29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 07,2018

ก.ท่องเที่ยวฯ ย้ำสร้างความเชื่อมั่น ตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว เป้าหมายครบทุกจังหวัดในปี ๒๕๖๒

           อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยปี ๒๕๖๐ สร้างรายได้ถึง  ๒๐% ของ GDP โดยรายได้จากต่างชาติ ๑.๘ ล้านล้านบาท ส่วนคนไทย ๙.๕ แสนล้านบาท พี่จีนครองเป็น ๑ ใน ๓ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ก.ท่องเที่ยวฯ ยึดหลัก ๓ ป. เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และทัศนคติอันดีต่อการท่องเที่ยวไทย ตั้งเป้าจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวให้ครบทุกจังหวัดภายในปี ๒๕๖๒

           เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา กระทรวงการท่องเที่ยงและกีฬา แถลงข่าวความสำเร็จ “โครงการประชาสัมพันธ์และเตือนภัยด้านการท่องเที่ยว” ต่อเนื่องเป็นปีที่ ๗ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจำนวน ๔๖ จังหวัด มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ทั้งสิ้น ๒๒๑ คน และภายในปี ๒๕๖๒ คาดหวังจะเปิดศูนย์ช่วยเหลือฯ ให้ครบทั่วประเทศ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า ๒๕๐ คน

           ภายในงานมีการตั้งบูธประชาสัมพันธ์บริเวณหน้าฟู๊ดฮอลล์ ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง โดยการจัดงานครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา และเดอะมอลล์ นครราชสีมา ที่เอื้อเฟื้อสถานจัดงาน ทั้งนี้ นายมนตรี ปิยากูล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา ได้มอบของที่ระลึกให้กับนายชินาพัฒน์ พิมพ์ศรีแก้ว ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะมอลล์ราชสีมา จำกัด รวมทั้งมอบของที่ระลึกให้แก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวประจำพื้นที่ หลังจากนั้นจึงเป็นการเดินทรูปประชาสัมพันธ์ภายในศูนย์การค้าฯ โดยมีกลุ่มอาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยวนครราชสีมา ๑๑๕๕ เข้าร่วมเดินทรูปประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งระหว่างที่เดินประชาสัมพันธ์นั้นมีการแจก “คู่มือสำหรับนักท่องเที่ยวที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติ” โดยมี “น้องน้ำใจ” มาสคอตที่คอยสร้างสีสันและรอยยิ้มให้ผู้ที่อยู่ภายในศูนย์การค้าฯ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีเด็กๆ เข้ามาขอถ่ายรูปกับ “น้องน้ำใจ” จำนวนมาก

           นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดโครงการประชาสัมพันธ์และเตือนภัยด้านการท่องเที่ยว โดยกล่าวว่า ในปี ๒๕๖๐ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประชาสัมพันธ์โครงการฯ ตามสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ๑๐ จังหวัด ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาดจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และในปี ๒๕๖๑ ได้ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงได้เตรียมความพร้อมในการขยายพื้นที่ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอีก ๑๕ พื้นที่ใน ๑๒ จังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแนะนำการป้องกันภัยจากการท่องเที่ยว ช่องทางการร้องเรียน ร้องทุกข์ ของกองมาตรฐานและกำกับความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และจัดทำคลิปบทบาทหน้าที่ของกองมาตรฐานฯ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือเกี่ยวกับการเตือนภัยนักท่องเที่ยว จำนวน ๓ ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย จีน และอังกฤษ เพื่อแจกจ่ายให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดความเข้าใจและรู้วิธีการท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างมีความสุขและปลอดภัย

           นายพงษ์ภาณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในปี ๒๕๖๐ สร้างรายได้รวมได้ที่ ๒.๗๖ ล้านล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วน ๒๐% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประมาณ ๑.๘ ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว ๓๕.๓ ล้านคน และรายได้จากคนไทยท่องเที่ยวในประเทศ (ไทยเที่ยวไทย) ๙.๕ แสนล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวจีนยังคงเป็นตัวแปรสำคัญ และครองสัดส่วนมากถึงเกือบ ๑ ใน ๓ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ยังคาดการณ์ด้วยว่า ปี ๒๕๖๑ นี้จะเป็นปีที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต้องเผชิญความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะการแข่งขันจากหลายๆ ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการทำตลาดท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง และไม่ปลอดภัยจากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ

           ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยึดหลัก ๓ ป. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทัศนคติอันดีต่อการท่องเที่ยวในประเทศไทย ได้แก่ ๑.ประชาสัมพันธ์ คือ ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ให้ความช่วยเหลือ ดูแล และกำกับความปลอดภัยนักท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวประสบภัยจากการท่องเที่ยวหรือถูกหลอกลวง ๒.ป้องกันภัย คือ ให้คำแนะนำจากการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ และ ๓.ปกป้อง คือ ให้ความช่วยเหลือเยียวยาและคุ้มครองสิทธินักท่องเที่ยว และบรรเทาเหตุเบื้องต้นแก่นักท่องเที่ยวที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการหลอกลวง หรือเป็นผู้ประสบภัยทางการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในเรื่องการดำเนินคดีกรณีที่ต้องมีการขึ้นศาล

           โดยในปีนี้กองมาตรฐานและกำกับความปลอดภัยนักท่องเที่ยวขยายพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์ตามสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ๑๒ จังหวัด ๑๕ แห่ง ได้แก่ ๑.กรุงเทพมหานคร : ตลาดนัดสวนจตุจักร ๒.ภูเก็ต : บริเวณหาดป่าตอง ๓.สุราษฎร์ธานี : เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า ๔.กระบี่ : เกาะพีพี ๕.พังงา : บริเวณเขาหลัก ๖.ชลบุรี : เมืองพัทยา ๗.ระยอง : เกาะเสม็ด ๘.นครราชสีมา : บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ๙.หนองคาย : บริเวณมิตรภาพไทย-ลาว ๑๐.เชียงใหม่ : บริเวณถนนคนเดินประตูท่าแพ ๑๑.แม่ฮ่องสอน : อำเภอปาย และ ๑๒.สงขลา : อำเภอหาดใหญ่

           สิ่งหนึ่งที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวได้เมื่อประสบเหตุทางการท่องเที่ยว คือศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว หรือ TAC : Tourist Assistance Center ในปี ๒๕๖๑ ได้เปิดศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นใน ๓๐ จังหวัด ประกอบด้วยภาคเหนือ ๘ แห่ง ได้แก่ แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และลำปางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๙ แห่ง ได้แก่ เลย สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครพนม มุกดาหาร ศรีสะเกษ ขอนแก่น หนองคาย และนครราชสีมา ภาคตะวันออก ๕ แห่ง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว จันทบุรี ตราด และระยอง ภาคตะวันตก ๒ แห่ง ได้แก่ ราชบุรี และเพชรบุรี ภาคใต้ ๖ แห่ง ได้แก่ สตูล ระนอง ตรัง ชุมพร นครศรีธรรมราช และพัทลุง โดยมีเจ้าหน้าที่ให้บริการและสามารถสื่อสารภาษาต่างๆ ได้ คือภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาอาหรับ เป็นต้น และในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๒ จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย หากนักท่องเที่ยวต้องการร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ Call Center (สุวรรณภูมิ) (๖๖) ๒๑๓๔ ๔๐๗๗ เปิดให้บริการ ๒๔ ชั่วโมง

 

 

 


715 1364