20thApril

20thApril

20thApril

 

November 13,2017

กก.สอบพระปล่อยเงินกู้ ไม่ผิดวินัยแต่ไม่เหมาะสม คนเสื่อมศรัทธาให้ไล่ออก

          คณะสงฆ์บุรีรัมย์เตรียมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีประชาชนร้องเรียนเจ้าอาวาสมีพฤติกรรมปล่อยเงินกู้ รับจัดไฟแนนซ์รถยนต์ ชี้อาจไม่ผิดวินัยสงฆ์เพราะไม่มีกฎระเบียบข้อห้าม แต่เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความศรัทธาของประชาชน

          เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ประชาชนหมู่ ๘ บ้านหนองบอน ต.คูเมือง อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ กว่า ๑๐๐ คน มารวมตัวกันที่วัดหนองบอน เพื่อมาเจรจากับเจ้าคณะอำเภอคูเมือง ขอให้พระอธิการสมพงษ์ เจ้าอาวาสวัดหนองบอน ออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่ามีพฤติกรรมไม่โปร่งใส พระที่อื่นมาอยู่ไม่ได้ เพราะต้องการบริหารวัดกับญาติเพียง ๒ องค์ภายในวัด บรรยากาศการเจรจาเป็นไปอย่างเข้มข้น เนื่องจากยังมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเชื่อว่าเจ้าอาวาสวัดไม่มีความผิด มาคอยให้กำลังใจและสนับสนุนให้ เจ้าอาวาสวัดอยู่ในวัดต่อไป โดยรองเจ้าคณะอำเภอ ได้พูดกับประชาชนที่มาร้องเรียนว่า ใครก็ไม่มีสิทธิ์จะไล่เจ้าอาวาสออกจากวัดได้ เพราะมีการแต่งตั้งจากเถรสมาคม ประชาชนได้เลือกให้มาเป็นเจ้าอาวาสก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนความผิดก็ว่ากันไปตามความผิด ก็จะมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงตามขั้นตอน

          จากนั้นตัวแทนประชาชนซักถามรองเจ้าคณะอำเภอทีละข้อเกี่ยวกับพฤติกรรมของเจ้าอาวาสวัด เช่น บัญชีเงินของวัด และการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่น หรือให้ประชาชนยืมเงิน โดยรองเจ้าคณะอำเภอตอบคำถามได้หมด โดยจะชี้แจงให้ประชาชนฟังถึงกฎข้อระเบียบของสงฆ์ ความผิดแบบไหนร้ายแรงมากน้อยแค่ไหน แต่ดูเหมือนประชาชนฝั่งที่มาร้องเรียนจะไม่พอใจ เนื่องจากทุกข้อสงสัยรองเจ้าคณะอำเภอระบุไม่มีความผิดถึงขั้นให้ออกจากการเป็นพระ และประชาชนไม่มีสิทธิ์มาไล่พระออกได้ เพราะพระเป็นเจ้าหน้าที่ ใครเข้ามาภายในวัดโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าอาวาสมีสิทธิ์แจ้งความจับได้ หรือมีการกล่าวหาเจ้าอาวาส ก็มีความผิดเช่นเดียวกัน

          กระทั่งประชาชนนำหลักฐานการกู้ยืมเงินที่พระอธิการสมพงษ์ เป็นคนปล่อยกู้ให้กับประชาชนรายละ ๕,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ บาท มาเป็นหลักฐาน ทำให้รองเจ้าคณะอำเภอถึงกับสะดุด แต่ก็ยังระบุว่า  เป็นเงินของพระจะให้ใครก็ได้ ไม่มีความผิด ส่วนหนังสือสัญญาที่เขียนไว้ ก็แค่ป้องกันประชาชนโกง

