28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

October 02,2017

มทส.แบ่งปันนวัตกรรมเทคโนโลยี ผลิตคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่า หวังผู้ประกอบการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

 

            เมื่อเวลา ๑๔.๓๐ น. วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๐ ที่ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. พร้อม ผศ.ดร.ธีรวัฒน์ สินสิริ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. และนายอภัย ชาภิรมย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อินฟินนิตี้คอนกรีตเทคโนโลยี จำกัด ร่วมลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี ชุดเครื่องมือ ในกระบวนการผลิตคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่า ราคา ๔๕๐,๐๐๐ บาท และสัญญาแต่งตั้งตัวแทนผลิตและจำหน่ายเครื่องผสมคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่าแบบใบกวนแนวนอน และเครื่องกำเนิดฟองชนิดปั๊มแรงดันสำหรับคอนกรีตมวลเบาระบบเซลลูล่า และสูตรน้ำยาสารเพิ่มฟอง โดยมีนักวิชาการ คณาจารย์ และผู้เกี่ยวข้องกว่า ๓๐ คนร่วมเป็นสักขีพยาน

             รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. เปิดเผยว่า ถือเป็นการส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม การนำทรัพย์สินทางปัญญาทางด้าน ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ที่ต้องยกระดับงานวิจัยจากห้องเรียน สู่สังคมภายนอกอย่างจริงจัง

            ผศ.ดร.ธีรวัฒน์ ในฐานะนักวิจัยพัฒนาฯ เปิดเผยว่า ชุดเครื่องมือในกระบวนการผลิตคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่า หมายความถึง เครื่องผสมคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่าแบบใบกวนแนวนอน และเครื่องกำเนิดฟองชนิดปั๊มแรงดันสำหรับคอนกรีตมวลเบาระบบเซลลูล่า ได้ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ จำนวน ๒ ฉบับ ตามคำขอเลขที่ ๑๖๐๓๐๐๑๐๘๖ และ ๑๖๐๓๐๐๑๐๘๗ คุณสมบัติเด่นของคอนกรีตมวลเบาแบบเซลลูล่า คือผลิตด้วยการเติมฟองอากาศขนาดเล็กเข้าไปในกระบวนการผสมคอนกรีต เมื่อคอนกรีตแข็งตัวจึงมีฟองอากาศกระจายตัวอยู่ภายในก้อนคอนกรีต ทำให้คอนกรีตมีน้ำหนักเบาลอยน้ำได้ ทนความร้อนสูง ดูดซับเสียงได้ดี การทดแทนด้วยฟองอากาศในคอนกรีตทำให้สามารถลดปริมาณปูนซีเมนต์เนื่องจากการที่คอนกรีตมีน้ำหนักเบาช่วยประหยัดโครงสร้างฐานรากในการก่อสร้าง

            ด้านนายอภัย ชาภิรมย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทอินฟินนิตี้คอนกรีตเทคโนโลยีฯ กล่าวว่า บริษัทอินฟินนิตี้คอนกรีตเทคโนโลยี จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทในเครือของกลุ่มอินฟินนิตี้ กรุ๊ป ที่ดำเนินการธุรกิจมายาวนานกว่า ๑๕ ปี โดยรูปแบบธุรกิจส่วนใหญ่จะดำเนินเกี่ยวกับการธุรกิจก่อสร้างครบวงจร ได้เล็งเห็นคุณค่า องค์ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ ด้านคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่า ของ มทส. ดำเนินการวิจัยมากว่า ๑๐ ปี นำมาประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ ช่วยให้สามารถผลิตวัสดุพื้นฐานอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล สอดคล้องต่อความต้องการของผู้บริโภค การตลาด อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเศรษฐกิจชุมชน ลดการนำเข้าวัสดุคอนกรีตมวลเบาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนจะพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องร่วมกับมหาวิทยาลัยในโอกาสต่อไป มีเป้าหมายพัฒนา ชุดผลิตอิฐมวลเบา กำลังการผลิต ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐ ก้อน, ชุดผลิตหลังคามวลเบา และผลิตผนังสำเร็จรูปมวลเบา ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            “บริษัทฯ ได้สิทธิในเทคโนโลยี แบบไม่จำกัดสิทธิขาดแต่ผู้เดียว (Non-Exclusive) เป็นระยะเวลา  ๕ ปี และสัญญาแต่งตั้งตัวแทนผลิตและจำหน่ายเครื่องผสมคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่าแบบใบกวนแนวนอนและเครื่องกำเนิดฟองชนิดปั๊มแรงดันสำหรับคอนกรีตมวลเบาระบบเซลลูล่า และสูตรน้ำยาสารเพิ่มฟองแต่เพียงรายเดียว” นายอภัย กล่าว


 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๖๐ วันอาทิตย์ที่ ๑ - วันพฤหัสบดีที่ ๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


712 1365