาชน ชีวิตเกษตรกร และสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย

                เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๐ ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ เครือข่ายเกษตรอินดี้จังหวัดบุรีรัมย์ นำโดยนายตรัย อานประโคน ประธานเครือข่ายฯ และตัวแทนกลุ่มเกษตรกรกว่า ๓๐ คน รวมตัวกันเข้ายื่นแถลงการณ์ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้สารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ทั้งให้เพิกถอนทะเบียนและไม่ต่ออายุทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ๒ ชนิด คือ “พาราควอต” สารเคมีกำจัดวัชพืช ซึ่ง ๔๘ ประเทศยกเลิกการใช้แล้ว เพราะพิษเฉียบพลันสูง ทั้งเป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสัน และ “คลอร์ไพริฟอส” ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดแมลงที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กทารกอย่างถาวร และหลายประเทศทั่วโลก ห้ามการใช้ในพืชผักและอาหาร รวมทั้งเรียกร้องให้จำกัดการใช้ไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช ที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสารก่อมะเร็ง สอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ในประเทศไทย โดยห้ามใช้ในเขตชุมชน พื้นที่ต้นน้ำ แหล่งน้ำ ซึ่งการรวมพลังยื่นหนังสือในครั้งนี้ เพื่อเป็นการปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนผู้บริโภค ชีวิตเกษตรกรที่ต้องสัมผัสกับการทำการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งเพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยโดยการไม่ใช้สารเคมี

                นายตรัย อานประโคน ประธานเครือข่ายเกษตรอินดี้ จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า “เหตุที่ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรได้รวมตัวเข้ายื่นแถลงการณ์ผ่านจังหวัดในครั้งนี้ เพื่อแสดงพลังสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง รวมถึงเรียกร้องให้เพิกถอนทะเบียนและไม่ต่ออายุทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนผู้บริโภค และเกษตรกรที่ต้องสัมผัสกับสารพิษดังกล่าวโดยตรง จึงอยากให้มีการพิจารณายกเลิกการนำเข้าสารเคมีที่มีอันตรายดังกล่าวอย่างเด็ดขาด”

พลังหนุนแบนทั่วประเทศ

                ขณะเดียวกัน กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจ จังหวัดอุบลราชธานี และตัวแทนเครือข่ายเกษตรอินทรีจังหวัดอุบลราชธานี จำนวนกว่า ๓๐ คน นำโดยนายธวัชชัย นนทะสิงห์ ผู้จัดการตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจ พร้อมเกษตรกรผู้จำหน่ายสินค้าในตลาดนัดสีเขียว ได้นำหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเพิกถอนการจดทะเบียนและไม่ต่ออายุทะเบียนสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง ๒ ชนิด คือ สารพาราควอต สารคลอร์ไพริฟอสและควบคุมการใช้สารไกล โฟเซต เช่นเดียวกัน ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและหลายสิบประเทศทั่วโลกประกาศห้ามใช้ไปแล้ว สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง ๒ ชนิด คือ สารพาราควอต ใช้กำจัดวัชพืช ซึ่ง ๔๘ ประเทศทั่วโลกสั่งยกเลิกใช้แล้ว เพราะมีพิษเฉียบพลันสูง เป็นตัวก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน และสารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นสารที่มีผลต่อการเติบโตของสมองของเด็กอย่างถาวร โดยหลายประเทศทั่วโลกห้ามนำมาใช้กำจัดศัตรูพืชในพืชผักและอาหาร พร้อมเรียกร้องให้จำกัดการใช้สารไกลโฟเซต ซึ่งใช้กำจัดวัชพืช เพราะเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งองค์การอนามัยโลกและสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ศึกษาพบ จึงห้ามใช้สารชนิดนี้ ในพื้นที่ชุมชน พื้นที่ต้นน้ำ และตามแหล่งน้ำ เพื่อลดอันตรายให้กับประชาชน พร้อมทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเป็นการแก้ปัญหาด้านสุขภาพให้กับเกษตรกรผู้ปลูก รวมทั้งประชาชนที่รับประทานอาหารที่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูกด้วย

                โดยนายอภิชัย ชัยชมภู หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นตัวแทนจังหวัดลงมารับหนังสือและจะได้ส่งข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล เพื่อพิจารณาดำเนินการตามข้อเรียกร้องเครือข่ายเกษตรอินทรีจังหวัดอุบลราชธานีต่อไป

