25thApril

25thApril

25thApril

 

March 17,2018

ฝันเป็น‘สมาร์ทซิตี้’ หวั่น LRT ไม่ตอบโจทย์ ‘สุรวุฒิ’เสนอทดลองวิ่ง

          “ผู้ว่าฯ วิเชียร” มุ่งสู่ Smart City เตรียมผลักดันโคราชเป็นเมืองท่าเรือบก รองรับรถไฟทางคู่ หนุนระบบ LRT เหมาะสมกับเมืองโคราช ลดใช้รถส่วนตัว หันมาใช้ขนส่งสาธารณะ ส่งเสริมการพัฒนาเมืองเก่า จัดระเบียบการจราจรใหม่ สนข.ย้ำชัดแก้รถติดในเมืองได้แน่ ‘สุรวุฒิ’ เสนอทดสอบเดินรถบนถนนจริง เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเห็นผลชัดก่อนลงมือ

 

           เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดการประชุมเสวนาเชิงปฏิบัติการและรับฟังความคิดเห็น การแก้ปัญหาการจราจรในเขตเมืองนครราชสีมา ณ โรงแรมสีมาธานี สืบเนื่องจากการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดยศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ยังยืนยันว่าระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับเมืองโคราชคือ รถไฟรางเบา หรือ LRT ระดับพื้นดิน ที่มีช่องทางการจราจรพิเศษเป็นของตัวเองและใช้ช่องทางจราจรร่วมกับรถยนต์นั้น ตอบโจทย์การเดินทางของคนเมือง สามารถแก้ปัญหาการจราจร และลดปริมาณการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล นอกจากนี้การหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ยังส่งเสริมด้านการพัฒนาเมืองเก่า ซึ่งต้องควบคู่ไปกับการจัดระเบียบการจราจรใหม่ เตรียมความพร้อมให้ จ.นครราชสีมาเป็นศูนย์ ICD (Inland Container Depot) ศูนย์กลางการกระจายสินค้าภาคอีสานอีกด้วย

           นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ก่อนอื่นเราจะวาง Position ของจังหวัดนครราชสีมาเรื่องหลักๆ อยู่ ๓ เรื่อง คือ หนึ่ง จะเป็น Smart City ขณะนี้ได้พูดคุยกับ ดร.ภาคภูมิ  จันทรธีรธร เรื่องนี้ในเดือนหน้าจะมาสรุปกันอีกทีว่าความต้องการของคนในจังหวัดที่ต้องการเป็น Smart City ตรงกับที่โครงการได้เสนอให้เราหรือไม่ เรื่องที่สองคือการเป็น Mice City เราคาดหวังว่าเมื่อโปรเจ็กต์ต่างๆ ลงมาที่จังหวัดนครราชสีมา อย่างช้าที่สุดในปี ๒๕๖๕ อุปสรรคในการเดินทางที่จังหวัดเราก็จะหมดไป ทำอย่างไรที่จังหวัดนครราชสีมาจะเป็นศูนย์กลางการค้าการประชุมที่สำคัญของประเทศ เรื่องที่ ๓ กำลังต้องการเสนอตัวเป็นศูนย์กลางการขนส่งของประเทศ เพื่อลดปัญหาการขนส่ง ลดปัญหาการจราจร อุบัติเหตุทางท้องถนน และทำอย่างไรประชาชนถึงจะมาใช้ระบบขนส่งรถไฟรางคู่ และผลักดันให้เมืองนครราชสีมาเป็นท่าเรือบกของภาคอีสานให้ได้ พอมีเรื่องรถไฟความเร็วสูงมาจอดที่อำเภอปากช่องและในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา สิ่งที่พี่น้องประชาชนสอบถามกันคือ แล้วเราจะเดินทางกันอย่างไร ซึ่งก็มีหลากหลายรูปแบบ 

