25thApril

25thApril

25thApril

 

March 19,2018

หอโคราชมั่นใจอสังหาฯเฟื่องฟู สภาอุตฯ ติงดอกเบี้ยแพง ส่งผลผู้ประกอบการชะลอลงทุน

           

             ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เข้ารับฟังรายงานจากหน่วยงานในนครราชสีมา เพื่อรับทราบผลการปฏิบัติงาน และสภาพปัญหา ประธานหอการค้าจังหวัดมั่นใจ อสังหาฯ โคราชยังเฟื่องฟู ส่วนกลางสนใจเข้าลงทุนคับคั่ง ด้านรองปธ.สภาอุตฯ หวั่นดอกเบี้ยแพงบวกขั้นตอนล่าช้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการตัดสินใจลงทุน 

             ตามที่นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เดินทางมาตรวจราชการ พร้อมประชุมมอบนโยบายหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง เพื่อรับทราบผลการปฏิบัติและสภาพปัญหา จากนั้นหารือข้อราชการกับหอการค้าจังหวัดฯ นครราชสีมาสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และประธานชมรมธนาคารจังหวัดฯ ณ ห้องประชุมสำนักงานกรมสรรพสามิตภาคที่ ๓ โดยมีหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็น เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ สำนักงานสรรพสามิตภาคที่ ๓ นครราชสีมา
             นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในส่วนของหอการค้าเราดูแลในเรื่องของภาคเศรษฐกิจ ในปีที่ผ่านมาในด้านของการเกษตรกรรม มีปัญหาเรื่องราคามันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด อ้อย อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีนัก แต่คาดการณ์ว่า ปีนี้ราคาข้าว มันสำปะหลัง ในจังหวัดนครราชสีมาน่าจะดีขึ้น แต่ผลผลิตของมันสำปะหลังปีนี้คาดว่าผลผลิตออกมาอาจไม่เพียงพอ นอกจากนี้ด้านการลงทุนเกี่ยวกับห้างสรรพสินค้า นครราชสีมาถือเป็นจังหวัดเดียวที่มีครบ ไม่ว่าจะเป็น เดอะมอลล์, เทอร์มินอล ๒๑, เซ็นทรัล และยังมีห้าง คือคลังพลาซ่า ส่วนเรื่องของการศึกษา จะมีโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งด้านอสังหาริมทรัพย์จะเห็นได้ว่าการลงทุนมาจากส่วนกลางเยอะ 
             ด้านนางอุบลรัตน์ บุญประสาทสุข รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ด้านการลงทุนของผู้ประกอบการมีการชะลอตัว รวมถึงการขอสินเชื่อ ที่มีค่าธรรมเนียมสูง ซึ่งก็ล้วนมีผลต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย เช่น หากกู้ในวงเงิน ๑๐ ล้าน ดอกเบี้ย ๑.๕ ก็เป็นเงินนับแสนบาทที่ต้องจ่าย ส่วนเรื่องที่ ๒ คือเรื่องค่าโอนเงินที่ ปัจจุบันคนหันไปใช้ธนาคารของพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งถือว่ามีค่าโอนแพงมาก แต่เมื่อเทียบกับธนาคารกรุงไทยที่เป็นของรัฐ แม้แต่การโอนเงินในจังหวัดเดียวกัน ก็มีค่าโอนแพงไม่ต่างกับของพาณิชย์เลย หากโอนเงินเป็นจำนวนมาก ค่าโอนก็ยิ่งแพงขึ้น ซึ่งช่วงนี้เศรษฐกิจฝืดเคือง หากจะถือเงินสดไปฝากที่ธนาคารเอง ก็อาจจะไม่มีความปลอดภัยได้
“ในส่วนของ SME BANK ปีที่แล้วมีงบประมาณมา เราก็ได้เป็นคณะกรรมการ ซึ่งได้มีการเชิญชวนให้สมาชิกกู้กับ SME BANK แต่เนื่องจากกรอบวงเงิน กรอบจำนวน และเงื่อนไขต่างๆ มีความไม่สะดวกในการใช้ และมีขั้นตอนการกู้ที่ล่าช้า เช่น บางคนขอกู้ ๕๐ ล้าน ก็ต้องรออย่างน้อย ๓ เดือนขึ้นไป อีกทั้งยังมีดอกเบี้ยที่สูง ซึ่งคิดแล้วก็ไม่ได้ถูกกว่าธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด เช่นเงื่อนไขที่ต้องใช้บสย. ถ้าไม่ใช้บสย. แต่มีหลักทรัพย์แทน ทำให้การประเมินหลักทรัพย์ล่าช้าต่อไปอีก”

