29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

April 23,2018

‘พาณิชย์’ใช้ MOC Biz Club เป็นพี่เลี้ยงเอสเอ็มอีรายย่อย นำร่อง ๑๐ จว.รายได้น้อยสุด

          กระทรวงพาณิชย์ สร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการรายย่อย ใช้เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club เป็นพี่เลี้ยง พร้อมเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจแบบครบวงจรในรูปแบบ
พี่สอนน้อง นำร่อง ๑๐ จังหวัดที่มีรายได้น้อยที่สุดในประเทศ หวังผลักดันให้เติบโตบนโลกธุรกิจอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่เครือข่ายธุรกิจฯ ก็ใช่ย่อย ผลงาน ๓ เดือนที่ผ่านมาเข้าตาสุดๆ สร้างมูลค่าทางการค้าได้กว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท

           นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) เป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย หรือ Micro SME ซึ่งมีจำนวนกว่า ๒.๓ ล้านราย แต่ Micro SME ของไทยส่วนใหญ่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ คือ ไม่มีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำ ขาดเครือข่ายพันธมิตรและช่องทางการจำหน่ายสินค้า ขาดเงินทุนและแหล่งเงินทุนสนับสนุน ขาดโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมทั้ง ยังไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามาช่วยดูแลอย่างชัดเจน ทำให้ Micro SME ต้องเผชิญอุปสรรคในการพัฒนาศักยภาพ การดำเนินธุรกิจเป็นไปตามความสามารถของแต่ละบุคคล ส่งผลให้ Micro SME ของไทยประสบปัญหาขาดทุน และไม่สามารถยืนหยัดอยู่บนโลกธุรกิจได้ตลอดรอดฝั่ง”
 กระทรวงพาณิชย์ จึงมีนโยบายให้เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ที่อยู่ในการส่งเสริมของกระทรวงฯ และกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ Micro SME แบบครบวงจร เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะร่วมมือกับเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ดำเนินกิจการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ Micro SME ใน ๑๐ จังหวัดที่มีรายได้น้อยที่สุดในประเทศ คือ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ และน่าน และหลังจากนั้นจะได้ขยายไปจังหวัดอื่นต่อไป โดยร่วมกันดำเนินกิจกรรม ดังนี้ 
           ๑.“1 Biz Club จังหวัด ๑ กลุ่ม Micro SME” โดยการอบรม/สัมมนา ให้คำปรึกษาธุรกิจ และร่วมประชุม/ระดมความเห็น เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้สู่มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โดย MOC Biz Club แต่ละจังหวัดจะเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษาธุรกิจ และพัฒนากลุ่ม Micro SME อย่างใกล้ชิด ในลักษณะพี่สอนน้อง เพื่อยกระดับสินค้า/บริการ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น และ ๒.คาราวานสินค้า Micro SME” โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ สร้างโอกาสทางการตลาด ผ่านกิจกรรมแสดงและจำหน่ายสินค้าใน
          รูปแบบคาราวานสินค้าในสถานที่ต่างๆ อาทิ สถานที่ท่องเที่ยว ตลาดชุมชน โรงงาน/นิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งกิจกรรมการเจรจาธุรกิจ โดย MOC Biz Club จะเชื่อมโยง Micro SME เข้าระหว่างกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมกลุ่มสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ จับคู่พันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาธุรกิจในทุกระดับ ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง ๒ กิจกรรมจะสามารถดำเนินการได้ประมาณปลายเดือนเมษายน ๒๕๖๑
           รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีการพัฒนาต้นแบบร้านค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและร้าน MOC Biz Shop นำร่อง ขึ้นครอบคลุมทุกภูมิภาค ใน ๑๕ จังหวัด ซึ่งจะเป็นร้านที่รวบรวมและขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างให้เกิดความร่วมมือในระบบโซ่อุปทานระหว่างธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ผู้ผลิตสินค้าท้องถิ่น และสินค้าจาก Micro SME ให้เกิดการเกื้อกูลทางการค้าซึ่งกันและกัน ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไทยมีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
