29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

April 07,2018

‘แหยง’ชู“สภาประชาชน” ไร้ข้อวิตกทางการเมือง ‘ห้องเรียนอัจฉริยะ’จบแล้ว

              “หมอแหยง” ชูแนวคิด “สภาประชาชน” เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิด การทำงานร่วมกับ ส.อบจ. และท้องถิ่นทุกระดับ เพื่อพัฒนาโคราช ไร้ข้อวิตกกังวลใดๆ ที่จะทำให้ตนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติทางการเมืองในการชิงตำแหน่ง ส่วนกรณี “ห้องเรียนอัจฉริยะ” แค่เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง 

              เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๗.๐๐ น. ที่ชมรมจิตอาสาพัฒนาท้องถิ่น รักษ์โคราช ถนนไชยณรงค์ อำเภอเมืองนครราชสีมา นพ.สำเริง แหยงกระโทก อดีตนายกอบจ.นครราชสีมา กลุ่มรักษ์โคราช เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ถึงกระแสในการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นในปีนี้ว่า “หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี ๒๕๖๑ ก็ตั้งใจลงสมัครเลือกตั้งนายกอบจ.นครราชสีมา เนื่องจากเคยทำงานในส่วนนี้มาก่อน ยังมีงานที่ค้างคาอยู่ในใจ สิ่งที่คิดอยากจะทำให้กับพี่น้องประชาชนชาวโคราชใน ๑๒ นโยบาย ที่เคยทำไว้ในครั้งเมื่อตนเป็นนายกอบจ.นครราชสีมา ในปี ๒๕๕๕ ไม่สามารถทำได้ทั้งหมดในช่วงเวลานั้น อาจเป็นแค่ ๒๐% ที่ได้ดำเนินการ ซึ่งเหตุที่ทำได้เพียง ๒๐% นั้นอาจเพราะระยะเวลาในการเป็นนายกอบจ.ไม่เหมือนราชการ ถ้าเป็นข้าราชการ ๔ ปีถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมากในการทำงาน แต่การดำเนินงานทางการเมืองนั้นไม่ง่าย จะต้องทำอย่างตรงไปตรงมา ตนคิดฝันอยากจะพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน จึงมีความหวังอีกสักครั้งหนึ่งที่อยากจะทำความดีและพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา และไม่มีข้อวิตกกังวลใดๆ หากลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้”

              นพ.สำเริง แหยงกระโทก หรือ “หมอแหยง” กล่าวอีกว่า “การเป็นนายกอบจ.ไม่จำเป็นต้องมี ส.อบจ. เดินตามแม้แต่คนเดียวก็ได้ มีสักครึ่งหนึ่งก็ได้หรือจะมีครบได้ยิ่งดี เพียงแต่ว่าถ้าเรามีไว้ก่อนก็ดี ตอนที่เข้าไปเป็นนายกอบจ.สมัยแรกผมก็ไม่มี ส.อบจ. สักคน เข้าไปคนเดียว ซึ่งก็มีข้อเสียที่ว่า อาจถูกอิทธิพลทางการเมืองหรือถูกคว่ำตั้งแต่ครั้งแรกเลย ส่งผลให้สิ่งที่เราอยากทำไม่เป็นผลสำเร็จเท่าที่ควร ครั้งนั้นเราก็ต้องเตรียมการ แต่การที่เราจะมีครบทั้ง ๔๘ เขตนั้นไม่จำเป็น ขอให้มีเพียงคนที่เข้าใจในระบบการทำงานของเราเกินครึ่งก็พอ การทำงานของผมต้องอาศัยทีมงาน คือ กลุ่มรักษ์โคราช โดยคนที่เข้ามาช่วยล้วนมาด้วยหัวใจ มาด้วยจิตอาสา ไม่ใช่มาเพราะอยากได้ตำแหน่ง แต่ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ อยากจะพัฒนาโคราชและอยากให้ประชาชนคนยากจนได้มีส่วนรวมในการพัฒนาจังหวัดของตนเองด้วย โดยการจัดตั้งสภาประชาชนในทุกๆ อำเภอ เพื่อสะท้อนปัญหาในพื้นที่ของตนเอง มีการเชื่อมโยงระหว่างสภาประชาชนกับการบริหารในทุกระดับ โดยมี ส.อบจ. เป็นฝ่ายช่วยเหลือ” 

