20thApril

20thApril

20thApril

 

March 17,2018

ยุติพิพาทที่ดินมทส. ๒๙ ปี ให้ปชช.ทำกิน ๘๘๗ ไร่ ห้ามสร้างที่พักและดำเนินธุรกิจ

 

         

          ยุติปมปัญหากรณีการใช้ประโยชน์ในที่ดินของ มทส. กว่า ๘๐๐ ไร่ หลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีข้อพิพาท ที่ยืดเยื้อยาวนานเกือบ ๓๐ ปี สรุปให้เร่งดำเนินการตรวจสอบพิสูจน์เอกสารสิทธิ์และการถือครองที่ดินของชาวบ้าน พร้อมทำระวางแผนที่ผู้ครอบครอง


          เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ เวลา ๑๘.๐๐ น. ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายปรีดา เวทยาวงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะ ลงพื้นที่ร่วมกับนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, กรมป่าไม้, สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๘ จังหวัดนครราชสีมา, สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดนครราชสีมา และเทศบาลตำบลสุรนารี เร่งสางปัญหากรณีการใช้ประโยชน์ในที่ดินของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กว่า ๘๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกว่าร้อยรายในพื้นที่กับ มทส. ที่ยืดเยื้อเกือบ ๓๐ ปี


          พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า “วันนี้เป็นการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีข้อพิพาทในการใช้ประโยชน์ที่ดินของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งปัญหาดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้ทบวงมหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง เนื้อที่ ๖,๙๑๑ ไร่ ๓ งาน ๖๔ ตารางวา ตั้งอยู่ในตำบลไชยมงคลและตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี แต่มีพื้นที่บางส่วนที่กรมป่าไม้ได้อนุญาตประมาณ ๘๘๗ ไร่ เกิดข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านที่อ้างสิทธิ์ทำกินในพื้นที่ดังกล่าว ก่อนที่ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจะเข้ามาก่อตั้ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบแนวเขตที่ดิน และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้เข้ามาแสดงเอกสารสิทธิ์ แต่ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของระวางแนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินของมหาวิทยาลัย กับสิทธิ์ของชาวบ้านที่ครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีทั้งเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน ส.ค.๑, น.ส.๓ และคนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารียังประสบกับปัญหาความไม่คล่องตัวในการจัดการบริหารกิจการมหาวิทยาลัย จากการใช้ประโยชน์ในที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพราะเงื่อนไขแนบท้ายประกาศกรมป่าไม้ที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเข้าใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งในการขอใช้ประโยชน์ในที่ดินครั้งใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๖๒ ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้มีแผนดำเนินการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ดังนั้นในวันนี้เราจึงต้องลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพปัญหา ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางยุติข้อพิพาทในที่ดินดังกล่าวโดยเร่งด่วน”


          ด้านนายสุชาติ แพ่งจันทึก ตัวแทนชาวบ้าน ม.หนองบง ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า “ชาวบ้านต้องขอขอบคุณผู้ตรวจการแผ่นดินที่เข้ามาดำเนินงานจัดการให้ในวันนี้ เนื่องจากปัจจุบันในส่วนของมหาวิทยาลัยฯ ยังไม่ส่งมอบพื้นที่คืนให้กับกรมป่าไม้ และตอนนี้ระยะเวลาการขอใช้พื้นที่ในครั้งแรก ที่ขอใช้จากกรมป่าไม้กำลังจะหมด ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ ต้องขอใช้พื้นที่ใหม่ ชาวบ้านจึงมีความกังวลว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ จะขอใช้พื้นที่ตามตัวเลขเดิม คือ ๖,๙๑๑ ไร่ ข้อเรียกร้องของชาวบ้านคืออยากให้ทางมหาวิทยาลัยขอใช้พื้นที่ใหม่จากกรมป่าไม้ โดยตัดจำนวนพื้นที่ของชาวบ้านที่ทำกินอยู่ในปัจจุบันนี้ออกคือ ๘๘๗ ไร่ และส่งมอบคืนให้กับกรมป่าไม้ และกรมป่าไม้ก็ส่งมอบให้ สปก. ตามข้อเสนอแนะคณะกรรมการปี ๒๕๔๖ แล้วสรุปในปี ๒๕๔๘ ซึ่งตัวผมเองก็มีที่ดินอยู่ในนั้น ๒ ไร่ นอกจากนี้ได้เคยมีการทำเรื่องทวงถามทางมหาวิทยาลัยในปี ๒๕๕๓ เขาก็ตอบมาว่าไม่ขอใช้พื้นที่ตรงนี้แล้ว โดยทำเรื่องไปที่กรมป่าไม้ เพื่อจะขอแก้ไขปัญหาโดยสมานฉันท์ โดยให้สิทธิ์กับชาวบ้าน แต่กรมป่าไม้ก็ยังไม่ดำเนินการ รวมทั้งเรื่องของขอแก้ไขแนบท้ายประกาศ การขอใช้พื้นที่จากพื้นที่ทั้งหมด ๖,๙๑๑ ไร่ เหลือ ๖,๐๒๔ ไร่ ซึ่งกรมป่าไม้ยังไม่ดำเนินการ ชาวบ้านก็สู้มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ นี่ก็ ๒๙ ปีแล้ว และในส่วนของคณะกรรมการสิทธิ์ก็ถูกตรวจสอบหมดแล้ว”