            “อย่างไรก็ตาม MOC Biz Club หลายจังหวัดได้ขยายผลดำเนินการเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาให้แก่ Micro SME ภายในจังหวัดแล้ว โดยพาณิชย์จังหวัดเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ในแต่ละพื้นที่ เพื่อร่วมกันคิด พัฒนา และดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการ Micro SME อย่างแท้จริง อาทิ เครือข่ายธุรกิจบิสคลับจังหวัดขอนแก่น จัดงาน “เครือข่าย Biz Club ขอนแก่นสัญจร” นำผู้ประกอบการ Micro SME เข้าร่วมงานสัญจรไปจำหน่ายสินค้าและบริการตามสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง, เครือข่ายธุรกิจบิสคลับอยุธยาและเพชรบุรี ได้รวมกลุ่มหาบแร่แผงลอย ช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม สร้างอัตลักษณ์การแต่งกาย และสร้างช่องทางการจำหน่ายใน “ตลาดอยุธยาไนท์มาร์เก็ต และตลาดอิ่มสุข” หรือเครือข่ายธุรกิจบิสคลับอุดรธานีและมหาสารคาม เชื่อมโยงนำสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าไปจำหน่าย ณ สนามบินนานาชาติ และห้างสรรพสินค้าชั้นนำในพื้นที่ เพื่อขยายโอกาสทางการตลาด และเปิดประสบการณ์ด้านการประกอบธุรกิจที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เป็นต้น”
           รัฐมนตรีฯ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ผลงานเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ในช่วง ๓ เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-มีนาคม ๒๕๖๑) ได้ดำเนินกิจกรรมเชื่อมโยงธุรกิจหลากหลายโครงการ จนทำให้เกิดมูลค่าทางการค้าขึ้นจำนวนมากกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท เช่น เครือข่ายธุรกิจบิสคลับจันทบุรี สามารถ ‘ขยายธุรกิจออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน’ จัดกิจกรรม Business Matching โดยใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศที่เชื่อมต่อกับชายแดนและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่พัฒนาไปสู่เอกลักษณ์ด้านมหานครแห่งผลไม้ และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจบิสคลับยะลาและปัตตานี ในการซื้อขายผลไม้จังหวัดชายแดนภาคใต้และภาคตะวันออก เพื่อส่งออกไปขายประเทศกัมพูชา เวียดนาม จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย หรือเครือข่ายธุรกิจบิสคลับอำนาจเจริญ จัดงานตลาดนัดชายแดนเชื่อมโยงการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน Amnat Charoen ASEAN Trade Link 2018 ซึ่งนำสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร และสินค้าชุมชนจากทั่วประเทศ เข้าร่วมเจรจาการค้ากับลาว เวียดนาม พม่า และกัมพูชา นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงการค้าระหว่างเครือข่าย MOC Biz Club ด้วยกันทั่วประเทศ ทำให้ผลงานในช่วงที่ผ่านมาของเครือข่ายฯ เป็นที่น่าพอใจและเมื่อได้มีการพัฒนา Micro SME เชื่อมโยงเข้าร่วมเป็นเครือข่ายธุรกิจด้วยแล้ว คาดว่าจะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน 
            ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย (สสว.) ระบุว่า SME ทั้งประเทศของไทย มีจำนวน ๓,๐๐๔,๖๗๙ ราย เป็นผู้ประกอบการรายย่อยและส่วนบุคคล จำนวน ๒,๒๘๕,๗๓๑ ราย คิดเป็นร้อยละ ๗๖.๐๗ ของ SME ทั้งประเทศ โดยในจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยฯ นี้ อยู่ในภาคการค้า ๑,๐๓๕,๑๒๖ ราย (ร้อยละ ๔๕.๒๙) ภาคบริการ ๘๕๑,๓๐๖ ราย (ร้อยละ ๓๗.๒๔) และภาคการผลิต ๓๙๙,๒๙๙ ราย (ร้อยละ ๑๗.๔๗)

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๘ วันเสาร์ที่  ๒๑  -  วันพุธที่  ๒๕  เดือนเมษายน  พุทธศักราช  ๒๕๖๑


693 1337