            เตรียมความพร้อมศึกษาระบบราง

            จากนั้นเป็นการเสวนาโดยผศ.ดร.ศตคุณ เดชพันธ์ หัวหน้าสาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร .อีสาน) กล่าวว่า เราเป็นมหาวิทยาลัยที่เตรียมความพร้อมสำหรับการขนส่งระบบร่างในอนาคต เราเป็นสถาบันระบบรางขึ้นในที่มหาวิทยาลัยของเรา และรวมเป็นกลไกในการขับเคลื่อน รถไฟความเร็วสูงเป็นแนวโน้มในการพัฒนาระบบรถไฟของโลก การเป็นรถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นตัวขับเคลื่อนความสำคัญให้แก่เศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างเส้นทางการอุปโภค บริโภค เพิ่มพูนทางการค้าและบริการ ตำแหน่งงานที่หลากหลาย ทั้งหมดนี้ได้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงอย่างมาก รัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศกว่า ๒๐ โครงการ โดยทำความร่วมมือกับประเทศจีน คือทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-จีน ๑ สาย คือเส้นทาง กรุงเทพฯ–หนองคายขึ้น ในอนาคต จะเป็นจุดเชื่อมต่อเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงกับประเทศเพื่อนบ้าน สถาบันการศึกษาจึงเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาและออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของรัฐบาล โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง ๙ แห่งทั่วประเทศ ได้ร่วมมือกันพัฒนาศูนย์วิจัย โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานเป็นเจ้าภาพ พร้อมทั้งเดินหน้าเปิดหลักสูตรใหม่และจัดตั้งมหาวิทยาลัยระบบรางไทย-จีน คือ Liuzho Railway Vocational Technical College of RMUTI (LRVTC) ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง (อ.เมืองนครราชสีมา) พร้อมที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่จะผลิตคนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญการขนส่งด้วยระบบราง พร้อมผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสู่การพัฒนาระบบรางของไทยต่อไป

             แผนแม่บทจราจรพัฒนาขนส่งสาธารณะ

             ศ.ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข หัวหน้าศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้นำเสนอ ภาพรวมโครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ย้ำว่าระบบไฟฟ้ารางเบา (LRT) จะตอบโจทย์ ๓ ประการ คือ ๑. การเชื่อมต่อการเดินทาง ๒. แก้ปัญหาการจราจร ๓. การพัฒนาเมืองเก่า ระบบขนส่งสาธารณะนั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก เนื่องจากส่งเสริมการพัฒนาเมืองได้ จุดต่างๆ ที่รถไฟฟ้าผ่านจะได้รับการพัฒนา นอกเหนือจากการแก้ปัญหาจราจร ทั้งนี้การสร้างระบบขนส่งสาธารณะ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนโคราช จึงได้ให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด ทั้งกลุ่มภาคประชาชน และนักธุรกิจ โดยรับฟังความคิดเห็นได้รับผลสะท้อนในแง่บวก องค์ประกอบหลักของแผนแม่บทมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๔ ประเด็น ได้แก่ ๑. เส้นทางของระบบขนส่งสาธารณะ ๒. รูปแบบการเดินทางและการให้บริการ ๓. แนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสาร และ ๔. แผนดำเนินงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ เรื่องของเส้นทางได้วิเคราะห์วิธีการเดินทางของพี่น้องชาวโคราชว่าเดินทางกันอย่างไร โดยวางเส้นทางการเดินทางให้ครอบคลุมลักษณะการเดินทาง ๓ เส้นทาง คือ สายสีเขียว เริ่มตั้งแต่ห้วยบ้านยางวิ่งมายังหัวรถไฟ วิ่งขึ้นไปยังสำนักงานขนส่งจังหวัดแห่งที่ ๒ สายสีส้ม ตอบโจทย์เมืองเก่า วิ่งในโซนย่าโมทั้งหมดมีผ่าน บขส. ๑ บขส. ๒ เส้นนี้จะช่วยในเรื่องของการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ และสายสีม่วง เป็นโซนธุรกิจใหม่ ผ่าน The Mall Korat  เส้นทางครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดในการเดินทางของประชาชน และให้ย่าโมเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายรถ ถ้าทำทั้ง ๓ เส้นนี้ครบ จะครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมือง คนก็จะลดการใช้รถยนต์ แน่นอนว่าจะต้องมีการรณรงค์ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ จะแก้ปัญหารถติดได้ โดยเราแบ่งการก่อสร้างออกแบบ ๓ ระยะ ใช้หลักการทางด้านวิศวกรรม รวม ๕๐.๐๙ กิโลเมตร ๗๕ สถานี ระยะที่ ๑ สายสีเขียว+ส้ม (พ.ศ.๒๕๖๓-๒๕๖๕) งบประมาณ ๑๓,๖๐๐ ล้านบาท ระยะที่ ๒ สายสีม่วง (พ.ศ.๒๕๖๖-๒๕๖๘) งบประมาณ ๔,๘๐๐ ล้านบาท และระยะที่ ๓ ส่วนต่อขยาย (พ.ศ.๒๕๖๙-๒๕๗๑) งบประมาณ ๑๔,๒๐๐ ล้านบาท 

