4thMay

4thMay

4thMay

 

November 06,2017

รถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่น รอแค่อนุมัติให้ใช้ที่ดิน หากไมติดขัดเริ่มได้ปี ๖๑

         เมื่อไม่นานมานี้ นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่จังหวัดขอนแก่นถึงประเด็นการติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรางเบา LRT ของบริษัท ๕ เทศบาล (บริษัท KKTS จำกัด) ซึ่งมี ๔ แนวทาง ดังนี้

         แนวทางแรก เริ่มต้นจากผลการศึกษาซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่เสนอเข้าบอร์ดของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในการพิจารณาขอความเห็นชอบ เมื่อผ่านความเห็นชอบจาก สนข.แล้วนั้น จะเข้าสู่การนำเสนอในคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขออนุมัติให้บริษัท๕ เทศบาล คือ บริษัท KKTS เป็นผู้ดำเนินการ ในขณะเดียวกันระหว่างรอผลการศึกษาและการขออนุมัติดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกัน

         แนวทางที่สอง คือ หัวใจสำคัญของโครงการ คือ รายได้เชิงพาณิชย์ที่มาสนับสนุนโครงการฯ เรียกว่า “TOD” คือ การพัฒนาพื้นที่ที่อยู่รอบบริเวณสถานีขนส่ง พื้นที่ใหญ่ใจกลางเมืองที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนานั่นก็คือ สถานีวิจัยข้าวที่อยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลขอนแก่นรามซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๒๐๐ กว่าไร่ เนื่องจากรายได้จากค่าโดยสารนั้นมีเพียง ๖๐% หมายความว่า จะขาดรายได้อยู่ ๔๐% จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ดังนั้นหัวใจสำคัญของโครงการนี้จะต้องได้ที่ดินแปลงนี้มา ในปัจจุบันเทศบาลนครขอนแก่นจะต้องดำเนินการอีก ๒ ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ ๑ ขอใช้ที่ดินจากศูนย์วิจัยข้าว โดยเทศบาลนครขอนแก่นจะดำเนินการขอคำปรึกษาจากรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และนำเรียนรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ หากเห็นชอบในกระบวนการแลกเปลี่ยนที่ดินก็จะสามารถขับเคลื่อนโครงการได้ ซึ่งทางบริษัท KKTS จะต้องทำเรื่องเช่าที่จากกรมธนารักษ์เพื่อขอพัฒนาโครงการดังกล่าวฯ

         แนวทางที่สาม เทศบาลนครขอนแก่นอยู่ระหว่างประกาศประกวดราคาเพื่อหาผู้รับจ้างทำโครงการ ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสนอรูแบบแผนการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบของการเงิน การก่อสร้าง เป็นต้น มีผู้ยื่นซื้อซองจำนวน ๒๐ ราย ขณะนี้คณะกรรมการกำลังพิจารณาในรายละเอียด ระหว่างดำเนินการนี้จะต้องรอผลการพิจารณาเรื่อง การขอใช้ที่ดินศูนย์วิจัยข้าวควบคู่กันไปด้วย ฉะนั้นแนวทางที่สอง และแนวทางที่สามจะต้องรอผลไปพร้อมๆ กันและทำคู่ขนานกันไปด้วย และแนวทางที่สี่ คณะทำงานที่ทางจังหวัดแต่งนั้น โดยนายสมศักดิ์ จังตระกุล เข้ามาดำเนินการต่อจะเข้าสู่การประชุม ครม. หากมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอไปยังกระทรวงจะนำเข้าสู่การประชุมของกรมการจังหวัด จะเห็นว่าความคืบหน้ายังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะนี้รอเพียงการพิจารณาในการอนุมัติ การขอใช้ที่ดินศูนย์วิจัยข้าวเท่านั้น หากให้ประมาณการในการดำเนินการของโครงการฯจะสามารถดำเนินการในช่วงต้นปี ๒๕๖๑ (ช่วงไตรมาสที่ ๑ ตอนปลาย) กรณี หากไม่มีสิ่งใดติดขัด นับว่าเป็นเรื่องดีที่ในขณะนี้ผู้ใหญ่ทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี และหลายท่านให้การสนับสนุน ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นจะต้องเข้าพบหลายหน่วยงาน เช่น รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เนื่องจากการดำเนินการโครงการนี้ไม่ได้ดำเนินการภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคมซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นเป็นผู้ดำเนินการเอง จึงต้องขอคำปรึกษาจากกระทรวงมหาดไทยอีกด้วย และจะต้องขอรับการสนับสนุนผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากกระทรวงคมนาคมมาร่วมเป็นที่ปรึกษาของบริษัท KKTS เพื่อในการทำงานเป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างถูกต้องเพราะว่าระบบขนส่งมวลชนรางเบา LRT เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีหน่วยงานไหนเคยทำมาก่อน 