          นายสรภาส จิรัฐวรกานต์ ประชาชนในหมู่บ้าน บอกว่า ที่ผ่านมากว่า ๑๐ ปี ประชาชนทนมาโดยตลอด ตอนนี้มีพระจำวัดอยู่ในวัดเพียง ๒ รูป คือ เจ้าอาวาสกับญาติของเจ้าอาวาส พระที่อื่นจะมาอยู่ไม่ได้สักรูป คล้ายกับมีการกันท่า ต้องการบริหารจัดการกันเองในวัดนี้ รวมถึงพฤติกรรมอื่น เช่น มีการจัดไฟแนนซ์ให้กับประชาชน ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ ๓ บาทต่อเดือน  สาเหตุที่ประชาชนออกมาร้องให้ตรวจสอบ เพราะหมู่บ้านแบ่งเป็นสองกลุ่ม และมีความขัดแย้งกับเจ้าอาวาส เรื่องการบริหาร ตอนนี้แค่อยากนิมนต์ให้เจ้าอาวาสวัดย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่หากไม่ลงตัว ก็จะมีความแตกแยกกันแบบนี้ต่อไปอีก

          ด้านนางหนูเนียง ปะตะตัง อายุ ๕๕ ปี ราษฎรบ้านหนองบอน บอกว่า พระอธิการสมพงษ์ เจ้าอาวาส ไม่ได้มีความผิดอะไร ประชาชนก็นับถือดี ไม่เคยทำอะไรผิด ส่วนที่ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งมาร้องเรียน เป็นประชาชนที่ไม่เคยเข้าวัดนี้ แต่ต้องการมาขับไล่เจ้าอาวาสออกจากวัดเพราะไม่ถูกกันมาก่อน

          อย่างไรก็ตาม การเจรจาใช้เวลาประมาณ ๒ ชม.ประชาชนจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน โดยสรุปรองเจ้าคณะอำเภอ จะนำเรื่องทั้งหมดส่งต่อไปยังคณะสงฆ์ แต่เบื้องต้นเจ้าอาวาสวัดยังถือว่าไม่มีความผิด

          ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปสอบถามข้อมูลกับทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยนายประสงค์   ทองประ นักวิชาการศาสนาชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า  เบื้องต้นยังไม่ได้รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชน เพียงได้รับทราบข้อมูลที่ปรากฏเป็นข่าวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากได้รับเรื่องร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร ก็จะร่วมกับคณะสงฆ์ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่มีการร้องเรียน ส่วนที่ประชาชนนำหนังสือสัญญาเงินกู้ที่มีลายมือชื่อของประชาชนผู้กู้ และลายมือชื่อของเจ้าอาวาสผู้ให้กู้ยืม มาเป็นหลักฐานนั้น ก็จะต้องตรวจสอบว่าเป็นลายมือชื่อของเจ้าอาวาสจริงหรือไม่ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเอกสารตัวจริงและเจ้าอาวาสยอมรับ ทางคณะปกครองสงฆ์ก็จะต้องเป็นผู้พิจารณาว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าว ผิดพระธรรมวินัยหรือไม่ และมีความผิดสถานใด และจะต้องลงโทษอย่างไร หากเป็นสถานเบาก็อาจจะแค่ตักเตือน ตำหนิให้หยุดการกระทำดังกล่าว แต่หากคณะสงฆ์พิจารณาแล้วว่าเป็นความผิดร้ายแรง ก็อาจจะให้ลาสิขา หรือปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าคณะปกครองสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง  ทางสำนักพุทธไม่มีอำนาจตัดสิน

          ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังไม่เคยปรากฏเรื่องร้องเรียนในลักษณะดังกล่าวมาก่อน ส่วนมากก็จะเป็นการร้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินวัดไม่โปร่งใส หรือพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างอื่น แต่เรื่องพระปล่อยเงินกู้ยังไม่เคยมีการร้องเรียน  

