28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

April 07,2018

เสียงส่วนใหญ่ค้าน‘โทรลลี’ ๓ อดีตปธ.หอฯร่วมต้านด้วย

          รับฟังความคิดเห็นโหรงเหรง จังหวัดส่งแค่ หน.สำนักงานไปรับฟัง โครงการรถไฟฟ้าโทรลลีล้อยางยังคลุมเครือ เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากต้องใช้ไฟฟ้าจากเสาส่งหนวดกุ้ง ขัดแย้งนโยบายนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน อ้างโบราณจัด ประเทศที่เจริญแล้วกำลังโละทิ้ง เห็นด้วยกับการมีระบบเสริมจุดเชื่อมต่อ LRT อดีตปธ.หอฯ แนะควรสร้างจุดจอดรถขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการใช้บริการ LRT เหมือน กทม.

         เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๑ ที่ห้องประชุมศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ จังหวัดนครราชสีมา รศ.ดร.ธนัดชัย กุลวรวานิชพงษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมคณะทำงาน ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมเรื่อง “การศึกษาเชิงนโยบายเกี่ยวกับศักยภาพของรถโดยสารไฟฟ้าโทรลลีล้อยาง กรณีศึกษาเมืองนครราชสีมา” รวมถึงขั้นตอนวิธีการวิจัยภายใต้กรอบนโยบายของการพัฒนาขนส่งระบบราง เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ส่งเสริมการท่องเที่ยวการพัฒนา อุตสาหกรรม ลดความต้องการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมือง โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนทุนดำเนินการศึกษาโครงการนำร่องสู่การสร้างต้นแบบรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า โดยมี นายอัสนีย์ เชาวว์วาทิน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา, นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา, นายศิระ บุญธรรมกุล ขนส่งจังหวัดนครราชสีมา, พ.ต.อ.บุญเลิศ ว่องวัจนะ รอง ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา ในฐานะดูแลรับผิดชอบงานจราจร, นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, ผู้แทนส่วนราชการ, ภาคเอกชน และผู้นำชุมชนอีกประมาณ ๒๐ คน ร่วมรับฟังการชี้แจงผลการศึกษาเบื้องต้น 


         โดยแนวเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีขนส่งโดยสารสาธารณะ เพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ระหว่างสถานีรถไฟนครราชสีมา-สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมา ๑ และ ๒ รวมระยะทาง ๓.๔ กิโลเมตร งบดำเนินการ ๑๔๕ ล้านบาท พร้อมเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและซักถามข้อสงสัย ส่วนใหญ่ท้วงติงถึงความเป็นไปได้ เนื่องจากในอนาคตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน แต่รถโดยสารโทรลลีล้อยาง ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าบนเสาส่งที่เป็นหนวดกุ้ง รวมทั้งอาจขัดแย้งกับผลการศึกษาวิจัยรถ LRT ที่สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งใช้งบดำเนินการศึกษาแล้ว ๖๐ ล้านบาท เกรงจะสูญงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์
          รศ.ดร.ธนัดชัย เปิดเผยว่า การนำรถโดยสารไฟฟ้าโทรลลีล้อยาง ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ทั้งระบบสายส่งและแบตเตอรี่ มาใช้แก้ไขปัญหาวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงและความแออัดของการจราจรในเขตเมือง รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  ดำเนินการภายใต้โครงการวิจัยมุ่งเป้าการศึกษาเชิงนโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรของรถโดยสารไฟฟ้าในเมืองหลักของประเทศไทย ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา, เชียงใหม่, พิษณุโลก และเมืองพัทยา โดยเมืองใหญ่โดยเฉพาะทวีปยุโรปให้ความนิยมใช้รถโดยสารไฟฟ้าโทรลลีมาเป็นเวลานาน ซึ่งมีเทคโนโลยีไม่ซับซ้อน การพัฒนาทั้งผลิตและบำรุง รักษา สามารถใช้ผู้ประกอบการภายในประเทศได้ทั้งหมด จึงมีความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาได้หลายมิติ ส่วนข้อด้อยต้องใช้ในเส้นทางที่วางระบบสายจ่ายไฟฟ้าเท่านั้น หากใช้นอกเส้นทางต้องติดตั้งเครื่องยนต์ขนาดเล็กและติดตั้งแบตเตอรี่ หากเป็นรถ LRT ต้องใช้งบค่อนข้างสูง เครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยีส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเป็นการศึกษาเชิงนโยบาย ยังไม่มีข้อสรุป โดยมีกำหนดระยะเวลา ๖ เดือน ในการศึกษาหาข้อมูลเส้นทางและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเปรียบเทียบกับรูปแบบการขนส่งรถโดยสารสาธารณะอื่นๆ จึงสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม  