             นางสาวอุบลรัตน์กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องของพร้อมเพย์อีกว่า จะทำอย่างไรให้คนที่ไปใช้บริการพร้อมเพย์ มั่นใจในเรื่องระบบว่า เงินคุณจะสามารถอยู่ในบัญชีได้ เพราะหากเข้าพร้อมเพย์เงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้นก็จะไม่มี แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะกลัวเสียสิทธิ์ เนื่องจากรัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของตนได้ ตรงนี้จึงอยากให้รัฐพิจารณาให้คนมีความมั่นใจในระบบนี้มากขึ้น
             สำหรับนายสุทนต์ ขำบุญเกิด ประธานชมรมธนาคารจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา มีธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ๒๐ สถาบัน เป็นของรัฐ ๖ สถาบัน มีสมาชิกในส่วนของชมรม ประมาณ ๑๐๗ คน ภาพรวมของเราในส่วนของธนาคารสินเชื่ออยู่ที่ ๓๔๐,๐๐๐ ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นธนาคารของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ แล้วก็เป็นส่วนของเงินฝากอยู่ที่ ๒๗๕,๐๐๐ ล้านบาท หากมาตรการของชมรมธนาคาร มีประเด็นอะไรที่จะช่วยได้ ก็ยินดีเป็นสื่อกลาง เช่น เรื่องพร้อมเพย์ อาจจะมีเจ้าหน้าที่ของชมรมธนาคารเข้าไปให้ความช่วยเหลือ


