20thApril

20thApril

20thApril

 

May 15,2018

ลองเดินรถลดผลกระทบ ให้สนข.-รฟม.ลุย LRT ความเร็วสูงจอด‘บัวใหญ่’แน่

             ‘วิเชียร’ ย้ำรถไฟความเร็วสูงมีจุดจอดอยู่ที่สถานีบัวใหญ่แน่นอน ผลอนุมัติครม.สัญจร กรณีหอประชุมใหญ่ที่ มทส. อาจได้ประมาณ ๘,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ ที่นั่ง ขณะที่ Food Innopolis มทส.ต้องการเครื่องจักรผลิตน้ำนมและแปรรูปสินค้าเกษตร รมว.วิทยาศาสตร์ฯ รับไปศึกษา ด้านการศึกษาเมืองใหม่ อนุมัติขยายถนน ๔ เลนจากสีดา-บัวใหญ่-ชัยภูมิ คาดแล้วเสร็จปี ๒๕๖๒ ส่วน LRT ให้สนข.-รฟม.ร่วมออกแบบ และให้ทดลองเดินรถเสมือนจริงหวังลดผลกระทบจราจร

             ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ในวันอังคารที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) โดยแต่ละจังหวัดมีโครงการลงทุนทั้งด้านการเกษตร การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต และด้านการค้าการลงทุนชายแดน เพื่อเชื่อมโยงสู่เป้าหมายสำคัญของแต่ละจังหวัด โดยมีการนำเสนอทั้งหมด ๒๒ โครงการ ๕ ด้าน รวมงบประมาณทั้งหมด ๒๑,๐๕๑,๒๔๒,๕๑๐ บาทนั้น สศช.ได้เสนอผลการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ เมื่อวันที่๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ โดยมีรายละเอียดสรุปข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในด้านต่างๆ ดังนี้ 

ขยายสนามบินบุรีรัมย์

             ส่วนในเรื่องโครงข่ายคมนาคมทางอากาศ ขอรับการสนับสนุนโครงการปรับปรุงสนามบินบุรีรัมย์รองรับการเป็นสนามบินศุลกากร โดยขอให้เร่งรัดกรมท่าอากาศยานดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งโครงการขยายต่อเติมความยาวทางวิ่งจากเดิม ๒,๑๐๐ เมตร เป็น ๓,๐๐๐ เมตร และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ขนาด ๒ ชั้น โดยสั่งการให้กระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอไปพิจารณาถึงความเหมาะสมและคุ้มค่า ในขณะที่ด้านระบบระบายน้ำ ขอรับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองบุรีรัมย์ มีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง รับไปประสานสำนัก  งบประมาณพิจารณาในรายละเอียดโครงการตามขั้นตอน โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการโครงการเชื่อมต่อกับระบบการบริหารจัดการลุ่มน้ำในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงด้วยอย่างรอบคอบ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่โครงการดังกล่าวด้วย

คค.-มท.พิจารณาผังเมืองรวมโคราช

             ด้านการสำรวจ และออกแบบ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ โดยขอรับการสนับสนุนโครงการสำรวจและออกแบบถนนผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง ๑๓.๓๓๙ กิโลเมตร, โครงการสำรวจและออกแบบถนนผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา อำเภอสีคิ้ว ระยะทาง ๖.๒๐๐ กิโลเมตร, โครงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดถนนทางหลวงหมายเลข ๒๘๘ ตอน วงแหวนรอบเมืองบุรีรัมย์ บริเวณ กม.๒-๖๔๖ ปริมาณงาน ๑ แห่ง และโครงการลดผลกระทบจากการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งสั่งการให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณาความจำเป็นเพื่อการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ให้ ‘ทีเส็บ’ ศึกษาศูนย์ประชุม

             ด้านการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน มีการขอรับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑, โครงการก่อสร้างศูนย์รวบรวมตู้คอนเทนเนอร์และเปลี่ยนโหมดขนส่ง Korat ICD : Inland Container Depot, โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างสนามบินสุรินทร์ เพื่อการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาเมืองใหม่นครราชสีมา เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ มีข้อสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ รวมทั้งรูปแบบการบริหารจัดการที่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าและต้องไม่เป็นภาระของรัฐในอนาคตก่อนขอรับการสนับสนุนตามขั้นตอน นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาศึกษาในรายละเอียดของโครงการก่อสร้างศูนย์รวบรวมตู้คอนเทนเนอร์และเปลี่ยนรูปแบบขนส่ง Korat ICD : Inland Container Depot และศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการก่อสร้างสนามบินสุรินทร์ โดยพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมทุกด้านอย่างครบถ้วน รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทยโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองรับไปพิจารณาศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาเมืองใหม่นครราชสีมา เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

