18thApril

18thApril

18thApril

 

March 09,2018

ขยะโคราชจะล้นเมือง ศูนย์กำจัดรับไม่ไหว ต้องร่วมคัดแยกก่อนทิ้ง

           สถานการณ์ขยะโคราชส่อวิกฤตอีก หลังศูนย์กำจัดขยะเทศบาลนครฯ รับไม่ไหว เรียกประชุมด่วน หารือขยะ อปท. ๓ แห่ง ปิดรับกำจัดขยะ ด้านอธิบดีกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม แก้ปัญหาวิกฤตขยะ หาแนวทางช่วยเหลือเร่งด่วน ย้ำต้องคัดแยกก่อนทิ้ง

           ตามที่เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรีขรรค์ไชย ทันธิมา ท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งผู้แทนเทศบาลเมืองเมืองปัก อ.ปักธงชัย เทศบาลตำบลด่านขุนทด อ.ด่านขุนทด และเทศบาลตำบลแชะ อ.ครบุรี ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นที่ตั้งโรงกำจัดขยะมูลฝอย ระบบวิธีเชิงกลชีวภาพ (SUT–MBT) ผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) และปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมประชุมประเมินสถานการณ์ขยะมูลฝอยและแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่มีบ้านพักและที่ทำกินละแวกที่ตั้งโรงกำจัดขยะได้รับผลกระทบจากน้ำเสียและกลิ่นรบกวนเป็นประจำ

           นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยที่ ๓ เทศบาลนครนครราชสีมา ประสบปัญหาปริมาณขยะสะสมตกค้างกว่า ๖.๕ แสนตัน เต็มพื้นที่ใช้งานและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จึงให้ อปท.ส่วนหนึ่งในเขตอำเภอเมือง รวม ๑๔ แห่ง กระจายนำขยะปริมาณรวม ๖๐ ตัน มาที่โรงกำจัดขยะทั้ง ๓ แห่ง แต่ขีดความสามารถการกำจัดขยะแต่ละแห่งต่อวันไม่เกิน ๒๕ ตัน โดยเทศบาลเมืองเมืองปัก มีขยะตกสะสมค้างกว่า ๓.๖ หมื่นตัน และต้องกำจัดขยะที่เกิดขึ้นทุกวันทั้งในพื้นที่และอีก อปท. ๖ แห่งได้มาทิ้งรวม ๕๐ ตัน เกินกำลังที่รองรับ ทำให้ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เพื่อให้ระบบฯ และเครื่องจักรสามารถทำงานในระยะยาว รวมทั้งกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมได้จ้างเหมาให้ขนขยะไปกำจัดอย่างถูกต้องที่โรงงานปูนซีเมนต์ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ใช้งบ ๘,๓๖๔,๐๐๐ บาท โดยทีพีไอจ่ายค่าขนส่งให้เทศบาลเมืองเมืองปัก ตันละ ๕๐ บาท ส่วน อปท. ๖ แห่ง ที่นำขยะมาทิ้งทุกวัน ได้แจ้งให้นำขยะไปกำจัดที่โรงกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครนครราชสีมา และโรงกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลตำบลด่านขุนทด รับขยะกำจัดวันละ ๓๑ ตัน ซึ่งมีชุมชนร้องเรียนการนำขยะพื้นที่อื่นมากำจัดในระบบฯ และมีปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงต้องปิดรับขยะของ อปท.ในเขตอ.เมือง ๔ แห่ง โดยให้นำไปกำจัดที่โรงกำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครราชสีมา ส่วนโรงกำจัดขยะเทศบาลตำบลแชะ มีขยะกำจัดวันละ ๒๕ ตัน จึงไม่มีปัญหา แต่รับกำจัดขยะจากเทศบาลตำบลศาลเจ้าพ่อขุนศรี อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งผิดข้อบังคับตามที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง จึงสั่งให้งดรับตั้งแต่บัดนี้

           สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยและการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น นายมุรธาธีร์ กล่าวว่า นายวิเชียร จันทรโณทัย เน้นย้ำให้ อปท.จัดกิจกรรมรณรงค์คัดแยกขยะต้นทางให้มีประสิทธิภาพรวมทั้งประสานนักวิจัย มทส. ประดิษฐ์คิดค้นมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบพัฒนาต่อยอดให้เป็นภาชนะใส่อาหารแทนโฟม แม้ต้นทุนสูงแต่สามารถย่อยสลายได้ หากดำเนินการที่ตั้งเป้าไว้สามารถช่วยลดปริมาณขยะได้ ๑ ใน ๓ ทำให้แบ่งเบาปัญหาได้พอสมควร

