24thApril

24thApril

24thApril

 

April 27,2018

กม.ไร้บังคับ‘สวนเมืองพร’ ศาลฎีกาจำคุก ๘ ปี เกือบ ๕ ปีไม่เลิกบุกรุก

           หลังเข้าไปบุกรุกประกอบการร้านอาหารกว่า ๓๐ ปี โดยสร้างนิยายว่าซื้อที่ดินจากตายายไร้ตัวตน บนพื้นที่กว่า ๓๖ ไร่ กรมป่าไม้แจ้งความบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ และยื่นฟ้อง กลายเป็นคดีความยาวนาน ที่สุดศาลฎีกาพิพากษา “เฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ” เจ้าของสวนเมืองพร ๘ ปี แต่พยายามต่อสู้คดีมาตลอด ทั้งทำเรื่องขอรื้อฟื้นคดี หวังยกฟ้อง ศาลชี้ฟังไม่ขึ้น ป่าไม้ปักป้ายให้ย้ายออก แต่ดึงดันประกอบการต่อ มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปใช้บริการไม่เว้นวัน ทั้งร้านอาหาร และที่พัก 

           จากคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๖๐๖๐/ ๒๕๕๗ ลงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ ตัดสินจำคุก นายเฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ ๘ ปี เจ้าของสวนอาหารสวนเมืองพร ซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขายายเที่ยง บ้านเขายายเที่ยงเหนือ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ทั้งหมด ๓๖ ไร่ ในเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์โซนซี ลุ่มน้ำชั้น ๒ บี ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธาร คิดเป็นค่าเสียหายในการทำลายป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน ๑๑,๔๒๔,๖๐๐ บาท เหตุการณ์นี้สืบเนื่องมาจากเมื่อปี ๒๕๔๓ มีประชาชนร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สีคิ้ว ว่า ร้านอาหารสวนเมืองพรตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และส่งเรื่องไปยังกรมป่าไม้ ทางเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จึงได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า สวนเมืองพรได้ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจริง โดยตั้งอยู่บริเวณป่าเขาเตียนและป่าเขาเขื่อนลั่น ต่อมาเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้ขอหมายค้นจากศาลชั้นต้นเพื่อเข้าค้นภายในสวนเมืองพร โดยนายเฉลิมเกียรติได้ให้การว่า ซื้อที่ดินแห่งนี้มาจากนายเมืองและนางพร ตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ แต่กลับไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ มาแสดง นอกจากแบบคำขอเช่าที่ดินราชพัสดุ ที่นายเฉลิมเกียรติแจ้งว่ายังไม่ได้รับอนุญาตให้เช่า เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จึงเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สีคิ้ว โดยตั้งข้อกล่าวหา “บุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต”

           จากการคำพิพากษาของศาลฎีกาทราบว่า ปี ๒๕๓๑ นายเฉลิมเกียรติให้การว่า ได้ซื้อที่ดินจากนายเมืองกับนางพรและชาวบ้าน โดยตกลงซื้อขายกันด้วยปากเปล่า เนื้อที่โดยรวมประมาณ ๑๐๐ ไร่ เพื่อสร้างบ้านและทำการเกษตร ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ตรวจสอบข้อมูลในปี ๒๕๒๔-๒๕๒๕ และปี ๒๕๒๘ ก็ไม่พบว่านายเมืองและนางพรมีตัวตน เป็นผู้ครอบครองแต่อย่างใด แต่ในปี ๒๕๓๗ นายเฉลิมเกียรติได้ศึกษาทราบว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ๓๖ ไร่ ในปี ๒๕๔๑ นายเฉลิมเกียรติ เจ้าของสวนเมืองพรจึงยื่นเรื่องขอเช่าที่ราชพัสดุ แต่ทางกรมธนารักษ์ไม่ได้ดำเนินการทำสัญญาเช่าให้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกรมธนารักษ์และกรมป่าไม้ นายเฉลิมเกียรติจึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ทางราชการทำสัญญาเช่าให้ตน ซึ่งเป็นผลให้กรมธนารักษ์ต้องออกสัญญาเช่าให้นายเฉลิมเกียรติตามคำสั่งศาล 