 

รับข้อเสนอด้านการท่องเที่ยว

             ด้านการท่องเที่ยว ขอรับการสนับสนุนโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์เฉลิม พระเกียรติ นครราชสีมา, โครงการโลกของช้าง (Elephant World) จังหวัดสุรินทร์, โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ตำบลบ้านบัว อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์, โครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเพื่อการท่องเที่ยวรอบบึงละหาน ตำบลละหาน/หนองบัวใหญ่/หนองบัวบาน/ลุ่มลำชี อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ และโครงการพัฒนาและฟื้นฟูเหมืองหินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างและการท่องเที่ยวบริเวณเชิงเขาพนมสวาย ตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ และตำบลไพล อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โดยมีข้อสั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย รับข้อเสนอไปพิจารณาถึงโครงการที่อยู่ในแผนปฏิบัติการ ภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ และการดำเนินการเพิ่มเติม

๔ จังหวัดพัฒนา ๔ ด้าน

             ในการประชุม ครม.สัญจรในครั้งนี้ มีรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจติดตามงานในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ ด้วย โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางและข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในการปฏิบัติราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสั่งการไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่ง สศช.รายงานผลการติดตามงานและโครงการ รวมทั้งแนวทางและข้อสั่งการการแก้ไขปัญหาของคณะรัฐมนตรีในการติดตามงานในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ ระหว่างวันที่ ๒๓ เมษายน–๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ซึ่งภาพรวมของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ ประกอบด้วย ๔ จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ หรือเรียกว่า กลุ่มจังหวัด “นครชัยบุรินทร์” โดยมีจังหวัดนครราชสีมา เป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัด มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น ๕๑,๗๑๘.๑๙ ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบสูงโคราช ทั้ง ๔ จังหวัดมีเอกลักษณ์และความโดดเด่นที่แตกต่างกัน มีเป้าหมายการพัฒนาให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นประตูสู่อีสาน จังหวัดชัยภูมิเป็นแหล่งการเกษตรและการท่องเที่ยวสวยงาม จังหวัดบุรีรัมย์เป็นเมืองกีฬา และจังหวัดสุรินทร์เป็นเมืองการค้าชายแดน ประเด็นการพัฒนา ๔ ด้าน ประกอบด้วย ๑) การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเกษตรอุตสาหกรรมและแปรรูป ๒) การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ไหม ๓) การส่งเสริมพัฒนาการค้าการลงทุนและการค้าชายแดน และ ๔) ยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ลุ่มเชียงไกรต้องคุ้มและได้ประโยชน์

             โดยในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา มีการลงพื้นที่ในหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ ดังนี้ ๑) การดำเนินโครงการต้องเกิดผลสัมฤทธิ์ คุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้รับ เน้นการทำงานเชิงบูรณาการ และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ๒) ขอให้จังหวัดใช้ฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ในการวิเคราะห์ และวางแผนให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากกรมชลประทานอย่างทั่วถึง เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งช่วย ส่งเสริมในเรื่องอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชน ๓) ขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการทำงานและบริหารโครงการให้ สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาค แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ และยุทธศาสตร์ชาติ ๔) การสร้างแก้มลิง และโครงการชลประทานต่างๆ ควรให้มีคลองไส้ไก่ไปถึงประชาชน และมีการควบคุมกำกับน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ๕) ขอให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา วิเคราะห์ความสามารถของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรในการบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และ ๖) ควรสนับสนุนงบประมาณในส่วนที่ยังขาดอยู่ เพื่อให้การพัฒนาลุ่มน้ำเชียงไกรมีความสมบูรณ์ทั้งระบบ

มุ่งสู่ “มรดกโลก”

             ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ไหมนั้น ในประเด็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การเตรียมการเสนอชื่ออุทยานประวัติศาสตร์ขึ้นบัญชีเบื้องต้นมรดกโลกต่อยูเนสโก และการติดตามโบราณวัตถุคืนสู่ประเทศไทย โดยมีข้อสั่งการให้กรมศิลปากรดำเนินการ ดังนี้ ๑) เร่งรัดจัดทำแผนการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย และโบราณสถานที่สำคัญอื่นๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชุมชน รวมทั้งเร่งรัดจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการเสนอชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ๒) ชี้แจงทำความเข้าใจประชาชน เกี่ยวกับการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ๓) เร่งรัดขึ้นทะเบียนโบราณสถานในพื้นที่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๔) เร่งรัดสำรวจข้อมูลการบุกรุกโบราณสถานในพื้นที่ รวมทั้งหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา ๕) เร่งรัดจัดทำรูปแบบรายการพัฒนาพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ โบราณสถาน และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ ให้มีความพร้อมในการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการพัฒนาให้ทันท่วงที และ ๖) ให้กรมศิลปากร กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และจังหวัดบุรีรัมย์ พัฒนาและเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเชื่อมโยง   เส้นทางอารยธรรมขอมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น