          ด้านนายอรชัย ปุณณะนิธิ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา (ปีบริหาร ๒๕๓๖–๒๕๓๗ และปี ๒๕๓๘–๒๕๓๙) ผู้สำเร็จวิศวกรรมจราจรปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT ให้ทุนสนับสนุนมาเพื่อศึกษาโครงการรถขนส่งมวลชนที่ใช้เชื่อมต่อกับ LRT โดยมีการเสนอหลายรูปแบบ มีทั้งรถโดยสารแบบที่ใช้แบตเตอรี่ รถไฟฟ้า รถโทรลลีล้อยาง ฯลฯ แต่มีการโฟกัสรถโทรลลีล้อยาง ซึ่งหากการศึกษาเป็นไปได้ก็จะมีการทดลองวิ่งภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งมีความเห็นว่า ถ้าใช้รถชนิดนี้จะต้องมีการตั้งเสาไฟฟ้า เพราะลักษณะของรถจะมีเสา ๒ เสาอยู่บนหลังคา แบบหนวดกุ้ง โดยต้องวางไว้บนเสาไฟฟ้าเพื่อถ่ายทอดพลังงานไฟฟ้ามาตามสายเพื่อเข้าสู่ตัวรถ ซึ่งเป็นระบบค่อนข้างโบราณ ประเทศที่เจริญแล้วเขาจะโละทิ้งแล้ว จึงไม่เข้าใจว่า ทำไมมุ่งเน้นการใช้ระบบโทรลลีล้อยาง หรือบางทีเขาอาจจะนำรถเก่าที่เมืองนอกโละทิ้งแล้วมาใช้ก็ได้
          นายอรชัย กล่าวอีกว่า “ประเด็นที่ ๑ โทรลลีล้อยางขัดแย้งกับโครงการนำเสาไฟฟ้าลงใต้ดินของโคราช ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญ ประเด็นที่ ๒ เส้นทางที่เขาศึกษานั้น ผมมองว่า LRT ได้ทำการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ชาวโคราชบางส่วนมีข้อข้องใจว่า การเชื่อมต่อต้องนั่งรถอย่างไร มีจุดจอดรถหรือไม่ ซึ่งเราได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรจะเก็บงบประมาณบางส่วนสำหรับการศึกษาเรื่องนี้ LRT เป็นระบบใหญ่ที่จะเกิดขึ้นใน ๔-๕ ปีข้างหน้า ส่วนระบบอื่นต้องเป็นระบบเสริมว่า คนที่ต้องการนั่ง LRT จะไปนั่งได้อย่างไร จุดจอดรถที่จะไปขึ้นรถขนส่งมวลชนเหล่านี้อยู่ที่ไหน หากไม่มีที่จอดก็จะกลายเป็นข้อบกพร่อง ในขณะที่ระบบขนส่งมวลชนควรต้องมีครบทุกวงจร อย่างเช่นที่กรุงเทพฯ ที่มีจุดจอดรถใหญ่ๆ อยู่มากมาย เพื่อให้ไปนั่งรถไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้มีความสะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลให้ สนข.ศึกษาแล้วว่า LRT เป็นระบบที่เหมาะสมกับเมืองโคราชในขณะนี้ ผมในฐานะคนโคราชมองว่า วันนี้เรามีงบมาแล้วก็ต้องให้ดำเนินการก่อน หากระหว่างดำเนินการมีปัญหาก็ต้องแก้กันไปให้เข้าที่เข้าทาง”
          “สำหรับโทรลลีล้อยางใช้งบประมาณที่ ๔๐๐-๕๐๐ ล้านบาท แม้จะเป็นงบที่การไฟฟ้าออกให้ แต่อย่างไรผมก็ไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าน่าจะใช้เป็นรถไฟฟ้า ๑๐๐% ไปเลย เพราะไม่อยากให้ตั้งเสาอีกในเมืองโคราช และระบบโทรลลีล้อยางต้องอยู่เลนซ้ายตลอด ไปวิ่งทางขวาไม่ได้ หากเปรียบเทียบก็คล้ายกับรถราง ที่ต้องวิ่งอยู่บนรางตลอด ไม่สามารถวิ่งข้างนอกได้ แต่เป็นรถรางที่มีรางอยู่ด้านบนนั่นเอง ส่วนเส้นทางที่นำเสนอเป็นเส้นทางที่ใช้เชื่อมต่อ LRT ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งได้สรุปมาแล้วว่าคนโคราชส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้รถโทรลลีล้อยาง จึงต้องมีการนำข้อเสนอแนะไปแก้ไข และศึกษามาใหม่ว่าควรใช้รถประเภทใด ในการใช้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อ LRT เพื่อนำมาเสนออีกครั้งในเดือนตุลาคม” อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าว


