29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 15,2018

หุ่นยนต์‘ม.วงษ์ฯ’สุดเจ๋ง เล็งเปิดหลักสูตรอัจฉริยะ

           รมช.ศึกษาฯ ชี้เด็กจบ ม.ปลายไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่เป็นคนวัยทำงานที่ต้องการฝึกทักษะอาชีพ ย้ำทุกมหาวิทยาลัยต้องหาจุดแข็ง ม.วงษ์ชวลิตกุล โชว์นวัตกรรมผลิต VU-Robot พูดได้ เตรียมเปิดอีก ๒ หลักสูตร หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

           เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๑ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยมีผู้บริหาร พร้อมด้วย คณาจารย์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลให้การต้อนรับ

           นางปราณี วงษ์ชวลิตกุล อธิการบดีมหา วิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลได้เปิดดำเนินการสอนครั้งแรกในระดับวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๗ ต่อมาทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุญาตให้เปลี่ยนประเภทจากวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ นับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงปัจจุบันดำเนินการมาแล้ว ๓๔ ปี เปิดสอน ๘ คณะวิชา ระดับปริญญาตรี ๒๓ หลักสูตร ปริญญาโท ๕ หลักสูตร และปริญญาเอก ๓ หลักสูตร รวม ๓๑ หลักสูตร

           ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยใช้กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตกำลังคนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (New Engine of Growth) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้พ้นกับดักประเทศที่มีรายได้เศรษฐกิจปานกลาง โดยมุ่งผลักดัน ๑๐ อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น ในการนี้มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลมีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับการผลิตกำลังคน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามทิศทางและยุทธศาสตร์ของประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะหลักสูตรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะเรียนเชิญท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและคณะ ให้เกียรติเยี่ยมชมการนำเสนอการจัดการเรียนการสอนใน ๕ สาขา คือ ๑.วิศวกรรมการทาง ๒.วิศวกรรมชลศาสตร์ ๓.วิศวกรรมไฟฟ้า ๔.วิศวกรรมเครื่องกล ๕.วิทยาการคอมพิวเตอร์ และชมการสาธิตการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ในวันนี้”

 

           ด้าน ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รมช.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “สิ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยต้องทำก็คือ ต้องพยายามหาจุดแข็งของตัวเองให้ได้ อย่างมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลมีจุดแข็งในเรื่องของการประดิษฐ์หุ่นยนต์โรบอท มหาวิทยาลัยของรัฐบาลเองก็ต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน หากหลักสูตรไหนที่ไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ รัฐบาลก็ต้องพิจารณาตรงจุดนี้ด้วย เพราะเป็นเรื่องของการสูญเสียงบประมาณของประเทศ เนื่องจาก ขณะนี้ประเทศเราต้องการการเจริญเติบทางด้านเทคโนโลยี IT วิทยาศาสตร์ เป็นหลัก จึงมีโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูง เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย สำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve)  และเป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหากมหาวิทยาลัยใดมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ก็จะได้รับทุนในการสนับสนุน ทั้งนี้ หลักสูตรในการฝึกอบรมมีความสำคัญมาก แต่ไม่ได้หมายถึงปริญญาบัตร เพราะเราเน้นสร้างศักยภาพให้กำลังคน เน้นการให้ทุน โดยที่ทางมหาวิทยาลัยต้องผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยี IT อย่างที่กล่าวมา และต้องสามารถทำงานได้จริง เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ทุกมหาวิทยาลัยทบทวนจุดแข็งของตัวเอง และต้องวางแผนให้ดี ในปัจจุบันต้องหันมาพิจารณากันว่า เด็กมัธยมอาจไม่ใช่เป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยอีกต่อไป แต่เราต้องดึงกลุ่มคนในวัยทำงานกลับมาเรียนเพื่อสร้างทักษะในการประกอบอาชีพ เพิ่มศักยภาพให้การทำงานได้จริง แม้กระทั่งผู้สูงอายุ เพื่อให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างประเทศที่เจริญแล้ว คนสูงอายุก็ยังคงทำงานเพื่อความสุขของชีวิต ดังนั้น หน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือต้องปรับตัวและวางแผนล่วงหน้า เพื่อตอบโจทย์ของสังคมในยุคปัจจุบัน” 

           หลังจากนั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้นำ รมช.กระทรวงศึกษาธิการและคณะทำงานฯ ลงพื้นที่ไปยังคณะวิศวกรรมศาสตร์เพื่อเยี่ยมชม โดยมีผู้บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์และหัวหน้าสาขารอต้อนรับที่หน้าตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ VU-Robot ซึ่งเป็นหุ่นยนต์พูดได้ ที่ทางภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกันคิดค้นขึ้นมา ทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ประจำคณะฯ โดย VU-Robot ได้กล่าวต้อนรับและแนะนำตัว พร้อมทั้งพาคณะทำงานฯ เดินเที่ยวชมสาธิตการแข่งขันหุ่นยนต์ และห้องปฏิบัติการสาขาต่างๆ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมให้คำแนะนำข้อมูลในแต่ละจุดอย่างได้อย่างน่าสนใจ 

 

           นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลยังเสนอ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาหลักสูตรในโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย โดยสภามหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลมีมติเห็นชอบหลักสูตรระยะสั้นของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ๒ หลักสูตร เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนที่มีสมรรถนะตามความต้องการของตลาดแรงงาน ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๑ ดังนี้ 

           ๑.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.๒๕๖๑) 

           ๒.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.๒๕๖๑) 

โดยทั้งสองหลักสูตรได้รับการรับรองจากสภามหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลแล้ว อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ประเทศไทย) ซึ่งคาดว่า จะสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ในเร็วๆ นี้

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๐๒ วันศุกร์ที่ ๑๑ - วันอังคารที่  ๑๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


706 1361