หนู ‘ภูมิใจไทย’ หนุน

              “ในระดับท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล หรือ อบจ. ก็ตาม ไม่จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองสนับสนุน เพราะมีการเปิดให้อิสระในการทำงาน ฉะนั้น นายกอบจ.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งตรงนี้เป็นหลักการ แต่ในด้านการทำงาน ถ้าเราจะต้องพัฒนาโคราชทั้งจังหวัด ไม่ใช่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง โคราชมีทรัพยากรครบไม่ว่าจะเป็นความอุดมสมบูรณ์ด้านการเกษตร การท่องเที่ยว แหล่งช้อปปิ้งขนาดใหญ่ของภาคอีสาน และการคมนาคมที่สะดวก แต่โคราชยังขาดความเป็น UNITY นั่นคือความเป็นหนึ่งเดียวกัน โคราชยังพัฒนาช้ากว่าหรือยังไม่เท่าเทียมกับชลบุรี บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี ถ้าเราจะสร้างโคราชให้ดีได้ นายกอบจ.ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยหลายๆ ภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกัน ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกุล หรือ “เสี่ยหนู” ได้มีส่วนร่วมด้วย เหตุที่ประสานกับเสี่ยหนู เนื่องจากในช่วงที่ท่านเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขครั้งแรก ผมดำรงตำแหน่งเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ท่านมาที่โคราชมาดูในสิ่งที่เราไม่ได้เตรียมความพร้อมของส่วนนั้นไว้คือ สถานีอนามัย และให้ความช่วยเหลือในส่วนนี้ ท่านมีจิตอาสาในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยไม่หวังผลใด และผมเคยเป็นลูกน้องท่าน รู้ระบบการทำงานของท่าน เห็นถึงความตั้งใจของท่านที่ต้องการจะพัฒนาโคราช จึงเป็นการเชื่อมต่อกันเพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้กับพี่น้องประชาชน นี่คือประเด็นสำคัญ ไม่ใช่การเอาใครมาหนุนหลังแต่อย่างใด หรือการเอาพรรคการเมืองมาแข่งกัน” หมอแหยง กล่าว

วิสัยทัศน์ “รักษ์โคราช” 

              นพ.สำเริง เปิดเผยถึงนโยบายการทำงานว่า “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจก้าวไกล การเมืองโปร่งใส ร่วมใจรักษ์โคราช” เป็นวิสัยทัศน์หรืออุดมการณ์ในการทำงานของผม เริ่มจาก “สังคมก้าวหน้า” คือ การพัฒนาด้านสังคม ได้แก่ วัฒนธรรม ให้มีความก้าวหน้า คุณภาพชีวิตของประชาชน อยู่ดีมีสุข มุ่งเน้นพัฒนาที่ตัวบุคคลให้เป็นศูนย์กลางพัฒนา คนพัฒนาดีแล้วสิ่งอื่นก็จะพัฒนาได้ดีด้วย “เศรษฐกิจก้าวไกล” หมายถึง การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีอาชีพไม่ว่างงาน มีรายได้พอเพียง มีการใช้จ่ายอย่างเหมาะสมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และไม่ถูกเอาเปรียบทางสังคม “บริหารโปร่งใส” หมายถึง การจัดโครงสร้างองค์กรแนวใหม่และบริหารจัดการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ยึดมั่นธรรมาภิบาลบริการเพื่อประชาชน ให้ข้าราชการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เสมอภาค เท่าเทียม และยุติธรรม โดยประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานได้ตลอดเวลา “การเมืองโปร่งใส” ผมตั้งใจที่จะสานต่อการปฏิรูปทางการเมืองของดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ให้เป็นจริง โดยเสนอการปฏิรูปทางการเมืองไว้ ๕ เรื่อง ได้แก่ ๑.การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ ๒.การสร้างรัฐธรรมาธิปไตย ๓.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ๔.กลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีและการรู้รักสามัคคีของสังคมไทย และ ๕.การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม ด้านการเมืองโปร่งใส โดยเสนอเลยว่า จะต้องเป็น อบจ.สีขาว เป็น อบจ.ที่บริสุทธิ์ จะไม่ซื้อสิทธิขายเสียงโดยเด็ดขาด ซึ่งเป็นความฝันของเราอยู่แล้ว พร้อมทั้งประชาชนเองก็ต้องการความโปร่งใสทางการเมืองอยู่แล้ว เมื่อเข้ามาในพื้นที่ตรงนี้แล้ว การเสนอปัญหาต่างๆ ต้องมาจากภาคประชาชน ซึ่งในระเบียบกฎหมายนั้นมีอยู่แล้วแต่ไม่ค่อยทำกัน และสุดท้ายคือ “ร่วมใจรักษ์โคราช” หมายถึง หล่อหลอมและบูรณาการเป็นมิตรกับทุกภาคส่วน ได้แก่ ราชการ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคภาคการเมือง นายกอบจ.ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด แต่ประสานและเป็นมิตรกับทุกพรรคการเมือง ได้แก่ ส.ส., ส.ว., อบจ., ส.ท., อบต., เทศบาล และภาคธุรกิจเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน ไม่ว่าจะสวมเสื้อสีอะไร เมื่อมีอุดมการณ์รักษ์โคราชร่วมกัน ก็จะสร้างความสมานฉันท์เพื่อการพัฒนาโคราชอย่างยั่งยืนต่อไป  