ยกเลิกสารพิษเฉียบพลัน

                อนึ่ง สารเคมีพาราควอต ชื่อการค้า กรัมม็อกโซน และอื่นๆ ข้อมูลพื้นฐานความเป็นพิษ เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง ปัจจุบันไม่มียาถอนพิษ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษนี้ทางผิวหนังมีอัตราการตายถึง ๑๐.๒ % และสูงถึง ๑๔.๕ % ในกรณีที่ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากอุบัติเหตุ สารพิษเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว ผ่านแผลเผาไหม้ที่เกิดจากพาราควอตเอง หรือแผลบนผิวหนังของผู้ฉีดพ่น งานวิจัยจากการสังเคราะห์ข้อมูลงานศึกษา ๑๐๔ ชิ้น อย่างเป็นระบบ (meta analysis) ของ Gianni Pezzoli และ Emanuele ยืนยันว่า พาราควอตมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน ซึ่งประชาชนที่มียีน GSTT1 เป็นชาวเอเชีย มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดดรคพาร์กินสันมากถึง ๑๑ เท่า

                ส่วน “คลอร์ไพรีฟอส” มีชื่อการค้าว่า ลอร์สแบน, คลอร์ไพรีฟอส ๔๐, คลอริดิน ๔๐, คอสมิค ๔๐, ไดแอน ๔๐ และอื่นๆ ข้อมูลพื้นฐานความเป็นพิษ มีผลต่อความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองของเด็กที่แม่ได้รับคลอร์ไพรีฟอสระหว่างตั้งครรภ์ เด็กมีพัฒนาการช้า ความจำสั้น ควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวเองได้แย่ลง หรือการตอบสนองที่ใช้เวลานานขึ้น เด็กมีไอคิวต่ำ สมาธิสั้น รวมถึงพัฒนาการด้านจิตใจ และมีผลต่อเนื่องแม้เมื่อเด็กเติบโตจนเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่า สารนี้กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ H–29 ผ่านตัวรับ EGFR มีผลต่อพฤติกรรมซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย เป็นสาร EDCs มีรายงานว่า คลอร์ไพริฟอสส่งผลต่อการควบคุมเมตาบอลิซึมของไขมันและกลูโคสในหนู ส่งผลต่อระบบไทรอยด์ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น hypothyroidism และมีรายงานการออกฤทธิ์อื่นๆ อาทิ neuroendocrine และ estrogenic and androgenic effects

จำกัดการใช้ไกลโฟเซต

                ทั้งนี้ สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติภายใต้องค์การอนามัยโลก (The International Agency for Research on Cancer : IARC/WHO) เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๘ กำหนดให้ไกลโฟเซตเป็น “สารที่น่าจะก่อมะเร็ง” (probably carcinogenic to humans) ในมนุษย์ (Category 2A) เนื่องจากมีหลักฐานเพียงพอ (sufficient evidence) ว่า ก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง และหลักฐานที่หนักแน่น (strong evidence) ว่า ก่อให้เกิด ความผิดปกติของสารพันธุกรรม (ทำลายยีนและ/หรือโครโมโซม) และงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ตีพิมพ์ในวารสาร Food and Chemical Toxicology ในปี ๒๐๑๓ พบว่า ไกลโฟเซตสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม ชนิดพึ่งพาฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ในปริมาณที่ต่ำมากและเป็นช่วงที่พบได้ในสิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยคณะนี้พบว่า สารไกลโฟเซตระดับต่ำทำให้เซลล์มะเร็งที่ไวต่อเอสโตรเจนเพิ่มจำนวนขึ้น ๕-๑๓ เท่า (ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเซลล์มะเร็งเต้านมในมนุษย์จะไวต่อเอสโตรเจน) ผลงานวิจัยของ Dr.Channa Jayasumana นักวิชาการชาวศรีลังกาที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร BMC ซึ่งเป็นวารสารเกี่ยวกับภาวะโรคไต พบว่า ไกลโฟเซตสามารถจับตัวกับโลหะหนักได้ง่าย และเข้าไปสะสมในร่างกาย เมื่อเปรียบเทียบไตของผู้ป่วยกับคนปกติ พบว่า ผู้ป่วยมีเนื้อเยื่อไตน้อยกว่าคนปกติมาก เนื่องจากสารนี้เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อไต ยิ่งไปกว่านั้นในเขตภูมิอากาศร้อนชื้น สารไกลโฟเซตสามารถสะสมอยู่ในดินเป็นทศวรรษ ในแต่ละประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้น จึงจำเป็นต้องวิจัยหาระยะเวลาการสลายตัวของไกลโฟเซตเอง ไม่สามารถอ้างอิงจากงานวิจัยตะวันตกได้ งานวิจัยชิ้นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลศรีลังกาแบนไกลโฟเซตในที่สุด

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๕๘ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ - วันจันทร์ที่ ๒๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


699 1344