             ข้อมูลประกอบการตรวจราชการจังหวัดนครราชสีมาระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๑ (๑ ต.ค. ๒๕๖๐ ถึงปัจจุบัน) คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดนครราชสีมา(คบจ.) ได้จัดประชุมเพื่อร่วมปรึกษาหารือและขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ตามนโยบายของกระทรวงการคลังทั้ง ๑๐ มาตรการ คือ ๑.การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการ ซึ่งลูกหนี้นอกระบบใน จ.นครราชสีมา ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร  ๒๓๙ ราย เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ๔ ราย มีเจ้าหนี้นอกระบบที่สมัครและได้รับอนุมัติจัดตั้ง Pico Finance จำนวน ๒๐ บริษัท พบปัญหา คือ หากลูกหนี้สมัครใจเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย แต่ไม่มีเจ้าหนี้ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากนี้เจ้าหนี้มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดังนั้นควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเข้ามาดูแล และกำหนดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อที่ผ่อนปรนมากกว่าธนาคาร ๒. โครงการ National e-Payment ธนาคารกรุงไทย จ.นครราชสีมา ได้จัดกิจกรรม “ตลาด/ถนนไร้เงินสด (Cashless Society)” ดำเนินการแล้ว ๓ แห่ง คือ ตลาดเซฟวัน ถนนจอมพล และตลาด ๑๐๐ ปี ส่วนธนาคารออมสินจัดมหกรรม “GSB PAY ทั้งซื้อทั้งขาย ชีวิตคุณจะง่ายขึ้น” สัญจร ณ ตลาด อาร์ เอ็น ยาร์ด จ.นครราชสีมา จำนวน ๑ ครั้ง และมีการติดตั้งเครื่อง EDC ของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการคลังแล้ว ได้แก่ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานคลังเขต, สำนักงานคลังจังหวัดนครราชสีมา พบปัญหาคือ ต้องรอนโยบายจากส่วนกลาง และส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน ดังนั้นควรสนับสนุนงบประมาณในการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ หรือจัดโครงการประชุมชี้แจงอย่างต่อเนื่อง ๓. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มีจำนวนผู้สมัคร ๑๙,๔๒๕ คน ซึ่งเป้าหมายในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๑ คือ เพิ่มขึ้นอีก ๑,๙๔๒ คน ได้มีการดำเนินการให้สำนักงานคลังจังหวัดนครราชสีมา ประชาสัมพันธ์/แจกใบสมัครสมาชิก กอช. ณ จุดบริการ และลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ ๒ ครั้ง ปัจจุบันยังไม่มียอดสมัคร นอกจากนี้สำนักงานคลังจังหวัดได้ออกคำสั่งแต่งตั้งมอบหมายการปฏิบัติงานการรับสมัคร และรับเงินสะสมของสมาชิก กอช. และทุกธนาคารมีการประชาสัมพันธ์ กอช. บริเวณเคาน์เตอร์ให้บริการ และลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง พบปัญหาคือ การประสานขอข้อมูลการรับสมัครสมาชิก กอช. จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร และยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องงบประมาณสำหรับบริหารจัดการ จึงเห็นควรเร่งรัดแนวทางการดำเนินการให้ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนงานได้ต่อไป ๔. มาตรการภาษี สำนักงานสรรพากรนครราชสีมาพื้นที่ ๑-๒ ได้จัดทำข้อมูลประชาสัมพันธ์ผ่าน QR Code ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง พร้อมทั้งลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ผ่านการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประจำเดือนของปกครองอำเภอ ๒ ครั้ง ๕. การกู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)/กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) มีบุคลากรที่กู้ยืมเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ./กรอ.) ๒๓๙ ราย และทุกรายเข้าสู่กระบวนการชำระหนี้ครบ ๑๐๐% แล้ว ๖. การกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัด คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดโครงการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด “กิจกรรมสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งเงินทุน” ๗. ชมรมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Club) โดย คบจ. ได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายในการจัดกิจกรรม Startup Club ในสถานศึกษา คือ วิทยาลัยสารพัดช่างนครราชสีมา นอกจากนี้ได้มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้สร้างแรงจูงใจให้กับสมาชิก อีกทั้งทางชมรมธนาคารจังหวัดนครราชสีมาและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ก็ได้ให้การสนับสนุนทุนในการก่อตั้งชมรม Startup Club แห่งละ ๑๐,๐๐๐ บาท และ ๘. อังกฤษหมูหมู สำหรับคนคลัง มีจัดทำบอร์ดประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานเป็นภาษาอังกฤษ ประชาสัมพันธ์การดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Echo English และเผยแพร่คำศัพท์ภาษาอังกฤษด้านการเงิน การคลัง และด้านเศรษฐกิจ 
             นอกจากนี้ สำนักงานสรรพากรพื้นที่นครราชสีมา ๑ ได้จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “พัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ” ปัญหาที่พบคือ เจ้าหน้าที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษต่ำและแตกต่างกัน, ปฏิบัติได้ยาก, ขาดแรงจูงใจ จึงควรกำหนดรูปแบบ/แนวทางในการพัฒนาพื้นฐานที่เหมือนกันเพื่อความสะดวกในการประเมินและสร้างแรงจูงใจ ๙.) แบบสอบถามสำนักงานคลังจังหวัดด้านเศรษฐกิจ มีการบันทึกข้อมูลเป็นประจำทุกเดือน ๑๐.) กระทรวงการคลังคุณธรรม สำนักงานสรรพากรพื้นที่นครราชสีมา ๑ ได้จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมสำหรับบุคลากร”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๒ วันศุกร์ที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


689 1346