           ทั้งนี้ นายเฉลิมเกียรติได้เข้าครอบครองพื้นที่ดังกล่าวหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ เรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ ดังนั้นเมื่อนายเฉลิมเกียรติเข้าครอบครองพื้นที่หลังวันประกาศสงวนหวงห้าม เป็นพื้นที่ป่าตามกฎหมายครั้งแรก และยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกไปได้ในทันที กรมป่าไม้จึงได้ผ่อนผันให้อยู่ไปก่อน ซึ่งต้องอยู่ในเงื่อนไขให้ควบคุมขอบเขตพื้นที่ มิให้ขยายเพิ่มเติมโดยเด็ดขาด และในระหว่างรอการเคลื่อนย้าย ให้จัดระเบียบที่อยู่อาศัยหรือทำกินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพเท่านั้น แต่นายเฉลิมเกียรติได้ขยายพื้นที่การบุกรุกเพิ่มเติม และทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ โดยเปิดร้านอาหาร และจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม รวมทั้งสร้างที่พัก และจัดเป็นสถานบริการการท่องเที่ยว รวมถึงตัดต้นไม้ และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ซึ่งขัดต่อมาตรการและแนวทางการผ่อนผันที่กำหนดโดยมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ที่มุ่งแก้ปัญหาและเยียวยาราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ยากไร้และเข้าอยู่อาศัยและทำกินก่อนประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสำคัญ แต่นายเฉลิมเกียรติเข้ายึดถือครอบครองเพื่อมุ่งประโยชน์ทางการค้า และเข้าครอบครองพื้นที่ดังกล่าว หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ แล้ว 


หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นม. ๒ (วะภูแก้ว) ติดตั้งป้ายให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ีที่มีการบุกรุกป่า

ไม่ใช่ที่ดินราชพัสดุ

           พฤติการณ์ของนายเฉลิมเกียรติจึงเป็นการฉวยโอกาสโดยแอบอ้างมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ และ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ เพื่อเช่าที่ดินดังกล่าวเท่านั้น จึงต้องวินิจฉัยไปต่อว่า ที่เกิดเหตุเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่ ซึ่งได้ข้อยุติว่า นายอำเภอจันทึกได้สงวนที่ดินในท้องที่ตำบลลาดบัวขาว เพื่อเตรียมดำเนินการทำเป็นทัณฑนิคมคลองไผ่ โดยใช้เนื้อที่ ๑๐,๐๐๐ ไร่ ตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ ๒๐๕ ถึง ๒๐๙ ตามแนวทางรถไฟ ส่วนใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือของถนนมิตรภาพ มีส่วนน้อยอยู่ด้านทิศใต้ของถนนมิตรภาพคือบริเวณป่าเขาเตียนป่าเขาเขื่อนลั่น ซึ่งส่วนนี้ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเตียน-ป่าเขาเขื่อนลั่น และที่ดินส่วนนี้กรมราชทัณฑ์ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิม ซึ่งตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๔ บัญญัติว่า ที่ราชพัสดุ หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด เว้นแต่สาธารณสมบัติของแผ่นดินดังต่อไปนี้ ๑.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน ๒.อสังหาริมทรัพย์สำหรับสำหรับพลเมืองใช้หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ เมื่อ “สวนเมืองพร” เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่กรมราชทัณฑ์สงวนไว้เพื่อเตรียมดำเนินการทำทัณฑนิคมคลองไผ่ แต่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ ที่เกิดเหตุจึงเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ใช่ที่ดิน     ราชพัสดุ นอกจากนี้สวนเมืองพรยังอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเตียน-ป่าเขาเขื่อนลั่น และไม่ปรากฏว่ามีการกันพื้นที่ดังกล่าวหรือที่ดินที่กรมราชทัณฑ์สงวนไว้ตามประกาศของนายอำเภอจันทึกออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติแต่อย่างใด กรมธนารักษ์จึงไม่มีอำนาจในการให้นายเฉลิมเกียรติเช่าที่ดินดังกล่าว