           ล่าสุดเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลนครนครราชสีมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมปกครองการท้องถิ่น พร้อมด้วยผู้ตรวจราชการเดินทางมารับฟังการบรรยายสรุปการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลนครนครราชสีมา โดยมีนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา และผู้บริหารรวมทั้งหัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

           นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศบาลนครนครราชสีมา กล่าวชี้แจงสถานการณ์ขยะมูลฝอยว่า ปัจจุบันกำจัดขยะในระบบคัดแยกด้วยเครื่องร่อนและหมักทำก๊าซชีวภาพ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ทุกวันจะมี อปท. ในเขต อ.เมือง อ.ขามทะเลสอ อ.เฉลิมพระเกียรติ และบางส่วนของอ.โชคชัย จำนวน ๔๐ แห่ง นำขยะปริมาณรวม ๔๒๒ ตัน มากำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยที่ ๓ นครราชสีมา แต่ระบบรองรับได้ ๒๓๐ ตัน เกินขีดความสามารถ จึงส่งผลกระทบทั้งปัญหาน้ำชะขยะไหลเข้าชุมชนและส่งกลิ่นรบกวน ซึ่งได้บรรเทาปัญหาเบื้องต้น โดยเพิ่มเติมระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ พร้อมฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพและน้ำส้มควันไม้ลดกลิ่นและปลูกต้นไม้ในพื้นที่ฉนวนระหว่างชุมชนกับโรงกำจัดขยะ นอกจากนี้ได้จัดทีมแพทย์ พยาบาล ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพประชาชนที่มีบ้านพักในละแวกโรงกำจัดขยะมูลฝอยเป็นประจำทุก ๓ เดือน 

           “ส่วนความก้าวหน้าโครงการระบบกำจัดมูลฝอย ระยะที่ ๒ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะทำงานพิจารณาโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ขณะนี้รอกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามอนุมัติดำเนินโครงการฯ สำหรับบ่อฝังกลบมูลฝอยชั่วคราว ๕๐ ไร่ อยู่ระหว่างปูแผ่น HDPE ก้นบ่อฝังกลบใช้เวลาดำเนินการ ๙๐ วัน จึงจะแล้วเสร็จ ส่วนกรณี อปท. รวม ๑๑ แห่ง จะนำขยะกลับมาทิ้งที่เทศบาลนครนครราชสีมาอีกครั้ง เนื่องจากโรงกำจัดขยะของเทศบาลเมืองเมืองปัก อ.ปักธงชัย เทศบาลตำบลแชะ อ.ครบุรี และเทศบาลด่านขุนทด อ.ด่านขุนทด ระบบกำจัดไม่สามารถรองรับปริมาณขยะเกินกำลัง ได้ส่งผลกระทบทั้งน้ำเสียและกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน ขณะนี้บ่อฝังกลบชั่วคราวของเทศบาลนครนครราชสีมายังไม่แล้วเสร็จ คาดช่วงเดือนมิถุนายนนี้จะแล้วเสร็จ สามารถรับปริมาณขยะได้ทั้งหมดอีกประมาณ ๓ ปี ขอให้ อปท. ทั้ง ๓ แห่ง แก้ไขปัญหาให้ถึงที่สุดก่อน” นายสุรวุฒิ กล่าว

           ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เทศบาลนครนครราชสีมา มีปัญหาการกำจัดขยะปลายทาง จึงขอใช้พื้นที่ชั่วคราวกับกองทัพบก เพื่อทำบ่อฝังกลบและก่อสร้างโครงการ เฟส ๒ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมายที่มีรายละเอียดเทคนิคปลีกย่อย เร็วๆ นี้น่าจะประกาศหาเอกชนมาร่วมลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากต้นทาง ประชาชน และ อปท. ต้องคัดแยกขยะด้วยหลักการ ๓ อาร์ คือลดการใช้, ใช้ซ้ำ และแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะสามารถลดปริมาณขยะได้ถึง ๔๐%

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๐ วันอังคารที่ ๖ - วันเสาร์ที่ ๑๐ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


720 1342