20thApril

20thApril

20thApril

 

March 17,2018

มข.ขยายรพ.ศรีนครินทร์ ใหญ่สุดอาเซียน ๕ พันเตียง สูง ๓๙ ชั้น ๒๔,๕๐๐ ล้าน

             

             มข.แถลงข่าว เตรียมขยายโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ๕,๐๐๐ เตียง ใหญ่ที่สุดในอาเซียน สูง ๓๙ ชั้น ตั้งงบประมาณไว้ ๒๔,๕๐๐ ล้านบาท รองรับผู้ป่วยได้ทั่วถึงมากขึ้น พร้อมอาคารจอดรถ เรือนพักญาติ อาคารสนับสนุนบริการ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทุกสถานภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ชาวอีสานและชาวไทยอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง


             เมื่อวันพุธที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องประชุม President ๑– ๒ โรงแรม Intercontinental Bangkok  มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จัดการแถลงข่าวโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขนาด ๕,๐๐๐ เตียง ที่ใหญ่สุดในไทยและอาเซียน โดยมี รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ และรศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมการแถลงข่าว พร้อมด้วย คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณบดีกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ๖ คณะ ท่ามกลางสื่อมวลชนให้ความสนใจจำนวนมาก


             ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมาปัญหาการขาดแคลนของทรัพยากรด้านสุขภาพและการสาธารณสุขนับเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอยู่มากที่สุดเป็นอันดับ ๑ ของประเทศใน ๒๐ จังหวัด มีประชากร ๒๒.๒ ล้าน หรือ ๑ ใน ๓ ของประเทศโดยประมาณ สัดส่วนจำนวนเตียงในการให้บริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลต่อประชากรที่สูงถึงประชากร ๖๓๖ คน ต่อ ๑ เตียงในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น ญี่ปุ่นอยู่ที่ ๑๒๖ คน ต่อ ๑ เตียงและเกาหลีอยู่ที่ ๑๕๖ คน ต่อ ๑ เตียง ซึ่งนับเป็นปัญหาอย่างรุนแรง 


             มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีเจตนารมณ์ร่วมกับพี่น้องประชาชนในการแก้ปัญหา โดยการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ชั้นเลิศ เป็นโรงพยาบาลขนาด ๕,๐๐๐ เตียง พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องมือ อันทันสมัยโดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างดังนี้ ระยะที่ ๑ จำนวน ๓,๕๐๐ เตียง ใช้ระยะเวลา ๒.๕ -๓ ปี เงินลงทุน ๑๔,๐๐๐ ล้านบาท และระยะที่ ๒ ครบ ๕,๐๐๐ เตียง ดำเนินการต่อเนื่องทันที เงินลงทุน ๑๐,๕๐๐ ล้านบาท รวมใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น ๒๔,๕๐๐ ล้านบาท 


             สำหรับโรงพยาบาลที่จะเกิดขึ้นนี้จะเป็นส่วนขยายของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ประกอบด้วยอาคารรักษาพยาบาล ๒ อาคาร เป็นอาคาร ๒๐ ชั้น และ ๓๙ ชั้น นอกจากนี้ ยังมีอาคารจอดรถ เรือนพักญาติ อาคารสนับสนุนบริการ จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ทุกสถานภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนชาวอีสานตามเจตนารมณ์ของโรงพยาบาล และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการดูแลพี่น้องชาวอีสานและประเทศไทยอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

             รศ.ดร.กิตติชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของภาคตะวันออกฉียงเหนือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๐ และทรงพระราชทานพระราชดำรัสมีใจความตอนหนึ่งว่า “การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งเป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนา ยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรจะยินดี” ผู้บริหารทุกยุคทุกสมัย จึงได้น้อมนำเอาพระราชดำรัสมากำหนดเป็นอุดมการณ์ในการทำงานของมหาวิทยาลัยคือ “การอุทิศเพื่อสังคม (Social Devotion)” เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาและแก้ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ในคณะเกษตรศาสตร์ และวิศวกกรรมศาสตร์ ต่อมาได้ขยายการรับนักศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็น ๒๖ คณะวิชา มีวิทยาเขตจำนวน ๒ แห่ง คือที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดหนองคาย 

