20thApril

20thApril

20thApril

 

December 06,2017

ต้นสกุล ณ ราชสีมา

           การที่กล่าวถึง “ต้นสกุล ณ ราชสีมา” นี้ ก็เพื่อย้อนอดีตถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์และสภาพสังคมของเมืองนครราชสีมาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพื่อให้ทราบและมีความเข้าใจเรื่องราวของเมืองนครราชสีมามากยิ่งขึ้น

           จากจดหมายเหตุนครราชสีมา ใบบอก หนังสือ ตำรา และเอกสารอื่นๆ (กรมศิลปากร ๒๕๒๘) ก่อนที่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) จะได้รับพระราชทานเลื่อนตำแหน่งและบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยานครราชสีมา ท่านดำรงตำแหน่งเป็นที่ยกกระบัตร ณ เมืองพิมาย (ยกกระบัตรเป็นตำแหน่งเกี่ยวกับอรรถคดี) นับญาติแล้วท่านเป็นญาติกับพระยาพิชัยดาบหักในต้นสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยานครราชสีมา(ปิ่น ณ ราชสีมา) เป็นนักรบคนสำคัญของไทยในการกอบกู้เอกราช กล่าวคือ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ เจ้านครเวียงจันทน์ได้ส่งกองกำลังรุกล้ำพระราชอาณาเขตของไทย กรุงธนบุรีได้ส่งกองทัพยกไปปราบและมีบัญชามอบหมายเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) เป็นกองหน้ารุดเข้าตีกองทัพเพี้ยอุปราชาแห่งนครเวียงจันทน์ และได้รับชัยชนะ ในการนี้ได้อัญเชิญพระพุทธมรกตแก้วจากนครเวียงจันทน์ ซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชอัญเชิญมาจากนครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ กลับคืนมายังพระนครธนบุรีใน พ.ศ. ๒๓๒๒  
           อนึ่ง ท่านผู้หญิงนครราชสีมาถึงแก่อนิจกรรม ในขณะที่เจ้าพระยานครราชสีมา(ปิ่น ณ ราชสีมา ) ปฏิบัติการรบอยู่ที่เวียงจันทน์ เมื่อมีชัยจากการรบกลับมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาในความชอบ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเจ้าหญิงยวนหรือจวน กนิษฐา (น้องสาว) ของพระชนนี (แม่) สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ แก่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) ซึ่งเจ้าหญิงยวนหรือจวนรับราชการฝ่ายในของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในเวลานั้นทรงครรภ์ด้วยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว แต่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) รับพระราชทานไปเป็นแม่เมือง มิได้ถือเป็นภริยา ครรภ์ที่ประสูติออกเป็นเจ้าชาย พระนามว่า “ทองอินทร์” จึงถือได้ว่าเป็นพระราชโอรสองค์หนึ่งของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) ซึ่งถือเป็นต้นสกุลหลายนามสกุล เช่น  อินทรกำแหง อินทโสฬส มหาณรงค์ นิลนานนท์ เนียมสุริยะ ชูกฤส อินทนุชิต คชวงศ์ ศิริพร และเชิญธงไชย เป็นต้น
ในวัยชราเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) จักษุมืดมัว ชาวเมืองจึงเรียกท่านว่า “เจ้าคุณตามืด”แทนนามบรรดาศักดิ์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นจางวางกำกับราชการเมืองนครราชสีมา (จางวางเมืองเป็นตำแหน่งสำหรับเจ้าเมืองที่พ้นตำแหน่งแล้ว ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของเจ้าเมือง)


 

