20thApril

20thApril

20thApril

 

March 12,2018

ชาวพิมายร้องศาลปกครอง เขตโบราณสถาน ๒,๖๒๗ ไร่ ปชช.รับไม่ได้ทำที่ดินเสื่อมค่า

          “ศรีสุวรรณ จรรยา” นำทีมพิมาย ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง  กรมศิลปากรประกาศเขตโบราณสถานพิมาย ๒,๖๒๗ ไร่ เดือดร้อนกันทั่ว ทำที่ดินเสื่อมค่า ขยายธุรกิจลำบาก วอนอธิบดีกรมศิลป์จับเข่าคุยประชาชนอย่างจริงจัง

           ตามที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองพิมาย ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. โบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๗ โดยให้อธิบดีกรมศิลปากรมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนโบราณสถานใดๆ ตามที่เห็นสมควรและให้มีอำนาจในการกำหนดเขตที่ดินตามที่เห็นสมควรเป็นเขตของโบราณสถาน โดยให้ถือว่าเป็นโบราณสถานด้วย ซึ่งในมาตรา ๗ ระบุว่า การขึ้นทะเบียนหากมีเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ชอบด้วยกฎหมายในพื้นที่ที่จะทำการขึ้นทะเบียน ให้กรมศิลปากรแจ้งหนังสือไปยังผู้ถือครอง ซึ่งกรมศิลปากรมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินโบราณสถานเมืองพิมาย หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินไม่เห็นด้วยหรือมีข้อโต้แย้งประการใดก็ให้ใช้สิทธิร้องต่อศาลปกครองภายใน ๓๐ วันนั้น หากมีการคัดค้านก็ต้องการให้ดำเนินการคัดค้านโดยยื่นเรื่องผ่านต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้กรมศิลปากรชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นตามขั้นตอน ส่งผลให้ชาวพิมายออกมาคัดค้านการประกาศเขตครั้งนี้ เนื่องจากครอบคลุมพื้นที่กว่า ๒.๖๐๐ ไร่ ซึ่งเกรงว่าจะกระทบกับการก่อสร้างอาคารและการซื้อขายที่ดิน รวมทั้งคิดว่าจะทำให้เศรษฐกิจซบเซา ตามที่ “โคราช คนอีสาน” เสนอข่าวไปแล้วนั้น 
           ล่าสุดเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๒.๐๐ น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมด้วยนายดนัย ตั้งเจิดจ้า นายกเทศมนตรีตำบลพิมาย และนายอุดม ศรีตระกูล ผู้ประกอบกิจการมันสำปะหลังในอำเภอเมืองพิมาย เดินทางไปยังศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา โดยอ้างเป็นตัวแทนพี่น้องชาวพิมายยื่นคำ ฟ้องกรมศิลปากรในกรณีประกาศเขตโบราณสถานเมืองพิมาย ๒,๖๒๗ ไร่ 
 ภายหลังยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า การที่กรมศิลปากรส่งหนังสือถึงประชาชนในการประกาศเขตโบราณสถานเมืองพิมาย ๒,๖๒๗ ไร่ ส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวพิมาย ๑,๖๕๕ คน เป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากการประกาศพื้นที่ครอบคลุมตัวเมืองพิมายทั้งหมด เป็นการลิดรอนสิทธิของพี่น้องประชาชนที่มีทรัพย์สินที่ดิน บ้านเรือน และพืชสวนไร่นาในพื้นที่ต่างๆ เพราะว่าการใช้อำนาจของอธิบดีกรมศิลปากรตามมาตรา ๗ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานปี ๒๕๐๔ นั้น จะทำให้พี่น้องประชาชนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการค้า หรือก่อสร้างใดๆ ได้จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งเหล่านี้เป็นเรื่องการลิดรอนสิทธิประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ 