 

             จากการลงพื้นที่สำรวจจากพี่น้องประชาชนได้รับผลตอบรับจากเสียงส่วนใหญ่รูปแบบการเดินรถและการให้บริการเป็นแบบ Light Rail Transit หรือ LRT  และระบบ High Floor ช่วยลดปัญหาน้ำท่วม ส่วนใหญ่รถจะวิ่งบนดิน เนื่องจากเป็นการช่วยลดต้นทุนอัตราค่าบริการ ยกเว้นทางลอดรถไฟที่ถนนสืบสิริ ซึ่งการเดินรถจะแบ่งเป็น ๒ ระบบ เลนเดี่ยวคือวิ่งโดยใช้เลนของรถไฟโดยเฉพาะ และแบบแชร์เลน โดยสามารถวิ่งรวมกับรถยนต์ได้ในบางพื้นที่แคบ แต่จะต้องมีการปรับระเบียบจราจรใหม่ แนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสาร อยู่ในช่วง ๑๕-๒๕ บาท หากการเดินทางอยู่ในโซนเดียวกันประชาชนจ่ายเพียง ๑๕ บาท หากมีการข้ามสาย อัตราค่าบริการอยู่ที่ ๒๐, ๒๕ บาทตามลำดับ จากการวางแผนการดำเนินงาน ปี ๒๕๖๒ จะเป็นระยะเวลาในการออกแบบ หลังจากออกแบบเสร็จแล้วจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง ๓ ปี ถึงปี ๒๕๖๕ เพื่อไม่ให้ระบบในการดำเนินงานติดขัด ปี ๒๕๖๔ จะทำการออกแบบและก่อสร้างออกไปอีก ๓ ปีเช่นกัน เมื่อถึงปี ๒๕๖๘ จะออกแบบโซนที่ ๓ ในส่วนของการเชื่อมต่อส่วนต่อขยายทั้งหมด และก่อสร้างต่อไปให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๗๕ ทั้งหมดนี้เป็นแผนที่นำเสนอมูลค่าการก่อสร้างโครงการประมาณหมื่นล้าน ซึ่งรัฐบาลน่าจะเข้ามาส่งเสริมในส่วนนี้ ได้ประสานทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและออกแบบในรายละเอียดทั้งหมด รวมทั้งเทศบาลนครนครราชสีมา เป็นผู้บริหารการให้บริการทั้งหมด จากการดำเนินโครงการนี้ ทางโครงการให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่างๆ ผ่านทางสื่อออนไลน์ ทางเพจ :KoratDaily มากกว่า ๘๐% ก็เห็นด้วยกับการที่จะมีระบบขนส่งสาธารณะ

              นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนคร ราชสีมา กล่าวว่า สิ่งที่กังวลมากที่สุดคือ การปิดถนนระหว่างการก่อสร้าง จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวโคราชมากน้อยเพียงใด หากปิดถนนนาน ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะ LRT อยากให้มีการทดสอบการเดินรถกับถนนจริง เพื่อให้เห็นถึงข้อดีและผลกระทบที่ชัดเจน เพื่อดำเนินการแก้ไขในลำดับต่อไปให้ดีขึ้น ส่งผลถึงการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียว แล้วประชาชนจะจอดรถที่ไหนหากมี LRT และจะกินพื้นที่ของประชาชนหรือไม่ 