         นายกเทศมนตรีฯ ยังได้เน้นย้ำเพื่อให้พี่น้องประชาชนชาวขอนแก่นมีความมั่นใจในการขับเคลื่อนโครงการระบบขนส่งมวลชนรางเบา LRT ประการสำคัญของโครงการนี้สิ่งสำคัญ คือ การขอใช้ที่ดิน หากไม่ติดขัดสิ่งใดน่าจะได้เริ่มโครงการประมาณไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๑ แน่นอน

         สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้นั้น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า สามารถแยกมุมมองได้เป็น สองประเด็น คือ ผลกระทบด้านบวก ๑) สามารถลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งเป็นปัญหาหลักของประเทศไทยเนื่องจากเป็นการขนส่งทางถนน เป็นปัญหาในการบำรุงรักษาถนนหนทางที่จะต้องใช้งบประมาณมากมายมหาศาลซึ่งมีรายจ่ายมากกว่าการขนส่งทางราง ฉะนั้นการขนส่งรถไปทางคู่จะเกิดความประหยัด มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว ในส่วนของผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนได้มากขึ้นด้วย ๒) ส่งผลถึงอัตราการเจริญเติบโตของจังหวัดขอนแก่นและในประเทศ ๓) ส่งเสริมความเป็นจังหวัดขอนแก่นในความเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ไม่เพียงรถไฟทางคู่จะมาทางนี้สายเดียว ยังมีอีกสายหนึ่งต้นทางจะมาจากบ้านไผ่จังหวัดขอนแก่น ผลประโยชน์ที่ได้พร้อมกับโครงการระบบขนส่งมวลชนรางเบา LRT ในขณะนี้มีหน่วยงานที่จะให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลาง เช่น กรมขนส่งจะตั้งสถานีขนถ่ายสินค้า การท่าเรือแห่งประเทศไทย จะตั้งท่าเรือบกแก่ผู้ประกอบการสินค้าส่งออกสามารถมาขนส่งที่ขอนแก่นแล้วส่งไปยังท่าเรือได้โดยตรง การรถไฟจะมีสถานีขนถ่ายสินค้าของรถไฟโดยมีคอนเทรนเนอร์ยาร์ด ทางกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ สนข.เป็นผู้ประสานงานกับทุกหน่วยงานที่กำลังจะมีโครงการในจังหวัดขอนแก่นอย่างบูรณาการร่วมกัน เช่น รถไฟทางคู่จะไม่ได้จบที่ขอนแก่น เฟสต่อไปก็คือจากขอนแก่นไปหนองคาย เพื่อจะไปเชื่อมเวียงจันทน์ไปยังประเทศจีนตอนใต้ ๒ มอเตอร์เวย์ อาจจะมีจากโคราชไปขอนแก่น หรือไปหนองคายในวันข้างหน้า จะต้องดูความเหมาะสมและโอกาสต่อไป ๓ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีการพูดถึงการออกแบบศึกษาทางพิเศษที่จะคอร์ทข้ามเมืองขอนแก่น