           บุตรหลานของท่าน ปิ่น ณ ราชสีมา ได้รับราชการเป็นเจ้าเมือง เป็นกรมการเมือง ทั้งในเมืองนครราชสีมาและเมืองอื่นๆ  ดังนี้
๑. ชั้นบุตร ได้แก่ พระยาภักดีสงครามเจ้าเมืองนางรอง, พระยานครราชสีมา (เที่ยง ณ ราชสีมา), พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ (ทัศน์ รายณสุข), บุตรบุญธรรมประสูติแต่เจ้าหญิงยวน ได้แก่ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา)
๒. ชั้นนัดดา (หลาน) ได้แก่ พระยาพรหมยกกระบัตร (ยิ่ง อธินันทน์), พระยาภักดี  ศรีขันธเสมา (ทองสุก กาญจนพิมาย) เจ้าเมืองพิมาย, พระราชโยธา (ลมุด รายณสุข), พระยาสุริยเดช (น้อย ณ ราชสีมา)
๓. ชั้นปนัดดา (เหลน) ได้แก่ พระพรหมยกกระบัตร (ฉิม อธินันทน์), พระพรหมเสนาสัสดี (หร่าย กาญจนพิมาย), พระศรีสรสิทธิ์, พระพิชัยบรพต, พระเมือง (ฉิม), พระภักดีศรีขันธเสมา, พระพิมาย (จุ้ย), พระอินทรมณเฑียรบาลพระวัง (คง), พระอินทรมณเฑียรบาลพระวัง (อิ่ม) เป็นต้น
เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) ได้เริ่มรับราชการ ณ เมืองนครราชสีมา ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ โดยช่วยงานราชการ พระยานครราชสีมา (เที่ยง ณ ราชสีมา) บุตรของเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ชายบุญธรรม จนมีตำแหน่งเป็นผู้รักษาเมือง เมื่อต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีบรรดาศักดิ์สูงสุดเป็นเจ้าพระยากำแหงสงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ  เจ้าพระยานครราชสีมา ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมาซึ่งมีความสำคัญในภาคอีสาน
เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) ได้สมรสกับท่านผู้หญิงทับทิม ธิดาพระยาสุริยเดช (ทัศน์ ราณยสุข) ต่อมาท่านผู้หญิงทับทิมได้ถึงแก่กรรม จึงได้สมรสใหม่กับท่านผู้หญิงบุนนาค ธิดาของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น สิงหเสนี) และเป็นน้องสาวของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี)  เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา ) มีบุตรธิดารวม ๕๐ ท่าน ต่อมาเชื้อสายและเครือญาติได้มีบทบาทสำคัญในราชสำนักสยามและในราชการบ้านเมือง (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ๒๕๖๐)
สำหรับบุตรหลานของท่านเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) มีดังนี้
๑. ชั้นบุตร ที่เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้แก่ เจ้าพระยานครราชสีมา (เมฆ ณ ราชสีมา), พระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา (ขำ ณ ราชสีมา) ผู้รักษากรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา), ที่รับราชการในราชสำนักเป็นข้าราชการมหาดเล็ก ได้แก่ นายศัลยวิชัย หุ้มแพร (ทองคำ ณ ราชสีมา)
๒. ชั้นนัดดา (หลาน) คือ พระยากำแหงสงคราม(จัน ณ ราชสีมา) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา 
๓. ชั้นปนัดดา (เหลน) ที่เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดได้แก่ พระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อ.ส. ณ ราชสีมา) ที่เป็นข้าราชการฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวังรัชกาลที่ ๔ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้แก่ เจ้าจอมมารดาสังวาล (ธิดานายศัลยวิชัย หุ้มแพร) พระมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ต้นสกุลทองใหญ่, พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ต้นสกุลทองแถม, พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ากาญจนากร, ที่เป็นข้าราชการฝ่ายใน ในพระบวรราชวังรัชกาลที่ ๔ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้แก่เจ้าจอมมารดาช้อย (ธิดาพระยานครราชสีมา เมฆ ณ ราชสีมา) พระมารดาพระเจ้าราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ ต้นสกุลจรูญโรจน์ เป็นต้น
เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องและไม่สับสน ใคร่ขอลำดับสกุล ณ ราชสีมา ดังนี้
สกุล ณ ราชสีมา ชั้น ๑
เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา)
สกุล ณ ราชสีมา ชั้น ๒
บุตรเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) เกิดแต่ท่านผู้หญิงเดิม ได้แก่  
๑. พระยาภักดีสงคราม เจ้าเมืองนางรอง 
๒. พระยานครราชสีมา (เที่ยง ณ ราชสีมา)  
๓. พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ (ทัศน์ รายณสุข)  
๔. บุตรบุญธรรมประสูติแต่เจ้าหญิงยวน คือ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา)
๕. บุตรที่เกิดแต่อนุภริยา ได้แก่ พระราชา นุชิต
สกุล ณ ราชสีมา ชั้น ๓
สาย พระยาภักดีสงคราม เจ้าเมืองนางรอง ชั้น ๓ บุตรพระยาภักดีสงคราม เจ้าเมืองนางรอง ได้แก่ 
๑. พระยาพรหมยกกระบัตร (ยิ่ง อธินันทน์)  
๒. พระยาภักดีศรีขันธเสมา (ทองสุก กาญจนพิมาย) 
สาย พระยาสุริยเดช (ทัศน์ รายณสุข) ชั้น ๓ บุตรธิดาพระยาสุริยเดช เกิดแต่คุณหญิงแย้ม สุริยเดช ได้แก่ 
๑. พระราชโยธา (ลมุด รายณสุข) 
๒. ทับทิม (หญิง) เป็นท่านผู้หญิงของเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) 
๓. ชุ่ม (หญิง) มารดาเจ้าจอมชื่นในรัชกาลที่ ๓  
๔. แจ่ม (หญิง) เป็นภริยาพระวิชัยวรพต (ยิ่ง) 
๕. พระยาสุริยเดช (น้อย ณ ราชสีมา)
สาย เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) ชั้น ๓ บุตรเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) เกิดแต่ท่านผู้หญิงทับทิม ธิดาพระยาสุริยเดช (ทัศน์ รายณสุข) ได้แก่ 
๑. นายศัลยวิชัย หุ้มแพร (ทองคำ ณ ราชสีมา) 
๒. นายทองแก้ว ณ ราชสีมา 
๓. พระยานครราชสีมา (เมฆ ณ ราชสีมา)
ในที่นี้ขอกล่าวเพียงผู้สืบสกุล ณ ราชสีมา ที่สำคัญแต่เพียงสังเขป ซึ่งในจดหมายเหตุนครราชสีมา ได้กล่าวถึง สกุล ณ ราชสีมา ถึงชั้น ๙ รายละเอียดผู้สืบสกุลท่านอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมานี้มี  เป็นจำนวนมาก (อ่านดูได้จากจดหมายเหตุนครราชสีมา) กล่าวได้ว่า นับแต่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) และเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) เป็นต้น สืบต่อๆ มาได้ปฏิบัติราชการด้วยความอุตสาหะวิริยะ ทำคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดินมากมาย โดยเฉพาะเมืองนครราชสีมาที่เป็นเมืองใหญ่และมีความสำคัญในการดูแลควบคุมหัวเมืองทั้งหมดในภาคอีสานและลาว รวมถึงหัวเมืองประเทศราชเวียงจันทน์ นครพนม และจำปาศักดิ์ ต่างพระเนตรพระกรรณ (ขจีรัตน์ ไอราวัณวัฒน์ ๒๕๓๒; ขรรค์ชัย บุนปาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ๒๕๕๘)  มีประวัติศาสตร์ในการศึกสงครามมาโดยตลอด ท่านปิ่น ณ ราชสีมา และ ท่านทองอินทร์ ณ ราชสีมา ได้ปกป้องรักษาเมืองและสร้างเมืองนครราชสีมาให้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงลูกหลานในปัจจุบัน  เป็นปฐมเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙  ทรงพระอนุสรณ์ถึงความดีความชอบของสายสกุลนี้ จึงทรงพระกรุณาพระราชทานนามสกุลแก่อนุชนผู้สืบสายสกุลมาแต่ท่านเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) และท่านเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ว่า “ณ ราชสีมา”ดังปรากฏภาพถ่ายพระราชหัตถเลขาพระราชทานนาม “ณ ราชสีมา” 

           เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. (๒๕๒๘). จดหมายเหตุนครราชสีมา : พิมพ์สนองคุณเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) และ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา). ม.ป.ท.
ขจีรัตน์ ไอราวัณวัฒน์. (๒๕๓๒). ความสำคัญทางการเมืองของเมืองนครราชสีมา : บทบาทของเจ้าเมือง ตระกูล ณ ราชสีมา ระหว่าง พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๘๘. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ขรรค์ชัย บุนปาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ. (๒๕๕๘). โคราชของเรา. นนทบุรี : มติชน ปากเกร็ด. 
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (๒๕๖๐). เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา). สืบค้นเมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ จาก https://th.wikipedia.org/wiki/.


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๗๒ วันพุธที่ ๖ - วันอาทิตย์ที่ ๑๐ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

 


792 1383