ทำรายงานความคืบหน้ามอเตอร์เวย์

             ส่วนทางด้านคมนาคมนั้น โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา มีข้อสั่งการโดยมอบหมายให้กรมทางหลวงดำเนินการ ๑) จัดทำวิดีทัศน์รายงานความก้าวหน้าโครงการบางปะอิน-โคราช ความยาวไม่เกิน ๔ นาที ๒) ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กรมป่าไม้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน) แก้ไขปัญหา การดำเนินโครงการ การปรับแบบ การดำเนินการตามข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยตั้งคณะทำงานเพื่อหารือเฉพาะเรื่อง ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการในเรื่องใดที่จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมขอให้ดำเนินการประเมินงบประมาณในภาพรวมทั้งโครงการ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในคราวเดียวกัน ๓) ทำแผงกั้นของถนนมอเตอร์เวย์และถนนมิตรภาพบริเวณเขื่อนลำตะคอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากวัสดุที่อาจตกลงมาจากยานพาหนะ ๔) ดำเนินการพัฒนาภูมิทัศน์บริเวณถนนมอเตอร์เวย์ในช่วงพื้นที่เขื่อนลำตะคองให้มีความสวยงาม และ ๕) ดำเนินการก่อสร้างถนนโดยให้พื้นถนนมีความเรียบไม่มีรอยแตก (crack)

ปรับภูมิทัศน์วงแหวนฯ

ในขณะที่โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ทางหลวงหมายเลข ๒๙๐ มอบหมายให้กรมทวงหลวงดำเนินการปรับภูมิทัศน์ และพิจารณาการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณใต้ทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ (Motorway) ให้มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การทำสวนต้นไม้ จุดจอดรถ และดำเนินการรวบรวมเรื่องพระราชกฤษฎีกาการเวนคืนที่ดินในพื้นที่โครงการถนนวงแหวนรอบเมืองโคราช โดยเฉพาะในช่วงทิศเหนือตอนที่หนึ่งและสองที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ให้ครอบคลุมรายละเอียดและประเด็นที่ สคก. ต้องการให้แก้ไขรวมทั้งกรอบเวลาในการนำเสนอโดยให้นำเสนอรัฐมนตรีเพื่อใช้ในการหารือกับ สคก. ในการประชุมคณะรัฐมนตรี 

ติดตั้งสัญญาณจราจรลดอุบัติเหตุ

             ส่วนการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ (ขยาย ๔ ช่องจราจร) สายสีคิ้ว–ชัยภูมิ ตอน อ.สีคิ้ว–บ้านหนองบัวโคก (ส่วนที่ ๒) มอบหมายให้กรมทางหลวงเร่งรัดดำเนินการติดตั้งเสาสัญญาณไฟจราจรบริเวณสามแยกกุดม่วงให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ เพื่ออำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งให้กรมทางหลวงกำหนดระยะเวลาไฟสัญญาณจราจรให้เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณจราจรในจุดนี้ด้วย รวมทั้งให้หารือกับ อบจ.นครราชสีมา พิจารณาความเหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสามแยกกุดม่วง (รูปแบบเดิม) ให้มีลักษณะเป็นรูปแบบสี่แยก เนื่องด้วยลักษณะทางกายภาพของสามแยกที่มีสายทางของ อปท. เชื่อมต่อกับกรมทางหลวง โดยให้คำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัยต่อการเดินทางของชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนี้ยังให้พิจารณาความเหมาะสมในการขยายผิวช่องจราจรของ ทล. ๒๐๑ บริเวณด้านหน้าปากทางเข้าถนน อปท. เพื่อลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุจากการเลี้ยวรถ ทั้งขาเข้าและขาออกจากปากทางถนน อปท. และพิจารณาปรับปรุงติดตั้งป้ายเตือน ป้ายจราจรต่างๆ และให้ตีเส้นจราจรบริเวณทางแยกเพิ่มเติม ส่วนปัญหาผิวจราจรชำรุด บน ทล. ๒๐๑ ในช่วง ๗๐๐ เมตรแรกของสายทางทั้งสองฝั่ง ขอให้เร่งรัดจัดสรรงบประมาณดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมเส้นทางให้เกิดความปลอดภัย และเพื่อให้พื้นผิวจราจรมีสภาพดีตลอดแนวเส้นทาง