          ทั้งนี้ ภายในที่ประชุม ผู้ตรวจการแผ่นดินได้กล่าวเสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขอให้จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตรวจสอบพิสูจน์เอกสารสิทธิ์และการถือครองที่ดินของชาวบ้านที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเป็นรายๆ ไป พร้อมทำระวางแผนที่ผู้ครอบครองโดยลงพิกัดและรายละเอียดว่าเป็นเอกสารสิทธิ์ประเภทใด ใครเป็นผู้ครอบครอง และครอบครองเนื้อที่เท่าใด เพื่อจำแนกผู้ถือครองที่ดินระหว่างผู้มีเอกสารสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมาย และผู้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ นอกจากนี้ยังขอให้จังหวัดร่วมกับเทศบาลตำบลสุรนารีสำรวจและตรวจสอบประชาชนผู้ถือครองที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และส่งข้อมูลให้กรมป่าไม้เพื่อนำไปหาแนวทางบริหารจัดการแก้ไขปัญหาประชาชนผู้ยากไร้เพื่อให้มีที่ดินทำกินภายใต้โครงการของรัฐต่อไป และขอให้ มทส. ประสานกรมป่าไม้เพื่อพิจารณาคำขออนุญาตการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ของ มทส. เพื่อให้การบริหารกิจการของมหาวิทยาลัยได้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป


          หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ทางผู้ตรวจการแผ่นดินพร้อมคณะการประชุมก็ได้เดินทางมาลงพื้นที่สำรวจที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทั้งนี้ พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า “ทาง มทส.ได้ชี้แจงว่าในปี ๒๕๖๒ สัญญาเช่าที่ดินของป่าไม้ ๖,๙๑๑ ไร่ กำลังจะหมดสัญญา ประเด็นคือในพื้นที่ ๘๘๗ ไร่ มีกรณีพิพาทกับประชาชน ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งวันนี้ก็มาพิจารณาว่า ๘๘๗ ไร่ จะรวมอยู่ใน ๖,๙๑๑ ไร่ เพื่อที่จะไปขอใช้ประโยชน์จากป่าไม้เหมือนเดิมหรือไม่ ก็มาวิเคราะห์ปัญหาว่า ถ้าเป็นราษฎรที่เข้ามาอยู่ก่อนปี ๒๕๑๐ ซึ่งบริเวณนี้ยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตป่า เนื่องจากได้ประกาศเป็นเขตป่า พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๓๒ หลังจากปี ๒๕๓๒ จึงได้เป็นมหาวิทยาลัย ก็ไปใช้พื้นที่ป่า จากนั้นมาดูว่าใน ๘๘๗ ไร่ ใครอยู่ก่อนใคร บางท่านก็บอกว่าได้ไปดำเนินการยื่นเรื่องขอเอกสารสิทธิ์แล้ว แต่ว่าถูกระงับ ก็ได้บอกให้ไปติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินอีกครั้งหนึ่ง ส่วนใครที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทางเทศบาลตำบลสุรนารีก็ให้ข้อมูลมาว่ามี ๑๔๐ กว่าราย ที่ดินกว่า ๖๐๐ ไร่ ซึ่งต้องแยกแยะว่า เข้ามาอยู่โดยชอบหรือไม่ ในขณะนี้ได้ข้อยุติแล้วว่า มทส.ให้ออกคำวินิจฉัยว่า ให้ มทส.ยื่นขอใช้ประโยชน์ จาก ๖,๙๑๑ ไร่ ให้หักออก ๘๘๗ ไร่ ซึ่งมี ๒ ส่วน คือส่วนที่มีเอกสารสิทธิ์ และไม่มีเอกสารสิทธิ์ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป”
 ทั้งนี้ ในท้ายที่สุด พลเอกวิทวัส กล่าวย้ำกับประชาชนว่า “หลังได้ที่ดินคืน ก็ไม่ใช่เอาที่ดินไปสร้างหอพัก หากเป็นเช่นนั้นจะยึดคืนแล้วไล่กลับบ้านไปนอน” ซึ่งประชาชนตอบกลับว่า “จะใช้พื้นที่เพื่อปลูกมันสำปะหลัง และทำการเกษตรอื่นๆ” 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๒ วันศุกร์ที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


713 1343