นายกิติพงศ์ พงศ์สุรเวท รองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ถือว่าเป็นการสร้างโอกาสให้กับเมือง เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ที่ผ่านมาเรามีความหวังกันมาหลายๆ เรื่อง แต่เพิ่งจะมาสำเร็จกันไม่กี่เรื่องในปัจจุบัน และอีกหลายโครงการที่หลั่งไหลมายังโคราช ทำให้ชาวโคราชได้รับผลประโยชน์โดยตรงทั้งสิ้น โครงการรถไฟความเร็วสูงก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ชาวโคราชได้รับ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ดีในการขนคนในตัวเมือง ในขณะเดียวกันข้อท้วงติงของนายกเทศมนตรีในการทดลองการใช้ระบบขนส่งสาธารณะก็น่าสนใจ ประเด็นต่อไปที่ควรดำเนินการคือ การสร้างการรับรู้ ให้พี่น้องประชาชนทราบถึงข้อมูลข่าวสารในเรื่องนี้อย่างทั่วถึง

 

              การเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ

              นายมานพ อาศิลสมานันท์ ผู้แทนสำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะจากสถานีรถไฟ ถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมา หลักการของสำนักงานขนส่งมีการประชุม เรียกผู้ประกอบการรายเดิมที่มีเส้นทางการเชื่อมต่อเส้นทางมาประชุม เกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงเส้นทางเดิม ที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนที่จะเดินทางจากสถานีรถไฟมาสู่สถานีขนส่งแห่งที่ ๑ และแห่งที่ ๒ เพื่อที่จะเดินทางออกนอกเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา ในการปรับปรุงเส้นทางจะให้โอกาสผู้ประกอบการรายเดิม ได้นำเสนอการปรับปรุงเส้นทางที่จะไปสู่การเชื่อมต่อระบบขนส่งรถไฟที่มายังสถานีต่างๆ ได้หรือไม่ หากผู้ประกอบการรายเดิมมีขีดความสามารถในการปรับปรุงเส้นทาง ให้ยื่นความประสงค์ที่จะปรับปรุงเส้นทางเชื่อมต่อการเดินรถ การกำหนดเส้นทางจะควบคู่ไปกับการกำหนดตัวรถที่เราวางการเชื่อมต่อระหว่างสถานี กำหนดเบื้องต้นจะเป็นรถ “ไมโครบัส” ความยาว ๖-๘ เมตร เพื่อวิ่งในเขตเมือง ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้าเพื่อมารองรับการจราจรภายในเมือง กรณีผู้ประกอบการรายเดิมไม่สามารถเข้ามาปรับปรุงเส้นทางได้ แนวทางที่สองจะกำหนดแนวทางใหม่โดยการหาผู้ประกอบการรายใหม่ที่ประสงค์จะเดินรถในเส้นทางนี้มาติดต่อยื่นความประสงค์ แต่ขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาอยู่

              ความเป็นไปได้สถานีขนส่งสินค้า

              ดร.ศิรดล ศิริธร กลุ่มงานสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการศึกษาความเป็นไปได้สถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมาว่า ในปัจจุบันมีการขนส่งสินค้ากันแบบ Point to Point (จุดต่อจุด) ต่างคนก็ต่างขนส่ง จึงควรจะมีสถานีรวบรวมและกระจาย เพื่อที่จะขนส่งได้จำนวนมาก โคราชหนึ่งในเมืองหลวงที่ผลักดันให้มีการขนส่งระบบราง บทบาทหลักคือการขนส่งสินค้า โดยมองพื้นที่ของตำบลกุดจิก กว่า ๑๗๐ ไร่ ในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า พื้นที่ส่วนนี้มีการเชื่อมต่อที่ค่อนข้างตอบสนองระบบการขนส่งไม่ว่าจะเป็นระบบราง ระบบถนน บริเวณรอบกุดจิกมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่โดยรอบ เป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบในการรวบรวมสินค้า ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าล้านบาท รวมถึงค่าการเวนคืน โอนคืน และการก่อสร้าง ในอนาคตต่อไปก็จะเป็นเรื่องของการออกแบบ การพิจารณาการร่วมทุนของทางรัฐบาลและเอกชน 

