23rdApril

23rdApril

23rdApril

 

October 17,2017

แนะมอบที่ดินริมตลิ่งให้เทศบาลฯ คอนโดพ้นข้อหารุกลำตะคอง

                กรณีมีผู้โพสต์ข้อความลงในโซเชียลมีเดีย กล่าวหาคอนโดฯ หรูถมดินรุกล้ำลำตะคอง ผู้ว่าฯ สั่งทรัพยากรธรรมชาติฯ นำทีมลุยตรวจสอบ ให้จัดการแนวเขตให้ชัดเจน พร้อมปลูกไผ่กันตลิ่งพัง ยืนยันไม่ได้รุกลำน้ำ ลงพื้นที่ติดตามอีกรอบจัดการเรียบร้อย แนะมอบที่ดินริมตลิ่งให้เทศบาลนครฯ เพื่อรับผิดชอบดูแล ขอความร่วมมือประชาชนพบเห็นคนทิ้งขยะ ปล่อยน้ำเสีย แจ้งชุดเคลื่อนที่เร็วลุยจัดการ

                ตามที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความพร้อมภาพระบุว่า “#พี่น้องคนโคราชเบื่อเทศบาลชุดนี้ยัง.../นี่สภาพการรุกล้ำลำน้ำ_ลำตะคอง จนทำให้น้ำในเขตเมืองท่วม_อ่วมขนาดนี้ พิกัด บริเวณโครงการซิตี้ลิงค์ คอนโด” จากนั้นในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายบุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และสำนักการช่าง ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณโครงการ City Link Condo โดยมีนายวีรพล จงเจริญใจ กรรมการบริหารโครงการ ร่วมชี้แจงถึงปัญหาการรุกล้ำลำน้ำ จากปัญหาดังกล่าวเกิดจากช่วงหน้าฝนที่ผ่านมากระแสน้ำได้เซาะดินริมตลิ่งทำให้หน้าดินพังลงไปในคลอง ซึ่งทางโครงการกำลังเร่งแก้ไขภายในสัปดาห์นี้ โดยการโกยดินที่อยู่ในทางน้ำขึ้นมาแล้วปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน

                จากนั้นเวลา ๑๑.๐๐ น.วันเดียวกัน นายรติ ลอยทวินันท์ ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายโสภิญญา เกิดสกุล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง นางวิมลมาน สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าที่ ๗ สาขานครราชสีมา และนายกิตติศักดิ์ ธีรวัฒนา หัวหน้ากลุ่มงานอำนวยการ สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีได้รับเรื่องร้องเรียนมีการบุกรุกลำตะคอง ช่วงเส้นทางน้ำไหลผ่านโครงการซิตี้ลิงค์คอนโด เขตเทศบาลนครนครราชสีมา โดยพบนายวีรพล จงเจริญใจ อดีตนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นครราชสีมา ในฐานะกรรมการบริหาร บริษัท คลังคาซ่า จำกัด เจ้าของโครงการซิตี้ลิงค์คอนโด พร้อมผู้รับจ้างและคนงานกำลังนำรถแบ็คโฮและเครื่องจักรกลหนัก เร่งตักดินลูกรังจำนวนหลายสิบคิวซึ่งไหลลงมาขวางลำตะคอง บริเวณริมถนนมานะศิลป์ ช่วงเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างถนนมิตรภาพ-โรงเรียนสุรนารีวิทยา ๒ ทำให้ร่องน้ำธรรมชาติ เดิมมีขนาดกว้างประมาณ ๑๕ เมตร เหลือไม่ถึง ๕ เมตร มีลักษณะเป็นคอขวด ส่งผลให้น้ำไหล ค่อนข้างช้า 

                นายโสภิญญา เกิดสกุล ผู้อำนวยการโครงการลำตะคอง เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่ พบเจ้าของโครงการได้ตอกเสาเข็มสร้างเป็นแนวป้องกันการพังทลายของริมตลิ่ง ถูกแรงน้ำไหลรวมทั้งน้ำฝนพัดดินทำให้ทรุดตัวไหลลงไปในลำตะคองโครงการฯ แจ้งจะเร่งตักดินขึ้นมาพร้อมปรับภูมิทัศน์ ปลูกกอไผ่และหญ้าแฝกป้องกันการทรุดตัวของริมตลิ่ง เพื่อให้ลำตะคองมีพื้นที่การระบายน้ำไหลผ่านสะดวกมากขึ้น ซึ่งตนจะติดตามการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง 