อ้างศาลปกครองตัดสินให้เช่า

           นอกจากนี้ นายเฉลิมเกียรติได้อ้างว่าระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยว่า ที่เกิดเหตุมิได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่อยู่ในพื้นที่ปกครองของกรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์ต้องทำสัญญาเช่าให้กับนายเฉลิมเกียรตินั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ๙๖๒/๒๕๔๖ ไม่ปรากฏว่าศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยตามที่นายเฉลิมเกียรติอ้าง เพียงแต่พิพากษาว่า เมื่อจำเลยยื่นคำขอเช่าที่ดินเกิดเหตุต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาภายหลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ซึ่งกำหนดแนวทางการแก้ไขไว้ว่า ทางราชการยังสามารถดำเนินการตามกฎหมายให้ราษฎรอยู่อาศัยหรือทำกินโดยถูกต้องได้ แต่จะต้องมีการตรวจสอบก่อนว่าพื้นที่ที่จำเลยขอเช่านั้น เป็นพื้นที่จำแนกเป็นป่าประเภทใด และผู้มีอำนาจอนุญาตให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้นั้น ได้แก่ อธิบดีกรมป่าไม้ โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ตามนัยมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาต และต้องชี้แจงเหตุให้จำเลยทราบ จะชะลอเรื่องโดยไม่พิจารณาคำขอเช่าและแจ้งเหตุขัดข้องให้จำเลยทราบนั้นไม่ได้ และพิพากษาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาพิจารณา และมีคำสั่งตามคำขอเช่าที่ราชพัสดุแปลงที่เกิดเหตุของจำเลยให้แล้วเสร็จภายในกำหนด ๓๐ วันเท่านั้น มิได้บังคับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาต้องอนุญาตให้จำเลยเช่าที่ดินเกิดเหตุตามที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด

           แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเตียน-ป่าเขาเขื่อนลั่น อยู่ในเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์ โซนซี ลุ่มน้ำชั้น ๒ บี ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม กรมป่าไม้มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาอย่างเข้มงวด ผู้ที่มีอำนาจจึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ เท่านั้น

           ทั้งนี้ ลำดับเหตุการณ์ได้ว่า ในปี ๒๕๔๔ นายเฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้จับกุมในข้อหาบุกรุกป่าสงวน แต่นายเฉลิมเกียรติให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วว่า มีความผิดได้ตัดสินจำคุก ๑๐ ปี ก่อนที่นายเฉลิมเกียรติจะยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุก ๔ ปี ต่อมาปี ๒๕๕๗ ศาลฎีกาได้พิพากษาให้จำคุกทั้งหมด ๘ ปี เป็นผลให้คดีสิ้นสุดลง

รื้อฟื้นคดีแต่ไม่สำเร็จ

           ในปีพ.ศ.๒๕๖๐ ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ นายเฉลิมเกียรติได้ยื่นคำร้องเพื่อขอรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๕๑๙๕/๒๕๖๐ พิจารณายกคำร้อง เนื่องจากหลักฐานที่นายเฉลิมเกียรติอ้างว่าเป็นหลักฐานใหม่นั้น เป็นหลักฐานเดิมที่กล่าวว่า ที่ดินของสวนเมืองพรเป็นที่ดินราชพัสดุ มิใช่ที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยสรุปได้ว่า วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๔ นายเฉลิมเกียรติบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณป่าเขาเขื่อนลั่น ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ ๓๖ ไร่ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยที่ดินที่เกิดเหตุเดิมเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มิใช่ที่ดินราชพัสดุ ที่กรมธนารักษ์มีอำนาจนำที่ดินดังกล่าวไปให้นายเฉลิมเกียรติเช่า ทั้งนี้ผู้ร้องคือนายเฉลิมเกียรติได้นำสืบว่า สวนเมืองพรเป็นที่ดินที่อยู่ในความดูแลของเรือนจำกลางคลองไผ่และเป็นที่ดินราชพัสดุตามกฎหมาย จึงเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยไม่มีพยานหลักฐานที่แน่ชัด เป็นผลให้ศาลฎีกาพิพากษายกคำร้องในที่สุด

