26thApril

26thApril

26thApril

 

February 23,2018

วางบัสไฟฟ้าล้อยางวิ่งโคราช เชื่อมบขส.-สนามบิน-รถไฟ ต้นทุนต่ำซ้ำผลิตได้ในปท.

                 มทส.รับงานวิจัยจาก กฟผ.และสวทช. ศึกษารถโดยสารไฟฟ้า ล้อยางวิ่งในเขตเมือง ๓ เส้นทางหลัก เชื่อมสถานีรถไฟทางคู่ ความเร็วสูง และสนามบิน คาดแล้วเสร็จตุลาคมนี้ หวังเทศบาลนครฯ นำไปพัฒนาให้เป็นรูปธรรม ยืนยันไม่กระทบวิถีชีวิตประชาชน ซ้ำยังลงทุนต่ำกว่าระบบราง และสามารถผลิตได้เองในประเทศ

 

 

            ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนทุนดำเนินการศึกษาให้แก่ ๔ มหาวิทยาลัยในโครงการนำร่องสู่การสร้างต้นแบบรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ในพื้นที่ ๔ เมือง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโน โลยีสุรนารี (มทส.) ดำเนินการศึกษาในพื้นที่เมืองนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการศึกษาพื้นที่เมืองเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการศึกษาพื้นที่เมืองพิษณุโลก และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการศึกษาพื้นที่เมืองพัทยา (ชลบุรี) นั้น 

            ในส่วนของเมืองนครราชสีมา คณะผู้วิจัย มีรศ.ดร.ธนัดชัย กุลวรวานิชพงษ์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มทส. เป็นหัวหน้าโครงการ ส่วนผู้ร่วมโครงการประกอบด้วย ผศ.ดร.รัฐพล ภู่บุบผาพันธ์ สาขาวิชาวิศวกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ มทส., ดร.กฤตยา สมสัย สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร, ดร.จักรกฤษณ์ เคลือบวัง สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มทร.ล้านนา วิทยาเขตตาก, ดร.เอกรงค์ สุขจิต สาขาวิศวกรรมยานยนต์ มทส., ดร.อุเทน ลีตน สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มทส. และดร.ทศพล รัตน์นิยมชัย สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มทส.   

            โครงการนี้นำเสนอการศึกษาเชิงนโยบายเกี่ยวกับการใช้รถโดยสารไฟฟ้าโทรลลี (Trolley) ในเขตเมืองนครราชสีมา เพื่อสร้างเส้นทางการเชื่อมเสริมกับระบบขนส่งหลัก โดยรูปแบบของระบบขนส่งเน้นการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้าโทรลลีล้อยางให้เชื่อมต่อกับเส้นทางของระบบขนส่งสายหลักในเมืองนครราชสีมาที่ได้จากการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคมเส้นทางที่นำเสนอสำหรับโครงการนี้ประกอบด้วยเส้นทางเชื่อมต่อ ๓ รูปแบบ ได้แก่ ๑. เส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างเส้นทางของระบบขนส่งสายหลัก ๒ เส้นทาง ภายในเขตเมืองเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการเปลี่ยนเส้นทาง ๒. เส้นทางเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟความเร็วสูง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง และ ๓. เส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังท่าอากาศยานนครราชสีมา ซึ่งการศึกษาเน้นไปที่ผลการเปรียบเทียบผลกระทบในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งในด้านสังคม เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ระบบไฟฟ้า การใช้พลังงาน และการบริหารจัดการ

            การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเส้นทางการเดินรถโดยสารไฟฟ้าโทรลลีที่เหมาะสมสำหรับเขตเมืองนครราชสีมา รวมทั้งเพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ที่จะใช้เทคโนโลยีรถโดยสารไฟฟ้าโทรลลีเปรียบเทียบกับรถโดยสารไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่สำหรับเมืองนครราชสีมา และเพื่อนำเสนอรูปแบบการบริหารจัดการระบบรถโดยสารไฟฟ้าในเส้นทางและเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับเมืองนครราชสีมา โดยตั้งเป้าหมายและประโยชน์ที่ได้จากการโครงการวิจัยนี้ จะมีการรายงานผลการศึกษาเชิงนโยบายการใช้รถโดยสารไฟฟ้าโทรลลี เปรียบเทียบกับรถโดยสารที่ใช้งานในปัจจุบันสำหรับเมืองนครราชสีมา เพื่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่วางแผนระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลักนำไปใช้ประโยชน์ เช่น สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และสำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งคาดว่าเทศบาลนครนครราชสีมา จะเป็นผู้นำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ 


รศ.ดร.ธนัดชัย กุลวรวานิชพงษ์ 
สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มทส. 

            สำหรับวิธีดำเนินการจะแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ ๑ (S-Survey) การศึกษาระบบขนส่งมวลชนและระบบไฟฟ้าของเมืองนครราชสีมาในเส้นทางที่คัดเลือก ส่วนที่ ๒ (D-Design) การศึกษาและออกแบบระบบรถโดยสารไฟฟ้าที่ใช้ล้อยางในเบื้องต้นสำหรับเมืองนครราชสีมา ส่วนที่ ๓ (A-Analysis) การวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากระบบรถโดยสารไฟฟ้าที่ใช้ล้อยางสำหรับเมืองนครราชสีมา ส่วนที่ ๔ (E-Evaluation) การเปรียบเทียบศักยภาพของรถโดยสารไฟฟ้าที่ใช้ล้อยางสำหรับเมืองนครราชสีมา และส่วนที่ ๕ (M-Management)  การศึกษารูปแบบการบริหารจัดการระบบการเดินรถโดยสารไฟฟ้าโทรลลีล้อยาง

            อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะผู้วิจัย นำโดย รศ.ดร.ธนัดชัย กุลวรวานิชพงษ์ พร้อมคณะทำงาน ได้ลงพื้นที่เพื่อทำ Focus Group เกี่ยวกับโครงการนี้ที่เทศบาลนครราชสีมา โดยมีนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา พร้อม พล.ต.ต.วัชรินทร์ บุญคง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา นายศิระ บุญธรรมกุล ขนส่งจังหวัดนครราชสีมา นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และผู้แทนชุมชนในเขตเมือง ร่วมรับฟัง พร้อมแสดงความคิดเห็นและซักถามข้อสงสัย ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความสนใจการนำรถโทรลลี เพราะคิดว่ามีความเป็นได้สูง เนื่องจากใช้งบดำเนินการประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ ล้านบาท ที่สำคัญไม่ต้องก่อสร้างราง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นผิวจราจรในเขตเมืองที่มีปัญหาความคับแคบและความแออัดกับปริมาณยานพาหนะ หากมีการปรับแนวเส้นทางที่ยังไม่ครอบคลุมสถานที่สำคัญ จะสามารถตอบโจทย์ได้ทันที โดยแนวทางการศึกษา พบรถโดยสารไฟฟ้าโทรลลี ถือเป็นยานพาหนะพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดกับลักษณะทางกายภาพของเมืองนครราชสีมา รถโทรลลีใช้พลังงานไฟฟ้าส่งผ่านสายไฟฟ้าจากด้านบนตัวรถ เมื่อเปรียบเทียบกับระบบขนส่งรูปแบบระบบราง LRT หรือระบบแบตเตอรี่บัส ที่มีข้อเสียต้องลงทุนใช้งบค่อนข้างสูง เครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยีส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่โครงการรถไฟฟ้าโทรลลีใช้เทคโนโลยีวัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศ สามารถลดต้นทุนได้มาก


            “แนวทางศึกษาเส้นทางและการให้บริการกำหนดระยะทางประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร เส้นทางที่ ๑ เส้นวงแหวนเชื่อมสถานีรถไฟทางคู่นครราชสีมา ๓.๒ กม. ซึ่งเชื่อมต่อเส้นทางสายหลัก ๒ เส้นทาง คือ สายสีม่วงและสายสีเขียว, เส้นทางที่ ๒ เชื่อมต่อถนนในเขตเมือง เชื่อมต่อสถานีรถไฟความเร็วสูง ๑๓.๗ กม. และเส้นทางที่ ๓ เชื่อมต่อท่าอากาศยานนครราชสีมา อ.เฉลิมพระเกียรติฯ ๘.๒ กม. เพื่อตอบสนองความต้องการการเดินทางในเมืองหลัก เหมาะสมกับผู้ใช้งานทุกกลุ่มในสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” รศ.ดร.ธนัดชัย กล่าว

            ล่าสุด รศ.ดร.ธนัดชัย เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า โครงการเริ่มมาเมื่อ ๑ ปีที่แล้ว ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อยากให้นำรูปแบบของรถที่ใช้ไฟฟ้ามานำเสนอว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมาใช้ในประเทศไทย จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมา และมอบหมายให้ ๔ มหาวิทยาลัยดำเนินการศึกษา ซึ่งก็เป็นรถบัสทั่วไป เพียงแต่ว่าใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นล้อยาง แตกต่างจากระบบที่เขาศึกษาโดยทั่วไปที่เป็นระบบรางส่วนใหญ่ ซึ่งโทรลลีนี้พื้นที่ศึกษาอยู่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาลนครนครราชสีมา เส้นทางหลักจะเชื่อมระหว่างสถานีหัวรถไฟนครราชสีมา ไป บขส. ๑ และไป บขส. ๒ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลนครฯ 

            “ขณะนี้ยังศึกษาไม่จบ กำลังจะเริ่มศึกษา และได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการแก่กลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งเทศบาลนครฯ เพราะเส้นทางต่างๆ ถูกกำหนดอย่างชัดเจน จึงต้องมารับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ต้องการให้เกิดเส้นทางไหน จะได้ศึกษาตามความต้องการของท้องถิ่น และจะมีการจัดประชุมอีกครั้งประมาณ ๒-๓ ครั้ง ซึ่งงบประมาณที่ได้มา ๓ ล้านบาทเป็นการศึกษาแค่ศักยภาพและความเป็นไปได้เท่านั้น” หัวหน้าคณะผู้วิจัย กล่าว