“สภาประชาชน” ประชาชนมีส่วนร่วม

              นพ.สำเริง แสดงทัศนะอีกว่า “ในต่างประเทศมีสภาประชาชนมานานแล้ว เมื่อประชาชนเข้มแข็ง รู้และเข้าใจในเรื่องของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เขาจะสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อมีการประกาศเลือกตั้ง โดยจะสนับสนุนคนที่ชื่นชอบให้ไปเป็นตัวแทน เมื่อถึงวันเลือกตั้งจะพากันไปลงคะแนนเสียงเลือกคนๆ นั้นให้ได้เป็นผู้แทน และหลังจากเลือกตั้งแล้วก็จะติดตามดูการทำงาน หากเห็นว่าทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง เศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีผลงาน เขาจะรวมตัวกันถอดถอน หรือเรียกร้องให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง สาเหตุที่ต้องมีสภาประชาชน เนื่องจากในประเทศเรามีสภาผู้แทนราษฎร ระดับจังหวัดมีสภาจังหวัด (อบจ.) ระดับท้องถิ่นมีสภา เช่น สภาเทศบาล สภา อบต. สภาเหล่านี้โดยส่วนใหญ่เป็นเพียงรูปแบบทางการเท่านั้น ไม่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง แสวงหาผลประโยชน์ ไม่โปร่งใส ไม่สนองความต้องการของประชาชนได้ ซ้ำยังชอบอ้างประชาชนเพื่อความชอบธรรม ดังนั้นประชาชนจึงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีสิทธิ์รวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือจะเรียกว่า ประชาคม สมัชชาประชาชน สมัชชาพลเมือง และสภาประชาชน ตามความเหมาะสม เพื่อรวมพลังแก้ไขปัญหาและกำหนดอนาคตของตัวเอง ดังนั้นสภาประชาชนคือ สภาที่ประกอบด้วยหลากหลายอาชีพ มารวมตัวกันตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขปัญหาและกำหนดอนาคตของตนเอง เมื่อเห็นว่าสภาที่ตั้งเป็นทางการตามกฎหมายไม่สามารถสนองความต้องการของมวลประชาชนที่แท้จริงได้”