                อยากให้ตรงไปตรงมา

               ภายในห้องประชุมยังได้เปิดโอกาสให้หลายภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมกันสะท้อนปัญหา และเสนอแนะข้อคิดเห็น รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตเมืองนครราชสีมา ซึ่งในครั้งนี้ก็ได้มีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก

นายจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ได้ติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่เป็นประธานหอการค้าฯ มีคนบอกว่าเวทีนี้จะมาล้ม LRT ประเด็นอยู่ที่ว่า ๖๐ ล้านใครจะรับผิดชอบ วันนี้ท่านได้เสนอการทดลอง ทำไมไม่ใช้เวทีที่จัดขึ้นในหลายๆ ครั้ง เสนอเป็นแพ็คเกจว่า วันนี้เหมือนกับเราจะรื้อ เงินทุกบาทไม่ใช่ของใครเพียงคนเดียว เราผ่านกระบวนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน การมีส่วนร่วมภาคประชาชนนั้นสำคัญ ประเด็นในวันนี้มีการเสนอมาแล้ว จากการประชุมครั้งสุดท้าย มีการปลุกระดมให้ไปค้าน LRT มีป้ายจากชุมชน คนทำรู้อยู่แก่ใจ วันนี้อยากให้ตรงไปตรงมาและตรงประเด็น หากในอนาคตไม่ต้องมีเวทีการประชุมแบบนั้น เป็นการคุยเฉพาะกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มที่เป็นผู้นำ แล้วบอกให้ประชาชนทราบ

              ร่วมมือลดใช้รถยนต์ส่วนตัว/ไม่จอดรถ

              นายวัชร กลินทะ สหกรณ์ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าภาคอีสาน จำกัด กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าจะมีการแก้ปัญหาจราจรติดขัดในเมืองโคราช ด้วยรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) เกิดขึ้น แต่ถ้าคนยังใช้รถส่วนตัวอยู่ มองว่า LRT อาจจะยิ่งทำให้รถติดกว่าเดิม นี่จึงยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่ต้องรณรงค์ขอความร่วมมือ ในการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม การใช้ LRT จะได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าพอมี LRT แล้ว แต่ก็ยังมีรถวิ่งอยู่บนถนนเยอะแยะ มันก็ไม่มีประโยชน์”

              ด้านนายกฤตณ์ จิตนะ สหกรณ์ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าภาคอีสาน จำกัด อีกคนกล่าวว่า “ผมว่าขณะนี้โคราชไม่ได้ต่างจากกรุงเทพฯ ในบ้าน ๑ หลัง มีรถจำนวน ๓-๔ คัน อันนี้เราไปห้ามเขาไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิ์ของเขา แต่สิ่งที่เราควรจะทำ คือปัญหาการจราจร โคราชมีถนนแคบ เพราะว่าเป็นเมืองเก่า ในเรื่องการวางผังจราจรก็ไม่ได้โทษใคร เพราะเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะต้องแก้คือ การจอดรถบนถนน เพราะทำให้เสียผิวการจราจร เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รถติดมาก ดังนั้น เราควรร่วมกันหาวิธีแก้จุดนี้ อาจจะต้องเข้มงวดในเรื่องของการจราจร หรืออาจใช้สีเป็นสัญลักษณ์ โดยศึกษาว่าจุดไหนที่มีการจราจรติดขัดมากๆ ก็ใช้สีขาวแดงเป็นที่ห้ามจอดอย่างจริงจัง ก็น่าจะช่วยได้ เพราะต่อให้มีระบบขนส่งสาธารณะเข้ามา แต่ถ้าเราไม่แก้เรื่องระเบียบวินัยจราจร ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ดังนั้น เราควรรณรงค์ เรื่องวินัยจราจรและความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย”