            สำหรับโครงการนี้ รศ.ดร.ธนัดชัย เปิดเผยว่า “เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน เพราะที่ผ่านมามีการศึกษาหลายรูปแบบ และมีรูปแบบนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ค่อยได้รับความสนใจมาก แต่จะเน้นเป็นระบบรางเป็นหลัก ซึ่งระบบรางค่อนข้างกระทบมากพอสมควร ลงทุนสูง แต่หากเป็นรถบัสไฟฟ้าจะก่อสร้างง่ายกว่า ไม่กระทบกับการใช้รถใช้ถนนมาก และราคาค่าก่อสร้างถูกกว่าระบบราง ประชาชนค่อนข้างจะคุ้นเคยมากกว่า เหมือนการขึ้นรถบัสหรือรถโดยสารตามปกติ เพียงแต่ว่าเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า”

            “โคราชคนอีสาน” ถามว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่โครงการนี้จะมีการนำไปใช้ในอนาคต? รศ.ดร.ธนัดชัย กล่าวว่า “คิดว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เพราะมีความใกล้ชิด ความคุ้นเคยกันดีจากระบบเดิม ก็เหมือนรถเมล์ธรรมดาที่วิ่งอยู่บนถนนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะติดตั้งสายไฟอยู่ด้านบน ซึ่งมีส่วนที่เพิ่มเติมอยู่นิดหน่อย จะทำให้คนไม่ถึงกับรู้สึกแปลกแยก แตกต่างมากนักกับของเดิม โครงสร้างการก่อสร้างก็ง่าย เราไม่ต้องก่อสร้างเป็นถนน เป็นสถานีใหญ่โต จอดรถก็เหมือนป้ายรถเมล์ธรรมดา และก็กันแดด กันฝน ทำหลังคาคลุม ทำที่นั่งรอรถ แค่นั้นพอ”

            ต่อข้อถามที่ว่า จากการไปนำเสนอที่เทศบาลนครฯ นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรี มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง? รศ.ดร.ธนัดชัย เปิดเผยว่า “ค่อนข้างที่จะสนใจ องค์กรท้องถิ่นต้องการอยากจะให้นำเสนอเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ถ้าเราจะทำทั้งหมด จะเป็นอย่างไรบ้าง แต่ทางโครงการเราไม่ได้ศึกษาระดับนั้น จะศึกษาถึงแค่เส้นทางที่เชื่อมโยง สถานีรถไฟไปบขส. รวม ๓ เส้นทางแค่นั้น โดยโครงการนี้จะสามารถรองรับทั้งรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงด้วย คือ เมื่อลงรถที่สถานี หรือสนามบิน ก็สามารถโดยสารรถโทรลลีนี้ต่อไปได้ โดยคาดว่าจะศึกษาเสร็จในเดือนตุลาคมปีนี้” 

            อนึ่ง สำหรับตัวรถโดยสารไฟฟ้าโทรลลีล้อยางนี้ ทั่วไปจะเป็นแบบชานต่ำ (Low-Floor) อาจจะเป็นรถแบบตอนเดียวหรือหลายตอนก็ได้ เพลาขับเคลื่อนติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า ขับเคลื่อนพิกัดประมาณ 100-200 kW/axle รับไฟฟ้าจากระบบจ่ายไฟฟ้าโทรลลี ในขณะที่ระบบจ่ายไฟฟ้าเป็นสายจ่ายไฟฟ้าพาดอากาศ (overhead line system) จ่ายไฟฟ้าในระบบจ่ายไฟฟ้ากระแสตรงที่ระดับแรงดันทำงาน 600 V สำหรับระบบเก่า สำหรับระบบที่ถูกติดตั้งใหม่จะใช้แรงดันทำงาน 750 V โดยมีการติดตั้งสถานีเรียงกระแส (rectifier substation) เพื่อสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อน ในขณะที่สถานีขับเคลื่อนพิกัดประมาณ 1.0-3.0 MW จะถูกติดตั้งด้วยระยะห่างระหว่างสถานีไฟฟ้าประมาณ ๓๐๐-๑,๐๐๐ เมตร เพื่อแปลงระบบไฟฟ้าให้เป็นกระแสตรงจ่ายให้กับรถโดยสารไฟฟ้าโทรลลี 

           นอกจากนี้ ยังมีการยกตัวอย่างการลงทุนระบบรถโดยสารโทรลลีของเมือง Gdynia ประเทศโปแลนด์ในช่วงปี ค.ศ.๒๐๑๐-๒๐๑๒ ซึ่งคำนวณต้นทุนค่าโครงสร้างพื้นฐานของระบบรถโดยสารโทรลลี ดังนี้ Overhead wire ประมาณ ๑๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท/กม., Substation ประมาณ ๑๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท Substation ๐.๒๙/กม. สำหรับต้นทุนค่าจัดซื้อรถโดยสาร ประกอบด้วย Bus-purchase ๖,๙๓๐,๐๐๐ บาท, Trolley-purchase ๘,๘๒๐,๐๐๐ บาท, Bus-lifetime ๑๒ ปี และ Trolley-lifetime ๒๐ ปี

 


 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๘๗ วันพุธที่ ๒๑ - วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๑

 


697 1347