              หมอแหยงอธิบายถึง “สภาประชาชน” ที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ โดยยกตัวอย่างจากระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๙ ข้อ ๑๗ (๑) ที่กำหนดไว้โดยสรุปความว่า “การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นจะต้องจัดให้มีการประชุมประชาคมท้องถิ่นและส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำความต้องการมากำหนดเป็นแนวทางในการจัดทำแผน” และข้อ ๑๓ (๓) (๔) ผู้บริหารท้องถิ่นต้องประกาศผลการติดตามประเมินผลและแผนพัฒนาให้ประชาชนในท้องถิ่นทราบในที่เปิดเผยไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน โดยอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง ภายในเดือนเมษายน และตุลาคมของทุกปี ดังนั้น คำว่า “ประชาคม” ท้องถิ่นและส่วนที่เกี่ยวข้องดังกล่าวก็คือสภาประชาชนนั่นเอง แต่ส่วนใหญ่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไป ไม่ทำการประชาคมระดับอำเภอ ประชาชนจึงไม่มีโอกาสที่จะร่วมพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง และไม่ทราบว่างบประมาณของ อบจ. ได้จัดทำโครงการอะไรบ้างในอำเภอของตนเอง

              “อนึ่ง รัฐบาล และ คสช. มีการปฏิรูปด้านต่างๆ ๑๑ ด้าน ที่สำคัญคือ ปฏิรูปด้านการเมือง ที่จะให้การเมืองบริสุทธิ์ปราศจากซื้อสิทธิ์ขายเสียง ด้วยการให้กลุ่มประชาชนหรือองค์กรประชาชนคัดเลือกคนดีเข้าสมัครรับเลือกตั้ง ประชาชนก็จะต้องทำหน้าที่ติดตามการทำงานของผู้แทน นั่นคือ ในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ประชาชนจะต้องรู้ว่างบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนจะใช้ไปทำอะไรบ้าง เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักการพัฒนาเมืองและการปฏิรูปประเทศจึงเสนอรูปแบบ (Model) ว่า ควรให้มีสภาประชาชนทุกอำเภอ โดยสภาประชาชนทุกอำเภอทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษานายก อบจ. ให้มีความโปร่งใสและสนองความต้องการของประชาชน ดังนั้นการจัดตั้งสภาประชาชนจึงเริ่มต้นด้วยการให้ประชาชนทุกระดับในอำเภอนั้นๆ ช่วยกัน สรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และมีความเสียสละ ไปเป็นตัวแทนเพื่อทำหน้าที่สภาประชาชนในระดับอำเภอ” หมอแหยง กล่าวเพิ่มเติม

ถนนยางพาราต้องมีคุณภาพ

              หมอแหยง กล่าวถึงการที่สภาอบจ.นครราชสีมา อนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมจำนวน ๔๔๐ ล้านบาทเพื่อสร้างถนนยางพาราจำนวน ๒๔๐ โครงการว่า “เรื่องถนนยางพาราในการที่จะเอางบประมาณที่สะสมกว่า ๗๐๐ ล้านบาท เป็นสิ่งที่ดี ถ้านำเงินออกมาแล้วทำให้การหมุนเวียนของเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น เงินไปถึงมือของประชาชน มันก็เป็นสิ่งที่ดี ข่าวที่มีออกมาถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในแนวความคิด ต้องมาดูว่าจะทำให้ถนนดีมีการก่อสร้างที่มีคุณภาพหรือเกิดประโยชน์ต่อประชาชนไหม มีการจัดซื้อจัดจ้างตามระบบและถนนออกมามีคุณภาพที่ดี รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งของพี่น้องชาวโคราช การเดินทาง การโทรคมนาคมการสื่อสาร ก็จะต้องทำได้ทันสมัยตาม และเป็นประชาคมอาเซียน แต่ความทันสมัยนั้นจะต้องทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเข้าใจให้ได้มากที่สุด ส่วนการเลือกตั้งนายกอบจ.จะเกิดขึ้นเมื่อไรผมก็ไม่รู้ และผมจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่นั้นก็ไม่สามารถตอบได้ ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคต”

คดีห้องเรียนอัจฉริยะ ‘ไม่วิตก’