             “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดเท่ากับหนึ่งในสามของประเทศ มีประชากรโดยรวมก็เป็นหนึ่งในสามของประเทศ เป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนของความยากจนมากที่สุด ขาดแคลนทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และความเป็นอยู่อย่างมาก ดังนั้น ในช่วงแรกของการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยจึงได้มุ่งเน้นการศึกษาและวิจัย เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับประชาชนโดยการพัฒนาด้านเกษตรกรรม ฝ่ายประชาอาสา และการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อพัฒนาแหล่งอาหารที่ยั่งยืนให้กับประชาชนจนถึงปัจจุบัน” 

             ต่อมา มหาวิทยาลัย ได้ทำการเปิดให้มีการเรียนการสอนในคณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ จำนวน ๖ คณะ ประกอบด้วย คณะแพทย์ศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ คระเภสัชศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์และคณะสาธารณสุขศาสตร์ พร้อมทั้งได้มีการก่อตั้งโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลในสังกัดคณะแพทย์ศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการเรียนการสอนของนักศึกษา แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขา และให้บริการแก่ประชาชน รวมถึงการศึกษา การวิจัย และรักษาพยาบาลเพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ จนปัจจุบันได้พัฒนาไปสู่การเป็นโรงพยาบาลในระดับตติยภูมิ ที่มีความเป็นเลิศและความเชี่ยวชาญในการรักษาพยาบาลในโรคต่างๆ 

             ตลอดเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพที่สำคัญของภูมิภาคและประเทศโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโดย กลุ่มคณะวิชาการวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทั้ง ๖ คณะ อาทิ ปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี รักษาโรคที่มีความชุกชุมมากที่สุดของประเทศ มีผู้ที่เสียชีวิตอย่างน้อยปีละ ๑๕,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ คนต่อปี ปัจจุบัน มีผู้ผ่านการคัดกรองแล้ว ๘๐๐,๐๐๐ ราย เข้ารับการผ่าตัดไปแล้ว ๑๖,๐๐๐ ราย สามารถกลับไปใช้ชีวิตและประกอบอาชีพต่อไปได้ ขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนานวัตกรรมในการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ โดยการตรวจเบื้องต้นจากปัสสาวะ ซึ่งง่าย สะดวก และรวดเร็ว (เป็นนวัตกรรมชิ้นแรกของโลก) โดยผู้ที่อยู่ในข่ายสงสัยสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในโรคดังกล่าว มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังได้ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยในโรคอื่นๆ ด้วยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญอีก เช่น โรคไต โรคตับ โรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ โรคที่เกี่ยวข้องกับฟัน รวมถึงโรคอื่นๆ อีกด้วย 

             “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ และมีจำนวนประชากรมากกว่า ๒๒ ล้านคน ทำให้การดูแลและการให้บริการสุขภาพของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ไม่ทั่วถึงและเพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยนอก และประมาณ ๕ หมื่นคน ที่ผู้ป่วยใน โดยปัจจุบันโรงพยาบาลศรีนครินทร์ที่มีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยใน จำนวน ๑,๑๐๐ เตียง ซึ่งบ่อยครั้งที่โรงพยาบาลต้องปฏิเสธการรับโอนผู้ป่วย เนื่องจากมีจำนวนเตียงไม่พอ ทำให้ประชาชนขาดโอกาสที่จะได้รับการดูแลหรือรักษาพยาบาลที่ดี ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนในภูมิภาคนี้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ และเป็นที่พึ่งตามความคาดหวังของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีแผนที่จะขยายและพัฒนาโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ให้มีศักยภาพในการรองรับการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น ๕,๐๐๐ ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลที่ใหญที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยใช้งบประมาณในการดำเนินงานทั้งสิ้น ๒๕,๐๐๐ ล้านบาท พร้อมทั้ง การพัฒนาให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลที่มีความทันสมัยของอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ และที่สำคัญที่สุดถือเป็นจุดแข็งของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คือ การเป็นโรงพยาบาลที่มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะ ความรู้ความสามารถ มีเชี่ยวชาญในการรักษษพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยเฉพาะ การรักษาพยาบาลโรคเฉพาะทางที่หลากหลายสามารถสร้างความอุ่นใจและเป็นที่พึ่งทั้งทางกายและทางใจให้แก่ผู้ป่วย และทุกคนในครอบครัวของผู้ที่มารับบริการรักษาพยาบาล ณ ที่แห่งนี้ โดยในระยะแรกดำเนินการขยายโรงพยาบาลให้มีขนาด ๓,๕๐๐ เตียง ด้วยงบประมาณ ๑๔,๐๐๐ ล้านบาท หลังจากนั้นจะดำเนินการขยายเพิ่มขนาดในงบประมาณอีก ๑๐,๕๐๐ ล้านบาท” อธิการบดี มข. กล่าว 

             นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ กล่าวว่า การจัดตั้งโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขนาด ๕,๐๐๐ เตียง ที่ใหญ่สุดในไทยและอาเซียน เป็นการศูนย์การแพทย์ชั้นเลิศ ที่จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤติการขาดแคลนเตียง  บริการผู้ป่วยทุกระดับ โดยเฉพาะคนอีสาน  ไม่แสวงหากำไร ซึ่งจะระดมทุนในการก่อสร้าง โดยการตั้ง กองทุนอายุวัฒนะ  ซึ่งผู้บริจาคที่เป็นสมาชิกจะได้รับสิทธิ์ในการรักษาฟรีตลอดชีวิตจากโรงพยาบาล ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายในการลดหย่อนภาษีได้ ๒ เท่า และการบริจาคสามารถแบ่งเป็น ๓ งวด เพื่อหักภาษี สิทธิพิเศษจะได้รับตั้งแต่ปีแรกที่บริจาค  แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม วงเงิน คือ ๔ ล้านบาท จำนวน ๕๐๐ ท่าน และ ๕ ล้านบาท จำนวน ๒,๐๐๐ ท่าน ซึ่งกองทุนดังกล่าวมีเงื่อนไขเพียง ๓ ข้อ คือ ๑.ผู้บริจาคกองทุนจะต้องถือสัญชาติไทย ๒.อายุ ๔๕ ปี ขึ้นไป และ ๓.ผ่านการตรวจสุขภาพโดยวันแรกในการสมัครจะต้องไม่ป็นผู้ติดเชื้อ HIV และเป็นโรคมะเร็ง

             รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลที่มีอาคารหลักสูง ๓๙ ชั้น และอาคารบริวาร ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop service) แก่ผู้ป่วยทุกกลุ่ม  ภายในศูนย์การแพทย์ จะประกอบด้วย ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ในด้านต่างๆ อาทิ ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ศูนย์โรคมะเร็ง ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์โรคในทารกแรกเกิด ศูนย์การปลูกถ่ายอวัยวะ ศูนย์ความเป็นเลิศทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ศูนย์ใส่ใจสุขภาพด้วยวิถีกายภาพบำบัด ศูนย์การพยาบาลเฉพาะทางและความเป็นเลิศทางการพยาบาล มีที่จอดรถ ๑,๖๐๐ คัน มีห้องผ่าตัดเพิ่ม ๒-๓ เท่าจากเดิม มีเตียงสำหรับผู้ป่วยวิกฤติเพิ่ม ๓๐% มีเรือนพักญาติ ๔๐๐ หน่วย โดยโครงการก่อสร้าง อยู่ในพื้นที่ ๓๐ ไร่ ติดกับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ซึ่งโครงการที่จะเกิดขึ้นนี้พร้อมที่จะดูแลพี่น้องประชาชนทุกระดับอย่างเท่าเทียมกัน

             อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการนั้น จะมีการระดมทุนในระยะที่ ๑ เงินลงทุน ๑๔,๐๐๐ ล้านบาท จะเกิดขึ้นจากการเปิดรับบริจาคจากประชาชน โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะตอบแทน ผู้มีจิตกุศลดังต่อไปนี้ ๑. ผู้บริจาคจะได้รับการรักษาฟรีตลอดชีวิต จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ๒. ผู้บริจาคจะได้รับสิทธิ์ตามกฏหมายในการลดหย่อนภาษีได้ ๒ เท่า และ ๓. การบริจาคนี้จะแบ่งเป็น ๓ งวด เพื่อหักภาษี โดยสิทธิ์พิเศษจะได้รับตั้งแต่ปีแรกที่บริจาค โดยผู้ที่บริจาคจะถือเป็นสมาชิกพิเศษที่เรียกว่า กองทุนอายุวัฒนะโดยจะแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ วงเงิน ๔ ล้านบาท จำนวน ๕๐๐ คน และวงเงิน ๕ ล้านบาท จำนวน ๒,๐๐๐ คน โดยผู้ที่ต้องการบริจาคสามารถติดต่อได้ที่โทร ๐๖-๒๒๒-๙๑-๕๕๕ และ ๐๖-๒๒๒-๙๔-๕๕๕ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๒ วันศุกร์ที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


757 1366