29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

February 22,2018

สร้างทางต่างระดับแยกโชคชัย เห็นด้วยช่วยแก้รถติดหนัก ตั้งไว้ ๙๗๐ ล้านแต่ยังขาดเงิน

 

               เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับแยกโชคชัย หลังจากออกแบบไว้เรียบร้อยไว้ตั้งแต่ ปี ๕๙ แต่ยังไม่มีงบสร้าง คาดใช้ ๙๗๐ ล้านบาท ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังแบบก่อสร้างใ กล้ “ปรางค์ สระเพลง” ๔๓๔ เมตร เสียงสนับสนุนเต็มที่ เชื่อช่วยแก้ปัญหารถติด


               ตามที่เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น. ณ โรงแรมสีมาธานี อำเภอเมืองนครราชสีมา กรมทางหลวงจัดประชุมเพื่อนำเสนอแนวทางการศึกษาสิ่งแวดล้อม ทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (แยกโชคชัย) นครราชสีมา พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม โดยมีนายนคร ศรีธิวงค์ ผู้จัดการโครงการ และนายคมชาญ ชัยพิทักษ์โรจน์ วิศวกรงานทาง เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดโครงการ ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่อำเภอโชคชัยใน ๓ ตำบล ๗ หมู่บ้าน เข้าร่วม ได้แก่ หมู่ ๑, ๒, ๓, ๑๒, ๑๓ ตำบลโชคชัย, หมู่ ๕ ตำบลพลับพลา และหมู่ ๑๒ ตำบลกระโทก รวมแล้วประมาณ ๔๐ คน


ความเป็นมาของโครงการ
               นายนคร ศรีธิวงค์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า ปัจจุบันทางหลวงหมายเลข ๒๔ และทางหลวงหมายเลขที่ ๒๒๔ เป็นเส้นทางสายหลักในการเดินทางสู่จังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทางหลวงหมายเลข ๒๔ เป็นทางจากจังหวัดสระบุรีไปบุรีรัมย์ และทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ เป็นเส้นทางจากอำเภอเมืองนครราชสีมาไปอำเภอโชคชัย ซึ่งทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (แยกโชคชัย) เป็นแยกที่มีปัญหาการจราจรคับคั่ง ซึ่งไม่สามารถรองรับปริมาณการเดินทางได้อย่างเพียงพอ ส่งผลกระทบกระแสการจราจรบนเส้นทางหลัก ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง และยังมีชุมชนหนาแน่น มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ถึงแม้ในปัจจุบันจะใช้ไฟสัญญาณจราจรควบคุมเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๘ สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง ออกแบบโครงการนี้ไว้แล้ว แต่เป็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และจากการตรวจสอบพื้นที่โครงการพบว่า มีแหล่งโบราณสถานในระยะ ๑ กิโลเมตรจากถนนโครงการ ทำให้โครงการเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา ๔๖ แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ และเพื่อให้การพัฒนาโครงการเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการน้อยที่สุด ดังนั้นกรมทางหลวง จึงได้ว่าจ้าง บริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท ซิตี้ แพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (แยกโชคชัย) นครราชสีมา


                สำหรับพื้นที่ศึกษาของโครงการตั้งอยู่ที่แยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (แยกโชคชัย) บนทางหลวงหมายเลข ๒๔ มีระยะทาง ๓.๒๒๕ กิโลเมตร และบนทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ มีระยะทาง ๑.๔ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เขตการปกครองจำนวน ๗ หมู่บ้าน ๓ ตำบล ๑ อำเภอ ในจังหวัดนครราชสีมา โดยการศึกษาจะดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียงในรัศมี ๕๐๐ เมตรจากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ มีระยะเวลาการศึกษาทั้งหมด ๑๒ เดือน


               วัตถุประสงค์ของโครงการ ๑.เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการ และแผนการดำเนินโครงการ เพื่อเป็นข้อมูลฐานประกอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ๒.เพื่อศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์สภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และดำเนินการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นเนื่องมาจากการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งเสนอแนะมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกัน แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนการจัดด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ๓.เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการ รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชมชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจโครงการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ


แบบพร้อมแต่ยังขาดงบฯ
               นายคมชาญ ชัยพิทักษ์โรจน์ กล่าวว่า โครงการนี้ได้ออกแบบในปี ๒๕๕๘ และแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๙ ถ้าไม่ติดขัดเรื่องโบราณสถาน หากมีงบประมาณก็สามารถเริ่มสร้างได้เลย เพราะกรมทางหลวงมีความพร้อมเรื่องแบบอยู่แล้ว ขาดเพียงงบประมาณเท่านั้น เมื่อสำรวจพบโบราณสถานในรัศมี ๑ กิโลเมตร จึงทำให้กรมทางหลวงต้องศึกษาต่อในเรื่องของ EIA เพื่อนำผลการศึกษา EIA ไปนำเสนอที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากผลการศึกษาผ่านการตรวจสอบและมีงบประมาณพร้อม โครงการนี้ก็สามารถเริ่มสร้างได้ ในส่วนของโครงการทางวิศวกรรมไม่ได้ออกแบบใหม่แต่อย่างไร แต่ในวันนี้ต้องการทบทวนข้อมูลต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา เช่น ลักษณะของภูมิประเทศ ลักษณะของอาคารบ้านเรือน ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไรบ้าง และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกระทบกับรูปแบบการก่อสร้างที่ได้ออกแบบไว้หรือไม่ ถ้ามีก็ต้องหาทางลดผลกระทบดังกล่าวเพื่อให้เป็นปัจจุบัน มีการตรวจสอบเรื่องของแบบเดิมว่า มีจุดใดที่ทำให้เกิดประเด็นปัญหากับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง แล้วเสนอมาตรการให้ครอบคลุมเพื่อเสนออนุมัติ EIA ต่อไป สุดท้ายก็จะปรับปรุงเรื่องค่าใช้จ่ายการก่อสร้าง เนื่องจากค่าก่อสร้างจะขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด ราคาน้ำมัน ราคาค่าวัสดุก่อสร้างด้วย
สนับสนุนให้ก่อสร้าง


               จากนั้น เป็นการเปิดให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งนายสมสรรค์ เข็มศรี หัวหน้าสำนักปลัด อบต.โชคชัย กล่าวว่า ในฐานะที่อยู่ในพื้นที่ก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่จะก่อสร้างเส้นทางสะพานสายนี้ แต่ในส่วนของปรางค์สระเพลง แม้จะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร แต่โดยสภาพยังไม่มีการบูรณะ สภาพเหมือนกองหิน มีสภาพปรักหักพัง ซึ่งผมคิดว่าถ้าอยู่ใกล้ถนน ในอนาคตตำบลโชคชัย อาจจะขอให้กรมศิลปากรปรับปรุงเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ เพราะว่าทุกวันนี้ก็เหมือนเส้นทางไปทุ่งนา ไม่มีคนไปแม้แต่คนเดียว ส่วนผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจช่วงของตัวสะพาน จะทำมาหากินลำบาก จะค้าจะขายอะไรก็ไม่ได้ รถก็ไม่มีใครจอด เพราะว่าจะเลี้ยวมาก็เลี้ยวไม่ได้ ค่อนข้างจะลำบาก ก็ต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบ แต่ว่าเพื่อส่วนรวมก็เห็นสมควรอย่างยิ่งว่า ควรมองข้ามไป ส่วนผลกระทบด้านเสียง ก็ไม่มั่นใจว่าโรงเรียนโชคชัยสามัคคีจะได้รับผลกระทบหรือไม่


               นายประภาส หวังอ้อมกลาง ผู้อำนวยการ กองช่าง เทศบาลตำบลโชคชัย ถามเรื่องโบราณสถานว่า ถ้าจะศึกษาจริงๆ จะตรวจสอบไปในเชิงไหนบ้าง หรือว่าการก่อสร้างจะกระทบตัวโบราณสถานหรือไม่ เพราะตามกฎหมายคือให้ศึกษาผลกระทบในกรณีที่ใกล้เคียงกับโบราณสถานไม่เกิน ๒ กิโลเมตร ในเรื่องของหลักการต่างๆ แนวทางจริงๆ คือป้องกันอะไรในส่วนของโบราณสถาน
 นายนคร ศรีธิวงค์ ชี้แจงว่า มีการจัดทำทะเบียนไว้แล้ว ไม่ให้เกิดผลกระทบ เพราะปรางค์สระเพลงขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อประมาณปี ๒๔๗๐ เพราะฉะนั้นจะต้องอนุรักษ์ และคงสภาพเดิมไว้ ส่วนบริเวณอื่นก็จะพิจารณาไม่ให้เกิดผลกระทบเช่นกัน 
แก้ปัญหาจราจรคับคั่ง


               พ.ต.ท.วิมล บุญมานันท์ สวป.สภ.โชคชัย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลในบริเวณทางแยกโชคชัย มีความเห็นว่า โครงการนี้จำเป็นที่ต้องดำเนินการ และจากที่ได้ดูรูปแบบของโครงการแล้ว เชื่อว่าโครงการนี้จะไม่มีผลกระทบทางสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อประชาชนมากนัก และคิดว่าโครงการนี้จะเป็นจุดที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา เนื่องจากสถานะการจราจรในปัจจุบัน ในช่วงที่มีวันหยุดตั้งแต่ ๓ วันขึ้นไป ในช่วงเย็นวันหยุดวันแรกจะมีรถที่มาจากปักธงชัยมุ่งหน้าไปบุรีรัมย์ ทำให้เกิดรถติดสะสมที่แยกโชคชัยยาวประมาณ ๓ กิโลเมตร และในวันหยุดสุดท้ายในเส้นทางจากบุรีรัมย์มุ่งหน้าไปปักธงชัยหรือไปกรุงเทพฯ จะมีรถติดสะสมยาว ๕ กิโลเมตร สาเหตุที่รถติดสะสมในช่วงเทศกาลหรือวัดหยุดจะมาจากสัญญาณไฟจราจรเป็นส่วนมาก โดยปัจจุบันได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้คอยกดสัญญาไฟจราจรเพื่อระบายรถในเส้นทางที่มีรถติดมาก บางครั้งเปิดไฟเขียวนานถึง ๒๐ นาที ก็ยังไม่สามารถระบายรถได้หมด หากไม่มีโครงการนี้ เมื่อมอเตอร์เวย์สร้างเสร็จแล้วน่าจะมีปริมาณรถติดมากกว่าเดิม
 เช่นเดียวกับนายโรจน์ชานัน กุลินจิณโรจน์ นายช่างไฟฟ้าชำนาญงาน สำนักงาน ปภ.จังหวัดนครราชสีมา ที่เห็นว่า โครงการนี้ดูแล้วน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าผลกระทบ 