จุดพักรถบรรทุก

             ในขณะที่โครงการก่อสร้างจุดจอดพักรถบรรทุก (Truck Rest Area) บริเวณสถานีตรวจสอบน้ำหนักโนนสูง (ขาออก) จังหวัดนครราชสีมา มอบหมายให้กรมทางหลวงพิจารณาทบทวนความจำเป็นของการก่อสร้างจุดพักรถที่อยู่ใกล้เคียงกับต้นทางและปลายทาง ของเส้นทางรถบรรทุกสัญจร เช่น จุดที่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการจุดพักรถ อาทิ การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นต้น รวมทั้งให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยสินค้าที่บรรทุกมากับรถบรรทุก รวมทั้งให้ติดป้ายแบ่งแจ้งจุดพักรถบรรทุกไว้ล่วงหน้าก่อนถึงจุดพักรถ เป็นป้าย overhead และพิจารณาป้าย digital แจ้งจำนวนช่องจอดรถที่ว่าง นอกจากนี้ การใช้ป้ายประชาสัมพันธ์ในจุดพักรถให้ออกแบบให้สวยงาม มีสีสัน ให้ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในจุดพักรถให้เป็นพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติม เช่น บริเวณศาลา เพื่อสร้างร่มเงา และพิจารณาให้รถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาใช้บริการจุดพักรถในขณะที่มีการจราจรคับคั่งในช่วงเทศกาล และพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดให้มีร้านค้าสวัสดิการภายในจุดพักรถ ตามระเบียบและข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

จัดระบบจราจรรับรถไฟทางคู่

             นอกจากนี้ ยังมีการสรุปผลการประชุมของคณะรัฐมนตรีร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ ดังนี้ มอบให้ รฟท. รับข้อเสนอของประชาชนไปพิจารณาในการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา–ชุมทางจิระ ในพื้นที่นครราชสีมาในมิติของผลกระทบต่อการจราจรบนถนน อาทิ การเปิดสี่แยกอัมพวัน (ถนนมุขมนตรี) การขยายถนน local road ไปถึงสถานีรถไฟ และจุดกลับรถบริเวณถนน local road การทำอุโมงค์ลอด โดยให้หารือร่วมกับกรมทางหลวง หน่วยงานในพื้นที่ และรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย และให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ศึกษาออกแบบระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดนครราชสีมา โดยคำนึงถึงข้อจำกัดและความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ถนน และหารือกับกรมทางหลวง หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ตลอดทั้งรับข้อเสนอของประชาชนไปพิจารณา รวมทั้งให้จำลองการเดินรถเสมือนจริงเพื่อทดสอบผลกระทบต่อการจราจรในพื้นที่โครงการ

พัฒนาสนามบินบุรีรัมย์

             สำหรับจังหวัดบุรีรัมย์นั้น ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และเตรียมความพร้อมในการรับรองงานโมโตจีพี มีข้อสั่งการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ดำเนินการ ๑) เร่งรัดผู้รับจ้างให้ดำเนินการแก้ไขพื้นลานจอดเครื่องบินของท่าอากาศยานบุรีรัมย์ที่มีรอยแตก (crack) โดยด่วน เนื่องจากมีผลต่อความน่าเชื่อถือของท่าอากาศยาน ๒) จัดระเบียบป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ภายในบริเวณท่าอากาศยานบุรีรัมย์ให้เป็นไปตามระเบียบข้อกำหนด และให้ดำเนินการรื้อถอนป้ายฯ ในส่วนที่สัญญาได้สิ้นสุดแล้ว ๓) จัดระเบียบเก้าอี้บริเวณด้านหน้าอาคารที่พักผู้โดยสารให้เกิดความเหมาะสม สวยงาม ๔) จัดทำแบบประเมินความพึงพอใจของผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงพัฒนาต่อไป และ ๕) ดำเนินการในเรื่องการวางหรือติดตั้งป้ายจุดจอดรถ ป้ายตารางเวลารถโดยสาร ฯลฯ บริเวณด้านหน้าอาคารที่พัก ผู้โดยสารให้เกิดความสวยงามและปลอดภัย

รฟท.เตรียมรับ “โมโตจีพี”