           “เมื่อชาวพิมายได้พยายามเรียกร้องไปยังอธิบดีกรมศิลปากร เรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนองในข้อเรียกร้องดังกล่าว ประชาชนจึงมาพึ่งศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา ในการวินิจฉัย รับคำร้อง และไต่สวน และให้มีข้อคำสั่งหรือคำพิพากษาในการระงับการใช้อำนาจของอธิบดีกรมศิลปากรในครั้งนี้ ซึ่งมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียประมาณ ๑,๖๕๕ คน และยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่ได้รับจดหมายจากกรมศิลปากร เนื่องจากทางกรมศิลปากรพยายามที่จะส่งจดหมายเป็นระลอกๆ ไม่พร้อมกัน เมื่อประชาชนได้รับจดหมายจะต้องรีบยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่รับจดหมาย ประชาชนจึงจัดชุดที่จะเข้ามายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเป็นระลอก น่าจะครบทั้งหมด ๑,๖๕๕ คน เนื่องจากกรมศิลปากรได้ออกหนังสือเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ แต่ไปรษณีย์ส่งถึงมือประชาชนวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ ๖-๗ เดือน ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณปี ๒๕๒๖ และน่าจะผิดกฎหมายด้วย เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลแล้วด้วย หลังจากที่อธิบดีกรมศิลปากรออกมาแถลงการณ์ถึงเรื่องการประกาศเขตโบราณสถานเมืองพิมาย ประชาชนบางส่วนที่อาจจะเข้าใจบ้างและไม่เข้าใจบ้าง เพราะว่าเท่าที่ได้รับฟังแถลงการณ์ของอธิบดีกรมศิลปากรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มักไม่ได้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากว่าในตัวบทของ พ.ร.บ.โบราณสถานปี ๒๕๐๔ เขียนไว้ชัดเจนว่า เมื่อประกาศเขตพื้นที่โบราณสถานแล้ว เป็นอำนาจอธิบดีกรมศิลปากรที่จะดำเนินการใดๆ ในพื้นที่เขตโบราณสถานได้ อาจจะสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข รื้อถอน หรือแม้แต่การดำเนินกิจการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง ปรับปรุงซ่อมแซม จะต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรก่อน และที่สำคัญคืออาจจะมีการเวนคืนที่ดินบางส่วนที่อาจจะไปกระทบต่อโบราณสถาน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ประชาชนอาจจะไม่เข้าใจระเบียบของทางราชการว่าการขออนุญาตก่อสร้างนั้น ไม่สามารถได้รับการอนุมัติภายในวันสองวันได้ บางทีอาจจะใช้ระยะเวลา ๑-๖ เดือน เหมือนในกรณีที่กรมศิลปากรส่งจดหมายมาถึงชาวบ้านนั้นยังใช้ระยะเวลาตั้ง ๗ เดือน แล้วประชาชนที่ไม่มีความรู้จะทำอย่างไร” นายศรีสุวรรณ กล่าว