สวนเมืองพรยังเปิดหรา

           แต่ในปัจจุบัน ปี ๒๕๖๑ แม้คำพิพากษาศาลฎีกาได้ล่วงเลยมาเป็นเวลา ๔ ปี นับตั้งแต่สิ้นสุดคำพิพากษาศาลฎีกาในปี ๒๕๕๗ แต่ “โคราชคนอีสาน” ได้รับร้องเรียนจากผู้สงวนนามว่า ยังคงมีการฝ่าฝืนคำพิพากษาศาล ในฐานะสื่อมวลชนที่ต้องรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมจึงลงสำรวจพื้นที่บริเวณ “สวนเมืองพร” พบว่า พื้นที่ดังกล่าวยังคงดำเนินกิจการร้านอาหารและห้องพัก โดยเปิดให้บริการตามปกติ เหมือนไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น ทั้งที่สิ้นสุดคำพิพากษาของศาลฎีกา และสรุปว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจริง รวมทั้งยังมีผู้เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง “โคราชคนอีสาน” จึงติดต่อทางร้านเพื่อขอสัมภาษณ์ผู้จัดการร้าน เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง แต่ถูกพนักงานภายในร้านปฏิเสธและบ่ายเบี่ยงว่า เจ้าของร้านไม่อยู่ ต้องโทรศัพท์นัดล่วงหน้า และไม่มีผู้ใดให้สัมภาษณ์ได้ ผู้สื่อข่าวจึงได้ขอถ่ายภาพบรรยากาศภายในร้าน กระทั่งได้มาพบจุดที่ติดป้ายประกาศเพื่อคืนพื้นที่ให้กรมป่าไม้ และพื้นที่บางส่วนที่อยู่ในระหว่างการรื้อถอน ซึ่งข้อความในป้ายระบุว่า “พื้นที่บริเวณนี้ ศาลได้พิพากษาลงโทษนายเฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ (สวนเมืองพร) จำเลย และให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติ คดีอาญาตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๖๐๖๐/๒๕๕๗ คดีสิ้นสุดแล้ว ป้ายประกาศนี้เป็นของทางราชการ ผู้ใดทำลายมีความผิดตามกฎหมาย” ซึ่งขณะที่กำลังถ่ายภาพอยู่นั้น พนักงานของร้านที่จับตาดู “โคราชคนอีสาน” ตลอดเวลา ได้เข้ามาห้ามในทันที พร้อมกับกล่าวด้วยท่าทางตระหนกว่า ไม่อนุญาตให้ถ่าย โดยให้เหตุผลว่า อนุญาตให้ถ่ายได้เพียงบรรยากาศภายในร้าน และอ้างแต่เพียงว่าให้ติดต่อขออนุญาตจากเจ้าของร้านเท่านั้น แต่เมื่อ “โคราชคนอีสาน” ขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อเจ้าของร้านโดยตรง ก็ถูกปฏิเสธจากพนักงานคนดังกล่าว

           “โคราชคนอีสาน” จึงติดต่อไปยังนายฐากร ล้อมศตพร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๗ เพื่อขอรับทราบความจริงว่า เหตุใดคำพิพากษาของศาลฎีกาจึงยังใช้บังคับกรณีนี้ไม่ได้ แต่นายฐากรปฏิเสธในการให้สัมภาษณ์กรณีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเป็นการส่วนตัว แต่หลังจากนั้นจึงได้ให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๗ ติดต่อกลับมายัง “โคราชคนอีสาน” อีกครั้ง เพื่อชี้แจงข้อจริงกรณีที่เกิดขึ้น


จุดชมวิวบริเวณร้านอาหาร “สวนเมืองพร” ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว

รอศาลบังคับออก

           เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวขอสงวนนาม (ขณะนั้นสังกัดกรมป่าไม้) เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” กรณีที่ร้านอาหารสวนเมืองพรยังคงเปิดบริการอยู่ว่า “ขณะนี้ศาลฎีกาได้ตัดสินไปแล้ว ผู้ต้องหาก็อยู่ในเรือนจำ โดยในขณะนี้พื้นที่ของสวนเมืองพรอยู่ในระหว่างที่กรมป่าไม้ประกาศรื้อถอน แต่ที่ยังสามารถดำเนินกิจการได้อยู่ เนื่องจากต้องรอให้ศาลบังคับออก ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ทั้งหมดของสวนเมืองพร จะต้องถูกรื้อถอนและปิดกิจการอย่างแน่นอน พื้นที่นี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ คือ ป่าเขาเตียนและป่าเขาเขื่อนลั่น อำนาจหน้าที่จะไปอยู่ที่กรมป่าไม้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดีรื้อถอนโดยใช้ศาลบังคับ ทั้งนี้จะมีการปิดประกาศก่อน หากทางร้านดำเนินการรื้อถอนเองก็ย่อมได้ โดยจะใช้ระยะเวลาภายใน ๔๕ วัน หรือ ๖๐ วัน แล้วแต่กรณี แต่หากเขาไม่รื้อ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ก็จะต้องเข้าไปดำเนินการเอง ทั้งนี้จะมีค่าใช้จ่ายคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายทั้งหมด”

