20thApril

20thApril

20thApril

 

February 13,2018

‘ไทย-จีน’บรรลุข้อตกลง เคลื่อนรถไฟความเร็วสูง

        รัฐมนตรีคมนาคมนำคณะบินไปจีน ร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน บรรลุความคืบหน้าในการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย และการเชื่อมโยงโครงข่ายการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงไทย-สปป.ลาว และจีนตอนใต้

        ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ ๒๓ ระหว่างวันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ นครปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ มีการประชุมร่วมอย่างเป็นทางการระหว่าง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการและปฏิรูปแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันเจรจากระทั่งบรรลุผลความคืบหน้าในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ใน ๕ ด้าน ดังนี้

        ๑. ด้านการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันโดยยืนยันถึงกำหนดการในการส่งแบบรายละเอียดเพื่อใช้ในการก่อสร้าง โครงการในช่วงดังกล่าว เพื่อใช้ในการก่อสร้างงานโยธาที่ฝ่ายรัฐบาลจีนจะดำเนินการส่งมอบให้เป็นไปตามแผนการที่กำหนด ซึ่งแบบการก่อสร้างระยะที่ ๑ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา แบ่งเป็นช่วงกลางดงปางอโศก ระยะทาง ๓.๕ กิโลเมตร ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว, ช่วงสีคิ้ว–กุดจิก ระยะทาง ๑๑ กิโลเมตร ฝ่ายจีนจะส่งแบบรายละเอียดฉบับสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ ฝ่ายไทยจะตรวจแบบ จัดทำราคากลาง และจัดทำ TOR ซึ่งคาดว่าจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑, ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง (อุโมงค์) จีนจะนำส่งร่างแบบรายละเอียดในเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ ซึ่งคาดว่าจะส่งแบบรายละเอียดฉบับสมบูรณ์ในเดือนเมษายน ๒๕๖๑ และจัดทำ TOR ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑, ช่วงแก่งคอย–บันไดม้า–โคกกรวด–ลำตะคอง-โคราช ฝ่ายจีนจะส่งร่างแบบรายละเอียดในเดือนเมษายน หลังจากนั้นจะตรวจสอบแบบต่อไปโดยคาดว่าจะส่งแบบรายละเอียดฉบับสมบูรณ์ได้ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๖๑ หลังจากนั้นจะเป็น  กระบวนการในการจัดทำราคากลางก่อนจะเริ่มการประกวดราคาในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ และช่วงบางซื่อ–ดอนเมือง-นวนคร–บ้านโพธิ์–พระแก้ว–สระบุรี–แก่งคอย-เชียงรายน้อย ซึ่งฝ่ายจีนจะส่งร่างแบบรายละเอียดในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ และฝ่ายไทยจะได้ตรวจสอบร่างแบบดังกล่าว ซึ่งคาดว่าฝ่ายจีนจะได้ส่งแบบรายละเอียดในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๖๑ จัดทำราคากลางและเริ่มการประกวดราคาในเดือนกันยายน ๒๕๖๑

        ๒. โครงการระยะที่ ๒ นครราชสีมา–หนองคาย ฝ่ายไทยจะได้ทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ๒๕๖๑ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ หลังจากนั้นจะได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดในเดือนมิถุนายน และจะออกแบบรายละเอียดประมาณ ๑๐ เดือน ก่อนดำเนินการประกวดราคาในราวไตรมาสที่ ๒ ของปี ๒๕๖๒ ต่อไป

        ๓. การประสานงานเพื่อการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทย-สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการดำเนินโครงการก่อสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค ฝ่ายจีนได้ตกลงที่จะเป็นผู้ดำเนินการเชิญผู้แทนระหว่างรัฐบาลทั้ง ๓ ประเทศ มาเจรจาหารือกันในการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูงในช่วงจากหนองคายถึงกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องมีการดำเนินการก่อสร้างให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันในระยะต่อไป ซึ่งจะทำให้การเดินรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงในระหว่างอนุภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่อง และเตรียมการในเรื่องการลดอุปสรรคในเรื่องการเดินทางของประชาชนของทั้ง ๓ ประเทศ อันเกิดจากการตรวจคนเข้าเมือง และระบบการตรวจพิธีการด้านศุลกากรในลำดับต่อไป

        ๔. การดำเนินงานในสัญญา ๒.๓ งานระบบรถไฟและการฝึกอบรม ทั้งสองฝ่ายจะหารือกันอย่างต่อเนื่องในเรื่องการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟแบบใช้หินโรยทางและไม่ใช้หินโรยทาง การสำรองข้อมูลและการจ่ายไฟฟ้า ฝ่ายจีนจะทำข้อมูลให้ฝ่ายไทยพิจารณา และพยายามให้ได้ข้อสรุปสัญญา ๒.๓ ให้ได้ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๑

        ๕. การถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงว่า จะถ่ายทอดเทคโนโลยีใน ๓ ด้านหลัก คือ ๑) หลักสูตรการฝึกอบรมวิศวกรไทยด้านเทคโนโลยีการออกแบบรถไฟความเร็วสูง โดยฝ่ายจีนจะดำเนินการจัดทำแผนการดำเนินงานและรายละเอียดการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้างงานโยธารถไฟความเร็วสูงให้ฝ่ายไทยภายในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๑ ใน ๑๒ หัวข้อหลักก่อนเป็นลำดับแรก ภายใต้สัญญา ๒.๑ โดยการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว ได้มีการบรรลุข้อตกลงเบื้องต้น รวมถึงการออกแบบระบบรางและระบบจ่ายไฟเหนือขบวนรถ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการภายใต้สัญญา ๒.๓ ต่อไป ๒) ฝ่ายไทยได้ขอให้ฝ่ายจีนถ่ายทอดประสบการณ์ในการจัดตั้งองค์กรและส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งฝ่ายจีนยินดีที่จะดำเนินการสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว และจะส่งเจ้าหน้าที่ผู้มีความรู้มาร่วมช่วยไทยในการดำเนินการดังกล่าวต่อไป และ ๓) ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายจีนสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมขีดความสามารถการทดสอบการก่อสร้าง การติดตั้ง การตรวจสอบ และการซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟความเร็วสูงในไทย โดยข้อมูล เอกสาร และการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง จะรวมถึงหลักสูตรการซ่อมบำรุง รายการของสมรรถนะการทดสอบและการบริการ มาตรฐานที่เกี่ยวข้องของผลิตภัณฑ์ ๔ กลุ่ม (๒๖ รายการอุปกรณ์) ซึ่งฝ่ายจีนได้ยืนยันที่จะส่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรถไฟมาประเทศไทยเพื่อร่วมกันพิจารณาและส่งมอบมาตรฐานที่จำเป็นต่อการลดการพึ่งพา และดำเนินการได้ด้วยตนเองด้านการซ่อมบำรุงในอนาคตให้แก่ฝ่ายไทยโดยเร็ว และจะหารือให้ได้ข้อสรุปก่อนการประชุมครั้งต่อไป

            ทั้งนี้ ฝ่ายจีนยินดีที่จะสนับสนุนฝ่ายไทยในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยในอนาคตให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้พิจารณาตกลงร่วมกันที่จะให้มีกลไกในการติดตามการดำเนินงานตามข้อตกลง และจะประสานงานอย่างใกล้ชิด ตลอดทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานระหว่างกัน เพื่อให้การก่อสร้างโครงการฯ เป็นไปด้วยความราบรื่นตา

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๘๕ วันอาทิตย์ที่ ๑๑ - วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๑


703 1342