                                              


           นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่พี่น้องชาวพิมายรับไม่ได้คือ ทำให้พื้นที่ที่อาจจะถูกประกาศเป็นเขตโบราณสถานเกิดความเสื่อมของมูลค่าที่ดิน แล้วประชาชนจะนำทรัพย์สินโฉนดที่ดินของตนเองไปค้ำประกันเงินกู้ในสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อนำมาประกอบกิจการร้านค้า หรือทำธุรกิจ ถูกลดเครดิตและจะต้องไปหาสินทรัพย์อื่นมาเพิ่ม เรื่องเหล่านี้เป็นผลระทบที่กรมศิลปากรไม่เคยบอกข้อเท็จจริงให้กับพี่น้องชาวพิมายได้รับรู้ การที่กรมศิลปากรต้องการขยายพื้นที่ของเขตอุทยานประสาทหินพิมาย เนื่องจากเมื่อขยายพื้นที่ออกไปกว้างขวางมากยิ่งขึ้น การเสนอของบประมาณแผ่นดินในการปรับปรุงแก้ไข หรือพัฒนา ทำให้งบในการพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยล้านบาท และในอนาคตหากสามารถผลักดันให้เป็นมรดกโลกได้ เงินงบประมาณที่จะไหลลงมาในการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ก็จะมากไปด้วย 
          “จึงอยากฝากถึงอธิบดีกรมศิลปากร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา รวมทั้งกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีด้วยว่า ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล คสช. ทางที่ดีอธิบดีกรมศิลปากรควรมานั่งจับเข่าคุยหรือเปิดเวทีกับพี่น้องประชาชนชาวพิมาย ให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า ในการดำเนินการใช้อำนาจใดๆ จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ มาตรา ๔๓ (๓) ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสนอแนะ และทบทวนในประเด็นปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนได้ ต้องการให้อธิบดีกรมศิลปากรมานั่งจับเข่าคุยหรือเปิดเวทีกับพี่น้องประชาชนชาวพิมาย มาหาทางออกในเรื่องนี้ร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเดินหน้า และในที่สุดก็ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีในการปรองดองในประเทศของเรา” นายศรีสุวรรณ กล่าว
          ทางด้านนายอุดม ศรีตระกูล ผู้ประกอบกิจการในอำเภอเมืองพิมาย กล่าวว่า ประการแรกกรมศิลปากรระบุว่า ไม่มีการเวนคืนที่ดิน แต่ประชาชนชาวพิมายไม่สามารถแบ่งที่ดินให้กับลูกหลานได้ กรมศิลปากรได้ออกมาค้าน ถ้าจะโอนที่ดินนั้นให้โอนทั้งพื้นที่ได้ แต่ไม่สามารถแบ่งเป็นส่วนได้ ครอบครัวไหนที่มีลูกหลายคนจะทำอย่างไร ประการที่ ๒ สถาบันทางการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อให้ OD อาจจะลดลงมากกว่า ๕๐% สำหรับนายทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ก็ได้ระงับโครงการไปหลายที่ นายหน้าหรือคนที่ต้องการซื้อที่ดินในบริเวณนี้มองถึงอนาคตของมูลค่าที่ดินที่จะลดลงด้วย
          นายดนัย ตั้งเจิดจ้า นายกเทศมนตรีตำบลพิมาย เปิดเผยว่า “คนพิมายรักปราสาทหินพิมายอยู่แล้ว แต่อยู่ดีๆ มีคนมาบอกว่ารักมากกว่านี้ มันน่าคิด วันนี้พี่น้องชาวพิมายไม่เชื่อกรมศิลปากร ที่ออกกฎหมายมา ๓ ข้อ ข้อ ๑ เพื่อพัฒนาเมืองให้ไปในทิศทางเดียวกัน ข้อ ๒ เอกสารสิทธิ์ก็ยังอยู่เหมือนเดิมไม่ได้ไปเวนคืนที่ดิน และข้อ ๓ หากจะปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนต้องขออนุญาต เพียงแต่การขออนุญาตสร้างสิ่งปลูกสร้างนั้นความสูงไม่เกิน ๘ เมตร แต่ทุกคนอย่าลืมว่า มี พ.ร.บ.ควบคุมอาคารอยู่แล้วและใช้กันทั่วประเทศ มีผังเมืองรวมที่ประกาศใช้ในเขตพิมาย ซึ่งกำหนดความสูงไม่เกิน ๙ เมตร และยังมีคณะอนุกรรมการเมืองเก่าเข้าพิจารณาเรื่องรูปแบบสถาปัตยกรรม ทั้งหมดนี้ครอบคลุมสิ่งที่กรมศิลปากรต้องการทั้งหมด ที่สำคัญเหตุที่ประชาชนไม่เชื่อ เพราะในจำนวนผู้ร้องเรียน ถูกกรมศิลปากรฟ้องแล้วว่าบุกรุก ๖๔ ราย ทั้งที่ประชาชนมีเอกสารสิทธิ์ แต่กลับไปแจ้งความเพื่อให้ประชาชนได้รับโทษทางอาญา ณ วันนี้ยังประกาศใช้หนังสือฉบับนี้ไม่ได้ ยังไปแจ้งความเอาผิดกับประชาชนอีก แล้วในอนาคตประชาชนจะอยู่อย่างไร” 
          อนึ่ง หากมีความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป

 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๑ วันอาทิตย์ที่ ๑๑ - วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


730 1351