           “แม้ว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาจะสิ้นสุดลงตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ และทางนายเฉลิมเกียรติถูกจำคุกแล้ว แต่ในขณะนั้นได้มีนักกฎหมายไร้สังกัดบอกให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาอีกครั้ง และได้มีการขอประกันตัวชั่วคราวเพื่อสู้คดี จากนั้นศาลอุทธรณ์จึงรับคำร้อง แล้วส่งให้ศาลฎีกา ทั้งนี้ คดีเพิ่งมีการตัดสินไปเมื่อปี ๒๕๖๐ และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนบังคับคดีต่อ ซึ่งดำเนินการโดยกรมป่าไม้ ส่วนระยะเวลาในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจะบังคับตามระเบียบกรมฯ ขณะนี้กระบวนการสิ้นสุดแล้ว แต่ระเบียบขั้นตอนของทางราชการค่อนข้างซับซ้อน ทั้งนี้ทางกรมฯ ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลย เพราะผู้ต้องหาเองถูกคุมขังอยู่ ในส่วนนี้ทางราชการต้องรีบบังคับคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปโดยเร็วที่สุด จากนั้นก็จะมีการฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ขณะนี้คดีถูกโอนไปที่กรมป่าไม้ ส่วนหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คือสำนักจัดการทรัพยากรที่ ๘ นครราชสีมา” เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กล่าว

พื้นที่ทับซ้อน

           “โคราชคนอีสาน” ถามต่อว่า “เหตุใดในปี ๒๕๔๔ จึงมีการตรวจสอบสวนเมืองพรเกิดขึ้น ทั้งที่ร้านนี้มีการเปิดมาก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว” เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๗ ตอบว่า “เนื่องจากขณะนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีหนังสือแจ้งให้เราไปตรวจสอบ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีการทับซ้อนกันระหว่างกรมธนารักษ์และกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นส่วนราชการด้วยกัน จึงไม่แน่ใจว่าจะต้องเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายใด แต่ผลสุดท้ายมาทางกรมป่าไม้จึงได้ดำเนินคดี เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้บุกรุกสวนป่าของทางราชการอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” 

           “โคราชคนอีสาน” ถามอีกว่า “ในช่วงที่มีการดำเนินคดี ทางเจ้าของสวนเมืองพรได้มีการแสดงหลักฐานว่าได้เช่าพื้นที่กับทางกรมธนารักษ์จริง แต่เหตุใดจึงยังมีความผิด” ในเรื่องนี้ แหล่งข่าวจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๗ ชี้แจงว่า “ขณะนั้นนายเฉลิมเกียรติไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลปกครองมีคำสั่งให้กรมธนารักษ์อนุญาตให้นายเฉลิมเกียรติเช่าพื้นที่ได้ และดำเนินการตามระเบียบกฎหมายของกรมธนารักษ์ ดังนั้นกรมธนารักษ์จึงต้องดำเนินการตามคำสั่งศาล แต่เหตุการณ์นี้เกิดภายหลังการเข้าจับกุมนายเฉลิมเกียรติ ซึ่งหมายความว่า นายเฉลิมเกียรติเพิ่งจ่ายค่าเช่าหลังการถูกจับกุมตัวแล้ว ทำให้มีหลักฐานการจ่ายค่าเช่าย้อนหลัง และยังมีการฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ๒๑ นาย แต่ศาลยกฟ้อง เหตุการณ์ดังกล่าวจึงดูเหมือนว่าเป็นการเดินกันคนละทาง เพราะศาลที่ทางป่าไม้ดำเนินคดีจับกุมผู้ต้องหาก็ส่วนหนึ่ง และศาลที่นายเฉลิมเกียรติฟ้องก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง คือต้องยอมรับว่าทนายความเขาเก่งมาก ถือเป็นกรณีศึกษาได้เลย แต่การดำเนินการของเราคือ ยึดตามที่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาตัดสินมาเท่านั้น ส่วนกรมธนารักษ์ก็ต้องทำตามคำสั่งศาลปกครองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้ ทุกๆ ขั้นตอนต้องดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะหากมีอะไรผิดพลาดทางเขาก็ฟ้องกลับเราได้เช่นกัน”