          ต่อมาพระมงคลสุตกิจ (พระบุญถิ่น ปุณณสิริ) เลขาเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากทางเจ้าคณะอำเภอ และสำนักงานพระพุทธศาสนา เป็นลายลักษณ์อักษร เพียงทราบข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น แต่หากได้รับรายงานแล้ว ตามขั้นตอนคณะสงฆ์ก็จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาแสวงหาข้อเท็จ  จริง แต่จากกฎระเบียบของสงฆ์ไม่ได้มีข้อห้ามเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ซึ่งก็อาจจะไม่ผิดวินัยสงฆ์ แต่ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพราะการกระทำในลักษณะดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความศรัทธาของประชาชน ก็จะมีการตักเตือนและห้ามไม่มีพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวอีก  

          ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ตัวแทนประชาชนบ้านหนองคูบอน หมู่ ๘ ต.คูเมือง อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ตรวจสอบพฤติกรรมพระอธิการสมพงษ์ เจ้าอาวาสวัดหนองคูบอน โดยกล่าวหาว่า เจ้าอาวาสมีพฤติกรรมบริหารจัดการเงินวัดไม่โปร่งใส ทั้งมีพฤติกรรมรับจัดไฟแนนซ์รถยนต์ และปล่อยเงินกู้ให้กับชาวบ้าน  โดยเก็บอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๓ บาทต่อเดือน โดยชาวบ้านได้นำเอกสารการทำหนังสือสัญญาเงินกู้เมื่อปี ๒๕๔๙–๒๕๕๑ มายื่นเป็นหลักฐานในการร้องเรียนด้วย นอกจากนั้นยังกล่าวหาว่า เจ้าอาวาสมีพฤติกรรมสร้างความแตกแยกให้กับชาวบ้านในหมู่บ้าน จึงอยากให้นิมนต์เจ้าอาวาสออกจากพื้นที่ 

          นายสรภาส จิรวรกานต์ ตัวแทนประชาชน เปิดเผยว่า การที่ประชาชนเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนสำนักงานพระพุทธศาสนาในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้ตรวจสอบพฤติกรรมของเจ้าอาวาส ทั้งใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ, เรียกเก็บเงินประชาชนที่นำอัฐิมาบรรจุที่รั้ววัด โดยอ้างว่าเงินสร้างวัดเป็นเงินส่วนตัว ทั้งยังมีพฤติการณ์ซื้อขายรถยนต์มือสองภายในวัด โดยมีการผ่อนชำระเป็นงวดๆ ลักษณะเหมือนจัดไฟแนนซ์รถยนต์ และมีพฤติกรรมปล่อยเงินกู้ พร้อมจัดทำหนังสือสัญญาเงินกู้ และเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่ากฎหมายกำหนด จึงอยากให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และหากพบว่า เจ้าอาวาสกระทำผิดจริง ก็อยากให้ดำเนินการลงโทษตามระเบียบของสงฆ์ หรือนิมนต์ออกจากวัดเพื่อลดความแตกแยกของคนในชุมชน

          โดยประชาชนอ้างว่า หากประชาชนที่มีความเดือดร้อนต้องการไปขอกู้ยืมเงินพระ ก็จะต้องมีการทำสัญญาเงินกู้ ระหว่างเจ้าอาวาสผู้ให้กู้ และประชาชนซึ่งเป็นผู้กู้ โดยหนังสือสัญญาเงินกู้บางฉบับจะมีอดีตผู้ใหญ่บ้านเป็นคนเขียนสัญญาเงินกู้ ส่วนการชำระคืนทั้งต้นและดอกเบี้ยประชาชนก็จะไปชำระเองกับเจ้าอาวาสที่วัด 

          ด้านนายประสงค์ ทองประ นักวิชาการศาสนาชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ระบุภายหลังรับหนังสือร้องเรียนว่า หลังรับหนังสือร้องเรียนแล้ว ก็จะเสนอเรื่องไปยังคณะปกครองสงฆ์ เพื่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกินสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ หากผลการตรวจสอบเสร็จสิ้น แล้วพบข้อมูลหลักฐานว่าเจ้าอาวาสที่ถูกกล่าวกระทำผิดจริง ทางคณะปกครองสงฆ์ก็จะเป็นผู้พิจารณาว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าว ผิดพระธรรมวินัยหรือไม่ และมีความผิดสถานใด จะต้องลงโทษอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ทางสำนักพุทธไม่มีอำนาจตัดสินใจ