 นายอรชัย ปุณณะนิธิ, นายทวิสันต์  โลณานุรักษ์, นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ

                                                 

          ส่วน นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาอีกคนหนึ่ง (ปีบริหาร ๒๕๕๘-๒๕๖๐) เปิดเผยว่า แม้ว่าทาง EGAT จะให้ทุนมาเพื่อการศึกษาว่า โทรลลีล้อยางเหมาะสมหรือไม่ แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องใช้งบของรัฐบาลในการก่อสร้าง เพราะฉะนั้นเราต้องคำนึงถึงต้นทุนว่าการก่อสร้างใช้งบประมาณเท่าไหร่ และมีข้อจำกัดเรื่องหนวดกุ้งที่ต้องไปเกาะเสาไฟฟ้า ซึ่งจะมีสายไฟระโยงระยางขึ้นมาพาดกันระหว่างที่รถโทรลลีวิ่ง ดังนั้นจึงควรพิจารณาดีๆ ว่า เทคโนโลยีนี้มีความเหมาะสมกับเมืองโคราชหรือไม่  โดยเฉพาะเมืองของเรานั้นเป็นเมืองเก่า ซึ่งผลจากการศึกษาคือจะทดลองทำจากสถานีหัวรถไฟไป บขส.๑ และบขส.๒ ซึ่งเส้นทางนี้ผมคิดว่ามีความเหมาะสมในแง่ที่ว่า เราจะต้องมีขนส่งมวลชนหลักก่อน ที่สามารถขนคนจำนวนมากได้ ซึ่งผลการศึกษาของสนข.เรื่อง LRT ยังมีความเหมาะสมอยู่ แต่โทรลลีเป็นเพียงตัวเชื่อมระหว่างเส้นทางหลักไปยังเส้นทางรอง ซึ่งสามารถใช้เป็นขนส่งมวลชนชนิดอื่นก็ได้
         “สมมติว่า LRT เป็นกระดูกปลา โทรลลีจะเป็นก้างปลาที่แตกย่อยออกมา ซึ่งในส่วนของก้างปลานั้น หากลงทุนสูง จะคุ้มค่าหรือไม่ เราต้องมาพิจารณาถึงเงินลงทุน อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้ขัดขวางการที่ทาง EGAT จะศึกษา เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องมีข้อจำกัดว่ามีการใช้งบประมาณมากไปหรือไม่ แม้ว่าทาง EGAT จะไม่ได้ใช้เงินจากรัฐบาลโดยตรง แต่ส่วนหนึ่งก็มาจากเงินภาษีที่ประชาชนเสียค่าไฟฟ้า ผมเห็นด้วยที่จะศึกษาว่า อะไรที่จะเป็นตัวส่งผู้โดยสารจากสถานี ซึ่งเป็นขนส่งมวลชนหลัก และก็นำผู้โดยสารไปยังสถานีอื่นๆ เรื่องของเส้นทางที่ศึกษาก็มีความเหมาะสม เพียงแต่ขอติงว่าโทรลลีเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างเก่า เราต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และหลายๆ เรื่อง เพราะเมืองเราเป็นเมืองเก่า ถนนค่อนข้างแคบ หากใช้รถสองแถว รถไฟฟ้า มินิบัส หรือไมโครบัส อาจจะมีความเหมาะสมมากกว่าหรือไม่ ต้องพิจารณาให้ดี” นายหัสดิน กล่าว
         นายหัสดินย้ำอีกว่า “ผมเห็นด้วยในการศึกษา แต่ส่วนตัวคิดว่าโทรลลีไม่เหมาะสม เพราะไม่ใช่ขนส่งมวลชนหลัก โทรลลีมีการลงทุนค่อนข้างสูง ทุกคนเข้าใจว่าราคาถูก แต่ความจริงไม่ถูก เนื่องจากโทรลลีมีโครงสร้างไฟฟ้า ที่ต้องมีความปลอดภัยสูงมาก ดังนั้นต้นทุนจึงต้องสูงไปด้วย รวมถึงหากมีการลงทุนจุดเกาะสายไฟไปแล้ว ภายหลังต้องการเอาออกก็อาจสร้างความลำบากได้ ส่วนการใช้รถโทรลลีในต่างประเทศเป็นการใช้เมื่อ ๔๐-๕๐ ปีที่แล้ว ส่วนประเทศอื่นที่เพิ่งหันมาใช้ ยังไม่ค่อยพบ เนื่องจากส่วนใหญ่จะใช้ระบบราง หรือเป็นรถบัสไฟฟ้า ไม่เช่นนั้นก็เป็นระบบอื่นไปเลย ผมคิดว่ามินิบัสหรือไมโครบัสมีความเหมาะสมมากกว่า เพราะมีความคล่องตัว เปลี่ยนเส้นทางได้ง่าย และต้นทุนถูกกว่าด้วย แต่อย่างไรก็ตามทาง EGAT ก็ยังมีการนำเรื่องนี้กลับไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการใช้โทรลลีล้อยางต่อไป โดยเสียงในวันที่ประชุมผมมองว่ามีเสียงที่ไม่เห็นด้วยจำนวนมากกว่า”
         สำหรับ นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา (ปีบริหาร ๒๕๔๖–๒๕๔๗, ปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙) กล่าวว่า “ผมมองเป็นเรื่องของหลักการ ความจริงเรื่องนี้ควรจะจบไปตั้งแต่มีการนำเสนอเรื่อง LRT ของทาง มทส. ในครั้งที่แล้ว แต่คราวนี้ก็เป็นโครงการของ มทส. อีกเช่นกัน แต่คนละทีม จึงดูเหมือนไม่ได้ประสานงานกันหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งในเรื่องนี้ผมว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่การใช้โทรลลีล้อยาง แต่อยู่ที่การวางแผนแม่บท ที่ควรจะทำตามแผนแล้วเสนอให้จบ โดย สนข. แต่ขณะนี้กลายเป็นว่า EGAT เข้ามาให้งบเพื่อศึกษาโทรลลีล้อยาง เปรียบเทียบเหมือนกับเวลาเราสร้างบ้านเสร็จไปแล้ว แต่ต้องมาทำครัวหรือทำโน่นทำนี่เพิ่มเติมไปเรื่อย กลายเป็นว่าเรื่องก็ไม่จบ ผมว่าเรื่องนี้ต้องให้ สนข. เข้ามาเป็นผู้กำหนดว่าจะทำอย่างไรต่อไป ในเมื่อแผนแม่บทมีอยู่แล้ว ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ไม่ใช่ว่ามีหลายฝ่ายเข้ามาเสนอโครงการอยู่ตลอดเวลา ทำให้เรื่องกลายเป็นไม่มีข้อสรุปเสียที”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๖ วันศุกร์ที่  ๖  -  วันอาทิตย์ที่  ๑๕  เดือนเมษายน  พุทธศักราช  ๒๕๖๑


707 1346