             ส่วนโครงการพัฒนาชานชาลาชั่วคราวและสถานีรถไฟบุรีรัมย์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับงานโมโตจีพีนั้น มีข้อสั่งการให้ รฟท. เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับงานโมโต จีพี ดังนี้ ๑) ดำเนินการตามที่ รฟท. ได้เตรียมการไว้ และรอความชัดเจนในเรื่องปริมาณผู้โดยสารที่จะเดินทางผ่านทางรถไฟจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเที่ยวรถล่วงหน้า ในช่องทางต่างๆ ๒) พิจารณาปรับกระบวนการในการจองตั๋วรถออนไลน์ล่วงหน้าให้มากกว่าเดิม (๖๐ วัน) เพื่อที่จะนำตัวเลขการจองมาประกอบการประมาณการปริมาณผู้โดยสารที่จะเดินทางมาร่วมงานผ่านทางรถไฟ และให้มีการติดตามเรื่องนี้ในคณะทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางของประชาชน สำหรับงานโมโตจีพีของกระทรวงที่มีรองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานต่อไป ๓) เตรียมความพร้อมในการรองรับประชาชนจากจังหวัดใกล้เคียงที่มาจังหวัดบุรีรัมย์ เช่น นครราชสีมา หรืออุบลราชธานี ๔) ปรับภูมิทัศน์ของสถานีรถไฟให้กว้างขวาง โดยนำสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากสถานีเพื่อรองรับปริมาณคนที่จะมาร่วมงาน รวมทั้งให้ดูแลห้องน้ำให้สะอาด ๕) ในการปรับแต่งภูมิทัศน์ที่ชานชาลาเขากระโดง ที่เทศบาลเมืองบุรีรัมย์รับดำเนินการนั้น ให้ประสานผู้รับผิดชอบออกแบบดังกล่าว เพื่อนำส่งแบบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนจะดำเนินการต่อไป และ ๖) ตรวจสอบหลักเขตที่ดินรวมถึงเอกสารสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องตลอดจนแนวเขตทางรถไฟบริเวณเขากระโดง

             ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราช การจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “ในการประชุมครม.ครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นการอนุมัติในหลักการ ส่วนในพื้นที่โคราชนั้น ทางรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมได้พูดภายในที่ประชุมว่า ขอให้ทางจังหวัดนครราชสีมาทำความเข้าใจกับชาวอำเภอบัวใหญ่ว่า ความรถไฟเร็วสูงจะมีจุดจอดอยู่ที่สถานีรถไฟบัวใหญ่แน่นอน เนื่องจากขณะนี้ ทางอำเภอบ้านไผ่ (ขอนแก่น) มีเป้าหมายที่กำลังจะตัดออกทางไปมุกดาหาร โดยเป็นทางรถไฟที่ต่อมาจากฝั่งตะวันตก ซึ่งข้ามบัวใหญ่ไป เรื่องนี้เราก็ได้เรียกร้องไปกับหลายหน่วยงาน ส่วนเรื่องที่เราขอหอประชุมขนาดใหญ่ที่ มทส. คือก่อนหน้านี้เราทำงานกับทีเส็บ ซึ่งเป็นสำนักงานจัดประชุม ได้คุยกันมาตลอด ทั้งนี้ในที่ประชุมเขาก็บอกว่าจะรับไปศึกษา เนื่องจากว่าเขาเห็นความจำเป็นของโคราชที่ต้องมีหอประชุม แต่อาจไม่ถึงขนาด ๑๕,๐๐๐ คน เนื่องจากบริหารจัดการยาก แต่อย่างน้อยผมคิดว่าถ้าได้ประมาณ ๘,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ ที่นั่ง ก็น่าจะพอดี นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ food innopolis ทาง มทส.เขามีผลการวิจัย มีอาคารแล้ว แต่ต้องการเครื่องจักรผลิตน้ำนมและแปรรูปสินค้าด้านการเกษตร โดยเรื่องนี้นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับเรื่องไปศึกษา ส่วนเรื่องการศึกษาเมืองใหม่ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้นำไปพูดคุยต่อ ถนน ๔ เลนจากสีดา ไปบัวใหญ่ ไปชัยภูมิคาดว่าจะได้ในปี ๒๕๖๒ คือเดิมจะมีการสร้างถนนได้ปีละ ๑ กิโลเมตร ซึ่งทั้งหมดระยะทาง ๖๓ กม. ก็จะนานถึง ๖๓ ปี จึงแล้วเสร็จ ครม.จึงได้อนุมัติในส่วนนี้ด้วย” 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๐๒ วันศุกร์ที่ ๑๑ - วันอังคารที่  ๑๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


702 1343