30thApril

30thApril

30thApril

 

January 01,1970

๙ เอกชนอุบลฯตั้งบริษัทพัฒนาเมือง กำหนดทิศทางความเจริญด้วยตัวเอง

           ๙ ภาคองค์กรเอกชนอุบลฯ ตั้งบริษัทพัฒนาเมือง กำหนดทิศทางเศรษฐกิจและพัฒนาความเจริญของตัวเมืองร่วมกับภาครัฐ รองรับการเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยเอกชนจะลงทุนโครงการที่รัฐไม่สามารถเข้ามาดำเนินการเองได้ ให้ภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนเอกชนตาม “ขอนแก่นโมเดล” ตั้งเป้าเป็นเสือทางเศรษฐกิจในอนาคต 

       ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อ.เมือง จ.อุบลราช ธานี เมื่อเร็วๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบล ราชธานี โดยนายสิทธิชัย โควสุรัตน์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ๙ องค์กร จัดประชุมกลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดอุบลราชธานี และทิศทางการพัฒนาตัวเมืองของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งที่ผ่านมามีการส่งเสริมการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการไปอย่างไร้ทิศทาง ทำให้ไม่สามารถกำหนดพื้นที่เศรษฐกิจ การอยู่อาศัยของชุมชนเมืองให้เกิดประสิทธิภาพ ทำให้มีปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย และสูญเสียรายได้ของประชาชนกรในตัวจังหวัด

           ภาคเอกชนทั้ง ๙ องค์กร จึงมีความคิดร่วมกันจัดตั้งบริษัทอุบลรวมใจพัฒนาเมืองจำกัด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดร่วมกับภาคราชการ โดยบริษัท อุบลรวมใจพัฒนาเมือง จำกัดนี้ จะเข้าไปทำในส่วนที่ภาครัฐไม่สามารถเข้ามาทำได้ อาทิ การสร้างหอประชุมขนาดใหญ่ การวางโครงข่ายระบบการคมนาคม การสร้างที่อยู่อาศัย การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของตัวจังหวัด โดยเฉพาะการจัดการปัญหาขยะที่มีมากขึ้นในทุกปี ซึ่งภาคีเครือข่าย ๙ องค์กรจะร่วมกันคิดแล้วนำเสนอแผนพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบต่อรัฐบาล และจะไม่หยุดรอภาครัฐให้เข้ามาดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว แต่ภาคเอกชนจะร่วมกับภาครัฐขับเคลื่อนความต้องการของคนในจังหวัดให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเหมือนเช่น ขอนแก่นโมเดล ที่มีการจัดการปัญหาของตนเอง

           นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานี มีจีดีพีของจังหวัดเป็นอันดับ 3 ของภาคอีสานคือ 1.1 แสนล้านบาทต่อปี รองจากจังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี แต่ภูมิศาสตร์ของจังหวัดอุบลราชธานี มีศักยภาพสูงกว่า ๒ จังหวัด และสามารถเป็นฮับในภูมิภาคอินโดจีนได้ เนื่องจากมีเส้นทางคมนาคมติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนาม

           เมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๖ ในพื้นที่ อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี สร้างเสร็จก็จะมีการคมนาคมที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น สามารถขนสินค้าจากประเทศไทยเข้าสู่ประเทศลาว มุ่งหน้าสู่ประเทศเวียดนาม ส่งต่อไปยังประเทศที่ ๓ ที่ ๔ ได้ ขณะเดียวกันเส้นทางดังกล่าว ก็จะสามารถเชื่อมต่อจากประเทศคู่ค้ากลับเข้าสู่ประเทศไทย ผ่านมาตามช่องทางดังกล่าวได้เช่นกัน และในเร็วๆ นี้ กระทรวงคมนาคม เตรียมงบประมาณใช้ปรับปรุงสนามบินนานาชาติจังหวัดอุบลราชธานี ให้สามารถรองรับการเดินทางของคนในภูมิภาคนี้ เพิ่มจากปกติขึ้นอีก รวมทั้งรถไฟรางคู่ที่จะทำให้เกิดเป็นการขนส่งทางรางที่มีคุณภาพ ซึ่งภาคเอกชนจะผลักดันให้เกิดสถานีบกใช้ขนถ่ายสินค้าให้สะดวกรวดเร็ว เมื่อเกิดความสะดวกในการเดินทางทั้งทางบกและทางอากาศ เมื่อมีการเดินทาง มีการมาหยุดแวะพักตามที่ต่างๆ ก็จะเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน จึงเชื่อว่าอนาคตจังหวัดอุบลราชธานี จะมีจีดีพีแซงหน้าสองจังหวัดที่กล่าวมาด้วยศักยภาพของพื้นที่

           “หากภาครัฐมีการกำหนดพื้นที่เศรษฐกิจอย่างชัดเจน มีการพัฒนาเมืองไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ นักลงทุนก็จะรู้ถึงขอบเขตของพื้นที่เศรษฐกิจที่จะต้องมีการขยายตัว นักลงทุนก็สามารถวางแผนตัดสินใจในการลงทุนได้ จะเป็นผลดีกับจังหวัดอุบลราชธานี ภาคีเครือข่ายทั้ง ๙ องค์กร จึงร่วมกันคิดกำหนดทิศทางความเจริญของตัวเมืองร่วมกับภาครัฐ แต่ก็จะไม่รอให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว จึงมีการตั้งบริษัท อุบลรวมใจพัฒนาเมือง จำกัด ขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด โดยโครงการแรกจะเข้าไปดำเนินการคือ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมของตัวเมืองที่ต้องพบกับอุปสรรคด้านปริมาณขยะที่มีมากขึ้นทุกวัน ก่อนขยายตัวไปทำเรื่อง อื่นๆ เช่น โครงข่ายการคมนาคม ซึ่งจะเน้นลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับคนเมืองเป็นลำดับต่อๆ มาด้วย” นายสิทธิชัย กล่าว

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๔ วันจันทร์ที่  ๒๖  -  วันเสาร์ที่  ๓๑  เดือนมีนาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๑


707 1,351