         “เห็นได้ว่า จังหวัดขอนแก่นกำลังก้าวสู่ความสำคัญ ด้านสถานีขนถ่ายสินค้า ศูนย์กลางสินค้า รถไฟต่างๆ และอีกมากมาย ส่งผลให้ สนข. ที่กำลังดำเนินการโครงการต่างเหล่านี้ ในส่วนผลกระทบด้านลบจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ตอนนี้ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกก็คือ คนที่โดนรื้อบ้าน แล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหน หน่วยงานที่จะต้องเข้ามาดูแลเยียวยาโดยตรงจะเป็นหน่วยงานใดบ้าง ทางเทศบาลและพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็พยายามส่งเรื่องขึ้นไป แล้วก็ต้องหาวิธีช่วยเหลือกันเอง เราก็พยายามร่วมมือกับ พอช. ของกระทรวงพัฒนาสังคม โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่ม แล้วก็เก็บเงินออมไว้ ๑๐% แล้วก็กู้ได้ ๑๐๐% กู้มาทำอะไร กู้มาซื้อที่มาสร้างบ้าน แล้วจะได้งบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า ประปา ซึ่งทำมาได้แล้วทั้งหมด ๓ เฟส แต่มันไม่ได้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนเหล่านี้จริงๆ ถึงแม้อัตราการผ่อนอาจจะไม่สูงมากนักอาจจะเป็นภาระอันยิ่งใหญ่หรือเกินกำลัง ผมคิดว่าหน่วยงานภาครัฐอาจจะต้องมีที่ดินของรัฐแปลงหนึ่งเพื่อมาลงทุนสร้างให้ เทศบาลสามารถที่จะมาขอเช่า เพื่อให้พี่น้องประชาชนเหล่านี้มาเช่าต่อ หลักคิดได้ แต่พอถึงโครงการมันเป็นไปไม่ได้ ประการสำคัญหนึ่งคือ ที่ของรัฐแปลงหนึ่งใครจะยอมให้ การรถไฟที่เป็นเจ้าของโครงการก็ไม่พร้อมจะให้ที่ดิน ซึ่งมันก็เดินไม่ได้กับการที่จะช่วยคนที่ยากจนจริงๆ อีกประการหนึ่งคือ เมื่ออัตราการจราจรหนาแน่นขึ้น คนเดินทางสะดวกขึ้น คนเดินทางมากขึ้น ก็ส่งผลกระทบกับการจราจรในเขตเทศบาล คราวนี้จะมี ๓ ต่าง ก็จะมากขึ้นด้วย คือ ต่างด้าว ต่างประเทศ ต่างเมือง ก็จะมาอยู่ในขอนแก่นมากขึ้น ปัญหาของเมืองมหานครก็คือ ขยะ จราจร น้ำท่วม ก็จะหนักหนาสาหัสมากขึ้น เพราะการก่อสร้างมากขึ้น การสร้างปิดทางน้ำมากขึ้นปัญหาเหล่านี้ก็จะตามมาเป็นทวีคูณ”นายกเทศมนตรีฯ กล่าว

         นายธีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น ปัญหาใหญ่ของเทศบาล คือ การเตรียมการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนนที่ใช้นานกว่าจะชำรุด แต่กลับกลายเป็นชำรุดเร็วขึ้น แล้วในด้านงบประมาณซ่อมบำรุงก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเรื่องท่อระบายน้ำที่วางมากว่า ๓๐ ปี บางแห่งก็ทรุดตัว จะเห็นได้ว่าน้ำท่วมบ่อยๆ ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นยังเป็นที่รองรับและเป็นพื้นที่เชื่อมกับท่อระบายน้ำเข้าในเขตเทศบาลเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้เทศบาลฯ ต้องมีการบริหารจัดการบำบัดน้ำเสียอย่างเป็นระบบที่กว้างขึ้นอีก บวกกับเรื่องงบประมาณที่ต้องเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อจำนวนคนเมืองมากขึ้น ก็ต้องมีขยะมากขึ้นเท่าตัว ในทุกวันนี้เทศบาลฯ ในวิธีการจ้างกำจัด ถึงแม้จะเริ่มต้นที่ตันละ ๒๕๐ บาท นั่นหมายถึงว่า เทศบาลฯ จะมีภาระค่าใช้จ่ายกับเรื่องการบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นถนนที่เสียหายมากขึ้น การบำรุงรักษาซ่อมแซมถนนหนทาง การทำถนนใหม่ หรือการรื้อเพื่อสร้างใหม่ แต่ข้อจำกัดที่หนักที่สุดก็คือเรื่องงบประมาณ แม้ว่าเทศบาลนครขอนแก่นจะมีงบประมาณเป็นพันล้าน แต่งบในการพัฒนาปีหนึ่งอยู่หลักร้อยล้านเท่านั้นเอง ซึ่งไม่มีวันตอบสนองได้ทัน

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๖๖ วันจันทร์ที่ ๖ - วันศุกร์ที่ ๑๐ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


709 1,348