25thApril

25thApril

25thApril

 

April 24,2018

เอสเอ็มอีแบงก์เดินหน้าปล่อย‘Soft Loan’ ชูปรับ ๓ เงื่อนไขเอื้อ ๑๐ อุตฯแห่งอนาคต

           SME Development Bank ดันเอสเอ็มอีในกลุ่ม ๑๐ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (10 S-Curve) เข้าถึงสินเชื่อ “Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ ๒” ดอกเบี้ยถูกเพียง ๔% ตลอดอายุ ๗ ปี วงเงิน ๓,๐๐๐ ล้านบาท เผยปรับ ๓ เงื่อนไข เพื่อเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น สำหรับใช้ยกระดับ ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ  

           นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๐ เห็นชอบในหลักเกณฑ์ “โครงการสินเชื่อ Transformation Loan เสริมแกร่ง” หรือ Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ ๒ วงเงินรวม ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในการปรับปรุงเครื่องจักร ช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจ  โดยในส่วนของ ธพว. คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง ๔% ต่อปีตลอดอายุโครงการ ๗ ปี วงเงินกู้สูงสุด ๑๕ ล้านบาทต่อราย ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อไว้ที่ ๓,๐๐๐ ล้านบาท   

           ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อ Soft Loan ระยะที่ ๒ ได้ปรับเงื่อนไขจากโครงการระยะแรกใน ๓ ประเด็นหลัก เอื้อให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายย่อย เข้าถึงแหล่งทุนได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น ได้แก่ ๑.เปิดโอกาสให้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลสามารถยื่นกู้ได้ ๒.เป็นสินเชื่อระยะยาว สามารถนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนได้ถึง ๓๐% ของวงเงินรวมที่ได้รับอนุมัติ และ ๓.ผู้ประกอบการรายย่อยกู้เพื่อลงทุนซื้อหรือสั่งทำเครื่องจักรใหม่ได้สูงสุดถึง ๑๕ ล้านบาท โดย ๑๐ ล้านบาทแรก สามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันได้ 

           วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อเป็นเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ระยะยาวให้เอสเอ็มอียกระดับธุรกิจ นำไปลงทุนซื้อ หรือปรับปรุง ต่อเติม เปลี่ยนเครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขยายหรือทำให้ดีขึ้น ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม และต้องเป็นทรัพย์สินประเภทเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรืออาคารถาวร เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของเครื่องจักร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย และให้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สำหรับเสริมสภาพคล่องควบคู่ไปด้วย  

           ทั้งนี้ มุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่มีการยื่นภาษีกับภาครัฐ ในกลุ่มธุรกิจอยู่ใน ๑๐ อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยแบ่งเป็น ๕ อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) คือ ๑.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ๒.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ๓.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ๔.อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และ ๕.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และเพิ่มใน ๕ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) คือ ๑.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ๒.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ๓.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ๔.อุตสาหกรรมดิจิทัล และ ๕.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร  

           นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า สินเชื่อ Soft Loan มีจุดเด่นที่การคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง ๔% ต่อปีตลอดโครงการ มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเร่งปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่รองรับการขยายกำลังการผลิต โดยกำหนดวงเงินกู้สูงได้ถึง ๙๐% ของใบสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ เบื้องต้น การพิจารณาสินเชื่อนั้นจะใช้วิธีมาก่อนได้ก่อน (First come, First Served) ดังนั้น ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๑ หรือจนกว่าวงเงินจะถูกจัดสรรหมดแล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยหลังจากอนุมัติเงินกู้ มีระยะเวลาเบิกเงินกู้ถึงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ เบื้องต้นธนาคารคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อไม่ ต่ำกว่า ๖๐๐ ราย

           ทั้งนี้ จากข้อมูลโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ระยะที่ ๑ (โครงการเดิม) ณ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๑ ธพว. ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วทั้งสิ้น ๕๒๙ ราย วงเงิน ๒,๙๑๔.๙๗ ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว ๔๑๗ ราย เป็นวงเงินกว่า ๒,๒๕๘.๕๐ ล้านบาท ถือเป็นการอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่วงเงิน ๓,๐๐๐ ล้านบาท และคาดว่าโครงการระยะที่ ๒ จะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเช่นเคย เนื่องจากเมื่อประเมินอัตราการชำระเงินกู้ จะพบว่า ระยะเวลาการกู้ยืมระยะเวลา ๗ ปี หากกู้วงเงิน ๕ แสนบาท ผ่อนเพียงเดือนละ ๖,๘๓๔ บาทต่อเดือน หรือหากกู้ วงเงิน ๑ ล้านบาท ผ่อนเพียงเดือนละ ๑๓,๖๖๘ บาท ซึ่งถือเป็นเงินกู้ภาระต่ำ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการลงทุนซื้อ เปลี่ยนเครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ช่วยยกระดับธุรกิจแกร่ง 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๘ วันเสาร์ที่  ๒๑  -  วันพุธที่  ๒๕  เดือนเมษายน  พุทธศักราช  ๒๕๖๑


699 1342