ไร้คำสั่งให้หยุดดำเนินการ

           “ขณะนั้นนายเฉลิมเกียรติอ้างว่าสวนเมืองพรเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทับซ้อนกันอยู่ กรมป่าไม้จึงทำอะไรไม่ได้ และเราก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรจากพื้นที่นี้ หากไม่มีวัตถุประสงค์ในการใช้ ที่นี่ก็เป็นพื้นที่ป่าสาธารณะเป็นสมบัติของแผ่นดิน ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะส่วนราชการใด ถ้ายังไม่ใช้ประโยชน์อะไร ก็ต้องช่วยกันบำรุงดูแลรักษามิให้มีการบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง เอาไปทำประโยชน์ส่วนตนได้ แต่ขณะนี้กระบวนการดำเนินงานไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ จึงอาจล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากในตอนนั้นกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ยังเป็นหน่วยงานเดียวกัน ซึ่งผมเป็นคนจับเขาดำเนินคดีเองตั้งแต่ต้น และผมเป็นผู้ทำบันทึกเองทั้งหมด แต่ช่วงหลังมีการแยกกรม จึงต้องโอนคดีไปให้กรมป่าไม้ทั้งหมด ปัญหาคือขณะนี้ไม่มีคำสั่งคุ้มครองพื้นที่ฉุกเฉินให้เขาหยุดดำเนินการ ทำให้เขาสามารถดำเนินกิจการได้อย่างปกติ แต่มีกฎหมายที่ผมกำลังศึกษาอยู่คือ ถ้าเป็นข้อพิพาทเอกชนกับเอกชนจะสามารถทำให้เขาหยุดดำเนินกิจการได้ แต่ถ้าเป็นเอกชนกับหน่วยงานราชการ ทางรัฐไม่มีทนายความ ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องฟ้องก็ต้องเป็นอัยการแผ่นดิน ทั้งนี้หากมีการฟ้องร้องขึ้นมาจริงๆ อาจเกิดความเสี่ยง เนื่องจากกฎหมายไทยต้องศึกษาดีๆ เพราะหากเราแพ้คดี เราต้องชดใช้ให้เขา ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อค่าเสียหาย อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่เองก็อยากให้สวนเมืองพรยุติการดำเนินกิจการ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นข้อกังขาให้กับสาธารณชนอย่างนี้ต่อไป” เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๗ กล่าวในท้ายที่สุด

กรมบังคับคดีรับผิดชอบ

           ด้านนายสุรวุฒิ ใจกิจสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๘ (นครราชสีมา) กล่าวย้ำกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “ขณะนี้คดีสิ้นสุดลงแล้ว แม้จะมีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ก็ไม่เป็นผล เพราะถูกยกคำร้อง ซึ่งปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกรมบังคับคดี เนื่องจากกรมป่าไม้หมดหน้าที่แล้ว แต่ทางสวนเมืองพรยังเปิดบริการอยู่ก็ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล ทั้งที่มีการติดป้ายจากกรมป่าไม้อย่างชัดเจนว่าที่แห่งนี้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีการรื้อถอนออกไปในที่สุด”

           อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นอกจากนายเฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ จะเป็นเจ้าของร้านสวนเมืองพรแล้ว ยังเป็นเจ้าของกิจการบ้านพักริมชายหาด “บ้านศิวิไลซ์รีสอร์ท” ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๕๔ หมู่ ๒ หาดหน้าด่าน ถ.คอเขา-ในเพลา ต.ขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช อีกด้วย

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๙ วันพฤหัสบดีที่?๒๖?- วันจันทร์ที่ ๓๐ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๑


793 1375