ต้องทำ EIA
               นอกจากนี้ นายนคร ศรีธิวงค์ ผู้จัดการโครงการ ยังเปิดเผยเพิ่มเติมกับสื่อมวลชนว่า “โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาจราจรระหว่างทางหลวงหมายเลข ๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ และการสร้างสะพานสามารถแก้ปัญหาได้มาก โดยเฉพาะปริมาณการจราจรที่วิ่งมาจากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อวิ่งเข้าไปสู่ถนนหมายเลข ๒๒๔ ที่จะเข้าตัวเมืองโคราช ปริมาณจราจรค่อนข้างมาก  เพราะฉะนั้นถ้ามีตัวสะพานข้ามทางแยกตรงนี้ก็จะทำให้แบ่งเบาเรื่องของปริมาณจราจรดังกล่าว ส่วนเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประเด็น เนื่องจากว่าโครงการนี้เข้าข่ายรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ ถ้าเป็นพื้นที่พัฒนาโครงการที่เป็นถนนรัศมี ๑ กิโลเมตร จะต้องมีการจัดทำรายงานเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในพื้นที่การศึกษานี้มีปรางค์สระเพลง ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนไว้ เป็นตัวรูปองค์ปรางค์ที่อยู่ห่างจากเส้นทางโครงการประมาณ ๔๓๔ เมตร เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นต้องดูเรื่องผลกระทบจากโบราณคดีนี้ แต่นอกจากโบราณคดีนี้เราจะดูเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกายภาพ เรื่องของอากาศ เสียง ฝุ่น ความสั่นสะเทือน เรื่องของต้นไม้ที่อยู่บนเขตทางก็ต้องดูด้วย เรื่องของคุณภาพชีวิต เรื่องของคุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ต้องดูด้วย ดูให้ครอบคลุมทั้งหมด 


ตั้งงบไว้ ๙๗๐ ล้าน
               “ในส่วนของระยะเวลาในการเริ่มก่อสร้าง เนื่องจากว่ามีการศึกษาเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA สิ้นสุดประมาณเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ หลังจากนี้จะนำเข้าพิจารณาที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีก ๑ ปี ก็ประมาณปี ๒๕๖๒ เนื่องจากว่าโครงการนี้ไม่มีเรื่องการเวนคืน เพราะฉะนั้นก่อสร้างอีก ๒ ปี คาดว่าถ้าไม่ติดขัด ประมาณปี ๒๕๖๕ ก็จะสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของกรมทางหลวง และนโยบายของรัฐบาลด้วยว่า งบประมาณจะจัดสรรมาหรือไม่อย่างไร ซึ่งตั้งไว้ประมาณ ๙๗๐ ล้านบาท รวมทุกอย่าง คือต้องดูองค์ประกอบทั้งตัวสะพานที่ข้ามตัวสายหลักก็คือ สะพานที่เป็นระดับ ๒ อีกอันหนึ่งก็เป็นสะพานระดับ ๓ ก็คือที่จะเลี้ยวจากบุรีรัมย์เลี้ยงขวาเข้าตัวเมืองรวมทุกอย่างแล้ว ทั้งรวมเรื่องของการปรับปรุงขยายทาง เพื่อสอดรับเรื่องของตัวสะพานที่รถจะเลี้ยวมา รวมตัวทางหลวงหมายเลข ๒๔ ก็คือ ๓๒ กิโลเมตร รวมจากทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ระยะทาง ๑.๔ กิโลเมตร สุดท้ายแล้ววันนี้การรับฟังความคิดเห็นในช่วงบ่าย ก็คือเป็นไปด้วยดี เนื่องจากว่าผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นก็คือ เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงการ เพราะว่าจะสามารถแบ่งเบาเรื่องปริมาณจราจรที่อยู่บริเวณทางแยกจุดตัดแยกโชคชัย” นายนคร ศรีธิวงค์ กล่าวในท้ายสุด

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๘๗ วันพุธที่ ๒๑ - วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๑


751 1412