19thApril

19thApril

19thApril

 

February 14,2018

นกเงือก สัญลักษณ์แห่งรักแท้

           ๑๔ กุมภา วันวาเลนไทน์ เทศกาลแห่งความรักที่หลายคู่คงเฝ้ารอให้วันนี้มาถึง เพื่อที่จะแสดงความรักกัน มีการส่งต่อความรู้สึกดีๆ ด้วยดอกกุหลาย หรือช็อคโกแลต แต่ก็มีอีกหลายคู่รักที่เปรียบความรักเหมือนเป็นเรื่องฉาบฉวย คิดจะเปลี่ยนคู่ปรับ สลับคู่นอนยังไงก็ได้

​           ความรักเป็นสิ่งสวยงามดั่งที่เคยได้ยินมา นอกจากความรักของมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ แต่สัตว์เองก็มีความรักที่สวยงามไม่แพ้กันอย่าง “นกเงือก” เพราะเป็นนกที่เรียกได้ว่าแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์แห่งรักแท้ และเป็นตัวแทนของคำว่า “รักแท้มีอยู่จริง” หลายคนอาจเคยสงสัยว่า “ทำไมต้องมีความรักอย่างนกเงือก” ทำไมนกเงือกถึงถูกยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้ ซึ่งถือเป็นความรักที่คู่รักสมัยนี้ ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง อย่างยิ่ง

​           ความรักของนกเงือกนั้นจะมีลักษณะที่เหมือนกับมนุษย์เช่นกัน เพราะกว่าที่นกเงือกตัวผู้จะทำให้ตัวเมียยอมรับได้ก็ต้องใช้เวลาและความอดทน ตัวผู้ต้องคอยหาอาหารมาป้อนให้ หากตัวเมียไม่ยอมกินอาหารที่ตัวผู้หามาให้ก็ต้องไปหาอาหารที่คิดว่าตัวเมียชอบมาให้ใหม่ เอาใจตัวเมียสารพัด ทำจนกระทั่งตัวเมียยอมรับและยอมกินอาหารจากตัวผู้ที่นำมาป้อนให้ นั่นถือเป็นสัญญาณบอกว่า ทั้งคู่ตกลงปลงใจรับรักพร้อมจะใช้ชีวิตร่วมกันตลอดไป และจะไม่มีรักใหม่ตลอดชีวิต

​           “นกเงือก” (Hornbill) เป็นนกที่ปัจจุบันค่อนข้างจะพบได้ยาก ทั่วโลกมีทั้งหมด ๕๕ ชนิด มีการแพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อนของทวีปแอฟริกา และเอเชีย ประเทศไทยมีนกเงือก ๑๓ ชนิด ซึ่งในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งมีอาณาเขตอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา มี ๔ ชนิด ได้แก่ นกกก บางคนอาจเรียก นกกะวะหรือนกกาฮัง, นกเงือกสีน้ำตาล, นกเงือกกรามช้างหรือนกกู๋กี๋ และนกแก๊กหรือนกแกง

​           ลักษณะทั่วไปของนกเงือก เป็นนกป่าขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก มีจุดเด่นคือ จะงอยปากหนาที่ใหญ่และมีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง ภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ สีขนมักมีสีดำ-ขาว ขอบตามีขนตายาวงาม เสียงร้องดัง ปีกกว้างใหญ่ บินได้แข็งแรง เวลาบินจะโบกปีกช้าๆ กินผลไม้เป็นอาหารหลัก และสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ เช่น งูและกิ้งก่าเป็นอาหารเสริม และส่วนจะงอยปากและส่วนหัวที่ใหญ่เหมือนโหนกหรือหงอนนั้น ทำให้นกเงือกถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาแต่โบราณ โดยใช้ทำเป็นเครื่องประดับของชนเผ่าต่างๆ

​           นกเงือกถือเป็นตัวบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่า ซึ่งบทบาทที่โดดเด่นของนกเงือกในระบบนิเวศป่านั้น ถือเป็นตัวช่วยกระจายพันธุ์ไม้ที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้สุก และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ ที่นกเงือกบินไปหากินในแต่ละวัน จากการวิจัยพบว่านกเงือกกินผลไม้ได้มากกว่า ๓๐๐ ชนิด  โดยเฉพาะผลไม้ที่มีขนาดผลใหญ่กว่า ๑.๕ เซนติเมตร

​           แน่นอนว่านกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ จึงต้องอาศัยนกเงือกเป็นกำลังสำคัญ นกเงือกจึงช่วยรักษาความหลากหลายของพืช โดยเป็นผู้ล่าที่สำคัญของระบบนิเวศป่า ช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงและหนู จากความสัมพันธ์ของนกเงือกกับระบบนิเวศป่าสมบูรณ์ในแง่ต่างๆ ทำให้นกเงือกมีความอ่อนไหวต่อพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป หากนกเงือกมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดอาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย โดยเฉพาะพันธุ์ไม้ที่เป็นอาหารของนกเงือก

​           ด้วยวิถีชีวิตตามธรรมชาติของนกเงือก เป็นนกที่มีนิสัยรักเดียวใจเดียว ซึ่งเป็นพฤติกรรมน่าสนใจ ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้พบเห็น มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกเงือกจะพากันหารังตามโพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรงด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ โคลน หรือมูล

​           หลังจากนั้นตัวเมียจะขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่และผลัดขนเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ไข่ และลูกนกที่เกิดมา เมื่อลูกนกโตพอแล้ว จึงเจาะโพรงออกมา ส่วนตัวผู้มีหน้าที่หาอาหารมาป้อนให้ถึงรัง ดังนั้นถ้าหากนกเงือกตัวผู้เสียชีวิตในช่วงฤดูทำรัง นั่นหมายถึงเราจะต้องสูญเสียนกเงือกแม่-ลูก ที่เฝ้ารอการกลับมาของนกเงือกตัวผู้ไปด้วย เนื่องจากตัวเมียที่ผลัดขนจะไม่สามารถออกจากรังได้ ทำให้ค่อยๆ อดอาหารตายอย่างช้าๆ ทั้งแม่และลูก ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นกเงือกเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ทั้งๆ ที่ในตามธรรมชาตินกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง ๓๐ ปี

​           เพราะความสำคัญนี้เอง นกเงือกจึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงดุลยภาพต่างๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง นกเงือกไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของรักแท้ หรือรักเดียวใจเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศของไม้มีความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ดังนั้น มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงได้กำหนดให้วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันรักนกเงือก” โดยเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา เพื่อให้คนไทยเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือกให้คงอยู่คู่กับป่าที่อุดมสมบูรณ์ตลอดไป

 วีรภัทร์ จูฑะพงษ์/ภาพ


970 1349