          ล่าสุดพระอธิการสมพงษ์ เจ้าอาวาสวัดหนองคูบอน ได้ออกมาโต้พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้ปล่อยเงินกู้ตามที่ถูกประชาชนร้องเรียนกล่าวหา แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมาเมื่อปี ๒๕๔๙-๒๕๕๑ เคยมีคนในหมู่บ้านมาขอยืมเงินกับอาตมาที่วัดจริง  โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานาว่า มีความจำเป็นเดือดร้อนต้องการใช้จ่ายเงิน  ด้วยความที่เป็นพระมีความเมตตาสงสารและเห็นใจที่เดือดร้อน จึงให้ยืมเป็นบางคนที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น รายละ ๕,๐๐๐ หรือ ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่ได้เรียกเก็บดอกเบี้ยหรือทำสัญญาเงินกู้ และไม่เคยทวงถามหากพร้อมเมื่อไหร่ก็ค่อยนำมาคืน  และเงินที่ให้ยืมก็เป็นเงินส่วนตัว ซึ่งขายที่ดินมรดกได้ ๓๐๐,๐๐๐ บาทตั้งแต่ก่อนจะบวช  ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินของวัด  ซึ่งเงินของวัดก็มีคณะกรรมการดูแลอยู่แล้ว ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย   

          เจ้าอาวาสยังระบุด้วยว่า ลายเซ็นในหนังสือสัญญาเงินกู้ที่ประชาชนนำมาร้องเป็นลายเซ็นที่ถูกปลอมแปลงขึ้น และเป็นหนังสือสัญญาเมื่อปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ หรือเมื่อ ๑๐ ปีก่อนแล้วทำไมถึงเพิ่งมาร้องเรียน จึงเชื่อว่าน่าจะถูกกลั่นแกล้ง เพราะต้องการให้ย้ายไปอยู่วัดอื่นมากกว่า ซึ่งอาจจะมีจุดประสงค์หรือเจตนาอะไรบางอย่าง อย่างไรก็ตาม หากมีหน่วยงานรัฐหรือคณะสงฆ์ มาตรวจสอบก็พร้อมที่จะให้ตรวจสอบ ทั้งอยากวิงวอนสังคมควรฟังข้อมูลให้รอบด้านก่อนจะตัดสินว่าใครผิดใครถูก

          ขณะที่นายกมล แคนเสาร์ อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองคูบอน เปิดเผยว่า สมัยที่ตนเองดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อปี ๒๕๔๗-๒๕๕๒ ได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสรูปดังกล่าว ให้เป็นคนเขียนหนังสือสัญญาเงินกู้ให้ หากมีประชาชนคนไหนมาขอกู้ยืมเงิน  และเมื่อปี ๒๕๕๐ ตนก็มีปัญหาจำเป็นต้องใช้จ่ายเงิน จึงได้มาขอยืมจากเจ้าอาวาสเช่นกัน และเพื่อความสบายใจ ตนก็ทำสัญญาเงินกู้ไว้เป็นหลักฐาน เมื่อมีเงินก็นำมาจ่ายคืนให้เจ้าอาวาสครบทั้งหมดแล้ว ซึ่งตอนที่มาจ่ายคืนก็ได้จ่ายดอกเบี้ยให้กับเจ้าอาวาสด้วย ยืนยันได้ว่า เจ้าอาวาสมีการปล่อยเงินกู้จริง จึงอยากให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวด้วย หากเจ้าอาวาสมีพฤติกรรมไม่ถูกต้องเหมาะสมจริง ก็ควรตักเตือนและมีการลงโทษ

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๖๗ วันเสาร์ที่ ๑๑ - วันพุธที่ ๑๕ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


727 1349