              LRT แก้รถติดได้แน่นอน

              นายนิรันดร์ เกตุแก้ว ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค กล่าวว่า “เรื่องการจัดระบบจราจรเป็นเรื่องเร่งด่วน ถึงแม้รถจะไม่ได้ติด ๒๔ ชั่วโมง แต่ในปัจจุบันช่วงเวลาที่รถติดก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในกรุงเทพฯ การแก้ปัญหาก็คิดกันมาแล้วหลายวิธี เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หรือการใช้รถเมล์ รวมถึงการใช้รถสองแถวต่างๆ ซึ่งรถโดยสารในลักษณะแบบนี้ ผู้ประกอบการขาดทุนกันทั้งประเทศ เนื่องจากจากการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร (สนข.) พบว่า สาเหตุเกิดจากผู้โดยสารเบื่อที่จะรอรถสาธารณะที่วิ่งในเขตเมือง เส้นทางของรถที่วิ่งมีระยะทางยาวเกินไป เพราะผู้ประกอบการคิดว่า นี่เป็นวิธีที่จะทำให้ได้กำไรมากขึ้น และคนขับก็มักจะจอดแช่ เพื่อจะได้รับผู้โดยสารคราวละมากๆ จึงจะคุ้มค่าน้ำมัน แต่ในเมื่อผู้โดยสารไม่อยากรอ และไม่รู้จะเดินทางอย่างไร สิ่งที่แก้ปัญหาของเขาคือการซื้อรถส่วนตัว ปัจจุบันจึงมีรถบนถนนเพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด ดังนั้น สิ่งที่ สนข.เสนอแผนแม่บทในวันนี้ จึงน่าจะตอบโจทย์ประชาชนคนโคราชได้ เพราะถ้าการมีรถขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ตรงต่อเวลา รอไม่นาน ทันสมัย ต้นทุนต่ำกว่าการซื้อรถยนต์ นอกจากนี้ยังช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย คนก็น่าจะหันมาสนใจใช้รถสาธารณะและใช้รถยนต์ส่วนตัวกันน้อยลง ทั้งนี้ก็ต้องมีการจัดระบบจราจรที่เข้มงวดควบคู่ไปด้วย จึงจะแก้ปัญหารถติดได้”

              หวัง LRT เสร็จทันรถไฟรางคู่ 

              “แผนแม่บทนี้ก็จะเกิดจากการขีดเส้นทางว่า วิ่งเส้นทางไหนบ้าง ซึ่งจะมาจากความต้องการของประชาชนในโคราช โดยมีทั้งหมด ๓ เส้น คือ เส้นสีเขียว สีม่วง และสีส้ม การใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทางจะช่วยขนคนได้จำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะลดปริมาณรถบนถนนได้ หากระบบมีประสิทธิภาพประชาชนก็จะหันมาสนใจ ขอฝากความหวังไว้ว่าแผนตัวนี้จะถูกนำไปใช้ ทางกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งน่าจะเป็นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงานต่อ ในเรื่องของการออกแบบรายละเอียด การกำหนดรูปแบบการลงทุน ตลอดจนหาผู้ลงทุนต่อไป ก็จะทำให้เสร็จภายในปี พ.ศ.๒๕๖๕ เพื่อให้ทันกับรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะพัฒนาระบบเชื่อมต่อกับเมือง บริเวณใกล้เคียงในระยะ ๑๐๐ กิโลเมตร เพื่อให้ทุกเมืองมีการเชื่อมต่อเข้ามาสู่ระบบขนส่งสาธารณะตรงจุดนี้ หากระบบเหล่านี้เกิดขึ้นมา เราเชื่อว่าการเดินทางจะมีความคล่องตัวมากขึ้น เกิดการพัฒนาเมืองแบบก้าวกระโดด เพื่อรองรับการพัฒนาไทยแลนด์ ๔.๐ ในอนาคต และเรื่องระบบขนส่งสาธารณะก็จะช่วยผลักดันเรื่องของ Smart City ของโคราชให้ประสบความสำเร็จด้วย” นายนิรันดร์กล่าว