              กรณีที่มีผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องห้องเรียนอัจฉริยะในวันที่มีการแถลงข่าวการอนุมัติงบ ๔๔๐ ล้านบาทเพื่อสร้างถนนยางพารา โดยอ้างว่า มีการทุจริตห้องเรียนอัจฉริยะในสมัยนายกอบจ.คนเก่านั้น “หมอแหยง” ชี้แจงว่า “เรื่องนี้เกิดตั้งปี ๒๕๕๒ ในการดำเนินการทั้งหลายทั้งป่วง โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษา ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน โรงเรียนมีทั้งหมด ๕๘ แห่ง เป็นหน้าที่ที่จะต้องสอบถามไปยังสถานศึกษาว่าต้องการอุปกรณ์ใดเสริม ขาดส่วนใด ความทันสมัยในเรื่องของสื่อต่างๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอน การแสวงหาความรู้เพิ่มเติมของนักเรียน ยกตัวอย่าง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นครราชสีมา ที่ต้องการสร้างให้เป็นโรงเรียนเข้มแข็ง รวมทั้งโรงเรียนอื่นๆ ที่อยู่ในต่างอำเภอก็ต้องการความทันสมัยเช่นกัน ได้เสนอความต้องการขึ้นมา ก็ออกมาเป็นห้องสมุดที่ดี สื่อการเรียนการสอนที่ดี เนื่องจากช่วงนั้นเป็นปี ๒๕๕๒ ความทันสมัยและเทคโนโลยีก็เริ่มเข้ามาสู่ระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสื่อการเรียนการสอน เครื่องฉายโปรเจ็กเตอร์ ห้องสมุด และอุปกรณ์ทางการศึกษา เมื่อโรงเรียนเสนอเข้ามา ก็จัดให้ตามระบบ อะไรที่อยู่ในขอบเขตการตกลงราคาได้ก็ซื้อ ซื้อไปจนครบตามความต้องการของสถานศึกษาที่เสนอมา แต่เรื่องมาเกิดเมื่อปี ๒๕๕๘ การดำเนินการทำเมื่อ ๖ ปี มาแล้ว อยู่ๆ ก็ไปถามครูว่ามีของครบไหม วิธีการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอย่างไร ครูก็ตกอกตกใจ อยู่ดีๆ มีคนเข้ามาถาม แต่เมื่อไปดูจริง ขอข้อมูลเก่าๆ มา ของที่จัดส่งให้นั้นมีอยู่จริงและครบตามจำนวน ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างก็ถูกต้อง เป็นเพียงความสงสัยของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และความเข้าใจผิด แต่ขณะนี้เข้าใจถูกหมดแล้ว ตนถือว่าเป็นเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง ที่หาเรื่องเพื่อกลบเกลื่อน และไม่เป็นปัญหาในโอกาสข้างหน้าที่จะมีการรับสมัครเลือกตั้ง และตนเป็นประชาชนธรรมดาที่พร้อมทำตามระเบียบ ไม่ได้วิตกกังวลใดๆ ในส่วนนี้ หากมีการลงเลือกตั้ง และตนมีคุณสมบัติครบทุกประการ ส่วนการแจ้งความดำเนินคดีของนายกอบจ.คนปัจจุบัน ก็เป็นไปตามระบบการดำเนินงาน แต่ยังไม่มีหมายถึงตนแต่อย่างใด 

              “ในขณะนี้สิ่งที่ผมทำอยู่คือการรณรงค์ไปพร้อมๆ กับการไปบรรยาย เรื่องการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาเป็นสิ่งสำคัญ อยากจะให้เท่าเทียมเท่าจังหวัดอื่น เพราะฉะนั้นการปฏิรูปทางการเมืองให้โปร่งใสจึงเป็นเรื่องสำคัญ จะทำให้เป็นจริงได้อย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชน ที่ต้องออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หากใครได้สิทธิ์เข้ามาทำงานในอบจ. ผมก็ยินดีพร้อมสนับสนุน เพียงแต่อยากให้การดำเนินงานทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างโปร่งใสมากที่สุด” หมอแหยง กล่าวย้ำในท้ายสุด

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๖ วันศุกร์ที่  ๖  -  วันอาทิตย์ที่  ๑๕  เดือนเมษายน  พุทธศักราช  ๒๕๖๑


699 1343