25thApril

25thApril

25thApril

 

March 12,2018

สนข.อนุมัติ“ท่าเรือบก” เสี่ยต้อยติ่ง’ขยับนิคมอุตฯ ศูนย์กลางขนส่งอีสาน

              สนข.อนุมัติ “ท่าเรือบก” ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ติดทางรถไฟ เป็นจุดกองเก็บตู้สินค้าขนส่งสินค้าทางราง โดยบรรจุไว้ในแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนส่งสินค้า ปี ๒๕๖๕ เร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภค รองรับศูนย์กลางการขนส่งภาคอีสาน

              นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล หรือ “เสี่ยต้อยติ่ง” ประธานกรรมการบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด หรือโครงการนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ตามที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ถึงสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอโครงการท่าเรือบก (ICD) ในพื้นที่นิคมฯ อุดรธานีนั้น และสนข.ได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ แจ้งผลการพิจารณา โดยเห็นว่า การที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเสนอให้ใช้พื้นที่ที่ติดทางรถไฟเป็นจุดกองเก็บรู้สินค้าของจังหวัดนั้น เป็นแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางราง ดังนั้นสนข.จึงได้เสนอคณะกรรมการกำกับงานศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ พิจารณาการกำหนดพื้นที่เป็นลานกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard : CY) จากบริเวณสถานีรถไฟหนองตะไก้ เป็นบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยบรรจุไว้ในแผนแม่บทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งสินค้า เป็นแผนระยะกลาง (ปี ๒๕๖๕-๒๕๖๙) เสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณามอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาดำเนินการต่อไป

              “จากหนังสือดังกล่าว ทำให้สามารถพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ โดยให้พื้นที่นิคมฯ ใช้ประโยชน์ร่วมกับสถานีรถไฟหนองตะไก้ เป็น CY และพัฒนาเป็น “ท่าเรือบก” ร่วมกับ รฟท. และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาบูรณาการภายใต้ระบบแผนแม่บทของ สนข. และการจัดสรรงบประมาณของรัฐ ให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ สนข.จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนกระทรวงคมนาคม ในการกำกับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนพัฒนาพื้นที่นิคมฯ  สำหรับข้อแตกต่าง CY หรือ Container Yard ไม่จำเป็นต้องติดกับรางรถไฟ พื้นที่ตั้งแต่ ๓๐-๑๐๐ ไร่ ควรติดโครงข่ายถนนเพื่อสะดวกในการขนส่งสินค้ามายังรางรถไฟได้ภายในเวลา ๓๐ นาที และระบบโลจิสติกส์ต้องดี ส่วน ICD หรือ Inland Container Depot นั้น จะมีระบบรางเข้าสู่พื้นที่ ควรมีพื้นที่ ๕๐๐ ไร่ขึ้นไป สามารถทำ CY ในรัศมี ๕ กิโลเมตร รอบ ICD ได้ โดยจะต้องขนเข้ามาในพื้นที่ไม่เกิน ๕-๑๐ นาที มีสำนักงานศุลกากรตั้งอยู่ในพื้นที่ อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและมีเขต Free Zone เพื่อผลิตสินค้าในการขนส่งทางรางหรือทางเครื่องบิน ระบบตู้สินค้า (คอนเทนเนอร์ ๒๐, ๔๐ ฟุต) มากองในลานและจะต้องขนเข้าออกไม่เกิน ๓-๕ วัน บรรจุ Packaging ไม่ควรเกิน ๓ ชม. อยู่ใกล้สนามบิน และควรมีพื้นที่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังมากกว่า ๕๐๐ กิโลเมตร จึงจะมีความเหมาะสมในการขนส่งทางราง”

              นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล กล่าวอีกว่า ท่าเรือบกของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งหรือศูนย์โลจิสติกส์ที่มีอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น มีระบบรางเข้าสู่พื้นที่ มีลานกองตู้คอนเทนเนอร์ มีลานจอดรถบรรทุก มีรถ Stacker สำหรับยกขนตู้สินค้า มีคลังเก็บสินค้า มีสำนักงานของผู้ให้บริการขนส่ง มีศูนย์อาหาร และมุมพักผ่อน เป็นต้น รวมทั้งมีเขต Free Zone เพื่อให้บริการแก่ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าในการดำเนินพิธีการศุลกากรอยู่ในพื้นที่

              “ทั้งนี้การจัดตั้ง ICD จะต้องมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ไร่ขึ้นไป ซึ่งทางนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ได้จัดเตรียมพื้นที่ ๖๕๐ ไร่ ไว้รองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภาคอีสาน (ICD) เพื่อขนส่งสินค้าไปยังสนามบินนานาชาติอุดรธานี และประเทศในกลุ่ม CLMV จีนตอนใต้ ท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม และท่าเรือแหลมฉบัง ในพื้นที่ EEC ตามนโยบายของรัฐบาล และขณะนี้ก็กำลังเร่งปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ ทั้งระบบไฟฟ้า ประปา รวมทั้งขุดบ่อน้ำไว้ใช้ภายใน ๓ บ่อ พื้นที่ ๑๗๘ ไร่” นายสุวิทย์ กล่าวท้ายสุด

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๑ วันอาทิตย์ที่ ๑๑ - วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


707 1343