24thApril

24thApril

24thApril

 

November 22,2017

กรมทางหลวงลุยมอเตอร์เวย์ เส้นทางโคราช-ขอนแก่น เปิดเวทีปชช.๒๗-๒๘ พ.ย.


การก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช ภาพจาก http://www.skyscrapercity.com

         กรมทางหลวงพร้อมนำเสนอผลเตรียมศึกษาออกแบบมอเตอร์เวย์ สายนครราชสีมา-ขอนแก่น ต่อขยายจากสายบางปะอิน-นครราชสีมา เชิญชวนชาวโคราชและขอนแก่นเข้าร่วมรับฟังและเสนอแนะ ในวันที่ ๒๗-๒๘ พฤศจิกายนนี้ เล็งต่อขยายจากขอนแก่นไปหนองคาย 

         ตามที่กรมทางหลวงมีโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข ๖ (Motorway M6) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง ๑๙๖ กิโลเมตร โดยเป็นหนึ่งในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะเร่งด่วน ภายใต้แผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๗๙ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง ดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะเร่งด่วน ๓ สายทาง ซึ่งหมายรวมถึงสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทางก่อสร้างรวมทั้งสิ้น ๑๙๕.๘๐๐ กิโลเมตร ซึ่งทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ เริ่มต้นจากปลายถนนกาญจนาภิเษก (ด้านตะวันออก) ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และไปสิ้นสุดเส้นทางบริเวณถนนมิตรภาพ (ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มูลค่าก่อสร้างประมาณ ๘๔,๖๐๐ ล้านบาท โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น ๔๐ ช่วง เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้แล้วเสร็จในภายในปี ๒๕๖๓ สำหรับแนวเส้นทางเริ่มจากจุดต่อเชื่อมระหว่างทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ (วงแหวนรอบนอกด้านทิศตะวันออก) กับทางหลวงหมายเลข ๑ ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา และสิ้นสุดที่จุดบรรจบกับทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๒ รวมตัดผ่านพื้นที่ ๓ จังหวัด ๑๒ อำเภอ ประกอบด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.บางปะอิน, วังน้อย และอุทัย), จ.สระบุรี (อ.หนองแค, เมืองสระบุรี, แก่งคอย และมวกเหล็ก) และจ.นครราชสีมา (อ.สูงเนิน, ขามทะเลสอ และเมืองนครราชสีมา) ซึ่งมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา กำหนดทางแยกต่างระดับ จำนวน ๑๐ แห่ง ได้แก่ ๑.ทางแยกต่างระดับบางปะอิน ๑ (กม.๐+๐๐๐) ๒.ทางแยกต่างระดับบางปะอิน ๒ (กม.๐+๐๐๐) ๓.ทางแยกต่างระดับวังน้อย (กม.๑๐+๕๐๐) ๔.ทางแยกต่างระดับหินกอง (กม.๓๓+๐๐) ๕.ทางแยกต่างระดับสระบุรี (กม.๔๐+๘๐๐) ๖.ทางแยกต่างระดับแก่งคอย (กม.๕๓+๕๐๐) ๗.ทางแยกต่างระดับมวกเหล็ก (กม.๗๘+๕๐๐) ๘.ทางแยกต่างระดับปากช่อง (กม.๑๑๐+๐๐๐) ๙.ทางแยกต่างระดับสีคิ้ว (กม.๑๕๔+๐๐๐) และ ๑๐.ทางแยกต่างระดับนครราชสีมา (กม.๑๙๕+๘๐๐) โดยมีด่านเก็บค่าผ่านทาง ๙ แห่ง ได้แก่ ด่านบางปะอิน ด่านวังน้อย ด่านหินกอง ด่านสระบุรี ด่านแก่งคอย ด่านมวกเหล็ก ด่านปากช่อง ด่านสีคิ้ว และด่านขามทะเลสอ นั้น

         ล่าสุด กรมทางหลวงโดยสำนักแผนงาน ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แอคโนเลดจ์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครราชสีมา-ขอนแก่น โดยจะมีการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ ๑) เพื่อนำเสนอข้อมูลงานศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชน หน่วยงานและองค์กรระดับต่างๆ รับทราบถึงข้อมูลรายละเอียดโครงการ โดยเฉพาะความเป็นมา วัตถุประสงค์ ระยะเวลาการศึกษาโครงการ พื้นที่ศึกษาโครงการ ขอบเขตการศึกษา สภาพปัจจุบันของพื้นที่โครงการ พื้นที่กำหนดแนวเส้นทางเลือกและแนวคิดเบื้องต้นในการกำหนดแนวทางเลือกในการพัฒนาโครงการให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ซึ่งจะจัดเวทีประชุมนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ณ โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช และวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เวลรา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด

         อย่างไรก็ตาม หลังจากดำเนินการโครงการมอเตอร์เวย์สายนครราชสีมา-ขอนแก่น แล้ว กรมทางหลวงมีแผนจะดำเนินการสายขอนแก่น-หนองคาย ระยะทางประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตรต่อไป ซึ่งเป็นไปตามแผนใหญ่ที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้า ได้ศึกษาไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ แต่การดำเนินงานมีความล่าช้า โดยเมื่อต่อเชื่อมเส้นทางได้ตลอดแนว มอเตอร์เวย์สายนี้จะเป็นเส้นทางเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษที่หนองคาย ขณะที่จะรองรับสินค้าจากเวียงจันทน์ สปป.ลาวที่มีปริมาณสูงด้วย 

         ทั้งนี้ กรมทางหลวงคาดว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ Motorway ได้แก่ ๑.ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ การที่รถสามารถใช้ความเร็วได้คงที่ โดยไม่ลดและเพิ่มความเร็วบ่อยครั้ง จะทำให้ลดอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษา ๒.ประหยัดเวลาในการเดินทาง รถสามารถใช้ความเร็วได้สูง เนื่องจากไม่มีอุปสรรคจากการที่มีคน หรือสัตว์วิ่งตัดหน้า และแนวทางห่างชุมชน มีรั้วกั้นปราศจากการรบกวนที่จะต้องชะลอความเร็ว ๓.ลดอุบัติเหตุ การที่มีรั้วกั้นตลอดแนวทางทำให้ลดอุบัติเหตุได้อย่างมาก อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายที่มากมายของการเดินทางบนทางหลวงในประเทศไทยปัจจุบัน และ ๔.ส่งเสริมนโยบายกระจายการพัฒนาไปยังภูมิภาค การที่มีโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถกระจายการพัฒนาไปยังภูมิภาคต่างๆ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมาแออัดอยู่ในเฉพาะเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถกำหนดระยะเวลาของการ สามารถกำหนดระยะเวลาของการขนส่งจากแหล่งผลิตไปยังแหล่งบริโภคได้อย่างแน่นอน ซึ่งในปัจจุบัน กรมทางหลวงเปิดใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง จำนวน ๒ สายทาง ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี (สายใหม่) ระยะทาง ๘๒ กม. และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข ๙ สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก ระยะทาง ๖๔ กิโลเมตร

         สำหรับรายละเอียดโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครราชสีมา-ขอนแก่น “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป

 

 โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก  นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๖๙ วันอังคารที่ ๒๑ - วันเสาร์ที่ ๒๕ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


752 1363