               นายนิรันดร์ กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีการทดลองวิ่ง LRT ว่า “การนำรถมาทดลองวิ่ง คือการนำรถมาเพิ่มบนถนนอีก ๑ คัน หรือ ๑๐ คัน ต้องมีการขอเส้นทาง และจะทับซ้อนกับเส้นที่เขาวิ่งอยู่แล้วหรือไม่ อีกทั้งต้องมีการทดลองไม่ต่ำกว่า ๓ ปี  จึงจะทราบผล แต่เราก็ไม่ได้ขัดข้องและไม่ได้โต้แย้งอะไร แต่ประเด็นอยู่ที่ปัญหาการจราจร เราควรเร่งแก้ปัญหาการจราจรกันก่อน สนข. ฝากสำนักงานจังหวัดไปว่า ต้องทำแผนการจัดการจราจร แก้จุดเดียวไม่ได้ ต้องแก้พร้อมกันทั้งระบบ ต้องมีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดการ ทาง สนข. และกระทรวงคมนาคม ก็มีกลไกที่จะสนับสนุนการแก้ปัญหานี้ได้ เรียกว่าคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัด ทั้งนี้ในอนาคตอาจจะมีการขนส่งสาธารณะในรูปแบบอื่น ก็ย่อมเป็นไปได้ทั้งนั้น ซึ่งหากมีรูปแบบอื่นเพิ่มขึ้นมา ก็จะยังมีแนวเส้นทางเดิมที่รองรับไว้”

              ขนส่งรถไฟดีกว่ารถยนต์

              ด้านนายสุระชัย กนกะปิณฑะ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าภาคอีสาน ให้ความเห็นว่า “ส่วนตัวผมเป็นตัวแทนรถบรรทุก เกี่ยวกับเรื่องการขนส่งสินค้า เพราะทั้งคนและสินค้าจะต้องมีการเชื่อมโยงกัน รถไฟรางคู่ คือการส่งสินค้าโดยหลักอยู่แล้ว เมื่อรถไฟรางคู่เข้ามา สิ่งที่อยากได้คืออยากให้สถานีขนส่งสินค้าหรือ Container Yard (CY) อยู่ออกจากตัวเมือง ไม่ต้องอยู่ในเมือง หากเข้าไปขนส่งในเมือง ก็จะมีเสียงดังรบกวนจากรถบรรทุก หรือมีการจราจรที่ติดขัด สินค้าเกษตรของโคราชมีเยอะ แต่ถ้าหากสร้างได้ห่างเมือง พื้นที่เขตติดเมืองก็จะหันมาใช้ด้วย”

             “ทั้งนี้การขนส่งโดยรถบรรทุกใช้คนค่อนข้างเยอะ รถ ๑ คันขนสินค้าได้ ๓๐ ตัน แต่ถ้าใช้รถไฟ ๑ ขบวนก็จะใช้คนเพียง ๓ คน ในการขับ ต่อไปในอนาคต คนจะไม่หันไปขับรถบรรทุกเพราะมันยุ่งยาก ถ้าการวางแผนเมืองระยะยาวเขาใช้รถไฟ ทางรถบรรทุกก็ไม่ขัดข้อง เพราะพวกเราใช้ถนนในทางสายสั้น ถ้ารถไฟเดินงานได้รถยนต์ก็พร้อมที่จะถอยอยู่แล้ว รถไฟหนึ่งขบวนใช้ได้ ๑๐-๒๐ปี รถยนต์ใช้ได้เพียง ๕ ปี ด้านต้นทุนของรถไฟก็ถูกกว่า หากเราใช้รถยนต์ขนไปเองก็อันตราย และยังต้องใช้จำนวนคน จำนวนเที่ยวที่เยอะกว่า” นายสุระชัย กล่าว

              สำหรับการเปิดเวทีหารือจากหลายภาคส่วนในครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า ทุกฝ่ายมีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในจังหวัดนครราชสีมา โดยประเด็นหลักคือ การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ “รถไฟฟ้ารางเบา” ที่ต้องควบคู่ไปกับการจัดการด้านจราจรที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการรณรงค์ให้ลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องว่าทั้งหมดนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว และสามารถตอบโจทย์ประชาชนชาวโคราชได้ ประกอบกับระบบขนส่งสาธารณะ “รถไฟรางคู่” ที่จะช่วยในเรื่องของการขนส่งสินค้าซึ่งมีจังหวัดนครราชสีมาเป็นจุดเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสอดรับนโยบายการพัฒนาไทยแลนด์ ๔.๐ ในอนาคต ทั้งนี้ทางเจ้าภาพอย่าง สนข. และ มทส. ก็เตรียมพร้อมตั้งรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะทางเลือกใหม่นี้อย่างเต็มที่

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๒ วันศุกร์ที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖


700 1348