                “อย่างไรตาม จะใช้วิกฤติเป็นโอกาส ทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแส รวมทั้งจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังเส้นทางน้ำลำตะคองตอนล่าง ซึ่งมีลักษณะคดเคี้ยว เลียบเคียงไปกับแหล่งชุมชนสองริมตลิ่ง ทำให้มีความกว้าง ความลึกไม่เท่ากัน นอกจากนี้ การออกโฉนดที่ดินในแต่ละรายมีความแตกต่างกัน ส่งผลให้การประกาศเขตพื้นที่ลำตะคอง แหล่งน้ำอุปโภค บริโภคของชาวโคราช ไม่สามารถบ่งบอกชี้พิกัดได้ชัดเจน จึงเกิดปัญหาถูกลักลอบบุกรุกเป็นประจำ” นายโสภิญญา กล่าว

                นายวีรพล จงเจริญใจ กรรมการบริหาร บริษัท คลังคาซ่า จำกัด ชี้แจงสาเหตุดังกล่าวว่า เกิดจากดินริมตลิ่งที่ติดกับพื้นที่ข้างถนนสาธารณะ ได้ทรุดตัวลงไปในลำตะคอง ตนจะเร่งดำเนินการเปิดเส้นทางน้ำให้กลับสู่สภาพเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำให้ดีขึ้น โดยนำเสาเข็มมาปักตามแนวเขตที่กำหนด ป้องกันไม่ให้ดินทรุดตัวพังทลายอีก แต่ภาพที่ถูกสังคมโซเซียลสื่อออกไป ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน กล่าวหาโครงการฯ ว่าลักลอบถมดินขยายอาณาเขต ทั้งที่ข้อเท็จจริงนั้น ถนนเส้นนี้มีความยาวประมาณ ๑,๗๐๐ กิโลเมตร ขนาดกว้าง ๑๖ เมตร เดิมเป็นที่ดินเอกชน โครงการฯ ได้ซื้อที่ดิน เพื่อตัดถนนเส้นใหม่และมอบให้เทศบาลนครฯ รับดำเนินการใช้ประโยชน์สาธารณะ เป็นเส้นทางลัดไปยังถนนเลี่ยงเมืองและสถานศึกษาในละแวกใกล้เคียง

                ทางด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ได้มอบหมายหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเรื่องร้องเรียนบุกรุกลำตะคอง เพื่อให้สังคมเกิดความสบายใจ และมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐมิได้เพิกเฉย พร้อมดูแลรับผิดชอบแก้ไขปัญหา หากพบการรุกล้ำลำตะคอง ให้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างตรงไปตรงมา

                ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๑.๐๐ น. นายรติ ลอยทวินันท์ ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกลำตะคอง พร้อมด้วยนายโสภิญญา เกิดสกุล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง นางวิมลมาน สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าที่ ๗ สาขานครราชสีมา รวมทั้งผู้แทนสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา และเทศบาลนครนครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากรณีร้องเรียนโครงการซิตี้ลิงค์คอนโด บุกรุกเส้นทางน้ำธรรมชาติ ช่วงลำตะคองที่ไหลผ่านในเขตเทศบาลนครฯ

                นายรติ ลอยทวินันท์ เปิดเผยว่า นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งการให้ตนเป็นแม่งานเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงการบุกรุกลำตะคอง ทำให้ร่องน้ำธรรมชาติมีความกว้างไม่ถึง ๕ เมตร มีลักษณะเป็นคอขวด ส่งผลให้น้ำไหลไม่สะดวก เป็นสาเหตุให้น้ำในคลองน้ำธรรมชาติเอ่อล้นไหลท่วมบ้านเรือนราษฎรและเส้นทางคมนาคม ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ในเขตเทศบาลนครฯ โดยโครงการฯ ได้ตอกเสาเข็มสร้างเป็นแนวป้องกันการพังทลายของริมตลิ่ง แต่ดินริมตลิ่งถูกแรงน้ำ ซึ่งเป็นมวลน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง พัดดินให้สไลด์ลงไปในลำตะคอง จึงขนดินที่พังทลายขึ้นมาจากลำตะคอง พร้อมปลูกต้นไผ่และหญ้าแฝกเป็นคันกั้นป้องกันไม่ให้ดินพังทลาย

                ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ “โคราชคนอีสาน” สอบถามรายละเอียดและความคืบหน้าในกรณีดังกล่าวจากนายรติ ลอยทวินันท์ ซึ่งเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๐ เป็นการไปตรวจสอบวันแรก เนื่องจากคณะทำงานฯ ยังไม่ทราบแนวเขตที่ชัดเจน จึงให้โครงการฯ ประสานกับที่ดินจังหวัดฯ เพื่อให้ทราบแนวเขตที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้มีการรุกล้ำแนวเขต โดยผมได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบแค่กรณีนี้ ซึ่งในวันที่ลงไปตรวจครั้งแรก (๒๕ กันยายน ๒๕๖๐) เนื่องจากในวันดังกล่าวมีประชุมเรื่องกรณีบุกรุกลำตะคองช่วงวังเณร (อำเภอสูงเนิน) เมื่อประชุมเสร็จผู้ว่าฯ จึงมอบหมายให้ทรัพยากรธรรมชาติฯ เจ้าท่าฯ ชลประทาน ศูนย์ดำรงธรรมฯ สำนักงานจังหวัดฯ ไปดูเรื่องนี้

                “แนวเขตของโครงการฯ ไม่ได้มีการรุกล้ำลำตะคองแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่ดินไหลลงไป ซึ่งเกิดจากน้ำลำตะคองไหลแรงๆ และกัดเซาะตลิ่ง ซึ่งขณะนี้โกยขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว ให้มีการปลูกต้นไผ่หรือต้นแฝกเพื่อยึดดินไม่ให้ไหล ซึ่งเขาก็ดำเนินการเรียบร้อย นอกจากนี้ยังได้แนะนำกับทางโครงการฯ ว่า บริเวณนี้มีพื้นที่ประมาณ ๔-๕ ตารางเมตร ควรจะมอบให้เทศบาลนครฯ ไปดูแล เหมือนกับพื้นที่ในบริเวณที่ทางโครงการฯ เคยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ไปปลูกต้นโพธิ์ ซึ่งมอบให้เทศบาลนครฯ ไปแล้ว โดยพื้นที่ริมตลิ่ง ๔-๕ ตารางเมตรนี้ก็น่าจะมอบให้เทศบาลนครฯ เช่นกัน เพราะหากมีปัญหาขึ้นมา เทศบาล นครฯ จะได้เข้ามารับผิดชอบดูแลและแก้ปัญหา ซึ่งทางโครงการฯ ก็รับข้อเสนอไป และปรับแก้ไขเรียบร้อยแล้ว”นายรติ กล่าว

                นายรติ ลอยทวินันท์ เปิดเผยอีกว่า ส่วนลำตะคองช่วงที่ไหลผ่านเขตเทศบาลนครฯ จะมีหลายหน่วยงานร่วมกันดูแล ไม่ใช่แค่เรื่องขยะเท่านั้น แต่หมายถึงเรื่องน้ำเสียด้วย บางครั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ ไม่เพียงพอ จึงต้องทำงานแบบบูรณาการหลายหน่วยงาน รวมทั้งประชาชนที่อยู่ริมลำตะคองหากพบว่ามีสิ่งไม่ชอบมาพากลก็ให้แจ้งมายังเจ้าหน้าที่พร้อมที่จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบ เพราะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการลงพื้นที่ไปทำงาน ซึ่งปัจจุบัน กอ.รมน.จังหวัดฯ มีการตั้งทีมขึ้นมาเป็นการเฉพาะกิจโดยคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ดูแลเรื่องน้ำเสียทั้งจังหวัด หากมีเรื่องขึ้นมา ทางศูนย์ดำรงธรรมฯ จะแจ้งไปที่กอ.รมน.จังหวัดฯ ซึ่งจะเรียกทีมงานที่ประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ สิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๑ ชลประทาน อุตสาหกรรม ศูนย์ดำรงธรรมฯ อำเภอ และท้องถิ่น ไปช่วยกันดูแลในลักษณะบูรณาการ มีคำสั่งจากผู้ว่าฯ อย่างชัดเจน

                นอกจากนี้ นายรติ ลอยทวินันท์ ยังฝากไปถึงประชาชนว่า “หากพบปัญหาการรุกล้ำลำตะคอง ปล่อยน้ำเสีย หรือทิ้งขยะลงลำน้ำ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพรวมของจังหวัดฯ ก็ขอให้แจ้งที่ศูนย์ดำรงธรรมฯ และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งจะรีบลงพื้นที่ไปตรวจสอบและดำเนินการ ดีกว่าปล่อยให้น้ำเน่าเสียแล้วจึงค่อยมาแก้ไขในภายหลัง จะเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่”

 

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๖๓ วันจันทร์ที่ ๑๖ - วันศุกร์ที่ ๒๐ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


701 1343